ยุคหลังโควิด ยานพาหนะของเราจะเป็นแบบไหน / Cool Tech – จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ยุคหลังโควิด

ยานพาหนะของเราจะเป็นแบบไหน

 

ก่อนการมาถึงของโควิด-19 เทรนด์รถยนต์โลกกำลังถูกก่อร่างสร้างรูปไปในทิศทางของการที่เราจะมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวน้อยลง เราจะแชร์กันมากขึ้น โลกจะประหยัดทรัพยากรมากขึ้น และเราจะเอาเงินและพื้นที่ที่เหลือจากการต้องเอามาจอดรถเฉยๆ ไปทำประโยชน์อย่างอื่นที่มีค่ามากกว่าเดิม

แต่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็ทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตรในแบบที่เราคาดไม่ถึง

ตามปกติของทุกปีที่ผ่านมา งาน Consumer Electronics Show หรือ CES ที่จัดขึ้นในลาส เวกัส ก็จะมีบรรดาแบรนด์รถยนต์ใหญ่ๆ ขนทัพมาโชว์เคสศักยภาพของรถยนต์แห่งอนาคตตัวเอง

และเนื่องจากงานนี้จัดขึ้นทุกเดือนมกราคม เราก็จะได้เห็นเทรนด์หลักๆ ของรถยนต์ประจำแต่ละปีได้โดยดูจากงานนี้เป็นงานแรก

ซึ่งเทรนด์รถยนต์ในงาน CES ปีนี้ก็ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าโควิด-19 เปลี่ยนความต้องการและรูปแบบในการเดินทางด้วยยานพาหนะไปเป็นอย่างไรบ้าง

เทรนด์แรกที่เห็นได้ชัดก็คือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นที่ต้องการมากขึ้น

ตัวบ่งชี้ที่ทำให้เทรนด์นี้โดดเด่นมากๆ ก็คืออัตราการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Tesla ที่ขายดีขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ ก็ไม่ได้ยอมแพ้ เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ออกมาแข่งกันอย่างคึกคัก

และหยิบเอาเพอร์ฟอร์มมานซ์และฟีเจอร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมาดึงดูดผู้บริโภคให้ปรับความคิดใหม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้านอกจากจะขับสนุกกว่าที่คิดแล้ว ขุมพลังและการขับเคลื่อนก็ไม่แพ้ใครเหมือนกัน

เทรนด์ต่อไปที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็คือสิ่งที่เรียกว่า micromobility หรือยานพาหนะขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วจำกัด ส่วนใหญ่ก็จะใช้ในการโดยสารสำหรับแค่คนเดียวหรือสองคน ไปไหนมาไหนสะดวกคล่องตัว

อย่างเช่น จักรยาน จักรยานไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า หรือสเก๊ตบอร์ดไฟฟ้า

เราอาจจะเห็นคนใช้ยานพาหนะแบบ micromobility แบบนี้อยู่บ้างในประเทศไทยแต่ไม่เยอะนักเพราะถนนหนทางไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้ยานพาหนะขนาดเล็กแบบนี้ได้อย่างปลอดภัย

แต่ในประเทศที่ถนนถูกออกแบบมาดี ใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัยของยานพาหนะแบบอื่นที่ไม่ใช่รถยนต์

นี่ก็ถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ไม่แย่เลยทีเดียว

แบรนด์ผู้ผลิต micromobility หลายแบรนด์ก็เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของตัวเองในงานครั้งนี้เหมือนกัน

แบรนด์อย่าง Vaimoo ของอิตาลีที่ทำไบก์ แชริ่ง หรือจักรยานที่ลูกค้าผลัดกันใช้และคว้าขึ้นมาขับได้จากทุกที่ก็จับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ใส่เข้าไปเพื่อให้แน่ใจว่าจักรยานจะมีจอดรอไว้ให้ลูกค้าใช้งานได้ทุกที่แบบไม่ขาดแคลน

นอกจากจักรยานไฟฟ้าแล้วอีกอย่างหนึ่งที่ฮิตขึ้นมาพร้อมๆ กันกับจักรยานในช่วงล็อกดาวน์ก็คือกล่องใส่อาหารเดลิเวอรี่ โดยมีแบรนด์ที่ตั้งใจออกแบบกล่องใส่อาหารเหล่านี้ให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อให้นำไปติดเอาไว้กับจักรยานไฟฟ้า

และช่วยให้ผู้ขับส่งอาหารไม่ว่าจะร้อนหรือเย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

ไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีคนหันมาสนใจพัฒนาเทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยทำให้การเดลิเวอรี่อาหารทำได้ดีขึ้น เพราะยอดการสั่งและส่งอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับในปี 2017

และแน่นอนว่าเมื่อเราได้ลิ้มรสความสะดวกสบายของการนั่งเฉยๆ ก็มีอาหารมาส่งถึงบ้านแล้ว

เทรนด์นี้ก็จะไม่หายไปไหน มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตแน่ๆ

ส่วนเทรนด์ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดในบรรดาทั้งหมดก็คือการที่คนหลีกเลี่ยงการเดินทางร่วมกับคนอื่น

ไม่ใช่แค่การโดยสารด้วยรถขนส่งสาธารณะ อย่างรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน

แต่หมายรวมไปถึงการเดินทางพร้อมคนอื่นที่เทคโนโลยีช่วยจัดสรรให้เกิดขึ้นได้ในช่วงหลังๆ มานี้

ตัวอย่างก็คือการที่แอพพลิเคชั่นจะคำนวณให้ว่าผู้ร่วมขับจะต้องแวะรับใครตามเส้นทางบ้างเพื่อให้ทุกคนไปถึงที่หมายได้โดยไม่อ้อมมากนักและประหยัดค่าเดินทางมากกว่าการเรียกรถไปเองเพียงคนเดียว

แต่การแพร่ระบาดของโรคก็เป็นเหมือนการกระทืบเบรกใส่เทรนด์นี้ เพราะเราก็ไม่อยากอยู่บนรถคันเดียวกันกับคนแปลกหน้าอีกต่อไปแล้ว

เมื่อไม่อยากเดินทางพร้อมคนแปลกหน้า คนที่พอจะมีกำลังทรัพย์ก็ต้องคิดถึงการครอบครองเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัว

สวนกระแสกับเทรนด์ของการแชร์รถยนต์ที่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ที่ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มต้องการจะซื้อรถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ผลการสำรวจก็ชี้ให้เห็นว่ากลับมาพิจารณาซื้อรถกันมากขึ้นแม้กระทั่งคนที่ไม่เคยคิดอยากเป็นเจ้าของรถมาก่อนก็ตาม

ต่อเนื่องจากการที่คนรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องมีรถเป็นของตัวเอง ก็นำมาซึ่งผลสำรวจของ Google ที่พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่อยากซื้อรถวิธีเดิมๆ อีกแล้ว

พูดง่ายๆ ก็คือ ยังอยากเก็บประสบการณ์ที่จะต้องติดต่อกับดีลเลอร์รถยนต์เอาไว้อยู่

แต่อยากให้ประสบการณ์นั้นย้ายมาอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น หรืออะไรที่ย้ายไปออนไลน์ได้ก็ย้ายไปออนไลน์ให้หมด

บริการที่ลูกค้าอยากได้ก็อย่างเช่นการมีรถทดลองขับมาให้ลองขับถึงที่บ้าน โชว์รูมดิจิตอล วิดีโอนำเสนอจุดเด่นของรถยนต์ทั้งในและนอกรถ

ไปจนถึงวิดีโอรีวิวรถยนต์ด้วย

ครั้งหนึ่งเราเคยคิดกันว่าถึงแม้ว่าลูกค้าจะหาข้อมูลรถยนต์ที่ตัวเองสนใจบนออนไลน์ก่อนแต่เวลาจะซื้อจริงๆ ก็จะต้องเดินทางไปที่โชว์รูมเท่านั้น

โควิด-19 ทำให้แนวคิดนี้เปลี่ยนไป เพราะ Google บอกว่า ผลสำรวจระบุชัดว่าคนเปิดกว้างกับการกดจองรถยนต์ออนไลน์กันมากขึ้น

และบริษัทขายรถยนต์จะชนะใจไปได้สุดทางถ้าหากมีทางเลือกว่าจะนำส่งรถยนต์ให้ถึงบ้าน ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมารับรถ (พร้อมกระเช้าของขวัญ) ด้วยตัวเองที่โชว์รูมอีกต่อไป

แปลว่ามีแนวโน้มสูงมากที่กระบวนการซื้อรถทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ค้นคว้าหาข้อมูล สัมผัสรถยนต์ ทดลองขับ สั่งจอง ไปจนถึงรับรถ จะเกิดขึ้นได้โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเหยียบเท้าเข้าไปในโชว์รูมเลย แบรนด์ไหนทำได้ก่อน แบรนด์นั้นก็อาจขายได้มากกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะในช่วงที่คนกำลังพิจารณาซื้อรถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น

ทางฝั่งแบรนด์ เราน่าจะได้เห็นแบรนด์รถยนต์หันมาจัดอีเวนต์เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งอันที่จริงเทรนด์นี้เราก็ได้เห็นชัดกันอยู่แล้วในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้

ส่วนเทรนด์รถยนต์ไร้คนขับที่พูดถึงกันหนาหูเหลือเกินก่อนหน้านี้ และอวดศักยภาพกันอย่างหนักหน่วงมากโดยเฉพาะในงาน CES นี่แหละ คนในวงการก็บอกว่าตอนนี้ก็ต้องชะลอไปก่อน เป้าอะไรที่เคยตั้งกันเอาไว้ก็เลื่อนออกไป และเราจะไม่ได้เห็นรถไร้คนขับอยู่ในกระแสหลักภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้แน่ๆ

ปีนี้ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับคนในแวดวงยนตรกรรมที่จะต้องปรับตัวไปตามเทรนด์ที่ผันผวนเพราะปัจจัยที่คาดเดาลำบากอย่างโรคระบาด

แต่ก็เช่นเดียวกับทุกเรื่องๆ เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ไม่ได้หมายความว่าประตูอีกบานที่อาจจะนำพาเราไปสู่โอกาสใหม่ๆ จะไม่เปิดออก

เพียงแค่เราต้องคอยสอดส่องสายตาไว้ให้ถ้วนทั่วเท่านั้น