จ๋าจ๊ะ วรรณคดี / ญาดา อารัมภีร / จุดบอด

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี/ญาดา อารัมภีร

จุดบอด

 

แม้วรรณคดีเรื่อง “พระไชยสุริยา” จะเป็นแบบเรียนสอนอ่านหนังสือไทยให้เด็กๆ สมัยรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ก็ได้สะท้อนภาพทุจริตในการตัดสินคดีของเมืองสาวัตถีเอาไว้ด้วย

 

“คดีที่มีคู่                        คือไก่หมูเจ้าสุภา (=ตุลาการ)

ใครเอาข้าวปลามา                        ให้สุภาก็ว่าดี

ที่แพ้แก้ชนะ                   ไม่ถือพระประเวณี

ขี้ฉ้อก็ได้ดี                                  ไล่ด่าตีมีอาญา”

 

นี่คือกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเพราะสินบน คดีใดมีสินบนมาเกี่ยวข้อง คำตัดสินเปลี่ยนแปลงได้ ที่ควรแพ้กลายเป็นชนะคดี เป็นผลจากผู้พิพากษารับสินบน ไม่ยึดมั่นประเพณีหรือแนวทางที่ปฏิบัติสืบมาจนเป็นแบบแผน เลือก ‘ความถูกใจ’ แทน ‘ความถูกต้อง’

น่าสังเกตว่าการติดสินบนข้าราชการไทยสมัยโบราณ มิได้มีเพียงแวดวงตุลาการ ยังรวมถึงการวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่งหน้าที่การงาน มีหลักฐานยืนยันมาแต่สมัยอยุธยา

ดังจะเห็นได้จาก “พระราชกำหนดเก่า” เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 9 พ.ศ.2283 รัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีข้อความว่า

“แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าแลผู้ใดร้องฟ้องยกความชอบของตัวเอง ติดสอยบนบานให้กราบทูลพระกรุณาขอเปนที่พระ หลวง ขุน หมื่น ผู้รั้งกรมการเมืองใหญ่เมืองน้อยทั้งปวง อย่าให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเอากราบทูลพระกรุณายกถอดพระ หลวง ขุน หมื่น แลผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการใหญ่น้อยทั้งปวงซึ่งหาความผิดมิได้ออกเสียเปนอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดยกย่องความชอบของตัวเอง บนบานติดสอยขอเปนที่พระ หลวง ขุน หมื่น ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการใหญ่น้อยทั้งปวง ถ้าแลผู้ใดเหนแก่อามิสสินจ้างสินบน รับเอาฟ้องมากราบทูลพระกรุณายกถอดผู้หาความผิดมิได้ออกเสีย เอาผู้ซึ่งบนบานนั้นตั้งให้เปนพระ หลวง ขุน หมื่น ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ จะเอาผู้ร้องฟ้องยกความชอบตัวเอง และผู้กราบทูลพระกรุณานั้นเปนโทษตามพระไอยการ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

พระราชกำหนดนี้กำหนดโทษทั่วถึงทั้งคนวิ่งเต้นเป็นเจ้าเมืองและคนเพ็ดทูล ถึงกระนั้นผู้คนก็หาเข็ดหลาบไม่ ยังคงติดสินบนแลกกับตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออก “ประกาศว่าด้วยการเดินเป็นเจ้าเมือง” เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2406

เนื้อหาในประกาศประณามการติดสินบนพระองค์เจ้า เจ้าจอม ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไปจนถึงภรรยาหลวง ภรรยาน้อย และลูกหลานของขุนนางนั้นเพื่อช่วยวิ่งเต้นให้ได้เป็น ‘เจ้าเมือง’ ดังที่ทรงแจกแจงไว้ละเอียดลออด้วยถ้อยคำรุนแรงไม่ไว้หน้า แสดงถึงความชิงชังพฤติกรรมดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

“มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสิงหนาทให้ประกาศแก่ข้าทูลละองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายในให้ทราบทั่วกันว่า อ้ายพระ อ้ายหลวง อ้ายขุน หรือ อ้ายจมื่น เจ๋อเจอะกล้าๆ เปนคนในกรุงบ้าง คนในหัวเมืองบ้างที่อยากจะเปนผู้สำเร็จราชการเมืองในหัวเมืองนั้นๆ หานายหน้าเที่ยวเดินขอเสียสินบนถวายพระองค์เจ้าเจ้าจอมข้างในบ้าง หรือเดินขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยตามพนักงานบ้าง หรือเดินในท่านผู้หญิงเมียน้อยตัวโปรดของขุนนางบ้าง หรือเดินตามบุตรหลานชายหญิงของขุนนางก็มีบ้าง เสียสินบนแรงๆ ขอให้ช่วยเพ็ดทูลว่ากล่าวให้ได้ตั้งออกไปเปนผู้สำเร็จราชการที่เรียกว่า เจ้าเมืองในหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวานั้นๆ ฝ่ายผู้ที่เห็นแก่สินบนก็ต่างคนต่างรับ แล้วก็ต่างคนต่างหาอุบายเพ็ดทูลเย่อหยิ่งกันไปต่างๆ ตามสติปัญญา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักดีถึง ‘ที่มาของสินบน’ เพื่อสนอง ‘ความอยาก’

“ผู้ที่อยากจะเปนผู้สำเร็จราชการหัวเมือง สู้เปนหนี้สินกู้ยืมท่านผู้อื่น สู้เสียดอกเบี้ยมาเสียสินบน ไปได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองเหล่านี้ขึ้น”

เมื่อ ‘ลงทุน’ ไปมากก็ต้อง ‘ถอนทุนคืน’ โดยใช้อำนาจจากตำแหน่งของตนในทางที่ผิด ดังที่ทรงประราชปรารภว่า

“ก็เพราะการในหัวเมืองเปนการไกลพระเนตรพระกรรณ ไกลหูไกลตาท่านผู้หลักผู้ใหญ่ จะพูดจะทำบังคับบัญชาอะไร ไปคดๆ โกงๆ ก็อาจจะทำไปได้ทุกอย่าง เพราะตัวไปนั่งซังเปนที่สูง ไม่มีผู้ขัดขวางได้ … คนที่อยากจะไปด้วยสินบนดังนี้คือเปนใจผีโหงผีห่า ตั้งใจแต่จะคิดกินเลือดกินเนื้อมนุษย์ในเมืองนั้น ไม่มีเมตตากรุณา ยิ่งแรงสินบนมาก เสียดอกเบี้ยเจ้าหนี้มาเสียบนมากก็ร้อนมาก จะเปลื้องหนี้อยากจะผ่อนดอกเบี้ยหรืออยากจะเอาทุนคืน คงจะไปทำผิดๆ ถูกๆ บังหลวงฉ้อราษฎร์กะเกณฑ์เกินราชการ เอาผู้ร้ายมาผูกให้ซัดผิดๆ หรือคิดเอาสินบนปล่อยผู้ร้ายเสีย หรืออื่นๆ อะไรไปไม่หยุดหย่อนเปนแน่”

ทรงบริภาษทั้งผู้ให้และผู้รับสินบนว่า เลวทรามต่ำช้าพอๆ กัน โดยเปรียบเทียบผู้ให้สินบนกับ ‘ยักษ์’ และ ‘ผี’

“ผู้ใดที่เห็นแก่สินบนรับสินบน ช่วยเดินเหินว่ากล่าวเพ็ดทูลแคะไค้ให้ผู้นั้นๆ ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองนั้น ถ้าได้เงินสินบนด้วยเหตุนั้นก็ถือว่า ผู้นั้นหากรุณาแก่มนุษย์มิได้ ชื่อว่าคิดเอาเลือดเอาเนื้อของราษฎรคนยากคนไร้ที่อยู่บ้านห่างเมืองไกลมาขายให้อ้ายยักษ์ อ้ายผี เปนผีโหงผีห่า ผู้ที่หากินอย่างนี้จะได้บาปมากนักหนาทีเดียว”

 

‘สินบน’ คือจุดบอดของสังคมไทยสมัยก่อนที่ใครก็มิอาจปฏิเสธได้ ร้ายไปกว่านั้น มุมมองด้านลบของชาวตะวันตกหลายคนที่มีต่อชาวไทยและข้าราชการไทยในอดีตยิ่งตอกย้ำความจริงอันน่าอัปยศ โดยเฉพาะ “เอกสารของครอว์เฟิร์ด” (สมัย ร.2) “เอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่” (สมัย ร.3) ที่อาจารย์ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ และอาจารย์สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ แปลไว้ อ่านทีไรต้องถอนใจทีนั้น

“…ชาวสยามนั้นนอกจากจะมีนิสัยเห็นเงินเป็นพระเจ้าแล้ว ยังชอบฉ้อฉลคดโกงเรียกสินบน…”

“…ข้าพเจ้าเชื่อว่าการให้ของกำนัลเป็นวิธีเดียวที่จะชักจูงให้เสนาบดีของสยามรับฟังคำปรึกษาอย่างมีเหตุผลได้ และข้าพเจ้าได้ทราบเพิ่มเติมมาว่า เมื่อนายครอว์เฟิร์ดอยู่ในกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ.1822 ได้ตกใจหลายครั้งที่เห็นของกำนัลที่เตรียมไปต้องหมดลงอย่างรวดเร็ว และในที่สุดจึงได้ยินยอมให้ข้าพเจ้าทำรายการเพิ่มเติมขึ้น…”

ยิ่งเมื่ออ่านหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ที่สังฆราชปาลเลกัวซ์ แต่งในสมัยรัชกาลที่ 4 (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล) ก็อยากจะเอาปี๊บคลุมหัวให้รู้แล้วรู้รอด

“…วิธีดีที่สุดที่จะชนะความก็คือ ติดสินบนด้วยเงินก้อนใหญ่ให้แก่ผู้มีอิทธิพลซึ่งคุมคดีของท่านอยู่ เกือบทั่วโลกทีเดียวที่ความยุติธรรมมักจะซื้อขายกันได้ แต่ในเมืองไทยแล้วดูเหมือนจะยิ่งกว่าที่อื่น…”

‘สินบน’ เดินทางผ่านกาลเวลามานานหลายร้อยปี เมืองไทยวันนี้ยังมีการให้การรับสินบนกันอย่างแพร่หลาย ‘ปัจจุบัน’ ต่างจาก ‘อดีต’ ตรงที่วิธีการ ‘ให้’ และ ‘รับ’ ซับซ้อนแนบเนียนกว่า จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน หรือเห็นกันจะจะ แต่ไม่จับ