คำ ผกา | ห่วย

คำ ผกา

ในขณะที่การรับมือกับการระบาดของโควิดทั่วโลกมีพลวัตไปอย่างน่าสนใจหลังจากที่ “โรค” ได้ทำความรู้จักกับโลกใบนี้มาหนึ่งขวบปีเศษ ที่มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ

หนึ่ง ชัดเจนว่า โควิด-19 เป็นโรคที่อัตราการตายต่ำ และดูเหมือนว่าคนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรงเมื่อได้รับเชื้อนี้แล้วจะไม่ได้แสดงอาการและโดยมากอาการจะหายไปเอง

สอง การตรวจหาเชื้อโควิด ทั้งแบบตรวจเลือดเพื่อหาแอนตี้บอดี้ และการตรวจน้ำลายเพื่อหาไวรัส สามารถได้ทำง่ายขึ้น ราคาถูกลง และรู้ผลเร็วขึ้น ส่งผลให้คนสามารถเข้าถึงการตรวจได้มากอย่างมีนัยสำคัญ

เรื่องนี้ส่งผลอีกสองประการคือ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นสูงในหลายประเทศที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจ

ขณะเดียวกันตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สะท้อนความล้มเหลวในการรับมือกับโควิดของประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อสูง

ในทางตรงกันข้าม สะท้อนว่ารัฐนั้นหรือประเทศนั้น ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนได้รับการตรวจ

และผลที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเลขและไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อทำให้รัฐบาลสามารถวางแผนการรับมือ และการป้องกันการระบาดได้ตรงจุด ไม่สะเปะสะปะ

ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการก็ไม่ออกไปใช้ชีวิตแล้วแพร่เชื้อให้ผู้อื่นอันเกิดจากความ “ไม่รู้”

แน่นอนว่า วิธีนี้ รัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจ และจ่ายค่าชดเชยให้สถานบริการต่างๆ ที่ต้องปิดทำการชั่วคราว หากพบว่าเป็นสถานที่เสี่ยง และต้องจ่ายค่าชดเชยรายได้ให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน

แน่นอนว่า มันต่างจากรัฐบาลไทยที่ใช้วิธี “ขู่” เรื่องการลงโทษ ปรับ จำคุกแก่ผู้ที่ติดเชื้อ และปกปิดข้อมูล ทว่า ไม่มีมาตรการเชิงบวก เช่น การชดเชยรายได้ เพื่อหวังผลทางความร่วมมือจากประชาชน

สาม ความสำเร็จของการคิดค้นวัคซีน จนสามารถผลิตขายอย่างเป็นทางการ และน่าจะผลิตได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลงในอนาคตอันใกล้

จากปัจจัยสามประการนี้ ฉันคิดว่ารัฐบาลของประเทศที่คิดว่าหน้าที่ของตัวเองคือการบริหารประเทศ (ไม่ใช่บริหารอำนาจเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์มาปรนเปรอตัวเองและพวกไปเรื่อยๆ ท่ามกลางความสิ้นไร้ไม้ตอกของประชาชน) จะเริ่มสามารถวางแผนการบริหารสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึงได้

เช่น วางแผนได้คร่าวๆ ว่า ประเทศทั้งหลายบนโลกใบนี้จะสามารถเปิดประเทศ เปิดสนามบินอย่างใกล้เคียงกับภาวะปกติได้เมื่อไหร่

จะสามารถเปิดประเทศเพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยวได้อีกครั้งเมื่อไหร่

ประเทศของตนเองจะสามารถมีส่วนแบ่งในการแสวงหารายได้จากการเป็นผู้ผลิตวัคซีน ชุดตรวจไวรัสโควิดต่างๆ ได้เท่าไหร่

ประเทศที่มีรายได้หลักมาจากธุรกิจการศึกษา เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ ที่มีนักศึกษาจากจีน เอเชีย และทั่วโลก เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศเหล่านี้ สร้างรายได้มหาศาล ย่อมใช้เวลานี้ในการปรับกระบวนของการศึกษาทั้งหมด และออกแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับโลกหลังโควิด

และในหลายประเทศย่อมต้องคิดถึงการออกแบบการศึกษาแบบใหม่ หลังจากที่ระบบการศึกษาได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดเนื่องจากเด็กจำนวนมากไม่ได้ไปโรงเรียนและต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน

บางประเทศได้รับบทเรียนจากการรับมือกับโควิดในระลอกแรกว่าการสั่งปิดโรงเรียนไม่ได้ช่วยอะไร มิหนำซ้ำ การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพลเมืองโดยภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นภาวะความเครียดของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ประสิทธิภาพการเรียนการสอนที่ตกต่ำลง เมื่อมีการระบาดอีกครั้ง พร้อมๆ กับการที่มีวัคซีน มีชุดตรวจ มีระบบย้อนหาไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อที่แม่นยำ จึงตัดสินใจไม่ปิดโรงเรียน เช่นประเทศญี่ปุ่น

ในรอบแรกของการระบาดโควิดที่มีชินโสะ อาเบะ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อาเบะสั่งให้โรงเรียนทั่วประเทศปิดและเรียนออนไลน์จนถึงเดือนเมษายน 2563

ส่วนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นดุลพินิจของแต่ละเทศบาลเมืองที่จะปิดหรือเปิด ขึ้นอยู่สถานการณ์โควิดของแต่ละพื้นที่

กระนั้นก็มีเสียงเมาธ์ว่า อาเบะสั่งปิดโรงเรียนแต่ดันทุรังจะให้ญี่ปุ่นได้จัดโอลิมปิกฤดูร้อนให้ได้

พอถึงการระบาดระลอกสอง รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจไม่ออกประกาศสั่งปิดโรงเรียน และการยอมรับความจริงว่า ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศที่พร้อมสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์

คนไทยอ่านแล้วอาจจะตาเหลือก เพราะขนาดญี่ปุ่นยังไม่พร้อม แล้วประเทศง่อยๆ อย่างไทยจะเหลืออะไร

แต่นั่นคือความจริง ในกลุ่มประเทศ OECD ญี่ปุ่นอยู่ใน rank ต่ำสุดในเรื่อง ICT ของการศึกษา เทียบกับประเทศอื่นๆ

โรงเรียนรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ได้เข้าสู่การใช้เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน และไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตให้กับนักเรียนทุกคนได้

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากการปิดโรงเรียนเพราะโควิดระลอกแรกว่า การเรียนออนไลน์นั้นจะทำให้นักเรียนโรงเรียนเอกชนที่มีเงินมากกว่า มีความพร้อมมากกว่า ได้เปรียบนักเรียนโรงเรียนรัฐบาล

และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นครั้งนี้ตัดสินใจไม่ปิดโรงเรียน

แต่ให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนในโรงเรียนโดยให้โอกาสการติดเชื้อโควิดต่ำที่สุดแทน เช่น การเว้นระยะห่าง การรักษาความสะอาด และอื่นๆ

หันกลับมาดูประเทศไทย ความก้าวหน้าสามประการที่จะทำให้เราสามารถ “อยู่” กับโควิดโดยมีความเสียหายทั้งทางสุขภาพกาย จิต สังคม และการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการตรวจหาเชื้ออย่างเป็น “ปกติ”, การเปลี่ยนวิธีคิดว่าความสำเร็จของการรับมือกับโควิดไม่ใช่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดน้อยลงเรื่อยๆ แต่หมายถึงการยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า หากคนเข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น ตัวเลขก็ต้องสูงขึ้นเป็น “ธรรมดา”

สิ่งที่ต้องโฟกัส ไม่ใช่การปิด หรือยุติกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

แต่คือการทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นด้วยความตระหนักว่ามีเชื้อโควิดอยู่รอบๆ ตัวเรา และเราจะป้องกันตนเองเท่าที่จะป้องกันได้

สุดท้าย วัคซีนที่ประเทศไทยยังอ้ำๆ อึ้งๆ ว่า ตกลงรัฐบาลจะบริการวัคซีนแก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้าหรือไม่

ไม่ใช่เพราะเราเห็นแก่ได้ แต่เรามองว่า การจ่ายค่าวัคซีนคือการลงทุนของรัฐบาลเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจ และจีดีพี ที่มีมูลค่าสูงกว่างบฯ ที่จะจ่ายค่าวัคซีนมากนัก

และสำคัญที่สุด ถ้าประเทศไทยมีพร้อมทั้งสามประการนี้ มันจะส่งผลต่อนโยบายการศึกษาของประเทศไทยว่าจะเอาอย่างไรกันแน่???

ถ้าขนาดญี่ปุ่นยังบอกว่าตัวเองเป็นประเทศที่ไม่มีความพร้อมเรื่อง ICT เพื่อให้บริการการเรียนออนไลน์

ฉันอยากถามว่า รัฐบาลไทยเคยมีความสงสัยต่อความสามารถของตนเองในเรื่องนี้หรือไม่?

มิพักต้องถามว่าบริการอินเตอร์เน็ต ไวไฟ ในประเทศไทยมีพร้อม มีทั่วถึง เท่าเทียมพอที่จะจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ได้หรือไม่?

มิพักต้องถามว่า ครูของเราส่วนใหญ่มีความสามารถพอในการรับมือกับการออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์หรือไม่?

คำถามเหล่านี้อยู่ในสายลม

คำตอบก็อยู่ในสายลม

และผู้หลักผู้ใหญ่ รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องการศึกษา ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่พูดถึงนักเรียนไทยที่เกินครึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ปกติก็ได้รับการศึกษาในคุณภาพที่ต่ำกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีอันจะกินอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะถูกทิ้งไว้กับการศึกษาผุๆ พังๆ ตามมีตามเกิด

กลุ่มคนชั้นกลางที่เอาลูกเข้าโรงเรียนเอกชนราคาแพงก็มีปัญหาไปอีกแบบ

ผู้บริหารโรงเรียนต้องอยู่ในภาวะระหว่างเขาควาย

จะไม่ปิดโรงเรียน ผู้ปกครองก็ด่าว่า ถ้าลูกชั้นติดโควิด ใครจะรับผิดชอบ

พอปิดโรงเรียน ผู้ปกครองก็ด่าว่า จ่ายค่าเทอมไปตั้งแพง ลูกชั้นได้อะไรจากโรงเรียน

คนที่ซวยที่สุดก็คือ ครูที่ต้องพยายามแสดง performance การสอนออนไลน์ ซึ่งการโชว์ performance แบบไทยๆ คือ “เยอะไว้ปลอดภัยดี”

ครูและโรงเรียนก็แข่งกันทำคลาสออนไลน์? ให้แน่น ให้เป๊ะ ให้ปัง ในเชิงปริมาณ

เดือดร้อนผู้ปกครองต้องแหกขี้ตามานั่งเฝ้าลูกอนุบาลสอง ป.หนึ่ง ป.อะไรต่อมิอะไร เรียนออนไลน์ตั้งแต่แปดโมงเช้า เรียนพละ เรียนดนตรีกันออนไลน์

โคตรไร้สาระ ปัญญาอ่อนกันทั้งสิ้น

นักเรียนโตหน่อยก็ต้องทำสารพัดโครงงาน รายงาน ทำอะไรให้มันเยอะไว้ก่อน

สุดท้ายไม่มีใครตอบได้ว่ามีใครได้อะไรจากการเรียนออนไลน์แบบติดๆ ดับๆ และขาดประสบการณ์ ขาดกรอบคิด เฟรมเวิร์ก

ขาดแม้กระทั่งคำถามที่พึงถามตนเองเสมอว่า ตกลงเราต้องการระบบการศึกษาเพื่อตอบโจทย์อะไรของประเทศ

ไม่มีใครพูดถึงเด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษในแบบต่างๆ เช่น เด็กสมาธิสั้น เด็กภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กพิเศษในรูปแบบต่างๆ และลองบวกไปว่า เด็กเหล่านี้ในครอบครัวที่มีทุนทางสังคมต่ำถึงต่ำที่สุด

หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาไม่มีใครออกมาแสดงทัศนะ ความห่วงใย วิสัยทัศน์ใดๆ ทั้งสิ้น

และล้วนแต่ปล่อยให้โรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง แสวงหาทางเลือกทางรอดไปตามมีตามเกิด

นักศึกษาบางมหาวิทยาลัยตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ยังไม่เคยได้ใช้ชีวิตในแคมปัส ยังไม่เคยเข้าคลาสเรียนเลยแม้แต่ครั้งเดียว แล้วต้องมาเจอกับการเรียนออนไลน์ล้วนๆ มา 3 เทอมติดต่อกัน

ไม่มีใครบอกว่าเราจะรับผิดชอบชีวิตของพวกเขาอย่างไร

ฉันคิดว่า ถ้ารัฐบาลจะลอยแพประชาชน ทำงานกันแค่งานแถลงข่าวแล้วพูดซ้ำๆ ว่า ประชาชนต้องช่วยกัน แต่ไม่มีแผนบริหารประเทศ เราสามารถ make sense กับมันได้

มันคงถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องอารยะขัดขืนกับรัฐบาลบ้างแล้ว

อย่างน้อย นักศึกษามหาวิทยาลัย ควรดร็อปการเรียน และเรียกร้องที่จะไม่จ่ายค่าเทอม หรือขอจ่ายแค่ค่ารักษาสถานภาพ

นักเรียน ม.6 ตอนนี้ไม่ควรพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะคุณจะไม่ได้อะไรเลย แต่เลือกเรียนออนไลน์ฟรีกับมหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วโลกเลยดีกว่า

หรือคนที่เรียนไม่เก่ง ภาษาอังกฤษไม่ดี การอยู่บ้านช่วยพ่อ-แม่ทำงานบ้านก็ยังอาจมีประโยชน์กว่าการพยายามจะเรียนมหาวิทยาลัย ที่ไม่มี “ชีวิตการเรียน” มอบให้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียค่าเทอมปีละหลายหมื่น

ส่วนพ่อ-แม่ของเด็กนักเรียนประถม มัธยม ฉันไม่แน่ใจจริงๆ ว่า ถ้ารัฐบาลกับโรงเรียนทั้งหมดในประเทศนี้ไม่มีคำตอบว่า พวกเขาให้อะไรกับลูก-หลานของเราในฐานะที่เป็น “การศึกษา” มันจะมีประโยชน์อะไรกับการที่เราจะเอาลูกไปเข้าโรงเรียน จ่ายเงินมากมายสำหรับชุดนักเรียน ลูกเสือ พละ รองเท้าสีขาว สีน้ำตาล สีดำ ตัดผมถูกระเบียบเป๊ะ

และถ้าหากลูกของคุณเรียนออนไลน์ได้ดีมาก ก็ยิ่งชัดเจนว่า การไปโรงเรียนและระบบโรงเรียนไร้ความจำเป็นโดยสิ้นเชิง

และนั่นแปลว่า ต่อไปนี้ ลูกเราไม่ต้องไปโรงเรียน เรียนเองอยู่บ้านก็ได้เหมือนกัน – ใช่หรือไม่

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในภาวะโควิดนี้ทำให้ฉันสะเทือนใจมากว่า จนถึงวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐและหน้าที่ของรัฐที่พึงมีต่อประชาชนน้อยเกินไป

และเราช่าง “เชื่อง” เหลือทน ที่เฝ้าทำทุกอย่างตามที่เขาสั่งมาให้ทำ

ถ้าเราด่าว่ารัฐบาลโง่ ฉันก็ไม่แน่ใจว่า ใครโง่กว่ากัน ระหว่างเขากับเราที่ก้มหน้าก้มตาทำตามที่เขาสั่งทุกอย่าง

โดยไม่แม้แต่จะตะโกนดังๆ ว่า สิ่งที่มึงบอกให้กูทำมันห่วย