จีนอพยพใหม่ในไทย (17) /วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (17)

 

เมื่อแรกที่ปลายทาง (ต่อ)

ในขณะที่ชาวจีนที่เข้ามาตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เรื่อยมามักมีสถานภาพที่ถูกกฎหมายโดยมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หรือวีซ่าทำงาน (Work Visa) และหวังว่าจะได้สัญชาติไทยในวันหนึ่ง

ชาวจีนกลุ่มหลังนี้เข้ามาในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังเติบโต และรัฐบาลก็ส่งเสริมให้พลเมืองของตนออกไปทำการค้าการลงทุนยังต่างประเทศ ส่วนการจัดระเบียบคนเข้าเมืองกับแรงงานต่างชาติในไทยก็เป็นระบบมากขึ้น สถานภาพของชาวจีนกลุ่มนี้จึงไม่สู้มีปัญหาเท่าชาวจีนกลุ่มแรก

แต่ในแง่ประสบการณ์ชีวิตแล้วชาวจีนกลุ่มนี้มีความราบรื่นมากกว่ากลุ่มแรก และมักอยู่ในวัยหนุ่ม-สาว

ตราบจนทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา การเข้ามาของชาวจีนที่มีสถานภาพแบบกลุ่มหลังก็กลายเป็นภาพที่พบเห็นได้เป็นปกติในไทย

 

ชีวิตในระยะแรก

ไม่ว่าจะด้วยแรงจูงใจใด หรือด้วยจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในไทยแล้ว การใช้ชีวิตในระยะแรกย่อมเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเป็นประเด็นที่จะเห็นได้ถึงความแตกต่างหลังจากที่ผู้อพยพเหล่านี้ปรับตัวได้แล้ว

นอกจากนี้ การอพยพที่มีอยู่หลายช่วง และผู้อพยพในแต่ละช่วงต่างก็ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน อีกทั้งแต่ละกลุ่มที่อพยพเข้ามาในแต่ละช่วงยังมีฐานะที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ภูมิหลังเหล่านี้จึงส่งผลให้การใช้ชีวิตในไทยมีความแตกต่างกันไปด้วย

บางกลุ่มมีชีวิตที่ราบรื่นด้วยมีญาติสนิทมิตรสหายคอยช่วยเหลือดูแล หรือไม่ก็มีฐานะดีตั้งแต่ครั้งอยู่ที่จีน บางกลุ่มมีชีวิตที่ต่อสู้ดิ้นรนอย่างปากกัดตีนถีบ หรือไม่ก็เสี่ยงต่อการถูกล่อลวง ทำร้าย หรือถูกจับกุมในกรณีที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เป็นต้น

การสะท้อนชีวิตเมื่อแรกเข้ามายังไทยในที่นี้จึงแยกอธิบายได้หลากหลาย ซึ่งในที่นี้จะได้กล่าวโดยภาพรวม และสอดแทรกรายละเอียดเป็นตัวอย่างให้เห็นในบางกรณี

ดังนี้

กรณีที่มีฐานะยากจน กรณีนี้โดยมากจะเป็นชาวจีนที่เข้ามายังไทยหลังจากจีนเปิดประเทศได้ไม่นานจนถึงทศวรรษ 1990 โดยเลือกเข้ามายังไทยในแบบตายเอาดาบหน้าและไม่มีคนที่ตนรู้จักอยู่ในไทย ชาวจีนกลุ่มนี้จึงใช้ชีวิตเมื่อแรกเข้าในไทยอย่างปากกัดตีนถีบหรือต่อสู้ดิ้นรนค่อนข้างหนัก

และเมื่อต้องดำรงชีวิตตามลำพังโดยที่พูดและใช้ภาษาไทยไม่ได้ด้วยแล้ว การใช้ชีวิตในไทยของชาวจีนกลุ่มนี้จึงเป็นกรณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ดังตัวอย่างหญิงจีนคนหนึ่งที่เข้ามายังไทยเมื่อปลายทศวรรษ 1970 หรือหลังจากที่จีนเปิดประเทศได้ไม่นาน เธอเดินทางเข้ามาในรูปของนักท่องเที่ยว แต่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่กลับไปจีนอีก และมีเงินติดตัวมาจำกัด

โดยปักหลักในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ที่ในเวลานั้นเธอยังไม่รู้ว่าคือจังหวัดใด!!!!

แต่ด้วยเหตุที่มีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาและเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การใช้ชีวิตของเธอจึงมีความเสี่ยงสูง ในขณะเดียวกันก็ต้องหาอาชีพมาทำให้ได้ ซึ่งเธอพบว่ามีคนไทยกลุ่มหนึ่งไปขุดคุ้ยกองขยะเพื่อหาของเก่ามาขาย เธอจึงไปร่วมกับคนไทยกลุ่มนั้น

แล้วเรียนรู้วิธีเลือกเก็บของเก่าพร้อมกันไป

เวลาผ่านไปไม่กี่ปี เธอได้พบกับชายจีนที่มีฐานะและชะตากรรมที่ไม่ต่างกับเธอเมื่อแรกเข้ามายังไทย เธอจึงแนะนำให้เขาทำอาชีพอย่างที่เธอทำและเขาก็ไม่ปฏิเสธ หลังจากนั้นทั้งสองจึงใช้ชีวิตร่วมกันเยี่ยงสามี-ภรรยาทั่วไปโดยเช่าห้องราคาถูกเป็นที่พักอาศัย

จนเมื่อมีลูกด้วยกันสามคนแล้วจึงได้ใช้เงินที่เก็บไว้ส่วนหนึ่งซื้อรถจักรยานสามล้อหรือรถซาเล้ง เพื่อนำลูกทั้งสามที่ยังเล็กใส่ไว้ในรถซาเล้งไปเก็บของเก่าด้วยกันกับตน

ลูกทั้งสามถูกเลี้ยงดูเช่นนี้จนเติบโตพร้อมกับฐานะครอบครัวที่กระเตื้องขึ้นกว่าเดิม จนลูกทั้งสามสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยที่เวลานั้นเธอและสามีได้ใช้เงินที่เก็บสะสมมาเปิดร้านรับซื้อของเก่าได้แล้ว และปัจจุบันได้เกษียณตนเองในวัยก่อน 60 โดยทิ้งกิจการให้ลูกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแล

แม้กรณีที่เล่ามานี้จะจบลงด้วยบั้นปลายชีวิตที่ดี แต่หากพิจารณาชีวิตในระยะแรกที่เข้ามาแล้วจะเห็นได้ว่า การเข้ามายังไทยด้วยฐานะที่ยากจนย่อมมีผลทำให้การใช้ชีวิตมีความเสี่ยงสูง ซึ่งชาวจีนรายอื่นที่มีฐานะยากจนต่างก็ต่อสู้ดิ้นรนด้วยลักษณะที่คล้ายกันนี้

ที่โดยส่วนใหญ่แล้วมักเลือกที่จะเป็นลูกจ้างให้กับเจ้าของกิจการขนาดกลางหรือต่ำกว่าขนาดกลาง และแน่นอนว่าเจ้าของกิจการย่อมมีเชื้อสายจีนที่อาจรู้ภาษาจีนหรือไม่ก็ได้

เหตุดังนั้น ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับชาวจีนเหล่านี้ได้เข้าไปอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าของกิจการไปโดยปริยาย เพราะทั้งหมดนี้ต่างเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การตกอยู่ในภาวะเช่นว่าจึงเป็นเพราะไม่มีทางเลือก (ซึ่งหากเลือกดังหญิงจีนจากกรณีที่เล่ามาจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่า)

และคงด้วยภาวะนี้เองที่ทำให้มีบางรายถูกเจ้าของกิจการหรือนายจ้างเอาเปรียบ

ชาวจีนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงดังกล่าวนานหลายปีกว่าจะปรับตัวได้ และควบคู่ไปกับการปรับตัวชาวจีนกลุ่มนี้ก็เริ่มขยับขยายฐานะของตนอย่างช้าๆ จนมีครอบครัวและมีกิจการเป็นของตนเองดังกรณีหญิงจีนรายดังกล่าวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม นับแต่ทศวรรษ 2000 การเข้ามายังไทยของชาวจีนที่มีฐานะยากจนเริ่มลดน้อยลง และที่มีเข้ามานั้นก็มีเครือข่ายที่จะรับเข้าทำงานอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเศรษฐกิจของจีนที่ดีขึ้นได้ทำให้ชาวจีนมีฐานะที่ดีขึ้น และมีหน้าที่การงานในจีนที่มั่นคงมากขึ้น

ความคิดที่จะอพยพมายังไทยหรือประเทศอื่นจึงเป็นไปเพื่อการค้าการลงทุนที่ชัดเจน มิใช่เพื่อไปตายเอาดาบหน้าอีกต่อไป

กรณีที่มีฐานะปานกลาง ชาวจีนกลุ่มที่มีฐานะปานกลางนี้หมายถึงชาวจีนที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปจนถึงระดับปริญญาตรี และมีหน้าที่การงานในจีนอยู่แต่เดิม ซึ่งอาจมีรายได้ในระดับปานกลางหรือต่ำกว่าระดับปานกลางไม่มาก

แต่เมื่อได้รับข้อมูลทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยก็เกิดแรงจูงใจขึ้นมา ชาวจีนกลุ่มนี้จึงเดินทางเข้ามายังไทย แรงจูงใจที่ว่าจึงคือโอกาสทางเศรษฐกิจ คำคำนี้เป็นคำสำคัญของชาวจีนกลุ่มนี้ และเป็นคำที่พึงศึกษาทำความเข้าใจ

โอกาสทางเศรษฐกิจของชาวจีนที่มีฐานะปานกลางมีความหมายที่ค่อนข้างจะกว้างขวาง เริ่มจากฐานะระดับปานกลางประกอบกับระดับการศึกษาของตนที่ทำให้มีความเสี่ยงน้อย ที่ถ้าหากอยู่ต่างแดนแล้วไม่สามารถปรับตัวได้ หรือทำการค้า การลงทุน หรือแม้แต่การทำงานที่กินเงินเดือนของตนไม่สู้จะประสบความสำเร็จแล้ว ก็ยังสามารถกลับไปตั้งต้นใหม่ที่บ้านเกิดในจีนได้

ซึ่งผิดกับชาวจีนกลุ่มแรกที่มีฐานะยากจนที่มิอาจมีทางสำรองให้แก่ชีวิตได้

โอกาสทางเศรษฐกิจในลำดับถัดมาคือ ชาวจีนกลุ่มนี้มีช่องทางทางเศรษฐกิจที่ตนศึกษามาในระดับหนึ่งแล้ว ว่าจะเข้ามาทำธุรกิจหรือหน้าที่การงานใด

ลำดับสุดท้ายของโอกาสทางเศรษฐกิจคือ มีญาติสนิทมิตรสหายในไทยเป็นเครือข่ายที่ไว้วางใจได้ กรณีนี้จะมีไม่มากนัก แต่ถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างพิเศษ

จากโอกาสทางเศรษฐกิจดังกล่าว นับว่ามีส่วนไม่น้อยที่ทำให้การใช้ชีวิตเมื่อแรกเข้ามายังไทยมีความกดดันน้อยกว่ากลุ่มแรก ความกดดันที่หากจะมีถือเป็นความกดดันของผู้อพยพทั่วโลก นั่นคือ การที่มิอาจสื่อสารด้วยภาษาของเจ้าของประเทศได้

ถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่า ความกดดันนี้แตกต่างกับชาวจีนที่มีฐานะยากจนอย่างไร ในเมื่อชาวจีนที่มีฐานะยากจนก็มีปัญหาการสื่อสารด้านภาษาเช่นกัน

กรณีนี้นับว่ามีความแตกต่างอย่างมาก เพราะชาวจีนกลุ่มที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้นอกจากจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อให้การค้าหรือการลงทุนของตนเป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว ก็ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพลเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่หรือเจ้าของประเทศอีกด้วย

ปฏิสัมพันธ์นี้มิใช่การสื่อสารเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน แต่เป็นการสื่อสารในเรื่องธุรกิจหรือหน้าที่การงานโดยตรง ซึ่งนับเป็นความกดดันที่สำคัญที่ชาวจีนกลุ่มนี้ต่างให้ข้อมูลกับผู้วิจัยตรงกัน

เหตุดังนั้น ความต้องการชาวจีนหรือชาวไทยที่รู้ภาษาจีนดีจึงมีความสำคัญต่อชาวจีนกลุ่มนี้ไปด้วย

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป