อนุสรณ์สถานความน่าละอายของชาติ : ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด
ชาตรี ประกิตนนทการ

อนุสรณ์สถานความน่าละอายของชาติ

“หากคุณไม่รู้สึกอับอายเมื่อชาติของคุณทำผิด คุณก็ไม่มีทางเป็นผู้รักชาติที่แท้จริงได้”
ประโยคข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ตั้งแต่เมื่อปี 2548 ของ Benedict Anderson หรือ อ.เบน ในวงวิชาการไทยศึกษา โดยเนื้อหาเป็นการพูดถึงมิติต่างๆ ของอุดมการณ์ชาตินิยม (ดูรายละเอียดใน https://www.lorenzk.com/english/2005/benedict-anderson-interview/)
ส่วนที่น่าสนใจสำหรับผมคือ อ.เบนนิยามตัวเองว่าอาจจะเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องชาตินิยมเพียงคนเดียวที่ไม่ได้คิดว่าชาตินิยมนั้นมีแต่ด้านที่น่ารังเกียจ
โดยในบทสัมภาษณ์นี้พูดถึงด้านบวกบางอย่างของความรู้สึกชาตินิยมที่ทำให้ผู้คนสามารถทำในสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้
และข้อเสนอที่น่าคิดมากๆ ก็คือ อ.เบนพูดถึงพลังด้านบวกว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนในชาติปราศจากความละอายในชาติตน

อ.เบนขยายความประเด็นนี้ในปาฐกถาเรื่อง “Long Live Shame! The Good Side of Nations and Nationalism” ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในปี 2554 (ปาฐกถานี้ได้รับการแปลโดยอาทิตย์ เจียมรัตตัญญู และตีพิมพ์ในฟ้าเดียวกัน ฉบับเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2560) โดยเริ่มด้วยการเล่าประสบการณ์วัยเด็กเมื่อไปจ่ายตลาดกับแม่ แล้วแม่ได้ทำในสิ่งที่น่าอับอายบางอย่างขึ้นในที่สาธารณะ
ซึ่ง อ.เบนกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นว่า ถ้าผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เป็นแม่ของแก แกก็คงจะวิ่งหนีและหัวเราะเยาะไปพร้อมกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแกกลับรู้สึกอับอายไปกับการกระทำของแม่
ซึ่ง อ.เบนอธิบายว่า ความรู้สึกแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความผูกพันมากๆ กับสิ่งนั้น และรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันกับสิ่งนั้น
ซึ่งแกเห็นว่าความรู้สึกละอายแทนในแบบนี้เป็นความรู้สึกมูลฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของความรู้สึกชาตินิยม
ในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อครั้ง อ.เบนยังเป็นหนุ่มและตื่นตัวอย่างมากในการทำกิจกรรมต่อต้านสงคราม
ครั้งหนึ่ง อ.เบนพบกับผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่ออกมาชุมนุมประท้วงสงคราม จึงเข้าไปถามถึงเหตุผล
ผู้สูงวัยเหล่านั้นต่างพูดว่าที่ต้องออกมาเพราะเกิดความละอายแก่ใจในประเทศชาติของตัวเองจนทนไม่ได้ที่จะเห็นประเทศถูกชาวโลกประณาม
คำตอบเหล่านี้ทำให้ อ.เบนเริ่มเข้าใจความละอายในฐานะที่ไม่ใช่สิ่งที่น่าละอาย
แต่เป็นคุณสมบัติด้านบวกของความรู้สึกชาตินิยม (เพราะถ้าคุณไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติคุณย่อมไม่มีวันรู้สึกละอายแทนชาติ) ที่ อ.เบนเรียกร้องอยากให้คนที่ชอบอ้างว่าเป็นผู้รักชาติมีกันให้มากๆ

บทสัมภาษณ์และปาฐกถาข้างต้นผมคิดว่าน่าสนใจและน่าเอามาคิดต่อ
เพราะเมื่อคุณมีแต่ความรู้สึกรักชาติ ภูมิใจชาติ มองเห็นแต่ด้านดีงามของชาติเพียงอย่างเดียว ย่อมง่ายมากที่จะทำให้เรารู้สึกหลงในชาติของตัวเองมากจนเกินไป และอาจนำไปสู่การดูถูกชาติอื่นได้โดยง่ายทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
หรือไปไกลกว่านั้นก็คือ หลงชาติตัวเองจนละเลยความเป็นมนุษย์ของคนอื่น
ในขณะที่ข้อเสนอ อ.เบนเรียกร้องให้เรามีความละอายในชาติของตนเองให้มากขึ้น (เมื่อชาติทำในสิ่งที่ผิด) เพราะความรู้สึกนี้คือพลังด้านบวกที่คอยตรวจสอบชาติว่ากำลังเดินไปในร่องในรอยที่ถูกต้องหรือไม่ และคอยตะโกนตักเตือนชาติเมื่อกำลังเดินหลงทาง
ในทัศนะของคนส่วนใหญ่ที่รักชาติเพียงด้านเดียวอย่างไม่เคยตั้งคำถาม อาจมองความละอายในชาติตามข้อเสนอนี้ว่าเป็นเรื่องของคนชังชาติ
มองคนที่พูดถึงด้านลบของสิ่งที่ชาติได้สร้างขึ้นว่าเป็นความพยายามในการบ่อนทำลายชาติ
แต่หากเราลองมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ เราย่อมเห็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ไม่ว่าชาติใดก็ล้วนแล้วแต่เคยกระทำสิ่งที่ผิดพลาดและน่าละอายด้วยกันทั้งสิ้น
เพราะทุกปฏิบัติการใดๆ ของชาติล้วนมาจากมนุษย์ที่พร้อมจะทำผิดพลาดได้เสมอ
ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องปกปิดหรือแอบซ่อนมัน
ความเลวร้ายของการค้าทาสคือความน่าละอายของสหรัฐ
นาซีคือความน่าละอายของชาวเยอรมัน
การปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคของเหมาเจ๋อตุง คือความน่าละอายของจีน
เหตุการณ์ “Rape of Nanking” คือความน่าละอายของญี่ปุ่น ฯลฯ
และแน่นอน ชาติไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์เผาลงถังแดง เป็นบางตัวอย่างที่น่าละอายของชาติ
ประเด็นคือ เราควรจัดการกับความน่าละอายของชาติ หรือที่บางคนเรียกว่า “ประวัติศาสตร์บาดแผล” เหล่านี้อย่างไรถึงจะทำให้ชาติได้ประโยชน์สูงสุด

บางชาติเลือกที่จะลืมและทำให้ความน่าละอายเหล่านี้เสมือนว่าไม่เคยมีอยู่จริง บางชาติเลือกที่จะเบี่ยงไปพูดถึงประเด็นอื่น บางชาติเลือกที่จะโจมตีผู้ที่ยกความน่าละอายเหล่านี้ขึ้นมาพูดว่าเป็นพวกชังชาติ โดยมีเพียงส่วนน้อยที่เลือกจดจำและใช้มันเป็นบทเรียนให้แก่ตนเอง
ตัวอย่างส่วนน้อยดังกล่าวคือ ประเทศเยอรมนีที่จัดการกับความน่าละอายของตนเองในยุคนาซีอย่างเปิดเผย
และที่น่ายกย่องอย่างมากในทัศนะผมก็คือ มีการสร้าง Holocaust Memorial ขึ้นกลางกรุงเบอร์ลินเพื่อรำลึกถึงความน่าละอายนั้นอย่างตรงไปตรงมา โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2548 (ไม่นับรวมพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งที่พูดถึงประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา)
แม้อนุสรณ์สถานนี้จะเต็มไปด้วยคำวิจารณ์ ฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรสร้างเพราะพูดถึงด้านลบของชาติ
ฝ่ายก้าวหน้าบางส่วนมองว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงบางประการเพราะเลือกที่จะพูดถึงเหยื่อชาวยิวเพียงกลุ่มเดียว ทั้งๆ ที่เหยื่อของนาซีมีทั้งพวกยิปซีและรักร่วมเพศด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์สถานแห่งนี้ก็ถือว่าเป็น “อนุสรณ์สถานความน่าละอายของชาติ” แห่งแรกๆ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเต็มไปด้วยความรู้สึกละอายแทนสิ่งที่ชาติตนเองกระทำไว้ต่อเพื่อนมนุษย์ในยุคนาซี

เมื่อมองย้อนมาที่สังคมไทย เราก็จะพบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งชาติล้วนแล้วแต่เน้นไปที่ความรู้สึกด้านเดียวที่มีต่อชาติ คือ “รักและภาคภูมิใจ” โดยไม่มีอนุสรณ์สถานแห่งใดเลยที่พูดถึง “ความน่าละอาย”
อาจมีคำถามว่า “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” และ “อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม” อยู่ในข่ายที่ผมกำลังพูดถึงหรือไม่
คำตอบคือไม่
เพราะภาษาทางสถาปัตยกรรมของทั้งสองแห่งในทัศนะผม ถูกออกแบบมาเพื่อเน้นระลึกถึงผู้เสียชีวิตในแบบเจดีย์ทางศาสนามากกว่าการทำหน้าที่เพื่อชี้ให้เห็นความน่าละอายของอาชญากรรมรัฐที่กระทำต่อประชาชน
การบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตไว้ภายในเป็นตัวอย่างรูปธรรมของความเป็นเจดีย์ทางศาสนา แม้จะมีรูปสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเสรีภาพ เช่น เปลวไฟหรือนกพิราบปรากฏอยู่ และมีการจัดแสดงภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไว้ภายใน
แต่ก็ยังขาดพลังในเชิงสัญลักษณ์ที่มากพอในการกระตุ้นให้เกิด “ความรู้สึกละอายแทนชาติ” ให้เกิดขึ้น
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการสร้างความรู้สึกละอายในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
“ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา” อาจถือว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมกำลังเสนอมากที่สุด แต่ก็มีขนาดที่เล็กเกินไป
ส่วน “อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง” แม้จะมีขนาดใหญ่และตั้งอยู่ในพื้นที่กว้าง แต่การออกแบบก็ยังไม่สื่อสารความหมายที่ชัดเจนและมีพลังมากพอ
อีกทั้งในปัจจุบันกิจกรรมรำลึกและความหมายก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและมีสถานะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเสียมากกว่า

จากที่กล่าวมาทั้งหมด นำมาสู่คำถามที่น่าคิดคือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยควรจะมีอนุสรณ์สถานที่ให้คนไทยได้เกิดความรู้สึกละอายแทนชาติในหลายๆ กรณีที่ชาติได้ทำผิดพลาดไป
เพราะหากมองตามนิยามของ อ.เบน “ความรู้สึกละอายแทน” คือความรู้สึกระดับลึกของมนุษย์เราที่จะมีขึ้นต่อเมื่อเรามีความรักและผูกพันต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างลึกซึ้งเท่านั้น
และด้วยเหตุนี้ การสร้าง “อนุสรณ์สถานความน่าละอายของชาติ” จึงเป็นการสร้างสถานที่ที่แสดงออกถึงความรักชาติไทยได้อย่างแท้จริงนั่นเอง