โควิด-19 กับสุนทรียะแห่งกลิ่น-รสที่หายไป / ทะลุกรอบ – ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ
ป๋วย อุ่นใจ

โควิด-19
กับสุนทรียะแห่งกลิ่น-รสที่หายไป

“อยากรู้ว่าติดโควิดหรือไม่ ต้องผายลมแล้วดมดู”
มุขไวรัลที่เพิ่งขจรขจายไปทั่วโซเชียลนี้น่าสนใจ
เพราะหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แม้จะไม่ใช่พบร้อยทั้งร้อย แต่ก็เยอะอยู่ (ราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์เห็นจะได้) ที่จริง กลิ่น-รสไม่ได้หายไปไหน ความสามารถการรับรสรับกลิ่นนั่นต่างหากที่หายไป
ชายหนุ่มจากมหานครนิวยอร์ก เอียน แคนเทอร์ (Eian Kantor) ค้นพบในบ่ายวันหนึ่งว่ากลิ่นหอมโชยกรุ่นเย้ายวนรัญจวนใจของชามินต์ที่เขากำลังชงอยู่นั้น มันไม่ลอยเตะจมูกเหมือนเคย
เอียนลองดมทุกสิ่งที่พอจะหาได้ในตู้เย็น ซอสพริก แตงดอง กระเทียม ทุกอย่าง แต่เขาก็ยังไม่ได้กลิ่นอะไรเลยแม้แต่น้อย
สงสัยอาการภูมิแพ้คงกำเริบ เอียนมีไข้เล็กน้อย แต่ตรวจโควิดแล้วเป็นลบ

หลายเดือนต่อมา เอียนเริ่มไม่โอเค อาการประสาทสัมผัสไม่รับกลิ่น หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า แอนอสเมีย (anosmia) แม้จะอยู่กับเขามาสักพัก แต่การทำใจให้ชินกับมัน คงไม่ใช่เรื่องง่าย
เอียนลองตรวจภูมิเช็กโควิดดูอีกที ปรากฏว่าระดับแอนติบอดี้ต้านโควิดในเลือดของเขานั้น สูงปรี๊ดจนแทบทะลุชาร์ต ชัดเจนว่าเขาเคยติดโควิด-19 มาก่อน โดยไม่รู้ตัว
แต่เพราะโควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา อาการไม่รู้กลิ่นที่เกิดจากโควิดนั้นจึงไม่เหมือนกับอาการที่เกิดจากไข้หวัด!
บางคนอาจได้กลิ่นลดลงจากการเป็นหวัด ซึ่งมักจะมีอาการจมูกตัน คัดจมูก น้ำมูกไหลมาก่อน แต่ผู้ป่วยโควิดอย่างเอียน สูดหายใจได้แบบโล่งๆ ลมเข้า-ออกปลอดโปร่ง แค่จมูกดับ ประสาทสัมผัสรับกลิ่นปิดการติดต่อกับโลกภายนอกไปเฉยๆ
เอียนพยายามทุกวิถีทาง ฉีดสเตียรอยด์ลดอักเสบ กินเบต้าแคโรทีน ฟื้นฟูเส้นประสาท เข้าโปรแกรมฝึกดมกลิ่น ไปจนถึงการฝังเข็ม เพื่อให้เขาสามารถกลับมามีชีวิตที่แฮปปี้ ได้กลิ่นหอมโชยของธรรมชาติ ได้ชื่นชมรสชาติอาหารอร่อยได้อีกครั้ง แต่ไม่ว่าจะด้วยทางใด ความพยายามก็ยังดูไร้ผล
หรือว่าไวรัสโควิด-19 จะทำลายประสาทรับกลิ่นของเอียนไปจนหมดสิ้นแล้ว

ที่จริง นักวิจัยมากมายต่างก็สงสัยและกังวลในข้อนี้
เพราะการเสียประสาทสัมผัสน่าจะเกี่ยวกับการส่งกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทรับกลิ่นไปยังสมองเพื่อให้เรารู้ว่าเราได้กลิ่นอะไรอยู่ แล้วถ้าไวรัสติดไปถึงสมองผ่านการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทได้ อันนี้น่าจะเรื่องใหญ่
โดยปกติแล้ว โปรตีนหนาม (spike protein) ของไวรัส จะต้องยึดเกาะกับโปรตีน angiotensin converting enzyme 2 หรือ ACE-2 ของคนก่อน จึงจะเริ่มติดเชื้อเข้าไปในเซลล์ได้
“แต่เซลล์ประสาทรับกลิ่นไม่มีโปรตีน ACE-2 ซึ่งเป็นเป้าหมายของไวรัส ดังนั้น เซลล์ประสาทจึงไม่น่าที่จะติดไวรัสโรคโควิด-19 ได้” แซนดีป โรเบิร์ต ดัตตะ (Sandeep Robert Datta) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ให้สัมภาษณ์
การทดลองฉีดไวรัสโรคโควิด-19 เข้าไปในหนูแฮมสเตอร์ของนิโคลัส แมนิเยร์ (Nicolas Meunier) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาปารีส ซัคเลย์ (Paris-Saclay University) พบว่า เซลล์ประสาทรับกลิ่น (olfactory neuron) นั้น แทบไม่ติดโควิดเลย แม้ผ่านไปแล้วเป็นสัปดาห์
ในขณะที่เซลล์ค้ำจุน (sustentacular cell) ในบริเวณรอบๆ นั้นติดกันงอมแงมตั้งแต่สองวันแรก

ผลการทดลองของนิโคลัสสอดคล้องกับบทสรุปของทีมฮาร์วาร์ดเป็นอย่างดี เพราะบนผิวของเซลล์ค้ำจุนพวกนี้เต็มไปด้วยโปรตีน ACE-2
เซลล์ค้ำจุนเหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญคือช่วยรักษาดุลยภาพของเกลือไอออนต่างๆ รวมทั้งเป็นโครงร่างที่สนับสนุนทั้งในทางกายภาพ ให้สารอาหารและสัญญาณทางเคมีที่สำคัญต่อการอยู่รอดอย่างเป็นปกติสุขของเซลล์ประสาทรับกลิ่น
บนผิวเซลล์ประสาทรับกลิ่นจะมีโครงสร้างที่ยื่นออกมาจากตัวเซลล์ เรียกว่าซิเลีย บนซิเลียจะเต็มไปด้วยโปรตีนที่เป็นเซ็นเซอร์รับกลิ่นมากมาย และเมื่อเซลล์ค้ำจุนหมดสภาพไป เซลล์ประสาทก็โดนหางเลข ซิเลียก็จะฝ่อไปด้วย
และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เอียนจำต้องบอกอำลาความสามารถในการรับกลิ่นของเขาไป
การไม่ได้กลิ่น ทำให้การกินอาหารไม่อร่อย อาหารที่ไม่มีกลิ่นมันก็จะจืดๆ อึนๆ ไปหมด ไม่มีอะโรม่าอะไรมาให้ตื่นเต้น
แต่การติดเชื้อโควิดทำมากกว่านั้น!
เพราะอาการที่เป็นเอกลักษณ์จริงๆ ของโควิด ก็คือ การสูญเสียประสาทสัมผัสในการรับรส ทั้งรสชาติปกติ (taste) ไปจนถึงรสซาบซ่า ชา เผ็ดร้อน ที่เรียกกันว่าเคมิสธีสิส (chemesthesis) ไปจนหมดสิ้น (ageusia) หรือถ้าเบาหน่อยก็แค่ทำให้การรับรสเพี้ยนไป (dysgeusia)
ในผู้ป่วยบางคน เซลล์ประสาทรับรสก็โดนหางเลขจากอิทธิฤทธิ์โควิดเข้าไปสาหัสไม่แพ้กับเซลล์ประสาทรับกลิ่น
อาจจะถึงขนาดแยกรสหวาน จากเค็ม จากขมไม่ได้กันเลยทีเดียว

แม้ว่าในเวลานี้ยังไม่มีใครกล้าฟันธงลงไปว่าผู้ติดเชื้อนั้นเสียความสามารถในการรับรสไปได้อย่างไร แต่ที่บอกได้คือเซลล์ประสาทรับรสบนลิ้น ก็ไม่มี ACE2 เหมือนกับเซลล์ประสาทรับกลิ่น ซึ่งหมายความว่าพวกมันก็ไม่น่าจะติดเชื้อได้ แต่ถ้าพูดถึงเซลล์ค้ำจุนบนลิ้นล่ะก็ ACE-2 เต็มพรึบเหมือนกัน
ก็คงสันนิษฐานได้ว่ากลไกก็คงไม่น่าต่างกัน ระหว่างรับกลิ่นกับรับรส (ทั้งรสชาติ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม และเคมิสธีสิส)
แต่ที่เจ็บปวดที่สุด คือ การเสียประสาทสัมผัสจากโควิด-19 ไม่เหมือนกับอาการรับกลิ่นได้น้อยลงจากไข้หวัด ที่พออาการเริ่มดีขึ้น การรับสัมผัสก็จะเริ่มกลับคืนสู่สภาพเดิมในเวลาไม่ช้าไม่นาน เพราะพอน้ำมูกที่อุดตันเคลียร์หมด เซลล์ก็เริ่มทำงานรับกลิ่นได้เป็นปกติ
แต่ในกรณีของโควิด การรักษาอาการจมูกดับนั้นไม่เรื่องง่าย อย่างในกรณีของเอียนที่ทุ่มเทรักษาไปอย่างมากมาย ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหาย
แม้ว่าเซลล์ในทางเดินหายใจมีการซ่อมแซมตัวเองตลอดเวลาเมื่อสึกหรอ แต่การซ่อมแซมจะผิดหรือถูกนั้น ต้องอาศัยดวง ในยามที่เซลล์ประสาทสัมผัสฝ่อไปหมดแล้ว การเชื่อมต่อเดิมของเซลล์ประสาทที่เคยสานกันเป็นเครือข่ายแน่นหนาก็หลุดบ้าง เสื่อมบ้าง ความเสียหายแบบนี้จะกู้คืนให้กลับมาปกติได้นั้นทำได้ลำบาก
และในหลายเคส ต่อให้ฟื้นฟูได้ ชีวิตก็ยังไม่ง่ายอยู่ดี

“อาจจะต้องใช้เวลารักษานาน 6 เดือนถึง 2 ปี” แครอล ยาน (Carol Yan) แพทย์โรคจมูก (Rhinologist) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก (University of California San Diego) ประมาณการ “มีรายงานคนไข้ที่ฟื้นฟูได้หลังสองปีอยู่เหมือนกัน แต่หลังจากนั้น ความสามารถในการฟื้นฟูมักจะลดน้อยถอยลงไป”
แปลว่าบางเคสหาย บางเคสก็ดับไปเลย แต่ก็มีบางเคสที่ผลออกมาเพี้ยนๆ เหมือนกัน
หลังจากที่รักษาโควิดมาครึ่งปี ความสามารถในการรับกลิ่น-รสของสาวน้อย เฟรยา ซอว์บริดจ์ (Freya Sawbridge) หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ชาวนิวซีแลนด์ ที่ประสบปัญหาการสูญเสียสัมผัสกลิ่น-รสไป เริ่มฟื้นฟูกลับมาใหม่อีกครั้ง
เธออาจจะโชคดีกว่าเอียน (หรือเปล่า?) ที่ประสาทรับกลิ่นของเธอค่อยๆ ย้อนคืนกลับมา แต่เป็นในแบบที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะทุกกลิ่นที่เธอได้รับ มันทำให้ชีวิตของเธอสับสน และทรมาน อาการแบบนี้เรียกว่า พารอสเมีย (parosmia)
“คือทุกอย่างมันผิดเพี้ยนไปหมด มีอยู่ช่วงหนึ่ง ทุกอย่างกลิ่นเหมือนพวกปรุงกลิ่นสตรอว์เบอร์รี่ปลอมๆ ส่วนช็อกโกแลตก็เหมือนก้อนยางนิ่มๆ หวานๆ” เฟรยาอธิบาย
หมดกันกับความสุนทรีย์ทางอาหาร!

อาการพารอสเมีย หรือการฟื้นฟูการรับกลิ่นแบบงงๆ เพี้ยนๆ แบบนี้ เกิดขึ้นจากสเต็มเซลล์ที่เติบโตและพัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนเซลล์ประสาทเดิมที่สูญเสียไปนั้น กำลังพยายามหาทางเชื่อมต่อกันใหม่ และเชื่อมต่อกลับไปยังสมองส่วนออลแฟกทอรีบัลบ์ (olfactory bulb) ซึ่งทำงานควบคุมการรับรู้กลิ่น
ในผู้ป่วยบางราย ถ้าโชคร้าย การเชื่อมต่ออาจจะผิดพลาด และทำให้รสและกลิ่นที่เราเคยรับรู้นั้นเปลี่ยนไปแบบกู่ไม่กลับ
“ทุกกลิ่นที่ฉันสัมผัสได้ในตอนนี้คือกลิ่นที่แปลกและไม่พึงประสงค์ ทุกอย่างหืนและชืด อย่างหอมใหญ่นี่สุดจะทน ทุกจานที่กินเข้าไป รสชาติเหมือนมีใครเอาน้ำยาเช็ดกระจกมาแอบพ่นไว้” เฟรยาให้สัมภาษณ์
แต่กรณีของเฟรยานี่ถือว่าโชคดีแล้ว เพราะยังเห็นการฟื้นฟูที่ชัดเจน
“บางครั้ง เซลล์ที่เชื่อมต่อกันแบบผิดๆ นี้ อาจซ่อมแซมตัวเองจนหายเป็นปกติได้ ถ้าคุณให้เวลามันมากพอ” แครอลกล่าว
แต่ก็มีหลายคนที่ตกที่นั่งเดียวกับเอียน คือ ยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาชื่นชมกลิ่นหอมรัญจวนยั่วยวนใจของชารสเลิศ หรือมีความฟินปลื้มปริ่มยามได้ลิ้มรสชาติอันสุนทรีย์ของวากิว A5 ได้อีกเมื่อไร
“คุณไม่รู้หรอก ว่าการรับรู้กลิ่น-รส มันสำคัญกับชีวิตคุณแค่ไหน ก่อนที่คุณจะเสียมันไป” เอียนกล่าว

ในเวลานี้ โปรแกรมฝึกดมกลิ่น (smell training) ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ป่วยค่อยๆ เรียนรู้การรับกลิ่นใหม่ แนวๆ เดียวกับการฝึกเดินของกายภาพบำบัดนั่นแหละ แต่นั่นก็ยังไม่ตอบโจทย์ในผู้ป่วยหลายๆ ราย (เช่น กรณีของเอียน เป็นต้น)
ริชาร์ด โคสแทนโซ (Richard Costanzo) และแดเนียล โคเอลโฮ (Daniel Coelho) วิศวกรจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคอมมอนเวลธ์ (Virginia Commonwealth University) กำลังพัฒนาต้นแบบต่อมรับกลิ่นเทียม (olfactory implant) ที่จะฝังเข้าไปในจมูก เพื่อทำหน้าที่รับกลิ่นต่างๆ และเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าเลียนแบบสัญญาณกระแสประสาทต่อไปยังสมอง ซึ่งอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยแบบเอียนสามารถกลับมารับกลิ่นได้อีกครั้ง
“แต่ยังคงต้องรออีกหลายปีกว่า (เทคโนโลยีนี้) จะลงไปถึงคลินิกได้ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าจะต้องกระตุ้นสมองส่วนไหนบ้าง ยังมีงานวิจัยพื้นฐานอีกเยอะที่ต้องทำ” โคเอลโฮกล่าว
ชัดเจนว่านวัตกรรมนี้น่าจะยังต้องรอข้อมูลจาก “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” อยู่อีกยาวววววววววววววว!!
แต่ถ้ามองกันแค่ตอนนี้ สำหรับผม คงเป็นเรื่องน่ายินดี ถ้าดมอีกที แล้วยังได้กลิ่นผายลม!