เศรษฐกิจ/จับตาเกณฑ์คุมยูทูบ-FBLive ภารกิจทิ้งทวนบอร์ด กสทช.

เศรษฐกิจ

จับตาเกณฑ์คุมยูทูบ-FBLive ภารกิจทิ้งทวนบอร์ด กสทช.

หากช่วงนี้ใครติดตามการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 1 ในภารกิจที่ กสทช. ทุ่มเทอย่างหนักก็คือ การคุยกับกลุ่มต่างๆ เพื่อนำไปสู่การวางเกณฑ์กำกับดูแลกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงบนโครงข่ายอินเตอร์เน็ต (Over The Top หรือ OTT) เช่น เฟซบุ๊ก, ยูทูบ, Netflix, iFlix หรือ ไลน์ทีวี เป็นต้น

แม้ผลจากการหารือของบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา จะให้เหตุผลว่าการที่ กสทช. เข้ามาดูปัญหาเรื่อง OTT ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่ต้องการความเป็นธรรมจากการมาของเทคโนโลยีใหม่ที่ว่านี้

เนื่องจากเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกันโดยตรง ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต่างมีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าประมูลใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าเช่าโครงข่าย การถูกกำกับดูแลอย่างเข้มข้นในเรื่องต่างๆ

ขณะที่ผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ต กลับไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนค่าใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมรายปี และไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเนื้อหาจาก กสทช.

รวมถึงเหตุผลที่ว่าป้องกันปัญหาในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจาก OTT บางประเภท ที่สามารถให้บุคคลทั่วไปสามารถโพสต์ไฟล์วิดีโอลงไปได้ มักจะเป็นการนำเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาเผยแพร่อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากในผู้ให้บริการเองก็มองว่าเป็นการยากที่จะควบคุมเนื้อหา

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ให้ความเห็นว่า OTT ถือ เป็นธุรกิจที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายสื่อสารทั้งแบบมีข่ายสายและไร้สาย แต่ใช้แอร์ไทม์ของผู้ให้บริการในการทำธุรกิจ โดยไม่ได้มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้หรือหักภาษีส่งเข้ารัฐ

ฉะนั้น ปัญหา OTT จึงถือเป็นอีก 1 ภารกิจเร่งด่วนของ กสทช. ที่ต้องรีบจัดการ เนื่องจากมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยไม่ใช่ไม่ดี แต่ในเรื่องการจัดเก็บภาษีสามารถทำได้น้อย เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ราว 20-30% ดำเนินการผ่านระบบที่ตั้งไว้อยู่ในต่างประเทศ

แม้การซื้อบริการแพร่ภาพและเสียงต่างๆ จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยก็ตาม

แต่กลับส่งผลประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีเข้าประเทศอย่างที่ควรจะเป็นจากการซื้อขายดังกล่าวได้

โดยขณะนี้ กสทช. อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องในมุมของผู้ให้บริการ หรือได้รับผลกระทบจาก OTT โดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำหนดกรอบการทำงาน OTT บอกว่า ทาง กสทช. จะรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ จนถึงวันที่ 13 มิถุนายนนี้

จากนั้นจะรวบรวมผลเพื่อสรุปความเห็น เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางกำกับดู ซึ่งคาดจะได้แนวทางหรือรูปแบบในการกำกับดูแลที่ชัดเจนออกมาในเดือนกรกฎาคมนี้

จะเห็นได้ว่าการดำเนินการของ กสทช. เกี่ยวกับเรื่อง OTT ของบอร์ดชุดปัจจุบัน ที่นำโดย พ.อ.นที เป็นไปอย่างเร่งรัด เพราะตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนเศษที่ผ่านมา มีการนัดประชุมหารือกับกลุ่มต่างๆ แทบทุกสัปดาห์

บางสัปดาห์มีการนัดหารือมากถึง 3 ครั้ง เพื่อที่จะได้รีบนำไปสรุปความเห็น เพื่อนำไปกำหนดแนวทางการกำกับดู

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการฝากผลงานทิ้งทวน เพราะใกล้ที่จะหมดวาระการทำงานในเดือนตุลาคมนี้ เพราะหลังจากนั้นบอร์ดชุดนี้ก็ต้องแยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทอื่นๆ กันต่อไป

แต่ต้องยอมรับว่า การดำเนินการกำกับดูแล OTT นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะเริ่มต้นเพียงแค่การกำหนดนิยาม หรือจำกัดประเภทว่าใครเป็น OTT ก็มีความยุ่งยากพอสมควร

เพราะ OTT ก็มีทั้งในรูปแบบ การให้บริการด้วยตนเอง และการเป็นเสมือนโครงข่ายให้บุคคลทั่วไปเข้ามาใช้งาน

อีกทั้งยังจะเห็นได้ว่ายังมีตัวแปรในเรื่องของเทคโนโลยีดังกล่าวอีก เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้หยุดนิ่งหรืออิ่มตัว

แต่ในทางกลับกัน ก็มีเรื่องใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อไม่นานมาผู้ใช้งานทั่วโลกพึ่งได้สัมผัสกับการใช้งาน เฟซบุ๊กไลฟ์ ที่สามารถถ่ายทอดสดสิ่งต่างๆ รอบตัวของผู้ใช้งานในขณะนั้นได้

หรือแม้แต่ในส่วนของสถานีโทรทัศน์เองบางสถานีก็ได้มีการนำมาใช้ในการออกอากาศคู่ขนานกับหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อเอาใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมเสพติดการใช้งานอินเตอร์เน็ตและดูทีวีน้อยลง

แต่หากสามารถแยกประเภทได้แล้วว่าใครเป็น OTT บ้างจะนำกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นเข้าระบบอย่างไร ใช้กฎหมายฉบับใดมาบังคับ และจะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นมาเสียภาษีนำเงินที่ได้ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินได้อย่างไร

เพราะต้องไม่ลืมว่า หลายบริษัทไม่ได้เป็นบริษัทสัญชาติไทย แต่เป็นบริษัทที่มีฐานที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ จะให้บริษัทเหล่านี้มาเสียภาษีให้แก่ประเทศไทยได้ด้วยวิธีใด จะสามารถสร้างความสมดุลและความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการไทย กับผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ในต่างประเทศได้อย่างไร

และในส่วนของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเองที่พบว่ามีหลายช่องที่ปรับตัวไม่ทันจนได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีครั้งนี้ และได้มาขอความเป็นธรรมกับทาง กสทช. ด้วยแล้ว กสทช. ก็ต้องคิดต่ออีกว่าควรจะเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร

แม้แต่ในมุมของผู้ใช้งานหลายรายที่มีช่องรายการของตนเองบนยูทูบ หรือเป็นแอดมินอัพวิดีโอต่างๆ ลงในเพจของตนเอง จะสามารถแยกแยะได้อย่างไรว่าใครเข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีบ้าง แต่หากจะนับว่าคนที่เข้าเกณฑ์คือผู้ที่มีรายได้ เช่นนี้ก็ต้องคิดต่อไปว่า เน็ตไอดอลขายครีม หรือคนทั่วไปโพสต์คลิปขายของ จะเข้าเกณฑ์นี้ด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ในส่วนของเนื้อหา กสทช. จะเข้าไปจัดการอย่างไร จะมีเกณฑ์ใดที่สามารถเข้าไปกำกับการเผยแพร่ข้อมูลในส่วนของผู้ใช้งานทั่วไปได้หรือไม่ หากดำเนินการแล้วจะกระทบสิทธิเสรีภาพ จนถึงจะเป็นการสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนที่เป็นผู้ใช้งานทั่วไปหรือไม่

ท้ายสุดการเข้าไปกำกับดูแล OTT นั้นจะกลายเป็นการเบรกอุตสาหกรรม และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ของคนไทย ในช่วงที่กำลังเติบโตเช่นนี้ ให้ช้าหรือหยุดลงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ที่ กสทช. ต้องตีโจทย์ให้แตกและแก้ปัญหาให้ได้ หากหวังจะปิดจ๊อบให้ได้ก่อนหมดวาระการทำงานในเดือนตุลาคมนี้

ดังนั้น การลงมาลุยจัดการเรื่อง OTT ของ กสทช. ในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะนอกจากจะสู้กับผู้ประกอบการเหล่านี้แล้วยังถือเป็นการต่อสู้กับเทคโนโลยี และทั้งหมดถือเป็นเรื่องใหม่ทั้งสิ้น

และหากจับพลัดจับผลูทำได้ขึ้นมา ก็คงสร้างเกียรติประวัติให้แก่ตนเองเป็นการทิ้งทวนได้ไม่น้อย และหากสามารถดึงผู้ประกอบ OTT เข้าระบบ มีการจัดเก็บภาษี หรือออกใบอนุญาตได้แล้วละก็ คงสร้างความปีติยินดีให้แก่รัฐบาลได้เป็นอย่างยิ่ง

และบอกได้คำเดียวว่า…หากทำได้…อนาคตที่สดใสรอคุณอยู่แน่นอน!!

สุดท้ายผลจะออกมาเป็นอย่างไร…อีกไม่นานคงรู้กัน