E-DUANG : ปัญหา ความคับแค้น ทางจิตใจ ปัญหา ความยากไร้ ทาง”วัตถุ”

หากดูจากการเคลื่อนไหวของ”เยาวชนปลดแอก”เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ต่อเนื่องมายังการเคลื่อนไหวของ”แรงงาน”ในเดือนมกราคม 2564 จะสัมผัสได้ในลักษณะพิเศษ

1 คือ สัมผัสได้จากภาวะแห่ง “ความคับแค้นทางจิตใจ” 1 คือ สัมผัสได้จากภาวะแห่ง “ความยากไร้ทางวัตถุ”

ต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์”แฟล็ชม็อบ”ของเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ก่อรูปขึ้นอย่างคึกคักภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

เป็นความหงุดหงิด เป็นความไม่พอใจเมื่อพรรคการเมืองที่พวกเขาฝากความหวังเอาไว้ถูกทุบทิ้งและทำลาย

สถานการณ์”แฟล็ชม็อบ”เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ต้องเงียบหายไปเมื่อประสบเข้ากับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในเดือน มีนาคม

รอจนถึงเดือนกรกฎาคมจึงได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นลักษณะอันเป็น”ความคับแค้นทางจิตใจ”อันเป็นปฏิกิริยาในทาง”การเมือง”อย่างเด่นชัด

 

ตรงกันข้าม กรณีที่”แรงงาน”เริ่มออกโรงในเดือนมกราคม 2564 มีสายสัมพันธ์แนบแน่นและต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ระลอกแรกเป็นอย่างสูง

นั่นก็คือ การปิดเมือง ปิดงาน อันเท่ากับเป็นการปิดอาชีพไปโดยอัตโนมัติในเดือนมีนาคม 2563

อันมาพร้อมกับการประกาศสถานการณ์”ฉุกเฉิน”

ทั้งๆที่การเยียวยาต่อสถานการณ์โควิดรอบที่ 1 ยังพร้อยไปด้วยรอยแผล เมื่อมาถึงสถานการณ์โควิดรอบที่ 2 ก็มิได้มีการเก็บรับเอามาเป็นบทเรียนและแก้ไขให้ทั่วด้านครอบคลุม

สถานการณ์อย่างนี้แหละที่ก่อให้เกิดภาวะอย่างที่เรียกว่า”ความยากไร้ทางวัตถุ” ทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ตกระกำลำบาก ความเหลื่อมล้ำแผ่ขยาย

จึงทำให้บรรดา”แรงงาน”และ”คนยากคนจน”จำเป็นต้องลุกขึ้นมาทวงถามความเป็นธรรม

 

สภาพการณ์ในเดือนมกราคม 2564 จึงทำให้เกิดการบรรจบระหว่างสภาพการณ์ 1 ความคับแค้นทางจิตใจ กับ 1 ความยากไร้ทางวัตถุ ได้มาประสานกันอย่างมิได้นัดหมาย

กลายเป็น “วิกฤต”อันเชื่อมปัญหาระหว่าง “การเมือง” กับปัญหาทาง”เศรษฐกิจ”เข้ามาด้วยกัน

นี่คือ สัญญาณ”ใหม่”ในทางเศรษฐกิจ และการเมือง