เครื่องเคียงข้างจอ : จุดตะเกียงเปลี่ยนโลกภายใน / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

จุดตะเกียงเปลี่ยนโลกภายใน

เมื่อวันก่อนในการบันทึกเทปรายการ “เจาะใจ” ในวาระ 30 ปี รายการได้คัดเลือกแข กรับเชิญที่เคยมาออกรายการและได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อมาอัพเดตชีวิตให้แฟนรายการได้ทราบ

หนึ่งในนั้นคือ “ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ”

ใครได้เคยเห็นอาจารย์วรภัทร์ทั้งในจอหรือตัวจริง คงนึกภาพออกถึงชายร่างเล็ก ที่มีดวงตาและรอยยิ้มเป็นมิตรอยู่เสมอ นอกจากภาพที่เห็นนี้แล้ว เรามักได้ยินคำพูดดีๆ ให้ข้อคิดจากอาจารย์ด้วย

“ไม่ได้มารายการเจาะใจ 10 ปีแล้ว” อาจารย์บอกกับทีมงาน ซึ่งรายการก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าจะนานขนาดนั้น 10 ปีที่ไม่ได้เจอะเจอกันอาจารย์จึงมีเรื่องราวดีๆ มาถ่ายทอดให้ฟังในรายการ โปรดติดตามนะครับ

ก่อนจะกลับ อาจารย์ได้กรุณามอบหนังสือให้ผมเล่มหนึ่ง ชื่อ “60 ปี ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ จุดตะเกียงเปลี่ยนโลกภายใน IGNITE FROM INSIDE OUT”

จากชื่อหนังสือก็คงทราบนะครับว่าพิมพ์ขึ้นในวาระใด

อาจารย์มีอายุครบ 60 ปีไปเมื่อปี 2563 โอกาสนั้นเหล่าลูกศิษย์ได้รวมตัวกันจัดทำหนังสือนี้ขึ้นเพื่อบอกเล่าความเป็นอาจารย์ผ่านมุมมองของลูกศิษย์ และแน่นอนที่จะต้องมีประวัติชีวิตของอาจารย์ด้วย

ผมขออนุญาตนำบางส่วนมาถ่ายทอดในเครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้นะครับ

ในหนังสือได้ปะหัวสรุปความถึงตัวตนของอาจารย์ในวัยเริ่มต้นไว้ 4 คำว่า “ยากจน ช่างคิด ติดหนังสือ มองโลกแตกต่าง”

อาจารย์วรภัทร์ หรือ ด.ช.ต่าย เกิดที่ จ.สุโขทัย ครอบครัวเป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่รุ่นปู่ได้เดินทางจากแผ่นดินใหญ่มาสร้างตัวบนผืนแผ่นดินไทย ตอนอายุ 2 ขวบเกิดจุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อครอบครัวประสบวิกฤตอย่างสาหัส ธุรกิจโรงแรมและโรงสีที่ทำต้องเปลี่ยนมือเพราะถูกโกง จากลูกเศรษฐีเปลี่ยนเป็นลูกคนจนทันที

ครอบครัวตัดสินใจย้ายมาหาโอกาสในกรุงเทพฯ ที่นี่ ด.ช.ต่ายได้มีโอกาสเรียนหนังสือฟรีในโรงเรียนชื่อดังที่บอกกันว่าลูกคนมีฐานะเท่านั้นที่จะได้เข้าเรียน นั่นคือโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ที่อาจารย์ได้เรียนฟรีนั้นต้องแลกกับการเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์ เพื่ออนาคตของลูก พ่อและแม่ของอาจารย์ก็ยอม

ด.ช.ต่ายโตมากับยาย เพราะพ่อกับแม่ต้องง่วนอยู่กับการสร้างฐานะ เมื่อไม่มีอะไรทำจึงฆ่าเวลาด้วยการอ่านหนังสือ จนกลายเป็นคนรักการอ่านแต่นั้นมา และอ่านเร็วจนหมดเป็นเล่มๆ ในเวลาไม่นาน

พิสูจน์ได้จากการไล่อ่านหนังสือจนหมดห้องสมุด

การอ่านนี้เองที่เปิดโลกทัศน์และวิธีคิดของ ด.ช.ต่ายอย่างมาก จึงมีความคิดแตกต่างจากเพื่อนวัยเดียวกัน และมักมีคำถามแปลกๆ ที่คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง จึงหันไปคบหากับคนอายุมากกว่า

นิสัยของอาจารย์ไม่ใช่แค่อ่าน แต่ชอบเรียนรู้ให้ลึกซึ้งจริงๆ จึงลงมือทำในทุกเรื่องที่สนใจ สิ่งนี้ได้ติดตัวมาจนเติบใหญ่ อย่างตอนที่สับสน ต้องการหาคำตอบให้กับชีวิต และเริ่มสนใจพุทธศาสนา นอกจากจะไล่อ่านหนังสือต่างๆ แล้ว อาจารย์ได้ตัดสินใจบวชเพื่อพิสูจน์สิ่งที่ตนต้องการคำตอบ

ต่อมาได้สอบเข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โลกของอาจารย์ได้เปิดกว้างมากขึ้น

หนึ่งในฮีโร่ของอาจารย์คือ ฌากส์ คุสโต นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และนักล่าสมบัติในท้องทะเล ที่สร้างนวัตกรรมเรือสำรวจทางทะเลที่ก้าวหน้า

เรื่องราวของฌากส์ที่ได้ดูผ่านสารคดี ได้สร้างแรงบันดาลใจในการเป็นนักผจญภัยให้กับคนรุ่นหนุ่มคนนี้มาก และคิดว่าประเทศไทยไม่น่าจะใช่หมุดหมายของชีวิต

เขาต้องการผจญภัยในโลกที่กว้างกว่านี้

อาจารย์ตัดสินใจขอเงินจากแม่จำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวบินไปยังสหรัฐอเมริกา ไปใช้ชีวิตอยู่เองที่นั่นเพื่อค้นหาคำตอบ ที่นั่นอาจารย์ได้สมัครเข้าเรียนปริญญาตรีในภาคกลางวันและเรียนปริญญาโทในภาคกลางคืน ที่ยังส์ทาวน์ สเตต ยูนิเวอร์ซิตี้ ในสาขาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์ พร้อมหางานทำไปด้วยทั้งล้างจานในร้านอาหารและขับแท็กซี่

อาจารย์ได้เรียนรู้วิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ที่แตกต่างจากที่เมืองไทยโดยสิ้นเชิง

ที่นั่นสอนให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด วิเคราะห์ และสอนโดยการเปิดวงถกเถียงกันเพื่อต่อยอดความรู้ออกไป ต่อมาอาจารย์ได้นำวิธีการสอนนี้มาใช้ในเมืองไทยเมื่อได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย

อาจารย์สอนแบบไม่สอน คือไม่ได้สอนเหมือนอาจารย์คนอื่นที่กางตำราสอน แต่อาจารย์ให้ลูกศิษย์คิดและวิเคราะห์แทน

ซึ่งแน่นอนที่จะไม่เหมาะกับนิสัยของเด็กนักเรียนไทย บางคลาสอาจารย์พาลูกศิษย์ออกไปนอกสถานที่ ให้ไปพบเห็นโลกข้างนอกพร้อมตั้งคำถามให้คิดกัน

พอถึงเวลาสอบ อาจารย์ก็มีความพิสดารอย่างมากในการให้ลูกศิษย์ออกข้อสอบเอง ตั้งโจทย์เอง พร้อมเฉลย และตรวจข้อสอบเอง โดยอยากให้ลูกศิษย์รู้จักคิดวิเคราะห์แทนการท่องจำตำรา

ผลปรากฏว่าสอบตกทั้งห้อง ลูกศิษย์จึงโวยวายกับคณบดี

เทอมต่อมาอาจารย์เลยเปลี่ยนเป็นการออกข้อสอบล่วงหน้า และบอกโจทย์ให้ลูกศิษย์ไปหาคำตอบมา

ปรากฏว่าตกยกห้องอีก เพราะไม่มีใครเข้าใจจุดประสงค์ ที่แท้คืออาจารย์อยากสอนให้ลูกศิษย์รู้จักค้นหาคำตอบจากสถานที่จริงตามโจทย์ที่ให้ไป วิเคราะห์จากสถานการณ์จริง ไปสังเกตการณ์ ไปสอบถามกับคนทำงาน เพื่อวิเคราะห์เป็นคำตอบออกมา

และอาจารย์ก็โดนตำหนิจากผู้บริหาร และได้รับฉายาว่า “อาจารย์เพี้ยน”

อาจารย์จึงรู้สึกว่าระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยของเมืองไทยไม่เหมาะกับอาจารย์ จึงลาออกมา และทำงานของตนเองในการเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ นำความรู้ในการคิด การบริหารจัดการ มาประยุกต์ใช้กับงานบริหารคนขององค์กรนั้นๆ

และคนช่างคิดช่างค้นหาคำตอบอย่างอาจารย์ ก็เกิดคำถามกับศาสนาคริสต์ในบางเรื่อง จนถึงขั้นทะเลาะกับบาทหลวงมาแล้ว

นั่นทำให้อาจารย์เริ่มหันมาสนใจศาสนาพุทธ โดยเฉพาะเมื่อได้ศึกษาและพบคำสอนหนึ่งที่ท้าทายมากว่า “อย่าเชื่อตถาคต” นั่นคือการที่ต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง ช่างเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ

พุทธศาสนาสอนให้เรารู้จัก “ใจ” ของตนเอง เพราะเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้และควบคุมได้ หากรู้จักวิธีปฏิบัติ ครั้งหนึ่งที่อาจารย์ยังทำงานอยู่ที่องค์การนาซ่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรมีภารกิจคือการค้นหาพื้นที่ใหม่ในจักรวาลเพื่อการเรียนรู้และเตรียมโลกอนาคตสำหรับมนุษย์ อาจารย์กลับมีความคิดว่า เราพยายามดิ้นรนเดินทางไปที่ไกลถึง 450 ล้านปีแสงเพื่อให้ได้รู้จักมัน แต่กับสิ่งที่อยู่ในร่างกายเราลึกไปแค่สิบ     เซ็นต์คือ “ใจ” เรายังไม่รู้จักมันเลย

อาจารย์ได้ดูสารคดีเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์สำคัญของโลก เซอร์ไอแซก นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วง ในช่วงท้ายของสารคดีที่อาจารย์จำได้แม่นคือตอนที่เซอร์ไอแซก นิวตัน พูดว่า

“ถ้าย้อนเวลาได้ ข้าพเจ้าจะไม่ผลิตสิ่งประดิษฐ์ใดๆ ให้มวลมนุษย์เลย เพราะจิตใจของมนุษย์เรายังไม่ดีพอ และยังไม่พร้อมสำหรับสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้”

นี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตอาจารย์

ครั้นเมื่ออาจารย์ได้ลงมือบวชและปฏิบัติอย่างจริงจัง อาจารย์ก็บรรลุถึงสัจธรรมของชีวิตตามหลักพุทธศาสนา และได้นำหลักธรรมคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธเจ้ามาสร้างเป็นหลักสูตรสำหรับการดำเนินชีวิต และการจัดการองค์กรในเวลาต่อมา

เป้าหมายในชีวิตของอาจารย์คือ นำความรู้มาสร้างคนรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นมาสร้างชาติ สร้างสังคมใหม่ โดยยึดไว้ซึ่งหลักการที่มี “แก่นแท้” เพียงอย่างเดียว คือการฝึกแยกจิตกับความคิดให้เป็นอิสระกันอย่างถาวร

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวอาจารย์เองเลย จากที่แต่ก่อนเป็นคนหัวชนฝา อารมณ์ร้อน ใจร้อน ชอบจับผิดคนอื่น พูดตรงๆ ขวานผ่าซาก กลายเป็นคนใจเย็น นิ่งขึ้น ยิ้มแย้มถ่อมตน และมีความเมตตาสูง

สำหรับคนที่ชอบใจร้อน หงุดหงิด และมักมีอารมณ์เวลาให้สัมภาษณ์สื่อ ชอบมีคำพูดที่ไม่รู้ว่าจะพูดออกมาทำไม อย่าง “ต่อให้ร้อยนายกฯ ก็แก้ไขไม่ได้” น่าจะลองฝึกแยกจิตกับความคิดดูบ้างก็ดีนะครับ

ไม่อย่างนั้นความคิดที่เตลิดเปิดเปิงจากความกดดันนานัปการยามนี้ สามารถทำให้ใจเตลิดเปิดเปิงยิ่งกว่า แล้วจะหาสมาธิ ปัญญา ในการคิดวิธีแก้ไขจัดการอย่างไรได้

นี่ก็ใกล้จะถึงศึกซักฟอกแล้วด้วย บอกกล่าวกันด้วยความหวังดีนะครับท่าน