โศกนาฏกรรมของสองเจ้านาง หลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ | ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มุมมองต่อคำว่า “กบฏ” สามกระแส

ปี พ.ศ.2565 นั้นเป็นครบรอบ 120 ปีเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ดิฉันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องดังกล่าวกับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายรุ่นหลายท่านว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง

ได้คำตอบเห็นพ้องต้องตรงกันว่า อยากให้สถาบันการศึกษาของรัฐจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และภาคเอกชน ร่วมกันเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีสัมมนาทางวิชาการเพื่อชำระสะสางข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปมปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นกิจจะลักษณะเสียที

เนื่องมาจากปัจจุบันเกิดความสับสนทางด้านข้อมูลที่ถกเถียงกันอยู่หลายกระแส ล้วนกล่าวกันไปคนละทิศละทาง แล้วแต่ฐานของคติ อคติ หรือมายาคติ ดิฉันพอจะจับเค้าได้ว่ามีอยู่ 3 กระแสหลักๆ ดังนี้

กระแสแรก เป็นกลุ่มนักประวัติศาสตร์รุ่นเก่า และอาจหมายรวมถึงทายาทเจ้าหลวงเมืองแพร่บางท่าน ที่รู้สึกไม่สบายใจต่อการเป็น “จำเลยทางประวัติศาสตร์” หลายท่านไม่ประสงค์จะให้มีการตอกย้ำเหตุการณ์อัปยศดังกล่าวอีก

กระแสที่สอง ราวสี่ทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้การนำของ “เสรี ชมภูมิ่ง” นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังเมืองแพร่ได้เปิดประเด็นใหม่ว่า “เจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่ใช่กบฏ” เพราะคำว่า “กบฏ” มันหมายถึงความกระด้างกระเดื่อง ความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของสยาม

เกิดกระบวนการขับเคลื่อนขอร้องให้ช่วยกันเลี่ยงใช้คำว่า “กบฏ” แต่ควรใช้คำว่า “เหตุการณ์จลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่” แทน ต่อมามีการเปิดเผยความลับสุดยอดจากลูกหลานที่เป็นเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่คนหนึ่งชื่อ “นายรัตน์ วังซ้าย” ว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เจ้าหลวงเมืองแพร่ร่วมลงมือกระทำกับพวกเงี้ยวนั้น แท้จริงเป็นเพียงแผนการ “ล่อพวกเงี้ยวภายใต้บังคับอังกฤษ” ให้ออกมาจากถ้ำเพื่อจะได้ยัดเยียดข้อหากบฏให้ เนื่องจากช่วงนั้นสยามไม่พอใจพวกเจ้าอาณานิคม

และเจ้าหลวงเมืองแพร่ก็ให้ความร่วมมือกับสยามเป็นอย่างดี แสร้งร่วมมือเปิดทางให้พวกเงี้ยวเหิมเกริมจนถูกกวาดล้าง เจ้าหลวงยอมเสียสละตัวเองแม้ต้องถูกเนรเทศไปอยู่หลวงพระบาง ทว่าเรื่องราวทั้งหมดอยู่ภายใต้การรับรู้ของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทุกประการ

กระแสที่สาม เป็นการตอบโต้กลับต่อสองกลุ่มแรก โดยมองคำว่า “กบฏ” ไม่ใช่สิ่งเสียหายชั่วร้ายเลวทรามหรือเรื่องที่ต้องอับอายกันอีกต่อไป

จริงอยู่ที่คำว่า “กบฏ” ถูกนำมาใช้ตราหน้ายัดเยียดกับฝ่ายที่พ่ายแพ้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ควรพินิจให้ถ่องแท้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นสะท้อนว่าบรรพชนชาวแพร่มีความอาจหาญในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม พยายามปลดแอกเพื่ออิสรภาพของแว่นแคว้นตน ใช่หรือไม่

กระแสที่สามนี้ส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ภาคภูมิใจในจิตวิญญาณเสรี ไม่อยากเห็นคนเมืองแพร่อ่อนแอ ผ่านการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่พยายามจะให้ทางสยามยอมรับว่าพวกตนไม่ได้คิดคดทรยศ จนถึงกับตั้งคำถามย้อนกลับว่า “กบฏหรือ…แล้วไง?”

ดิฉันเชื่อว่าแนวคิดทั้งสามกระแสหลักนี้ผู้อ่านส่วนใหญ่เคยผ่านตากันมามากแล้วตามงานวิจัย บทความข้อเขียนต่างๆ ที่ตอบโต้กันทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ในที่นี้จึงไม่ขอนำเสนอความเห็นดังกล่าวซ้ำ

แต่ใคร่ขอเสริมเรื่องราวของสตรีสองนางผู้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเบื้องหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยว

ท่านแรกคือ แม่เจ้าบัวไหล อัครชายาของเจ้าหลวงเมืองแพร่ และอีกท่านคือเจ้าหญิงเวียงชื่น ธิดาองค์ที่ 2 ของแม่เจ้าบัวไหลกับเจ้าหลวงเมืองแพร่

ภายหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยวปี 2445 แม่เจ้าบัวไหลถูกส่งตัวไปกักบริเวณอยู่ภายใต้พระเนตรพระกรรณที่วังวรดิศของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ส่วนเจ้าหญิงเวียงชื่น กลับจบฉากสุดท้ายแบบอัตวินิบาตกรรมด้วยการดื่มยาพิษ

 

ปูมหลังของแม่เจ้าบัวไหล

ปูมหลังของขัตติยนารีองค์นี้ ไม่ค่อยมีเอกสารใดๆ บันทึกให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนักเมื่อเทียบกับเรื่องราวของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี หรือขัตติยนารีองค์อื่นๆ ของทางเมืองเชียงใหม่ ลำพูน หรือน่าน

ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากคำสั่งให้ถอดยศและคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้พ้นสภาพมหาเทวีก็เป็นได้

เรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 เพิ่มเติมแผ่นที่ 28 วันที่ 11 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 122 (พ.ศ.2446) ดังต่อไปนี้

“ประกาศลัญจกราภิบาล ถอดบัวไหลออกจากสามัญสมาชิก ตติยจุลจอมเกล้า ด้วยบัวไหล ภรรยาน้อยเทพวงศ์ ไม่สมควรที่จะอยู่ในตำแหน่งสามัญสมาชิกา ตติยจุลจอมเกล้า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดบัวไหลออกจากตำแหน่งสามัญสมาชิกาเรียกดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน และลบชื่อเสียจากพวกสามัญสมาชิกา ตั้งแต่วันที่ได้ออกราชกิจจานี้ไป วันที่ 8 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 122 (ลงพระนาม) พิทยลาภพฤฒิธาดา”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดึงดูดให้ทุกคนอยากรู้จักกับเจ้านางองค์นี้ น่าจะเป็นภาพถ่ายของสตรีผู้งามสง่าพร้อมด้วยฉลองพระองค์จำลองที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่นั่นเอง

แม่เจ้าบัวไหลเป็นใคร สายสกุลใด มีบทบาทโดดเด่นด้านใดบ้าง ก่อนหน้าที่จะต้องเข้ามาพัวพันกับกรณีกบฏเงี้ยว?

ยังไม่มีการพบเอกสารระบุปีเกิดของเจ้านาง แต่เราสามารถทราบพอเป็นเลาๆ ได้จากช่วงเหตุการณ์กบฏเงี้ยวปี 2445 ที่กล่าวกันว่าขณะนั้นแม่เจ้าบัวไหลมีอายุได้ 52 ปี ในขณะที่เจ้าหลวงเมืองแพร่มีอายุ 66 ปี ถ้าเป็นจริงตามนี้ย่อมแสดงว่าแม่เจ้าบัวไหลน่าจะประสูติประมาณปี พ.ศ.2383?

บิดาของเจ้าบัวไหลคือ “แสนไชยสงคราม” พื้นเพเดิมเป็นชาวเมืองน่าน ส่วนมารดาคือ “แม่เจ้าอิ่นคำ” เป็นชาวยองที่ถูกเกณฑ์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณ “บ้านถิ่น” เมืองแพร่ (หมายเหตุ ปัจจุบันชาวยองที่แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย มักถูกเรียกโดยรวมว่าเป็น “ชาวไทลื้อ” ยกเว้นชาวยองในลำพูนที่ยังคงนิยมเรียกว่า “ชาวไทยอง” เพียงจังหวัดเดียว)

เหตุที่เจ้านางมีชื่อว่า “บัวไหล” นั้น มีการบันทึกไว้สองกระแส กระแสแรกกล่าวว่า เนื่องมาจากเมื่อแรกเกิดนั้น บิดาของนางคือแสนไชยสงครามต้องคดีกับทางกงสุลอังกฤษที่ฟ้องร้องต่อสยามว่าถูกชาวลาว (คนล้านนา) เอาเปรียบรังแกชาวพม่าคนในบังคับอังกฤษ ทำให้แสนไชยสงครามต้องลงไปแก้ต่างคดีความที่กรุงเทพฯ จึงนำธิดาน้อยใส่เรือล่องลงไปด้วย เป็นเหตุให้ตั้งชื่อนางว่า “บัวไหล”

ส่วนอีกกระแสหนึ่งระบุว่า นาม “บัวไหล” นั้นได้มาจากการที่แสนไชยสงครามผู้เป็นบิดาต้องเดินทางไปๆ มาๆ ขึ้นๆ ล่องๆ ว่าราชการระหว่างเมืองน่านกับเมืองพะเยาอยู่เนืองๆ ช่วงนั้นเองธิดาน้อยได้ถือกำเนิดขึ้น จึงชื่อ “บัวไหล”

แม่เจ้าบัวไหลสมรสกับ “พระญาพิริยะวิไชย” นามเดิม “เจ้าน้อยเทพวงค์” (ภาษาเหนือนิยมใช้ตัว “ค์” มากกว่า “ศ์”) ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “เจ้าหลวงพิริยเทพวงค์” เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 7 คน เป็นหญิง 6 คน คือ 1.เจ้ากาบคำ 2.เจ้าเวียงชื่น 3.เจ้าสุพรรณวดี 4.เจ้ายวงคำ 5.เจ้ายวงแก้ว 6.เจ้าหอมนวล และองค์สุดท้องเป็นชาย 1 เดียวคือ เจ้าอินทร์แปลง

ผลงานชิ้นเยี่ยมของแม่เจ้าบัวไหลที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าหลวงฯ คือการเย็บปักถักร้อยต่างๆ ซึ่งคงได้รับทักษะด้านนี้สืบทอดมาจากแม่เจ้าอิ่นคำที่เป็นชาวยอง ชิ้นที่แปลกตาคือ การเอาปีกแมลงทับมาประดับร่วมกับผ้าลูกไม้

ยังมีผลงานชิ้นโบแดงของแม่เจ้าบัวไหลอีกชิ้นที่วัดพระพุทธบาทมิ่งเมือง สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เคยมีแนวคิดจะนำเสนอให้เป็น “เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก” นั่นคือ ผ้าปักไหมคำเป็นตัวอักษรธัมม์ล้านนาบนคัมภีร์แผ่นยาวต่อเนื่องกันหลายแผ่น ระบุว่าปักถวายในจุลศักราช 1235 ตรงกับพุทธศักราช 2416 ขณะนั้นแม่เจ้าบัวไหลมีอายุ 23 ปี

ปัจจุบันผ้าปักไหมคัมภีร์ดังกล่าวมีอายุ 148 ปี

 

เจ้าหญิงเวียงชื่น
ขอปลิดชีพตนไม่ยอมถูกกุมขัง

ยังไม่พบเอกสารที่ระบุปีประสูติของบุตร-ธิดาทั้ง 7 ของแม่เจ้าบัวไหลกับเจ้าหลวงพิริยเทพวงค์ (อาจมีเก็บรักษาไว้เฉพาะในวงศ์เครือญาติ) ดังนั้น เราจึงไม่อาจทราบได้ว่า ปี 2445 ช่วงที่เกิดกบฏเงี้ยวนั้น เจ้าเวียงชื่น (หรือที่ชาวสยามรู้จักในนาม “เจ้าเมืองชื่น”) ธิดาองค์ที่สองรองจากเจ้ากาบคำ (ธิดาองค์แรกเสียชีวิตก่อนเกิดกบฏเงี้ยว) มีอายุเท่าไหร่

เมื่อพิจารณาจากอายุของแม่เจ้าบัวไหล 52 ปีในช่วงกบฏเงี้ยว จึงพออนุมานได้ว่า เจ้าเวียงชื่นก็น่าจะมีอายุราว 30 ต้นๆ ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจยิ่ง เพราะช่วงกบฏเงี้ยว เจ้าดารารัศมีเองก็มีพระชนมายุราว 30 ต้นเช่นกัน

น่าตื่นเต้นทีเดียว หากมีการพบหลักฐานการแสดงความเห็นเรื่องกบฏเงี้ยวของเจ้าดารารัศมี ไม่ว่าเอกสารตอบโต้กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือมีถึงเจ้านายฝ่ายเหนือท่านอื่นใด ว่าพระองค์ทรงมีมุมมองอย่างไรต่อความพยายามที่จะปลดแอกตนเองของชาวแพร่ ในฐานะที่พระองค์เองอยู่ในสภาพเป็น “องค์ประกัน” ต่อราชสำนักสยาม?

ทำไมเจ้าเวียงชื่นกับสวามี คือเจ้าราชวงศ์ (เจ้าน้อยบุญศรี บุตรรัตน์) จึงต้องปลิดชีพด้วยการดื่มยาพิษในคุ้มเจ้าราชวงศ์ (ปัจจุบันคุ้มนี้รื้อแล้ว) ในเมื่อเจ้าพี่เจ้าน้องคนอื่นๆ ก็ไม่ได้รับโทษทัณฑ์ขั้นประหาร มีเพียงแค่ถูกถอดยศศักดิ์ นำตัวไปกักบริเวณที่กรุงเทพฯ

หลักฐานหลายชิ้นระบุว่า เจ้าราชวงศ์ผู้เป็นบุตรเขยลำดับที่ 2 รองจากเขยใหญ่ เจ้าอุปราช (เจ้าน้อยเสาร์ วราราช สวามีเจ้ากาบคำ) นั้นมีบทบาทสำคัญในการบริหารช่วยราชการเมืองแพร่ เนื่องจากเจ้ากาบคำได้เสียชีวิต ทำให้เจ้าอุปราชพลอยถูกลดบทบาทตามลงไปด้วย

เจ้าราชวงศ์เป็นที่ไว้วางใจของเจ้าหลวงพิริยเทพวงค์ ถูกวางตำแหน่งให้เป็น “ว่าที่เจ้าหลวงองค์ถัดไป” ดังนั้น ช่วงที่เกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยว เจ้าราชวงศ์กับเจ้าหญิงเวียงชื่นย่อมถูกเพ่งเล็งจากสยามมากเป็นพิเศษว่าต้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจสนับสนุนให้พวกเงี้ยวก่อการจลาจล

ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ปราบกบฏเงี้ยวในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2445 เจ้าหลวงพิริยเทพวงค์ได้อัปเปหิตัวเองไปอยู่เมืองหลวงพระบาง จนสิ้นพระชนม์ชีพที่นั่น

ฝ่ายเจ้าเวียงชื่นพร้อมกับสวามีได้พร้อมใจกันดื่มยาพิษจนถึงแก่กรรมเคียงข้างกัน โดยมิยอมให้ใครมาจับกุมคุมขัง ถอดยศริบทรัพย์ กล่าวคือ ได้ตัดสินใจเลือกทางเดินแล้ว

แม้จะแพ้หรือถูกมองว่าเป็นกบฏ แต่ก็เป็นผู้แพ้ที่เด็ดเดี่ยวทระนง