คนมองหนัง l ‘New Normal DDB’ : อัลบั้มชุดแรกของ ‘ดึกดำบรรพ์ Boyband’

คนดนตรีวัยย่าง 70 ปี เช่น “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” และผองเพื่อนของเขายังคงมีพลังงานและความกระตือรือร้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ แม้ในขวบปีที่หลายสิ่งต้องหยุดชะงักลงท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในส่วนของ “วงนั่งเล่น” พนเทพและเพื่อนๆ กำลังรันโครงการ “เพลงเพ่งชีวิต” ที่พวกเขาได้ลงมือแต่งเพลงจากแนวคิดตั้งต้นของผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ อาทิ สาธิต กาลวันตวานิช และ จิระ มะลิกุล
ข้ามฟากมาที่ “ดึกดำบรรพ์ Boyband” แม้งานแสดงสดและคอนเสิร์ตใหญ่อันเป็นจุดขายสำคัญของวงจะต้องห่างหายไป

ทว่าพนเทพร่วมด้วยสองเพื่อนซี้ คือ “แต๋ม ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ก็เลือกจะทดแทนเอกลักษณ์ข้างต้น ด้วยการผลิตแผ่นเสียงไวนิลออกมาสื่อสารกับแฟนพันธุ์แท้ของพวกตน

โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า “New Normal DDB” ซึ่งนอกจากจะสื่อถึงห้วงเวลาเฉพาะที่ผลงานถูกปล่อยออกมาได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเชิญชวนให้แฟนๆ นึกถึง “ความปกติ” และ “ความแปลกใหม่” หลายประการ ที่ซุกซ่อนอยู่ในแผ่นเสียง

เช่น ด้านหนึ่ง นี่คืออัลบั้มชุดแรกของ “ดึกดำบรรพ์ Boyband” แต่ขณะเดียวกัน นี่ย่อมมิใช่การทำงานสตูดิโออัลบั้มครั้งแรกสุดของคณะโปรดิวเซอร์-นักแต่งเพลง-นักร้อง ที่เดินทางบนถนนสายดนตรีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานร่วมสี่ทศวรรษ

ด้านหนึ่ง แม้แผ่นเสียงชุดนี้จะบรรจุเพลงเก่า 12 เพลง (โดยขับร้อง-เรียบเรียง-บันทึกเสียงใหม่) ซึ่งเคยสร้างชื่อเสียงมากมายให้แก่ “ชรัส-ไพบูลย์เกียรติ-พนเทพ” แต่อีกด้าน ก็มีเพลงใหม่ๆ ที่พวกเขาสร้างสรรค์กันขึ้นมาในนาม “ดึกดำบรรพ์ฯ” ปรากฏอยู่

ในแง่เครดิตคนทำงาน (ซึ่งไม่มีการระบุรายละเอียดไว้บนบรรจุภัณฑ์) แน่นอนว่าอัลบั้มชุดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมการผลิตของพนเทพ สมทบด้วยทีมนักดนตรีจาก “วงนั่งเล่น” คือ “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” (คีย์บอร์ด) “ศราวุธ ฤทธิ์นันท์” (เบส) “พรเทพ สุวรรณะบุณย์” (กลอง) และ “เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” (เพอร์คัสชัน-ประสานเสียง)

โดยมี “โกมล บุญเพียรผล” โปรดิวเซอร์ฝีมือดีในระยะสองทศวรรษหลัง รับหน้าที่ดูแลกระบวนการมาสเตอริ่ง และอำนวยการผลิต-จัดจำหน่ายโดยเพจเฟซบุ๊ก “เสียงเพลงของโมไร”

ไซด์เอของแผ่นเสียงแผ่นแรก เปิดประเดิมด้วยเพลง “ตลอดเวลา” หนึ่งในสามเพลงใหม่ ฝีมือการแต่งคำร้อง-ทำนองของพนเทพ ซึ่งสมาชิกหลักทั้งสามคนผลัดกันร้องนำและโชว์ทักษะการร้องประสานเสียงอันเป็นจุดแข็งของพวกเขา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สุขุม ลุ่มลึก ตามประสาคนดนตรีรุ่นเก๋า

ตามมาด้วย “ทะเล” หนึ่งในผลงานซิกเนเจอร์ของชรัสที่ถูกนำมาเรียบเรียงดนตรีใหม่อย่างแพรวพราว จนราวกับคนฟังกำลังนั่งฟังเพลงนี้อยู่ริมชายหาด เสียงร้องนำของชรัสสอดรับกับเสียงประสานของเพื่อนร่วมวงได้เหมาะเจาะลงตัว

มาถึง “เฝ้าคอย” ที่อินโทรด้วยฝีมือกีตาร์อันยอดเยี่ยมของพนเทพ เสียงร้องนำของปั่นและเสียงประสานของสมาชิกในวงยังทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มอิ่ม

ปิดท้ายด้วย “รู้อยู่แก่ใจ” ซึ่งเพลงนี้ ชรัสได้โชว์ทักษะร้องนำเดี่ยวๆ ด้วยน้ำเสียงนุ่มแหบอันทรงเสน่ห์แบบเต็มๆ คลอไปกับการเรียบเรียงดนตรีด้วยลีลาน้อยๆ หวานๆ ซึ้งๆ ไม่เน้นการขับร้องประสานเสียง

“คนขี้เหงา” คือเพลงแรกบนไซด์บี ผลงาน “วันฮิตวันเดอร์” ของ “นีโน่ เมทนี บุรณศิริ” ถูกนำมาขับร้องใหม่โดยปั่น ไพบูลย์เกียรติ ตัวเพลงมีความสนุกสนานครึกครื้นไม่ต่างจากคลิปฉบับซ้อมที่มียอดผู้ชมทะลุหลักสองล้านวิวของ “ดึกดำบรรพ์ฯ” เมื่อสามปีก่อน ทั้งเพราะการเรียบเรียงดนตรี (มีท่อนโซโล่ด้วยกีตาร์ไฟฟ้าอันกระฉับกระเฉง) และเสียงประสานอันยอดเยี่ยม

ตามติดด้วยอีกหนึ่งเพลงที่ปั่นได้รับบทพระเอก นั่นคือ “สู่กลางใจเธอ” หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม “A Tu Corazon”

หลังจากถูกนำไปขับร้องใหม่จนโด่งดังโดยศิลปินรุ่นหลัง นี่ถือเป็นการคัฟเวอร์เพลงตัวเองโดยเจ้าของผลงานตัวจริงเสียงจริง (ที่ปล่อยเวอร์ชั่นต้นฉบับมาได้ 23 ปี) เพราะไพบูลย์เกียรติมีสถานะเป็นทั้งศิลปินรายแรกผู้ขับร้องเพลงนี้และผู้แต่งคำร้องภาษาสแปนิช ส่วนเศกสิทธิ์ นักดนตรีสนับสนุนของ “ดึกดำบรรพ์ฯ” ก็มีสถานะเป็นผู้แต่งทำนองเพลง

โดยเสียงร้องนำที่ยัง “เอาอยู่” ของปั่น ได้รับการหนุนเสริมด้วยความไพเราะจากไลน์ประสานเสียงบางๆ และท่อนโซโล่ด้วยกีตาร์สายไนล่อนฝีมือพนเทพ

แล้วก็มาถึง “ผีเสื้อ” ซึ่งชรัสนำเพลงเก่งของตนเองมาขับร้องใหม่ โดยมีเสียงประสานของเพื่อนๆ และเสียงร้องนำ (หนึ่งท่อน) ของปั่น มาช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ตัวเพลง

แผ่นเสียงแผ่นแรกของอัลบั้มชุดนี้สิ้นสุดลงด้วยเพลง “รักนิรันดร์” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับมารวมตัวร้องเพลง-เล่นดนตรีของ “ชรัส-ปั่น-พนเทพ” เมื่อหกปีก่อน

ในเวอร์ชั่นบันทึกเสียงใหม่ ปั่นยังรับหน้าที่ร้องนำ ขณะที่ตรงไลน์ประสานเสียง ดูเหมือนเสียงของตุ่น พนเทพ จะโดดเด่นกว่าเสียงของแต๋ม ชรัส

อย่างไรก็ตาม ในฐานะแฟนเพลงของ “ดึกดำบรรพ์ฯ” ผู้เขียนยังแอบรู้สึกว่า “รักนิรันดร์ 2563” นั้นน่าจะถูกนำเสนอออกมาได้ทรงพลังมากกว่านี้

ไซด์ซีของแผ่นเสียงแผ่นที่สองเปิดตัวด้วยเพลง “รักล้นใจ” ซึ่งเสียงร้องนำของไพบูลย์เกียรติทำงานควบคู่กับการขับร้องประสานเสียงที่เข้มแข็งแต่ไม่เยอะเกินไปและสำเนียงกีตาร์อันแข็งแรงได้อย่างลงตัว

แฟ้มภาพ

ตามมาด้วย “รักเองช้ำเอง” ซึ่งการมิกซ์เสียงร้องนำของชรัส ฟังดูแปร่งๆ และแกว่งๆ พอสมควร ทั้งๆ ที่การเรียบเรียงดนตรี-เสียงประสานในภาพรวมดูจะพยายามส่งเสริมเสียงหลักของนักร้องนำอย่างเต็มที่

ลำดับถัดมาคือ “อะไรก็ไม่ไกล” เพลงใหม่อีกหนึ่งเพลงฝีมือการเขียนคำร้องของชรัสและแต่งทำนองโดยพนเทพ ที่ไม่ได้โด่งดังมากมายตอนถูกปล่อยออกมาเมื่อสามปีที่แล้ว (ส่วนหนึ่งคงเพราะไม่มีคลิปแสดงสด?) แต่พอนำมาเปิดฟังผ่านแผ่นเสียง นี่กลับเป็นผลงานที่กลมกล่อมเสนาะหูเอามากๆ

ต่อด้วย “รักเธอมากกว่าใคร” เพลงสนุกสนานของไพบูลย์เกียรติ ซึ่งในฉบับบันทึกเสียงใหม่คราวนี้ สามสมาชิกหลักของ “ดึกดำบรรพ์ฯ” ได้สลับกันร้องนำด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันแสนรื่มรมย์และเพลิดเพลิน

“ไม่เดียงสา” เป็นเพลงแรกบนไซด์ดีของแผ่นเสียงชุดนี้ นี่คือ “เพลงใหม่” ลำดับสุดท้ายในอัลบั้ม (คำร้องโดยพนเทพ-ชรัส ทำนองโดยพนเทพ) ซึ่งมีท่วงทำนอง-จังหวะจะโคนที่ “ทันสมัย” โดยเสียงร้องนำเปี่ยมเสน่ห์ของชรัสและไพบูลย์เกียรติ รวมถึงเสียงประสานของสมาชิก “ดึกดำบรรพ์ฯ” ได้รับการเสริมส่งด้วยเสียงดนตรีสังเคราะห์เท่ๆ (ซึ่งน่าจะเป็นฝีมือของเศกสิทธิ์)

สามารถกล่าวได้เต็มปากว่านี่คือ “มาสเตอร์พีซ” ชิ้นล่าสุดของ “ชรัส เฟื่องอารมย์” “ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” และ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ที่ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบ “ซินธ์ป๊อป” สุดเก๋

แล้วก็มาถึงคิวของเพลง “รักยืนยง” ซึ่งในการแสดงสดหลายครั้งของ “ดึกดำบรรพ์ฯ” เพลงเพลงนี้สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกและร้องคลอตามดังๆ ได้อยู่บ่อยๆ

โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่าในกระบวนการบันทึกเสียงครั้งใหม่ สามคนดนตรีรุ่นลายครามจะรักษา “ความสนุก” ดังกล่าวเอาไว้ได้อย่างไร? ซึ่งพวกเขาสามารถตีโจทย์ออกมาได้น่าสนใจทีเดียว แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะสนุก คึกคัก ครึกโครม น้อยกว่าที่คาดก็ตาม

เพลงท้ายสุดของอัลบั้ม “New Normal DDB” ได้แก่ “เพราะฉะนั้น” ซึ่งชรัส พนเทพ และไพบูลย์เกียรติ ผลัดกันร้องนำคนละท่อน (ส่วนตัวแอบรู้สึกว่าพนเทพกลับเป็นคนที่มีน้ำเสียงแข็งแรงที่สุด) ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อยๆ ปิดฉากลงด้วยเสียงประสานและเสียงดนตรีอันอลังการอิ่มเอมใจ

โดยสรุป อัลบั้มเต็มชุดแรกของ “ดึกดำบรรพ์ Boyband” คืองานดนตรีที่ฟังเพลินฟังเพราะ เรียกความตื่นเต้นได้เป็นครั้งคราว แม้จะไม่ถึงกับรู้สึก “ว้าว” ตลอดเวลา

ในแง่ศักยภาพรายบุคคล พนเทพพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเห็นว่าเขาคือ “เดอะ โปรดิวเซอร์” ที่ยังมีชั้นเชิงทางดนตรีและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานอยู่อย่างไม่เสื่อมคลายและไม่ยอมหยุดนิ่ง

เสียงร้องปนกู่ตะโกนนิดๆ ด้วยสำเนียง “ไม่ช้าด” หน่อยๆ คือเครื่องมือใหม่ที่ทำให้ปั่น ไพบูลย์เกียรติ สามารถยืนระยะ-เอาเพลงทั้งเพลงได้อยู่หมัด เมื่อต้องรับภาระนักร้องนำในวัยจวนจะ 70 ปี

สำหรับชรัส ต้นทุนเดิมของเขาคือการมีน้ำเสียงนุ่มกว่าปั่น แต่ในอีกแง่หนึ่ง นั่นอาจหมายถึงการเหลือพลังน้อยกว่า เมื่อย่างก้าวเข้าสู่วัยชรา

อาการอ่อนแรงที่ว่าปรากฏให้ได้ยินในเพลงที่ชรัสต้องโชว์ศักยภาพและอารมณ์ความรู้สึกล้นปรี่ของตนเองแบบเดี่ยวๆ แต่เขายังทำหน้าที่ได้ดีในบทเพลงแนวมินิมอล น้อยๆ เบาๆ หรือบทเพลงที่ถูกโอบอุ้มด้วยโครงสร้างดนตรีอันละเอียดลออและเสียงประสานอันหนักแน่น

แน่นอนที่สุด “ชรัส เฟื่องอารมย์” ยังเป็นนักแต่งเพลงมากประสบการณ์ที่เชื่อมือได้เสมอ

จุดน่าเสียดายอีกประการ คือ บรรดา “เพลงเอกในยุคแกรมมี่” ที่ “ดึกดำบรรพ์ Boyband” เคยนำไปแสดงสดหรือซ้อมโชว์ตามโซเชียลมีเดีย เช่น ปาฏิหาริย์, ขีดเส้นใต้, บอกรัก, ทั้งรู้ก็รัก และเพียงแค่ใจเรารักกัน นั้นไม่ถูกนำมาร้อง-เล่นในการบันทึกเสียงรอบนี้ (คงเพราะข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์)

อย่างไรก็ดี นี่คืออัลบั้มเพลงไทยร่วมสมัยที่ฟังแล้วมีความสุขมากๆ จึงมิใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่แผ่นเสียงที่ถูกผลิตออกมา 900 ชุด (ราคาชุดละ 3,090 บาท รวมค่าจัดส่ง) จะ “ขายหมด” โดยรวดเร็ว

ผู้สนใจซึ่งจับจองไม่ทัน คงต้องไปตามเก็บสินค้าที่ร้าน/เพจขายแผ่นเสียงบางแห่ง หรือไม่ก็ต้องรอคอยผลงานฉบับซีดี ที่จะวางจำหน่ายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า