สิ่งแวดล้อม : พลาสติกรีไซเคิลปลุก ‘ศก.’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

พลาสติกรีไซเคิลปลุก ‘ศก.’

ในสังคมบริโภคนิยม ขยะกลายเป็นของคู่กัน คนบริโภคมากเท่าไหร่ ขยะก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ขยะที่เป็นปัญหาใหญ่คือขยะพลาสติก เพราะย่อยสลายยาก และการนำไปรีไซเคิลเอากลับมาใช้ใหม่นั้นยังมีประสิทธิภาพไม่มากพอ

แต่ละปีขยะพลาสติกในเมืองไทยมีประมาณ 2 ล้านตัน คัดแยกไปรีไซเคิลแค่ 5 แสนตัน ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน กำจัดด้วยการฝังกลบ หรือไม่ก็เอาไปเผาทิ้งทำให้เกิดปัญหากลิ่น ควันพิษตามมา

ก่อนเกิดวิกฤต “โควิด-19” แพร่ระบาด ภาครัฐจับมือเอกชนรณรงค์ให้ร้านค้าเลิกแจกถุงพลาสติก

ชักชวนให้ผู้บริโภคเตรียมกระเป๋าผ้าไปซื้อสินค้าแทน ได้รับแรงสนับสนุนมาก

แต่เมื่อ “โควิด-19” ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ผู้คนก็หวาดผวาจึงอยู่บ้านเลี่ยงติดเชื้อ

ปริมาณขยะพลาสติกกลับเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 60 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่สั่งอาหารบรรจุกล่องพลาสติกจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่

ส่วน “หน้ากากอนามัย” กลายเป็นขยะพลาสติกอีกชนิดหนึ่งที่เห็นเกลื่อนถนนในเวลานี้

ถ้าคนไทยใส่หน้ากากอนามัยพลาสติกวันละ 1 แผ่นแล้วทิ้งทันที จะมีขยะหน้ากากอนามัยพลาสติกไม่น้อยกว่า 50 ล้านชิ้น

นอกจากการรณรงค์ใช้พลาสติกให้น้อยๆ ลงแล้ว การ “รีไซเคิล” จะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ช่วยสร้างความยั่งยืนและเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานมูลนิธิจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3 R) ซึ่งใช้หลักคิด 3 R (Reduce-Reuse-Recyle) ให้รายละเอียดว่า มูลนิธิมีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมแนวความคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์และการพัฒนานวัตกรรมตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดปริมาณขยะ และเพิ่มการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่

ดร.วิฑูรย์กล่าวว่า จากการที่มูลนิธิทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการพลาสติกและธุรกิจรีไซเคิล ทำให้ทราบว่า ในประเทศไทยนั้นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET (Recycled Polyethylene terephthalate) ที่ผลิตจากขวดพลาสติกใช้แล้วมีปริมาณราว 20,000 ตันต่อปี มากกว่าร้อยละ 50 เป็นการผลิต rPET ของผู้ผลิตรายใหญ่ที่สามารถผลิต rPET สำหรับฟู้ดเกรดและไฟเบอร์เกรด

“แต่ rPET ฟู้ดเกรดทั้งหมดไม่ได้นำกลับไปใช้หมุนเวียนในอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ขวดและบรรจุภัณฑ์อาหาร ทั้งที่กระบวนการผลิต rPET ในประเทศไทยจะผ่านมาตรฐานรับรองคุณภาพระดับโลกทั้งจากยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ประเทศชั้นนำทั่วโลกยอมรับในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มใช้ rPET มาเป็นเวลานานแล้ว”

ดร.วิฑูรย์กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้คือ ข้อติดขัดทางกฎหมายในเรื่องที่ว่า “ห้ามใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”

ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการรีไซเคิลต้องส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลฟู้ดเกรดที่ผลิตได้ทั้งหมดไปยังตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการสูง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานรับรองความปลอดภัยต่อสุขภาพในการใช้ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ การผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย กฎหมายอนุญาตให้ใช้เฉพาะเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin plastic) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไทยผลิตได้เองส่วนหนึ่งจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคพลาสติก
ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศประมาณปีละ 300,000 ตัน

นั่นหมายความว่า จะยังคงมีขยะพลาสติกที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์อาหารและขวดเครื่องดื่มปริมาณมหาศาลทุกๆ ปี

แม้ว่าส่วนหนึ่งของพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกนำกลับไปรีไซเคิลได้เพราะมีการร่วมมืออย่าง     เข้มแข็งจากภาคประชาชนในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง

แต่เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตได้กลับถูกนำไปหมุนเวียนใช้ในอุตสาหกรรมอื่นที่มีการบริโภคพลาสติกน้อยกว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ดังนั้น ถ้าหากประเทศไทยสามารถหมุนเวียนใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ก็เท่ากับสามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ลงได้เช่นกัน

ประธานมูลนิธิ 3 R เชื่อว่า หากมีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ประเทศไทยอาจเร่งให้เกิดการแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อปลดล็อกอุปสรรค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานในแนวทางที่สอดคล้องกับโรดแมปการจัดการขยะของรัฐบาล เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างทราบดีว่าการหมุนเวียนใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นแนวทางที่เหมาะสมและควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ยิ่งถ้าสามารถนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกลับไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารหรือขวดเครื่องดื่มได้ตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยด้วยแล้ว นอกจากจะเป็นการทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศได้มากขึ้น ยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้กระบวนการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางทำได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น”

ดร.วิฑูรย์กล่าวปิดท้ายว่า ขยะขวดพลาสติกใช้แล้วที่สะอาดไม่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกถือเป็นขยะที่มีราคา ซาเล้งรับซื้อขวดพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้ในราคาสูงเพราะเขาก็นำไปขายต่อโรงงานรีไซเคิลในราคาสูงได้เช่นกัน ตอนนี้ขยะพลาสติกภายในประเทศน่าจะเริ่มมีราคาเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลจำเป็นต้องใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศทั้งหมด

ไหนๆ พูดถึงเรื่องพลาสติกรีไซเคิลแล้ว ก็ขอแจ้งข่าวการคิดค้นของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล่ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ

ด้วยการนำหุ่นยนต์และเคมีมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมรีไซเคิลเพื่อคัดแยกพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

หุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล่เตรียมสร้างขึ้นมานั้นใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ติดตั้งในระบบคอมพิวเตอร์และกล้องเซ็นเซอร์จำแนกขยะพลาสติกและขยะชนิดต่างๆ ให้ถูกต้อง และง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล

นอกจากนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล่ยังคิดค้นสารเคมีนำมาย่อยสลายพลาสติกและนำวัตถุดิบกลับไปผลิตอีกครั้ง

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลจากกองทุนวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ มูลค่า 2 ล้านเหรียญ และคาดว่าชิ้นต้นแบบจะเปิดโฉมในเดือนตุลาคมนี้

งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลจีนสั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศเมื่อปี 2560 ทำให้ประเทศมหาอำนาจรวมถึงสหรัฐเคยขนขยะไปให้จีนคัดแยกเป็นจำนวนมากในแต่ละปีต้องดิ้นรนหาทางแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง

เทียบกับบ้านเราซึ่งยังแก้ไขปัญหารีไซเคิลขยะพลาสติกด้วยวิธีเก่าๆ เดิมๆ ก็คงเดาได้ไม่ยากว่า ขยะพลาสติกจะเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไปอีกนาน