ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | วัคซีนโควิด : การเมืองวิปริตทึ้งวิกฤตสุขภาพ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ไม่มีข้อสงสัยอีกแล้วว่าประเทศไทยในปี 2564 จะเดินหน้าสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าปีที่ผ่านมา เพราะถ้ายอมรับว่าความขัดแย้งหลักในปี 2563 คือความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ส่วนความขัดแย้งรองคือความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน ประเทศไทยปีนี้ก็ส่อว่าทุกอย่างจะเลวร้ายลง

เฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ขณะที่รัฐในปี 2563 มีทิศทางหลักอยู่ที่การทำให้ประเทศเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม

รัฐในปี 2564 กลับหันไปมีพฤติกรรมแบบหลังรัฐประหาร ไม่ว่าจะโดยยัดคดี 112 อย่างกว้างขวาง, อุ้มประชาชน, จับขังโดยไม่แจ้งข้อหา รวมทั้งคุกคามทนายความ

คนจำนวนมากเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐกลับไปใช้อำนาจแบบอันธพาลเพราะนโยบายรัฐเปลี่ยนไป และถึงแม้ตำรวจจะยืนยันว่ายัดข้อหาหนักตามสถานการณ์ ความเชื่อว่ารัฐเดินหน้านโยบายอันธพาลก็แพร่หลายอย่างต่อเนื่อง

เพราะการกระทำหลายอย่างที่เคยไม่ถึงขั้นเข้าคุกก็โดนคุกหมดในปัจจุบัน

ความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลที่เคยเป็นปัญหาตลอดปี 2563 ยังคงเป็นปัญหาต่อไปในปี 2564 แต่ที่รุนแรงกว่านั้นก็คือวิธีการที่รัฐจัดการกับประชาชนในปี 2564 ทวีความรุนแรงกว่าปี 2563 จนมีโอกาสที่จะเป็นชนวนให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับประชาชนซึ่งรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าปฏิกิริยาของประชาชนต่อความรุนแรงโดยรัฐนั้นไม่จำเป็นต้องได้สัดส่วนกับความรุนแรงที่รัฐทำต่อประชาชน

แต่ความรุนแรงที่รัฐยกระดับคุกคามประชาชนย่อมทำให้ประชาชนคิดถึงการตอบโต้รัฐแน่ๆ แม้จะยังไม่สามารถบอกได้ว่ารูปแบบการตอบโต้นั้นคืออะไร

นักวิชาการชอบพูดถึงปี 2563 ว่าเป็นปีที่อะไรไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ส่วนอะไรที่เคยเห็นก็อาจไม่ได้เห็นอีก และในสถานการณ์ที่การชุมนุมทะลุเพดานทั้งในแง่ประเด็นและในแง่การประท้วงหน้าราบ 11 หรือธนาคารไทยพาณิชย์ ข่าวรัฐประหารก็รุนแรงขึ้นทุกขณะ ถึงแม้ในที่สุดจะไม่เกิดเหตุนั้นก็ตาม

ในสถานการณ์ที่รัฐบาลยกระดับคุกคามประชาชนขั้นอุ้มหรือจับขังโดยไม่แจ้งข้อหาเหมือนหลังรัฐประหาร 2557 ขณะที่ประชาชนเคยยกระดับการเผชิญหน้ากับรัฐจนทะลุเพดานไปแล้วในปี 2563 โอกาสที่สังคมไทยจะต้องพูดเรื่องรัฐประหารอีกในปี 2564 ยังคงมีความเป็นไปได้ตลอดเวลา

จริงอยู่ว่ารัฐประหารมักเกิดขึ้นในเวลาที่รัฐควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ต่อไป และในภาพรวมของประเทศอย่างที่เป็นมาหลังปี 2563 แนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์ซึ่งลุกลามถึงขั้นรัฐควบคุมไม่ได้ยังมีน้อยมาก

แต่ประเทศไทยในปี 2564 จะเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีอย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน

หนึ่ง ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ การปิดตัวของธุรกิจ และตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ไม่มีใครไม่รู้ว่าวิกฤตโควิดปี 2563 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นภัยคุกคามประเทศไทยจนปัจจุบัน แต่ยังไม่ค่อยมีคนพูดมากนักว่าวิกฤตเศรษฐกิจมีผลให้เกิดการขยายตัวของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในรูปของการชุมนุมที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในครึ่งหลังของปี 2563 ด้วยโดยตรง

ใครที่ฟังการปราศรัยหรือสังเกตบรรยากาศชุมนุมปี 2563 ย่อมรู้ว่าผู้ชุมนุมมักพูดถึง “เจ้าสัว” โดยเชื่อมโยงกับ “สถาบัน” และถึงแม้เป็นไปได้ที่การเชื่อมโยงเรื่องนี้จะเกิดจากความเชื่อทางการเมืองประเภท Network Monarchy แต่ก็เป็นไปได้ที่ประเด็นนี้จะผุดจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเอง

ปี 2563 คือปีที่วิกฤตโควิดทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งส่งผลอย่างหนักต่อลูกจ้าง, อาชีพอิสระ, ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก, ไกด์, ร้านอาหาร, นวด, สปา, รถเช่า ฯลฯ แต่มาตรการเยียวยาของรัฐไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำยังตอกย้ำความเชื่อเรื่องรัฐบาลประยุทธ์ “อุ้มเจ้าสัว” ซึ่งมีมาแต่เดิม

ตรงข้ามกับประเทศอื่นที่รัฐบาลอัดฉีดเงินให้ธุรกิจเพื่อประคองการจ้างงาน รัฐบาลไทยไม่ทำอะไรนอกจากเยียวยา 5,000 และปล่อยเงินกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ซึ่งไม่ได้แปลว่าธุรกิจทุกรายจะกู้ได้ ขณะที่มาตรการประเภท “ชิมช้อปใช้” ทำให้เงินรัฐไหลเข้าทุนใหญ่มากกว่าธุรกิจย่อยอย่างชัดเจน

การพังทลายของเศรษฐกิจรายย่อยที่เริ่มตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์บริหารประเทศและพุ่งถึงขีดสุดหลังโควิดระบาดเดือนมีนาคม 2563 มีผลแน่ๆ ต่อการขยายตัวของม็อบปลดแอกในช่วงครึ่งหลังของปี เช่นเดียวกับจะมีผลรุนแรงยิ่งขึ้นในปี 2564 ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่เห็นการปะทุขึ้นมาก็ตาม


ปี2563 เป็นปีที่ธุรกิจรายย่อยและขนาดกลางปิดตัว ส่วนคนตกงานก็มีมากขึ้นจนน่าตกใจ แต่ในปี 2564 ธุรกิจที่อยู่รอดมาได้เพราะสายป่านยาวกลับเผชิญสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศพังอย่างย่อยยับจนน่ากลัวว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในอีกไม่นาน

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ธุรกิจโรงแรมที่ประคองตัวตลอดปี 2563 เริ่มลดชั่วโมงการทำงานลูกจ้างในปี 2564 เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารและบริการอื่นๆ ขณะที่หลายโรงงานซึ่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออกก็ต้องลดจำนวนวันทำงานของคนงานเพื่อที่จะไม่ต้องเลิกจ้างคนงานด้วยเช่นเดียวกัน

ด้วยกำลังซื้อที่หดตัวจนยากจะฟื้นขึ้นมา ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เผชิญภาวะรายได้ไม่พอค่าเช่าแทบทั้งหมด บางแห่งถึงขั้นเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าเพียง 20% จากอัตราปกติ ขณะเจ้าของที่ซึ่งไม่ลดค่าเช่าก็เผชิญปัญหาผู้เช่าจ่ายเงินประกันแล้วปิดร้านไปเลย ต่อให้เป็นห้างใหญ่กลางกรุงก็ตาม

วิกฤตโควิดกำลังลามเป็นวิกฤตธุรกิจที่หายนะของกำลังซื้อทำให้เกิดหายนะของเศรษฐกิจ คนมีรายได้ลดลง ชั่วโมงการทำงานต่ำลง โอกาสหาเงินน้อยลง แต่รายจ่ายในการดำรงชีวิตหรือจรรโลงธุรกิจไม่ได้ลดไปด้วย และความไม่พอใจทางสังคมทั้งหมดนี้คือปุ๋ยชั้นดีของการต่อต้านรัฐบาล

ความไม่พอใจมาตรการโควิดของรัฐ นโยบายวัคซีน และผลกระทบทางสังคมจากนโยบายรัฐบาล

ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลประยุทธ์มักอ้างความสำเร็จในการควบคุมโควิดเพื่อปิดปากคนเห็นต่างทางการเมือง

แต่การระบาดระลอกสองทำให้รัฐบาลใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างไม่ได้ต่อไป ยิ่งกว่านั้นคือการระบาดเกิดจากบ่อนและขบวนการคนแรงงานเถื่อนซึ่งคนเชื่อว่ารัฐหรือข้าราชการเกี่ยวข้องโดยตรง

โควิดระลอกสองไม่เพียงสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาล หากยังเป็นหลักฐานของส่วยและเครือข่ายหัวคิวที่อาจเชื่อมโยงไปถึงรัฐมนตรีหรือผู้มีอิทธิพลอื่นๆ โควิดจึงเป็นรูปธรรมของความไร้ประสิทธิภาพและความฉ้อฉลที่ทำให้คนอาจมองว่ารัฐบาลไม่ได้แค่โง่ แต่ยังเป็นรัฐบาลที่เลว

วัคซีนควรเป็นผลงานโบแดงของรัฐบาลในการหยุดโควิดและฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่ด้วยความคลุมเครือและไม่โปร่งใสของนโยบายรัฐบาล ความคาดหวังของสังคมกำลังเผชิญความจริงที่รัฐล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีนให้ตรงกับความต้องการประชาชนในเรื่องระดับเป็นหรือตาย

ขณะที่ประชาชนมองว่าวัคซีนคือเครื่องมือหยุดโควิดอันเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลกลับทำเหมือนวัคซีนเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง ที่รัฐจะเลือกใครหรือทำอะไรก็ได้ ความไม่พอใจของประชาชนจึงมีตั้งแต่ทำไมคนไทยไม่ได้วัคซีน, จะได้เมื่อไร และในเงื่อนไขอย่างไร

มาเลเซียและสิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อโควิดมากกว่าไทย แต่คนไทยได้ยินความชัดเจนของทั้งสองประเทศเรื่องฉีดวัคซีนฟรีหลายสัปดาห์ก่อนที่รัฐบาลไทยจะประกาศแบบนั้น ยิ่งไปกว่านั้นก็คือความชัดเจนด้านความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนซึ่งไทยสู้ทั้งสองประเทศไม่ได้เลย

ยิ่งเมื่อโลกเคลื่อนสู่ขั้นตอนของการเลือกวัคซีน ข่าวที่คนไทยได้ยินมีแต่ความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ในไทยกับวัคซีนที่รัฐบาลเลือกใช้ทั้งหมด วัคซีนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อิทธิพลเพื่อให้รัฐบาลเลือกซื้อวัคซีนตามเจ้าของมากกว่าจะเป็นเหตุผลทางสาธารณสุขจริงๆ

ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งตัวเองเป็นใหญ่ในการแก้ปัญหาโควิดผ่าน ศบค. และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแล้วเกือบปี ไม่เคยมีครั้งเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์หรือบริวารอธิบายให้สังคมเห็นอย่างมีเหตุผลว่าทำไมเลือกวัคซีนบางค่ายยิ่งกว่าค่ายอื่น

มีแต่การด่าทอหรือตอบโต้ซึ่งยิ่งทำให้คนเชื่อว่าเรื่องนี้มีนอกมีใน

คนไทยจำนวนมากเชื่อเหมือนคนทั้งโลกว่าวัคซีนคือปัญหาระดับเป็นตายที่จะหยุดโควิดและฟื้นเศรษฐกิจ

แต่ในมือของรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกจนไม่เคยไว้วางใจ รัฐบาลทำให้วัคซีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองไปอย่างที่มีไม่กี่ในโลกที่เป็น

ตราบใดที่รัฐบาลทำให้ประชาชนเชื่อไม่ได้ว่าการซื้อวัคซีนไม่มีเรื่องหัวคิวหรือผลประโยชน์ ตราบนั้นความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลก็จะลุกลามไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องระดับเป็นหรือตาย ความระแวงรัฐบาลจึงหมายถึงความเชื่อว่ารัฐบาลเป็นภัยต่อชีวิตประชาชน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่เรายังไม่พูดถึงเรื่องใครจะได้วัคซีนก่อนใครซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่พลาดนิดเดียวจะทำให้ความขัดแย้งลุกลาม

วิกฤตโควิดกำลังทำให้วิกฤตธุรกิจซึ่งลุกลามเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองของรัฐบาล ความไม่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความไม่โปร่งใสเรื่องวัคซีนโควิดจะเป็นประกายไฟสองกองใหญ่ที่จุดชนวนให้การขับไล่รัฐบาลปีนี้ดุดันและทะลุเพดานยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา

ยังไม่มีความหวังสำหรับการสร้างประเทศที่สันติเพื่อความสุขของทุกคนในประเทศไทย