ถ้าไม่เปิดบ่อนก็ต้องปราบบ่อน /มนัส สัตยารักษ์

กาแฟโบราณ

มนัส สัตยารักษ์

[email protected]

 

ถ้าไม่เปิดบ่อนก็ต้องปราบบ่อน

 

คอลัมน์นี้เคยเล่าเรื่อง “บ่อนรอบบ้าน” ให้อ่านกันถึง 5 ตอนในฉบับที่ 1964-1968 (ช่วงต้นเมษายน ถึงพฤษภาคม 2561) แล้วสรุปในตอนสุดท้ายเสนอให้รัฐบาลทำบ่อนในประเทศของเราเอง เช่นเดียวกับเอาหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินเมื่อหลายปีก่อน

เหตุผลสำคัญมิใช่เพราะหิวภาษีหรือต้องการเปลี่ยน “ส่วย” เป็นสัมปทานอันเป็นรายรับของรัฐแต่อย่างใด

แต่เพราะเห็นชัดว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อการพนันรอบบ้านเหล่านั้นเป็นคนไทยเกินกว่า 80% ที่เหลือ 20% เป็นคนท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยวที่ส่วนหนึ่งผ่านมาทางประเทศไทย

หลังจากจบตอนสุดท้าย (กาสิโนไทย มิใช่เพื่อร่ำรวย แต่เพื่อรอดตาย) ไปไม่นาน พบเพื่อนเศรษฐีท่านหนึ่งเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ ผมสาธยายให้เขาฟังถึงข้อเสนอของผม เขาสวนกลับมาแทบจะทันควัน

“สอง-สามครั้งสุดท้ายที่ผมไปยุโรปและอเมริกามา รู้สึกว่าการพนัน ทั้งกาสิโน สนามม้า บ่อนต่างๆ ไม่เป็นที่นิยมอย่างคลั่งไคล้เหมือนยุคก่อนแล้วล่ะ ข้อเสนอของพี่ท่าจะล้าสมัยหรือไม่ทันยุคไปเสียแล้ว”

“แม้แต่สารพัดการพนันในเรือสำราญก็ออกจะเซ็งๆ ไปอย่างไม่น่าเชื่อ”

ผมถึงแก่ชะงักไปด้วยความรู้สึกว่าตนเองเป็นคอลัมนิสต์ที่สุดแสนจะเชยและล้าหลัง แล้วก็ไม่สนใจเรื่องบ่อนอีก

จนกระทั่งถึงปลายปี 2563 ต่อเนื่องต้นปี 2564 บ่อนจึงเป็นที่ยอมรับกันว่า มันคือต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ “โควิด-19 รอบใหม่” แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

วันเวลาผ่านมาเกือบ 3 ปี ชักจะเลือนๆ ไปแล้วว่าเหตุใดจึงเขียนเรื่องบ่อนมาได้ถึง 5 ตอน ย้อนกลับไปอ่านทั้ง 5 ตอนที่ว่า ก็ทำให้นึกออกว่าต้นเหตุมาจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น คือ “หมอธี” หรือ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ แถลงความคืบหน้าในการกวาดล้างข้าราชการทุจริต แล้วพบว่าในแวดวงของกระทรวง ค่อนข้างอื้อฉาว

มีหลายหน่วยงาน น่าจะมาจากการพนันและบ่อนการพนัน

ย่อมแสดงว่าปัญหาบ่อนการพนันมีอยู่ก่อนปัญหา “โควิด-19” แพร่ระบาด

ย้อนกลับไปปี 2558 หลังจาก คสช.รัฐประหารมาได้ครบปี สมาชิกสภาปฏิรูป หรือ สปช.กลุ่มหนึ่ง 12 ท่าน ได้เสนอให้รัฐบาลเปิดบ่อนถูกกฎหมาย

จากนั้นก็มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและสนับสนุน กับฝ่ายคัดค้านและต่อต้าน ต่างก็มีเหตุผลที่น่ารับฟังทั้ง 2 ฝ่าย

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ซึ่งเป็น สปช.ด้วย แถลงข่าวสนับสนุนอย่างเต็มตัว แต่ถูกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร.ให้ความเห็นว่า ในแต่ละปีคนไทยนำเงินไปเล่นการพนันในบ่อนต่างประเทศจำนวนมหาศาลอย่างน่าเสียดาย จึงเห็นด้วยหากทำในรูปแบบของ Entertainment Complex โดยกำหนดระเบียบ จัดระบบเก็บข้อมูลและประวัติผู้เข้าไปใช้บริการให้สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ประธานสภา สปช.กล่าวว่า การตั้งบ่อนกาสิโนไม่ได้อยู่ในวาระการปฏิรูปและไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เห็นว่า

“มีอย่างอื่นที่ต้องทำมากกว่า”

มาถึงปี 2564 ถ้าจะให้ย้อนกลับไปวิเคราะห์ความคิดและบทบาทผู้นำประเทศ กับความคิดและบทบาทของอดีตนายตำรวจที่เกษียณอายุในตำแหน่ง ผบ.ตร. เราจะพบว่าแตกต่างกันอย่างเป็นตรงกันข้าม

นายตำรวจใหญ่อาจจะเห็นว่าการพนันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ หรือเป็นธรรมชาติฝังอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยบางจำพวก ถ้ายังไม่เปิดบ่อนให้ถูกกฎหมายก็เป็นภาระหน้าที่ต้องปราบกันไป หากพบว่าเป็นการทุจริตของตำรวจก็ปลดไป หรือถ้าแค่ตำรวจไม่เอาใจใส่เท่าที่ควรก็ย้ายไป ลงโทษกันทางวินัยไป

ความคิดของอดีต ผบ.ตร. 2 ท่านข้างต้นถือว่า “แม้จะไม่ถูก แต่ก็ไม่ผิด”

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ผู้ชอบพูดติดปากว่า “ผมไม่เคยทุจริต” นั้น ผมเคยวิเคราะห์ไว้นานแล้วว่า ท่านอาจจะเห็นการทุจริตต่างกับชาวบ้านทั่วไปก็ได้ ผมคิดว่าท่านไม่รู้ว่าอะไรคือทุจริต หรือไม่รู้ว่าทุจริตคืออะไรก็ได้ หรืออีกนัยยะหนึ่ง ท่านมีตรรกะ หรือทัศนคติ หรือแปลคำว่า “ทุจริต” ต่างกับเราชาวบ้านทั่วไปก็ได้

ปี 2561 เมื่อ สปช.เสนอเปิดบ่อนถูกกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า “มีอย่างอื่นที่ต้องทำมากกว่า”

ปลายปี 2563 ต่อเนื่องปีใหม่ 2564 เมื่อเราพบว่าโควิด-19 ระลอกใหม่แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางจากบ่อนการพนัน พล.อ.ประยุทธ์ใช้สูตรการทำงานแบบเดิมเพื่อลดแรงเสียดทานจากกระแสสังคม ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ 2 ชุด ชุดแรกตรวจสอบการลักลอบเข้าเมือง และชุดที่ 2 ตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีบ่อนการพนัน

ผู้สื่อข่าวพยายามซักถาม ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้วางโครงสร้างและสรรหาคณะกรรมการตรวจสอบ ถึงแนวโน้มว่าจะมีการพิจารณาเปิดบ่อนแบบถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ได้รับคำตอบแบบคลุมเครือ

วันที่ 16 มกราคม หนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” พาดหัวข่าวตัวโป้ง

“นายกฯ สั่งให้ศึกษา แก้บ่อน เปิดแบบถูกกฎหมาย”

มีรายละเอียดในเนื้อข่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งศึกษาทำได้หรือไม่ ขัดศีลธรรมหรือไม่ เพราะบางคนยอมรับ แต่บางกลุ่มยังไม่ยอมรับ

ตั้งชื่อหัวเรื่องไว้ว่า “ถ้าไม่เปิดบ่อนก็ต้องปราบบ่อน” จะสลับเป็นว่า “ถ้าไม่ปราบบ่อนก็ต้องเปิดบ่อน” ก็ได้ ไม่เสียหายอะไร เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีบ่อนพนันให้ปราบอยู่เสมอแหละ

คำว่า “เปิดบ่อน” ในที่นี้หมายถึงเปิดแบบถูกกฎหมาย หรือเปิดแบบที่หลายประเทศทั่วโลกเขาทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ก็ได้ หรือจะเปิดแบบ “บ่อนรอบบ้าน” ที่ผมอุตส่าห์เขียนเล่ามาถึง 5 ตอนก็ได้ หรือจะรอให้คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมา “ศึกษา” ก่อนก็ได้

ถ้าไม่เปิดก็ต้อง “ปราบ” สถานเดียว ไม่มี “ปราม” เหมือนอย่างปัญหาโสเภณี

2สัปดาห์ที่แล้วเขียนเรื่อง “บ่อน ด่าน ส่วย” ทิ้งท้ายไว้ว่า “เมื่อหลายสิบปีก่อน ผมกับเพื่อนตำรวจอีกเป็นแสนคนไม่เคยรับเงินบ่อน ไอ้ที่รับเงินบ่อนน่ะมีไม่กี่คนหรอก…ปราบง่ายจะตายไป”

นั่นไม่ใช่โม้หรือเล่นลิ้นนะครับ แต่เป็นความจริงตามนั้น

ขออธิบายเพิ่มเติมว่า บ่อนอิทธิพลระดับมาเฟียจริงๆ ไม่มีใครมาจ่ายส่วยให้ตำรวจระดับ “5 เสือ” หรอกครับ ที่พวกเขาต้องจ่ายน่ะ ระดับไหนก็น่าจะเดาออก

และที่ผ่านมาก็ไม่ใช่จ่ายเฉพาะสีกากีเท่านั้นนะครับ ทุกสีแหละ แถมบางครั้งต้องจ่าย “นักวิชาการ” บางคนที่ทำงานเชิงวิจัยอีกด้วย แต่รวมๆ แล้วอาจจะน้อยกว่าเสือ 5 ตัวด้วยซ้ำ

ขอบคุณโควิดระลอกใหม่ที่ช่วยให้นายกรัฐมนตรีมี “อย่างอื่น” ต้องทำมากขึ้น