ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
2503 สงครามลับ
สงครามลาว (13)
“กองกำลังหมื่นคน”
หนังสือ “ผลาญชาติ” ของโรเจอร์ วอร์เนอร์ บันทึกรายละเอียดการพบปะครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างบิลล์ แลร์ พ.ต.ท.ประเนตร ฤทธิ์ฤๅชา และวังเปา ต่อไปดังนี้
“ด้วยความสูงประมาณ 5 ฟุต 5 นิ้ว ใบหน้าของวังเปามีรอยยิ้มอวดฟันขาวอยู่เกือบตลอดเวลา ไฝเม็ดเล็กตรงคิ้วซ้ายของเขาดูเหมือนจุดเครื่องหมายวรรคตอนบนใบหน้ากลมเกลี้ยงมีชีวิตชีวา วังเปาเป็นคนภูเขาที่มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีดำเนินชีวิตแบบชาวลาวลุ่มหรือแม้แต่ในบางแง่มุมของพวกฝรั่ง แม้ว่าเขาจะไม่เคยได้ยินชื่อแลร์มาก่อน แต่เขาก็ได้เฝ้ารอการพบปะครั้งนี้มานานนับเป็นปีๆ เช่นเดียวกับแลร์เหมือนกัน คนทั้งสองที่ต่างได้พบเจออะไรมามากพอๆ กัน ต่างพร้อมแล้วที่จะได้ร่วมงานกัน”
สำหรับแลร์แล้ว เขาตระหนักว่า กิตติศัพท์ที่เขาได้ฟังมาเกี่ยวกับวังเปานั้นไม่เกินความจริง เมื่อได้เห็นการวางตัวและสภาพทั่วไปในค่าย ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาคนเดียว พวกทหารเชื่อฟังและปฏิบัติตามทุกคำพูดของเขา แม้แต่ในการล่าถอยก็เป็นไปอย่างมีระเบียบ ไม่โกลาหลวุ่นวาย
เป็นจริงอย่างที่ประเนตรกล่าวไว้ วังเปาคือคนที่พวกเขากำลังมองหา ประเนตรและแลร์เคยร่วมงานกันในดินแดนเถื่อนดิบตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศไทยมานานนับสิบปี ทั้งสองมองหาผู้นำท้องถิ่นที่จะนำมาปลุกปั้น แต่ไม่เคยเจอคนที่พร้อมจะจับปืนเข้าต่อสู้ในสงครามที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายเหมือนพวกม้งในลาว หรือพบกับผู้นำที่สมบูรณ์แบบอย่างวังเปามาก่อน วังเปารู้จักภูมิประเทศในถิ่นของเขาเป็นอย่างดี
เมื่อเห็นนัยน์ตาเหยี่ยวบนใบหน้าฉายแววฉลาดของวังเปา มันทำให้แลร์นึกไปถึงภาพของ “เจงกิสข่าน” ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของพวกมองโกล
แลร์ถามวังเปาว่า เขามีแผนจะทำอะไรต่อไป วังเปากล่าวตอบว่า เขาขอตอบในฐานะชาวม้ง ไม่ใช่ฐานะนายทหารแห่งกองทัพลาว
“ที่นี่คือบ้านของเรา” วังเปาวาดมือชี้ไปยังเนินเขาและทุ่งไหหินเบื้องหลัง “ภูเขานี่เป็นของเรา…เราไปมาหาสู่กับพวกคอมมิวนิสต์ พวกเขาเข้ามาบริเวณนี้หลายปีแล้ว พวกคนของฉันเข้ากันกับพวกเขาไม่ได้ วิถีชีวิตของเราแตกต่างกันเกินไป เรามีทางเลือกเพียง 2 ทางเท่านั้น นั่นคือสู้กัน หรือทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น เราไม่มีทางเลือกอื่น หากคุณให้อาวุธกับเรา เราก็จะสู้กับพวกมัน”
แลร์กล่าวต่อว่า “คุณคิดว่าคุณจะติดอาวุธคนได้สักเท่าไหร่”
“อย่างน้อยหนึ่งหมื่นคน”
เก้าปีเต็มๆ ในประเทศไทย บิลล์ แลร์ สร้างกองกำลังขนาด 400 คนเท่านั้น ถึงตอนนั้น แลร์เรียนรู้การประเมินลักษณะนิสัยของชาวเอเชีย เขาได้พบเห็นพวกเป็นปลิ้นปล้อนจอมปลอมมามากมาย
แต่เมื่อเขามองดูวังเปา สัญชาตญาณบางอย่างบอกกับเขาว่า วังเปาไม่ใช่คนปากพล่อยพูดจาใหญ่โตเกินจริง
“ถ้าพวกม้งติดอาวุธ” แลร์ถามต่อ “พวกเขาจะพยายามแยกตัวเป็นอิสระหรือยังจะภักดีต่อรัฐบาลกลางของลาว”
“ฉันภักดีต่อกษัตริย์ลาวเสมอ” วังเปาตอบกลับมาทันที
“ทั้งรัฐบาลลาวและอเมริกาต่างไม่อยู่ในสถานะจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพของชาวม้ง คนของพวกคุณต้องการอะไรคุณรู้ไหม”
วังเปาตอบว่า “พวกเขาต้องการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ มีผู้นำของพวกเขาเอง พวกเขาต้องการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ พวกเขาจะเดินตามฉัน และฉันจงรักภักดีต่อกษัตริย์” ฟังดูเป็นการต่อรอง ไม่ใช่คำมั่นสัญญา แต่ก็ฟังดูว่าเป็นความสัตย์จริง แลร์ปฏิเสธที่จะพูดสิ่งที่จะเป็นการผูกมัดตัวเขาเองเช่นเดียวกัน
“ผมจะลองดูว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง” แลร์กล่าวขึ้นในที่สุด
เย็นนั้น แลร์บินกลับเวียงจันทน์ ประเนตรและพารูทั้ง 5 ยังคงค้างแรมอยู่กับวังเปาและคนของเขาต่อไป
ปฏิบัติการลับ “โมเมนตัม”
ที่เวียงจันทน์…
เจ้านายทั้งสองของแลร์ตระหนักดีว่า ทางเลือก 2 ทางเกี่ยวกับลาวสำหรับอเมริกาคือการส่งทหารราบเข้าในลาวและลงเอยด้วยสภาพติดปลักเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในเกาหลี หรืออยู่เฉยๆ ปล่อยให้พวกโซเวียตเป็นฝ่ายชนะ นั่นต่างเป็นทางเลือกที่ไม่ปรารถนาทั้งคู่ มันจะต้องมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ พวกเขาถามความเห็นของแลร์เกี่ยวกับรูปแบบของปฏิบัติการ
แลร์พูดต่อไปอย่างไม่ค่อยมั่นใจนักด้วยน้ำเสียงสำเนียงเท็กซัสของเขา บางทีวังเปาอาจทำอย่างที่เขาพูดได้ จัดตั้งเป็นกองกำลัง “แบบพิเศษ” ไม่ใช่กองทัพ “เต็มรูปแบบ” แต่เป็นกองโจรขนาดใหญ่กำลังพลประมาณ 10,000 คน ถ้าข้าศึกเคลื่อนเข้ามายังบริเวณภูเขาของลาว ฝ่ายวังเปาจะไม่ตั้งรับอยู่ในที่มั่น แต่จะโจมตีก่อกวนแนวหลังของข้าศึกตามแบบฉบับสงครามกองโจรขนานแท้ ปฏิบัติการน่าจะไปได้สวยหากใช้ยุทธวิธีก่อกวนอย่างที่ว่า ส่วนพวกคอมมิวนิสต์คงต้องพบกับความยากลำบากขนาดหนักถึงจะเอาพวกม้งอยู่
บริเวณรอยต่อระหว่างทุ่งไหหินและแม่น้ำโขงมีแต่พวกม้งอาศัยอยู่ แลร์อธิบาย ไม่ว่าจุดมุ่งหมายของอเมริกาจะเป็นการรักษาเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำโขงไม่ให้พวกคอมมิวนิสต์ยึดพื้นที่ไปได้อันจะทำให้พวกเขาถือไพ่เหนือกว่าในกรณีมีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งเพียงต้องการหาข่าวในพื้นที่ การนำพวกม้งมาฝึกติดอาวุธนับเป็นการเดิมพันที่น่าสนใจ มันไม่มีต้นทุนอะไรมากมาย พวกม้งเองก็ต้องการจับอาวุธขึ้นสู้อยู่แล้ว
ไม่ใช่ว่าพวกม้งจะยอมเชื่อฟังแต่หัวหน้าของเขาเท่านั้น แลร์อธิบายต่อ พวกเขาต่อสู้เพื่อรักษาถิ่นฐานบ้านเกิดและวิถีชีวิตของพวกเขาเท่านั้น เป็นการดีกว่าหากปล่อยให้พวกเขาจัดการตามแบบที่เขาถนัด
“ให้วังเปาเป็นผู้คอยควบคุม อย่าพยายามไปเปลี่ยนแปลงพวกเขา ยิ่งมีคนนอกเข้าเกี่ยวข้องน้อยเพียงใดก็ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น”
“พารู” คือหัวใจของความสำเร็จ
“ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คนอเมริกันลงปฏิบัติการภาคสนาม พวกคนไทย ‘พารู’ มีคุณสมบัติดียิ่งกว่าพวกอเมริกันในการเป็นที่ปรึกษาแก่วังเปาฝึกทหารและเผ่าอื่นๆ ทำหน้าที่เป็นตัวประสานงานระหว่างชาวเขาและอเมริกา ส่วนพวกเราจะทำหน้าที่แนะนำแนวปฏิบัติงานโดยรวม และคอยสนับสนุนด้วยอาวุธและค่าใช้จ่ายต่างๆ จากที่เวียงจันทน์นี้”
คงไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากมายอะไร แลร์ชี้แจงต่อไป ยิ่งน้อยเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น ราคาถูกแต่ไว้ใจได้ อาวุธเหลือจากคลังอาวุธสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นแหละเหมาะที่สุดทำให้ไม่มีใครสงสัยว่าได้มาจากรัฐบาลของเรา เพราะเขาหาได้ทั่วไปอยู่แล้ว เช่นเดียวกับพวกคนไทยไม่มีใครสงสัยรัฐบาลอเมริกัน เพราะพวกเขาดูเหมือนคนลาวทุกอย่าง และด้วยเหตุนี้เราจะยกเลิกปฏิบัติการเมื่อไหร่ย่อมได้
“ราคาถูกเข้าง่ายออกง่ายเป็นวิธีคลาสสิคทีเดียว”
แลร์กล่าวต่อว่า จุดอ่อนของปฏิบัติการนี้คือ ในที่สุดแล้ว พวกม้งอาจพ่ายแพ้หากเวียดนามเหนือไม่ถอดใจยอมแพ้เสียก่อน กองกำลังเวียดนามเหนือนั้นมีประสิทธิภาพสูง ทหารมีวินัยดีเยี่ยม ดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์
ถ้าพวกคอมมิวนิสต์ต้องการยึดประเทศลาวจริงๆ พวกม้งก็คงต้องแพ้ไม่ว่าอเมริกันจะเข้าช่วยหรือไม่ก็ตาม