สงครามการเมือง 2564! การเมืองนำ การตำรวจตาม / สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามการเมือง 2564!

การเมืองนำ การตำรวจตาม

 

“พลังที่เล็กแต่สัมพันธ์กับประชาชนนั้น ย่อมเข้มแข็ง พลังที่ใหญ่แต่คัดค้านประชาชนนั้น ย่อมอ่อนแอ”

ประธานเหมาเจ๋อตุง

 

ท่ามกลางปัญหาการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขยายตัวมากขึ้นจากช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้เห็นถึงแนวโน้มที่พอคาดการณ์ได้ว่า 2564 ยังเป็น “ปีของสงครามบนถนน” ระหว่างผู้เห็นต่างกับรัฐบาลต่อไป

แม้ฝ่ายรัฐบาลจะประเมินว่าการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาอ่อนแรงลงแล้ว อันส่งผลให้รัฐบาลมีท่าทีที่มั่นใจในการอยู่ในอำนาจต่อ และไม่มีท่าทีที่จะประนีประนอมเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด

แต่ก็มิได้มีนัยว่าการประท้วงทางการเมืองจบลงแล้วแต่อย่างใด การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในปีใหม่อาจมาจากกลุ่มต่างๆ (นอกเหนือจากนักศึกษา) ที่ไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาล หรือกลุ่มที่มีความรู้สึกว่าไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ

สังคมไทยในปี 2564 จะยังคงเผชิญปัญหาความขัดแย้งที่ดำเนินสืบเนื่องจากปีที่แล้ว ที่ทับถมจากปัญหาเดิมที่สังคมกำลังเผชิญอยู่คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาสังคมเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดนั้น ปัญหาขีดความสามารถการบริหารของรัฐบาลทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และยังรวมถึงปัญหาความชอบธรรมของตัวรัฐบาลเองอีกด้วย

ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็น “เชื้อไฟ” อย่างดีให้กับการประท้วง

การต่อสู้บนถนนเช่นนี้ไม่ต่างจากสงคราม การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับผู้เห็นต่างจึงเป็น “สงครามการเมือง” ในตัวเอง

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปี 2564 จึงต้องคิดถึงการใช้มาตรการทางการเมืองมากขึ้น

แต่ฝ่ายรัฐมักเชื่อเสมอว่ารัฐบาลจะกดดันและชนะด้วยการใช้มาตรการ “ตำรวจนำการเมือง” จนเกิดปัญหา “ความรุนแรงจากตำรวจ” (police brutality)

ดังจะเห็นได้ว่าผลจากการต่อสู้กับการประท้วงในปี 2563 ทำให้รัฐบาลตกเป็นจำเลยทางการเมือง

และตำรวจก็ตกเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังในหมู่คนรุ่นใหม่อย่างมาก

และตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อีกด้วย

 

การเมืองนำ

หากรัฐต้องการหาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งในสังคม ที่ไม่ใช่การเลือกเส้นทางการใช้กำลัง แต่เป็นวิถีการเมืองเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาแล้ว ผู้นำรัฐบาลอาจจะต้องเรียนรู้ถึงภาษาพื้นฐานคือ “การเมืองนำ”

ซึ่งคำนี้สามารถแปรเป็นเข็มมุ่งที่สำคัญในยุคสงครามเย็นคือ “การเมืองนำการทหาร” อันมีนัยหมายถึงรัฐจะใช้นโยบายทางการเมืองในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม มากกว่าจะใช้อำนาจของตำรวจและทหาร

อันถือเป็นหลักการว่า “ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ใช่ด้วยการทหาร” และกำลังที่เหนือกว่าไม่ใช่คำตอบ!

ดังนั้น ความหมายของคำนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายรัฐบาล

เพราะถ้าเชื่อว่า เส้นทางออกจากวิกฤตของรัฐไทยในขณะนี้คือ การเดินไปตามทิศทางของคำนี้แล้ว การกำหนดจังหวะก้าวในการดำเนินนโยบายของฝ่ายรัฐบาลจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง และรัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเดินไปในทิศทางดังกล่าว และจะต้องไม่ให้ฝ่ายที่นิยมการใช้กำลังดึงการตัดสินใจไปสู่ความเชื่อที่ว่า การใช้การเมืองนำคือความพ่ายแพ้

ถ้าฝ่ายรัฐคิดเช่นนั้นแล้ว ผลที่ตามมาคือการที่รัฐจะเข้าไป “ติดกับดัก” ของฝ่ายที่นิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา และจะถลำลึกไปด้วยการใช้ “ความรุนแรงของรัฐ” เป็นแนวทางในการต่อสู้กับผู้เห็นต่าง

ฉะนั้น หากมาตรการของรัฐบาลยิ่งเดินไปในทิศทางของอำนาจนิยมมากเพียงใด โอกาสเกิดความรุนแรงทางการเมืองก็ยิ่งมากเพียงนั้น

และอาจทำให้รัฐตกเป็นฝ่ายที่ “แพ้ทางการเมือง”

แต่ในทางกลับกันหากรัฐไม่เป็นผู้เริ่มใช้ความรุนแรงแล้ว ถ้าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายตัดสินใจใช้ความรุนแรงเสียเอง ฝ่ายผู้ชุมนุมก็จะเป็น “ผู้แพ้ทางการเมือง”

ดังนั้น หลักการของสงครามการเมืองจึงเปรียบได้กับการเล่นหมากรุกที่ว่า “แพ้การเมือง แพ้ทั้งกระดาน”

การที่เน้นว่าจุดเริ่มต้นว่าต้องมาจากรัฐบาล ก็เพราะรัฐบาลเป็น “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ในการเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือแห่งความรุนแรงของรัฐ

ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมกับการเป็นผู้ยึดกุมกลไกรัฐในระดับต่างๆ หรือที่กล่าวกันจนเป็นหลักการของสงครามภายในก็คือ “รัฐบาลมีกำลังรบ และมีทรัพยากรมากกว่าฝ่ายต่อต้านภายในรัฐเสมอ”

แต่นักการทหารใน “สงครามอสมมาตร” ถูกสอนให้ตระหนักว่า การมีพลังอำนาจมากกว่ามิได้มีนัยว่าความเหนือกว่าเป็นปัจจัยชี้ขาดให้รัฐบาลประสบชัยชนะในทุกสนามรบ

ดังจะเห็นได้เสมอจากประสบการณ์ของสงครามภายในว่า ฝ่ายรัฐบาลที่เหนือกว่า (ด้านเครื่องมือและทรัพยากร) และเข้มแข็งกว่า (ด้านอำนาจกำลังรบ) อาจกลายเป็นผู้แพ้ในสงครามก่อความไม่สงบได้ไม่ยากนัก เพราะสงครามนี้มีธรรมชาติเป็นสงครามการเมือง ผู้ที่กุมอำนาจรัฐจึงต้องเข้าใจเสมอว่ารัฐบาลชนะด้วยการมีความชอบธรรมทางการเมือง และการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

ต่อให้รัฐบาลเข้มแข็งในทางทหารมากเพียงใด มีทรัพยากรในทางเศรษฐกิจมากเพียงใด

แต่ขาดความชอบธรรมและไร้ซึ่งการสนับสนุนจากประชาชนแล้ว

รัฐบาลนั้นก็รอเพียงความพ่ายแพ้และล่มสลาย

เสือกระดาษ!

แม้รัฐจะมีอำนาจอย่างมากในความเป็นรัฐบาล (รวมถึงอำนาจในการควบคุมกองกำลังติดอาวุธทั้งทหารและตำรวจ) แต่ถ้าปราศจากการสนับสนุนจากประชาชนแล้ว อำนาจนี้ก็ดำรงอยู่ด้วยความเปราะบาง

เพราะถ้าประชาชนตัดสินใจลุกขึ้นสู้ จนเกิดการยกระดับกลายเป็นการต่อสู้ของประชาชนในวงกว้างแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือ “สงครามประชาชนบนถนน”

และในความขัดแย้งเช่นนี้ ทฤษฎีการสงครามไม่ได้เป็นไปในแบบที่นักการทหารโดยทั่วไปยึดถือ ความเหนือกว่าของกำลังและอำนาจที่ถูกถือเป็นสรณะนั้น ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในการต่อสู้เสมอไป

แม้อาจจะดูเป็นเรื่องเก่าของยุคสมัยที่ยกตัวอย่างให้เห็นถึงของชัยชนะของกองทัพชาวนาของเหมาเจ๋อตุงในสงครามกลางเมืองจีน หรือชัยชนะของกำลังพลเพียงหยิบมือเดียวที่นำโดยฟิเดล คาสโตร และเช กูวารา จนสามารถเอาชนะกองทัพและรัฐบาลคิวบาได้

หรือชัยชนะของประชาชนในอีกหลายแห่งที่ตัดสินใจด้วยความมุ่งมั่นที่สู้กับรัฐบาลเผด็จการ และประสบชัยชนะด้วยการลุกขึ้นสู้ ดังเช่น ตัวอย่างของการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีมาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ตัวอย่างในโลกสมัยใหม่ เช่น ใครเลยจะคิดว่าการนำการต่อสู้ทางการเมืองของนักบวชอย่างท่านโคไมนีจะสามารถล้มรัฐบาลที่ทรงอำนาจของพระเจ้าชาร์แห่งอิหร่านได้ เพราะเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจกำลังรบอย่างไม่เป็นรองใครในตะวันออกกลาง

หรือใน “อาหรับสปริง” ที่ใครเลยจะคิดว่ารัฐบาลเผด็จการในโลกอาหรับที่มีอายุยาวนาน จะถูกพลังประชาชนล้มลงได้ในที่สุด

ดังจะเห็นได้ว่าจากปี 2553 เป็นต้นมาแล้ว ผู้นำเผด็จการในโลกอาหรับล้วนเดินทางไปสู่จุดจบที่อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็เป็นการจบที่พ่ายแพ้ต่อการลุกขึ้นสู้ของประชาชน

อย่างน้อยบทเรียนในข้างต้นคงพอช่วยเตือนสติผู้มีอำนาจว่า เมื่อใดที่ประชาชนตัดสินใจลุกขึ้นสู้แล้ว เมื่อนั้นกองทัพของรัฐบาลก็จะเป็นเพียง “เสือกระดาษ” ที่รอให้ไฟแห่งความขัดแย้งเผามอดไหม้ไป

การปรับยุทธศาสตร์ในสงครามการเมืองจึงต้องเริ่มจากฝ่ายรัฐที่จะต้องลดเงื่อนไขของการใช้กำลัง และลดการใช้อำนาจบังคับที่เกินความจำเป็นลง เพื่อเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนนโยบาย

การปรับเปลี่ยนเช่นนี้จะเป็นเสมือนกับการ “เปิดวาล์ว” ระบายแรงกดดันทางการเมืองออก และในทางกลับกันอาจเป็นโอกาสให้รัฐบาลไม่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชน เพราะกำลังรบของรัฐมีไว้ใช้ในยามสงคราม ไม่ได้มีไว้ใช้เพื่อการปราบปรามประชาชนภายใน

แต่ถ้าเมื่อใดผู้นำรัฐบาลเลือกใช้กำลังและกฎหมายอย่างเข้มงวดและไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น เมื่อนั้นก็คือการเดินเข้าสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้น

และนักคิดในสงครามการเมืองถูกสอนเสมอว่า การสะสมความขัดแย้งที่ทวีขึ้นในสังคมคือ “การสุมไฟ” ให้เกิดความรุนแรงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

บทเรียนไทย!

สภาวะเช่นนี้คือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2519 ซึ่งรัฐบาลขวาจัดที่ขึ้นสู่อำนาจจากการล้อมปราบใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และต่อมาได้ใช้ยุทธศาสตร์ “การตำรวจนำการเมือง” ด้วยการใช้อำนาจทางกฎหมายจับกุมนิสิต นักศึกษา และผู้เห็นต่างในเมืองอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ให้แก่การขยายสงครามปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย…

ยิ่งรัฐบาลใช้กฎหมายปราบปรามเข้มงวดมากเท่าใด คนก็ยิ่งปฏิเสธรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น และในทางกลับกันก็ยิ่งเพิ่มความสนับสนุนให้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มากเท่านั้นด้วย จนเสมือนว่ารัฐบาลกรุงเทพฯ เป็นผู้ช่วยจัดหาคนให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์

ในที่สุดกลุ่มทหารสายปฏิรูปที่นำโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ในสำนวนทางรัฐศาสตร์คือ soft liners) จึงตัดสินใจยึดอำนาจ เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงชุดนโยบายแบบขวาจัด และเปิดช่องทางให้เกิด “การปรองดอง” กับนิสิต นักศึกษา และผู้เห็นต่าง อันนำไปสู่การนิรโทษกรรมเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 แบบองค์รวมในปี 2521 และปูทางไปสู่การเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทย

คือการประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 และ 65/25 ในปี 2523 และ 2525 ตามลำดับ

และชี้ให้เห็นว่าการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอาจจะต้องเริ่มต้นที่รัฐบาล การปรับชุดความคิดของผู้นำรัฐบาลและชนชั้นนำที่มีอำนาจเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่จะถอดชนวนความแตกแยกใหญ่ในสังคม

ผู้นำทหารสายปฏิรูปตัดสินใจเบื้องต้นที่จะ “เปิดวาล์ว” ด้วยการปรองดองเพื่อระบายแรงกดดันทางการเมือง โดยการปรับยุทธศาสตร์ใหม่

จนท้ายที่สุดจึงนำไปสู่ความสำเร็จของการยุติความขัดแย้งใหญ่ของสังคมในเวลาต่อมา

แต่ถ้ารัฐไทยตัดสินใจ “ปิดวาล์ว” และปิดให้แน่นมากขึ้น ด้วยการใช้มาตรการ “การตำรวจนำการเมือง” โดยการกวาดล้างจับกุมผู้เห็นต่างในเมืองอย่างกว้างขวาง และใช้มาตรการ “การทหารนำการเมือง” เพื่อทำลายล้างในชนบทอย่างไม่จำแนก และถ้านโยบายนี้ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้งแล้ว โดมิโนที่กรุงเทพฯ จะล้มตามโดมิโนในอินโดจีนอย่างแน่นอน

แต่โดมิโนไทยไม่ล้ม เพราะ “วาล์วการเมือง” ถูกเปิดระบายแรงกดดันออก จนกลายเป็นการปรับสมดุลทางการเมืองใหม่ในเวลาต่อมา ฉะนั้น คงต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยชนะด้วยการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ใช้ “การเมืองนำ” ไม่ใช่ชนะด้วยอำนาจที่เหนือกว่าของทหารหรือตำรวจแต่อย่างใด

หลักการสงครามการเมืองเช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปกับกาลเวลา และไม่เคยเป็นข้อยกเว้นให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะมีอำนาจมากล้นสักเพียงใดก็ตาม…

สงครามการเมืองคือโจทย์ของปี 2564 และท้าทายว่าสังคมไทยจะสามารถออกจากความขัดแย้งได้ด้วยการเมืองหรือความรุนแรง!