ญวน-วาทกรรมความชังแห่งคำเขมร

แม้จะจุดประสงค์ดี แต่อะไรที่ว่านานเกิน นอกจากจะชวนให้จืดชืดไร้รสชาติแล้ว ในบางกรณี ยังพิพักพิพ่วนใจพ่วงไปด้วย

จะอะไรเสียอีก ถ้าไม่ใช่ ICC-ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลเขมรแดงแห่งกรุงพนมเปญ ที่แสนจะคาราคาซังและคาทำเนียบตาขะเมา ตั้งแต่เริ่มชำระคดีแรก-001 นี่ก็ครบ 10 ปีเข้าไปแล้ว ยิ่งถ้านับย้อนไปตั้งแต่สมัยริเริ่ม ก็รอมร่อจะครบ 2 ทศวรรษเลยทีเดียว

ผลาญงบประมาณสูงสุดของทุกศาลอาญาระหว่างประเทศ ทะลุเพดานงบฯ บริจาคหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่คดีเพิ่งจะสำเร็จไปเพียงคดีครึ่ง (001 และ 002-แค่ครึ่งทาง) และดูทีท่าว่าจะอาศัยงบประมาณเป็นท่อน้ำเลี้ยงต่อไปนาน ตราบใดที่คดีเลขที่ 002 ยังจบไม่ได้ และ 003, 004 ยังไม่มีทีท่าจะเปิดการไต่สวน ด้วยข้ออ้างถูกขัดขวางจากรัฐบาลกัมพูชาในขั้นตอนของฝ่ายอัยการต่างประเทศ

ซึ่งบังเอิญที่การขวางลำก็ดำเนินต่อไปตราบใดที่พรรรคซีพีพี ณ สมเด็นฮุน เซน ยังชนะการเลือกตั้งทุกอาณัติสิน่า (หลังจากชนะมาแล้วถึง 4 สมัย)

นี่ไม่ใช่มหากาพย์แห่งความพยายามในการรักษา

แต่เป็นการตอบโจทย์ว่า ทำไมเลือกตั้งทุกครั้ง จะต้องจบลงด้วยชัยชนะของพรรคซีพีพี

และยัดเยียดความปราชัยให้แก่ภาคี (พรรค) ตรงข้ามทั้งหลาย ซึ่งนอกจากพรรคฝ่ายค้านแล้ว ยังรวมองค์กรระหว่างประเทศอย่างศาลเขมรแดงอีกด้วย

อย่างน้อยก็แช่แข็งไว้ไม่ให้ทำการลุล่วง โดยเฉพาะกรณีเรียกตัวบุคคลในรัฐบาลไปให้การต่อศาล

ซึ่งจะบัดนี้ 10 ปีเข้าไปแล้ว ยังไร้น้ำยาหาตัวคนใดไปขึ้นศาลได้เลย จนหนึ่งในแกนนำคนหนึ่งก็ลาโลกไปแล้ว คือ สมเด็จเจีย ซิม แห่งกำปงจาม

ทั้งเม็ดเงินช่วยเหลือ ทั้งความกดดันนานา ดูเหมือนสิ่งที่ ICC จะทำได้ตอนนี้ คือพยายามพยุงเกียรติยศและสังขารไปวันๆ จนกว่า สมเด็จฮุน เซน และพรรคซีพีพีจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งหน้า

ความอ่อนแอของศาลเขมรแดงนี้ ดูๆ ไปก็คล้ายกับ สัม รังสี-ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ที่อ่อนหัดทางการเมืองอย่างถึงขั้นหมดวิสัยทัศน์ เดินสายไปต่างประเทศ นัยว่าเพื่อป่าวประกาศความไม่ประสาทางการเมือง กรณีที่ต้องเล่นเกมเหนือเมฆกับอีกฝ่ายหนึ่ง

ล่าสุด เมื่อเดินทางไปหาแรงปลอบใจในสหรัฐ สัม รังสี ผงะที่พบว่า ชาวกัมพูชาสัญชาติสหรัฐที่นั่นพากันแนะนำให้เขาไปติดคุก “ลองดูเถอะ เผื่อว่ามันจะดีกว่าการหนีไปเรื่อยๆ แล้วทิ้งปัญหาไว้ข้างหลัง”

เพราะบางทีภาพการดำเนินคดี อาจจะส่งผลดีต่อพรรคฝ่ายค้าน เหมือนอย่าง นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพม่า แต่ สัม รังสี กลับไม่คิดเช่นนั้น

ทั้ง ส.ส. ในพรรคของตนที่ติดคุกแล้วกว่า 3 นาย ในข้อหาบ่อนทำลายชาติ กรณีเผยแพร่เอกสารเท็จแผนที่พรมแดนเวียดนาม ยังไม่นับประชาชนผู้สนับสนุน ซึ่งติดคุกไปก่อนหน้าจากกรณีร่วมประท้วงผลการเลือกตั้ง

และรายสุดท้ายที่ยื้อกันอยู่ตอนนี้คือ กึม สกขา (กรณีคลิปเสียงลับกับสตรีอื่นที่มิใช่ภรรยา)

คณะกรรมการพรรคสงเคราะห์ชาติแห่งโพ้นทะเลจึงมีมติเห็นชอบให้ สัม รังสี เลิกหนีตีกรรเชียง แต่กล้าเผชิญปัญหาอย่างถึงที่สุด แม้จะต้องจบลงที่คุกไปรซอสักครั้งก็ตาม

แต่ สัม รังสี ไม่เคยกล้าหาญพิสูจน์ภาวะผู้นำดังกล่าว ดังจะเห็นตลอดระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอยู่นอกประเทศกัมพูชา

ซึ่งครั้งนี้มีผลต่อสถานะของพรรคที่สั่นคลอนและยิ่งตกต่ำลงไปอีก เมื่อเขาแสดงวิสัยทัศน์ขอให้อียู-สหภาพยุโรปลดการนำเข้าสินค้าสิ่งทอและอื่นๆ เพื่อบีบรัฐบาล สมเด็จฮุน เซน

ขอแรงต่างชาติให้ทุบหม้อข้าวตัวเองแบบนี้ ดูทีว่ากรรมกรเขมรถึงกับออกมาต่อต้าน

ความหวังน้อยนิดที่อยากจะเห็น สัม รังสี กลับไปกัมพูชาจึงซับซ้อนและยากจะเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อ แกม เล็ย เพิ่งถูกยิงเสียชีวิต

นับเป็นการเล่นเกมเหนือเมฆต่อ 2 สถาบัน-คู่ต่อกรสำคัญของ สมเด็จฮุน เซน ซึ่งต่างประสบชะตาเสื่อมความนิยมในคราเดียวกัน

ทั้ง ICC-ศาลอาญาฯ และ CNRP-พรรคสงเคราะห์ชาติ ซึ่งตกที่นั่งสถานะเดียวกัน

สําหรับสถาบันศาลอาญาระหว่างประเทศกัมพูชา-ICC หรือ ECCC (Extraordiary Chambers in the Courts of Cambodia) นั้น การไต่สวนที่ล่าช้าของครึ่งต้นปีที่ผ่านมา ดูจะมีการสืบพยานบุคคลบางฝ่ายที่น่าสนใจ

หนึ่งในนั้นคือ ศ.มานุษยวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดร.อเล็กซานเดอร์ ฮินตัน และเป็นเจ้าของงานเขียน “why did They Kill? Cambodian in the Shadow of Genocide” (2005)

ดร.อเล็ก ฮินตัน นี้เองซึ่งเคยใช้เวลา 1 ปี (1994-1995) ลงพื้นที่ทำวิจัยในเขตกำปงเสียม

อำเภอเล็กๆ ที่มีนามเกี่ยวกับสยามในอดีตเกือบสองร้อยปีมาแล้ว และมีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านที่ตั้งทัพสยาม จนกลายเป็นชื่อของหมู่บ้านกำปงเสียม หรือท่าน้ำเสียม (ริมแม่น้ำโขง) ที่สยามเคยมาตั้งทัพที่นี่

แต่ย้อนไป 45 ปีก่อน กำปงเสียม เคยเป็นฐานที่ตั้งชมรมสำคัญของกลุ่มผู้นำกองทัพประชาชนแห่งภาคตะวันออกหรือกลุ่มเขมรแดง ซึ่งต่อมาถูกดัดแปลงเป็นค่ายทดลองตามระบอบคอมมิวนิสต์ในชื่อ “ชมรม 401”

ซึ่งเคยใช้เป็นที่ทดลองอบรมกรรมาธิการระดับสูงด้านการดำรงวิถีเกษตรกรรมและสังคม ซึ่งสหายเหม-เขียว สัมพัน ก็เป็นคนหนึ่งที่ส่งตัวไปเรียนรู้ที่นั่น

ชมรม 401 นี้เอง ยังมีหน่วยงานซึ่งตั้งอยู่บริเวณวัดพนมโประพนมสรัย วัดเก่าแก่และมีชื่อเสียงของกำปงจาม และมีประชาชนกลุ่มใหญ่ซึ่งถูกเกณฑ์มาจากเมืองหลวง ทั้งพ่อค้า ปัญญาชน ตลอดจนบุคคลทั่วไป รวมทั้งชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นที่เป็นจามมุสลิม และชาวเวียดนาม พวกเขาถูกเข่นฆ่าสังหารจากนโยบายกวาดล้างภาคตะวันออกของ พล พต

คาดคะเนว่ากว่า 12,000 ชีวิต

นั่นเองที่ผู้รู้เห็นในเขตกำปงเสียมถูกนำตัวไปสืบพยาน รวมทั้ง อเล็ก ฮินตัน ซึ่งบินมาจากรัฐนิวยอร์กของสหรัฐ ซึ่งดูเหมือนว่า ในบรรดาพยานหลายปากจากกรณีกำปงเสียม

ในฐานะบุคคลที่ 3 อเล็ก ฮินตัน ดูจะเป็นพยานปากเอกที่เหมาะต่อกรณีละเอียดอ่อนของประเด็นนี้ นั่นก็คือ “ปริบทความเกลียดชังที่อยู่ในคำเรียกเวียดนาม ในความหมายของคำว่า-ญวน”

ซึ่งมีอยู่ในตอนหนึ่งที่เขาทำงานภาคปฏิบัติต่อการเก็บความเห็นจากคนในพื้นที่กำปงเสียม โดยกล่าวว่า

“แรกเลยนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นั่นยังไม่เลวร้ายมาก จนกระทั่งปี ค.ศ.1977 เมื่อกรรมาภิบาลเขมรแดงคนหนึ่งถูกส่งตัวมาจากภูมิภาคตะวันตก (คือเขตพระตะบอง) และการกวาดล้างอย่างหนักก็เริ่มขึ้น”

เมื่อทนายฝ่ายโจทก์ซักว่า “มีการใช้คำว่า “ญวน” ในวาทกรรมของระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยที่นำไปสู่ความเกลียดชังกันหรือไม่?”

อเล็ก ฮินตัน ให้การต่อศาลว่า จากการศึกษาคนในพื้นที่กำปงเสียม บางครั้งความหมายของคำว่า “ญวน” ก็ไม่ได้บ่งบอกไปในทางเกลียดชังแต่อย่างใด

“แต่ทว่า เมื่อใดที่มันถูกนำไปใช้ในทางการเมืองแล้ว บริบทนี้ก็อาจเปลี่ยนไปในทางที่ทำให้ประชาชนอาจรู้สึกเกลียดชัง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

โดยเฉพาะในสมัยเขมรแดงนั้น นัยยะที่ซ่อนอยู่ในคำเรียกพลเมืองเวียดนามว่า “ญวน” นี้ มักถูกใช้ไปในการโฆษณาชวนเชื่อทั้งวิทยุและสิ่งพิมพ์

ที่จงใจยุยงไปสู่ความเกลียดชัง และการทำลาย

ในโลกโซเชียล แวดวงบุคคลที่เคยถูกต่อต้านจากกรณีคำญวนคนแรกคือ อู วีระ(*) เมื่อเขาร้องขอเพื่อนร่วมชาติ ยุติใช้คำ “ญวน” ในโลกโซเชียล เพื่อลดความรู้สึกอคติอันมีต่อคำดังกล่าว

ผลก็คือ อู วีระ ถูกชาวเน็ตเขมรตามถล่มทำลาย จนถอดใจลาออกจากองค์กรเอ็นจีโอที่เขานั่งเป็นประธาน และหลบไปเลียแผลใจในต่างแดนระยะหนึ่ง

อู วีระ เป็นตัวอย่างของความเกลียดชังที่ขังซ่อนอยู่ในความรู้สึกชาวกัมพูชา ผ่านความหมายของคำว่า “ญวน” โดยเฉพาะกรณีที่มันกลายเป็นการแสดงออกของพลังเก็บกด ของกลุ่มมวลหมู่ที่ถ่ายทอดออกมาในเชิงต่อต้านและความรุนแรง

ส่วนสมาชิกพรรคฝ่ายค้านนั้น บ่อยครั้งพวกเขามักเคยชินกับการกล่าวปราศรัยที่ใช้คำว่า “ญวน” อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งในบางครั้งก็สร้างกระแสนิยมอีกด้วย

โดยเมื่อย้อนดูพฤติการณ์หลังการเลือกตั้ง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า นอกเหนือประเด็นการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ปมเหตุความขัดแย้งหนึ่งในนั้น คือประเด็นคำ “ญวน” เกือบทั้งสิ้น

“ความผิดเกิดจากเวียดนาม” นวน เจีย เคยให้การในศาลครั้งหนึ่งราวปี 2008 ใครได้ยินตอนนั้นก็คงนึกขัน แต่ผ่านไปอีก 8 ปี แปลกแต่จริงที่นักการเมืองเขมรซึ่งชอบกินก๋วยเตี๋ยวญวน

แต่ยังก้าวผ่านประเด็นนี้ไม่ได้

(*) ปัจจุบันคือผู้อำนวยการ-เวทีอนาคต องค์กรเอกชนที่ติดตามการเมืองและสังคม

อภิญญา ตะวันออก [email protected]