แจง สรรพคุณทางสมุนไพรเพียบ! ใช้ได้หลายส่วน ช่ววยทั้งบำรุงกำลัง / ขับปัสสาวะ / ทำให้กระปรี้กระเปร่า

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทยwww.thaihof.org

แจง แจ้ง แกง แก้ง

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ…

หลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการถลุงเหล็กมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว

การศึกษาพบว่าภูมิปัญญาในการถลุงเหล็กเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น จนกระทั่งมาถึงสมัยอยุธยาจึงได้นำเอาเทคโนโลยีจากจีนเข้ามาผสมผสาน

ในภาคอีสานเป็นภาคหนึ่งที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการถลุงเหล็กกระจายอยู่ในหลายพื้นที่

ซึ่งพบว่าพื้นที่ที่ทำการถลุงเหล็กนั้นใช้ถ่านไม้ผสมในการถลุงและใช้ไม้เป็นแหล่งเชื้อเพลิง

ข้อค้นพบประการหนึ่งในการสำรวจจากพื้นที่จริงและการสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน พบว่าไม้ที่น่าจะใช้ในการถลุงเหล็กคือ “ไม้แจง” ซึ่งยังพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยังหลงเหลือจนทุกวันนี้ คือแหล่งถลุงเหล็กโบราณเกือบทุกที่ยังมีต้นแจงเติบโตให้เห็น

ในภาคอีสานเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “ไม้แจ้ง หรือ ไม้แก้ง” (เนื่องจากภาษาอีสานในบางพื้นที่จะออกเสียง จ และ ก สลับกัน เช่น คำว่า แกงจืด จะออกเสียง แจงกืด เป็นต้น)

นอกจากนี้ ชื่อเรียกไม้แจ้งก็เนื่องจากภูมิปัญญาอีสานมักนำเอายอดอ่อนและดอกของต้นแจงมาดอง ซึ่งเรียกการดองว่า “คั้นส้ม” ทำได้ไม่ยากโดยนำมาดองด้วยน้ำซาวข้าว และคนอีสานนิยมกินยอดแจ้งดองทุกปีจะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังลูกตาไม่หย่อนคลาย หรือเป็นการชะลอการเกิดสภาวะสายตายาว หรือที่คนอีสานมักเรียกว่า “ทำให้ตาสว่างแจ้งจางปาง” นั่นเอง

และที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมเลือกเนื้อไม้ต้นแจงมาใช้ถลุงเหล็กตั้งแต่โบราณก็เพราะว่า ไม้แจงให้ไฟแรงนั่นเอง

 

แจงเป็นไม้ยืนต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Maerua siamensis (Kurz) Pax ถ้าสังเกตชื่อวิทยาศาสตร์จะพบว่าชื่อนี้ลงท้ายว่า siamensis จึงแสดงให้เห็นว่าน่าจะพบครั้งแรกในประเทศสยามหรือประเทศไทย

ดังนั้น กล่าวได้ว่าแจงเป็นไม้ยืนต้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และกระจายพันธุ์ทั้งในไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ลักษณะต้นแจงเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ อาจเรียกได้ว่าเป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ โตช้า มีความสูงของต้นได้ถึง 5-10 เมตร

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด

พบขึ้นได้ในป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังแล้ง ป่าโปร่งแห้ง เขาหินปูน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 0-400 เมตร โดยจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคอีสาน ใบแจงเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ (บางครั้งอาจพบว่ามี 4-5 ใบ แต่พบได้น้อย)

และจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าใบมี 2 รูปแบบ คือใบยาวรี และใบป้อม แจงออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะ จะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปกระสวย

มีเมล็ด 2-3 เมล็ด

 

การใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญา พบว่านิยมนำกิ่งก้านเนื้อมาเผาทำถ่านที่มีคุณภาพดี และยังนำถ่านที่ได้มาทำเป็นดินปืนและยังนิยมนำมาทำเป็นถ่านอัดในบั้งไฟอีกด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังใช้ลำต้นของต้นแจงเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมาก มีการศึกษาพบว่าใบของต้นแจงมีคุณสมบัติในการฆ่าตัวอ่อนหรือลูกน้ำของยุงลายได้เป็นอย่างดี

สรรพคุณทางสมุนไพร เช่น รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายช่วยขับปัสสาวะ ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ทำให้กระปรี้กระเปร่าและแข็งแรง

หรือใช้เป็นยาแก้กษัยหรือใช้แก้อาการป่วยที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุที่ทำให้ร่างกายซูบผอม เสื่อมโทรม ปวดเมื่อย โลหิตจาง

ส่วนของเปลือกต้น รากและใบแจง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ดีซ่าน

ยอดและใบแจงเป็นยาแก้ไข้

รากช่วยรักษาฝีในคอ

แก่นใช้เป็นยาลดไข้ ทั้งต้นใช้เป็นยาต้มแก้ไข้จับสั่นและช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ

ยอดอ่อนผสมเกลือใช้รักษาโรครำมะนาด เปลือกต้น ราก และใบ นำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการหน้ามืดตาฟาง หรือนำยอดอ่อนมาต้มใช้ล้างหน้าจะช่วยแก้ตาฝ้าฟางได้

ใบและยอดนำมาตำหรือโขลกให้พอแหลกเล็กน้อย แล้วปั้นกลมๆ เป็นลูกกลอนขนาดเท่าหัวแม่มือนำมาใช้สีฟัน จะช่วยทำให้ฟันทน ปากหอม ฟันขาวสะอาดสดชื่น หรืออาจจะใช้อมเพื่อเป็นยาฆ่าแมงกินฟันด้วยก็ได้ ใบช่วยแก้ฟันผุ

มีข้อมูลที่ระบุว่าต้นและรากมีสรรพคุณที่เหมือนกัน แต่ต้นจะมีคุณสมบัติทางยามากกว่ารากตรงที่แก้แมงกินฟันและทำให้ฟันทน ยอดอ่อนผสมกับเกลือใช้แก้อาการปวดฟัน

ในตำรายาไทยใช้ต้นแจงทั้งห้า ชะพลู แก่นไม้สัก อย่างละ 3 ตำลึง นำตัวยาทั้งหมดนี้มาใส่หม้อดินกับน้ำ 3 ส่วน แล้วต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ใช้ดื่มเช้า-เย็น เป็นยาแก้ขัดเบา นอกจากนี้ ในตำรับลูกประคบสำหรับผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ๆ มีตัวยาคือ ใบแจง ใบมะขาม ไพล หัวหอม และเกลือ นำมาใช้ประคบลดความปวดเมื่อยอ่อนล้าในสตรีที่คลอดบุตรด้วย และมีตำรับยาที่ใช้ใบทำเป็นลูกประคบเพื่อแก้อัมพฤกษ์อัมพาต

และใช้เปลือกไม้และรากต้นแจงนำมาต้มอาบ อบ หรือกินเป็นยาแก้อัมพฤกษ์อัมพาตด้วย

 

ต้นแจง เป็นไม้ยืนต้นที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มาก กำลังเป็นต้นไม้หายากและผู้คนเริ่มไม่รู้จัก จึงควรเร่งการอนุรักษ์

ต้นแจงสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ และเป็นไม้หายากมีราคาแพงมาก พบว่ามีการซื้อขายกันถึงต้นละ 12,000-25,000 บาท

ยังโชคดีที่ขณะนี้เริ่มมีกลุ่มอนุรักษ์ต้นแจงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเครือข่ายป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) ภายใต้โครงการธนาคารชีวภาพระดับชุมชน (Community Biobank) ที่ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

ชุมชนอื่นเริ่มได้เช่นกัน เพราะต้นแจงมีความต้องการพอควร เหมาะนำมาปลูกเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์ ปลูกให้ความร่มรื่นและร่มเงาได้เป็นอย่างดีเนื่องจากไม่ผลัดใบ และเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากด้วย