สรุปข่าวมติชนสุดสัปดาห์ /ฉบับประจำวันที่ 22-28 มกราคม 2564

น้ำพระทัย - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี พระราชทานรถยนต์เอกซเรย์, อุปกรณ์การแพทย์และเงิน 122 ล้านบาท เพื่อใช้รับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุขเข้ารับพระราชทาน

สรุปข่าวมติชนสุดสัปดาห์

 

0 กรมสมเด็จพระเทพฯ ประทับ ร.พ.จุฬาฯ

0 ทรงรับการผ่าตัดรักษาข้อพระบาท 2 ข้าง

เมื่อวันที่ 19 มกราคม สำนักพระราชวังเผยแพร่แถลงการณ์ เรื่องสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระประชวร ฉบับที่ 2 ตามที่สำนักพระราชวังมีแถลงการณ์เกี่ยวกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประสบอุบัติเหตุระหว่างทรงพระดำเนินออกกำลังพระวรกาย ทรงได้รับบาดเจ็บที่ข้อพระบาททั้งข้างซ้ายและข้างขวา เป็นเหตุให้ทรงพระดำเนินไม่สะดวก เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2564 เวลาเช้า เป็นที่ทราบโดยทั่วแล้วนั้น คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา ได้ร่วมกันวินิจฉัยเห็นว่า ควรถวายการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด จึงได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในวันอังคารที่ 19 มกราคม พุทธศักราช 2564 เพื่อทรงรับการผ่าตัดรักษาข้อพระบาททั้งสองข้าง โดยคณะแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกันถวายการรักษา

 

0 กก.สมานฉันท์ไม่รอ-ตั้ง “ประธาน”

0 “เทอดพงษ์” รับตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 18 มกราคม มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ นัดแรก จำนวน 11 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม 2.นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 3.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภูมิใจไทย 4.นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ 5.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ส.ว. 6.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. 7.นายนิรุต ถึงนาค อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 8.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ 9.นายสุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10.นายสมศักดิ์ รุ่งเรือง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก และ 11.นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเข้าประชุมด้วย

ในการประชุมนัดแรก นายวันชัยที่อาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานชั่วคราว เพื่อเลือกตำแหน่งประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งปรากฏว่า ก่อนที่จะเริ่มมีการเลือกตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ได้มีความเห็นเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งแรกต้องการให้มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คนเข้ามาก่อนแล้วถึงเลือกประธาน ขณะที่อีกฝั่งเห็นว่าควรเดินหน้าทำงานเลย จนท้ายที่สุดเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรเดินหน้าทำงานเลย ซึ่งท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ เลือกนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ จะต้องรอให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คนให้ครบก่อน ถึงจะมีการเลือกตำแหน่งอื่นๆ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคณะกรรมการจะประชุมทุกวันจันทร์ เวลา 13.30 น.

 

0 ‘บิ๊กตู่’ แย้ม สิ้นเดือนมกราคม

0 ลุ้นปลดล็อกเหตุโควิด-19 ระบาดลด

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 ในตอนนี้คิดว่ามีแนวโน้มจะลดลง ควบคุมได้แม้ตัวเลขจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าควบคุมได้ก็ไม่มีปัญหา เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องมาตรการคัดกรอง เรื่องการจัดพื้นที่ควบคุม วันนี้มีพื้นที่ควบคุมใหม่ที่เกิดขึ้นมาในเรื่องของ Factory Quarantine ใช้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ควบคุมของเขาเอง เป็นความร่วมมือของเขากับภาครัฐ ข้อสำคัญต้องขอความร่วมมือทุกคนในเรื่องมาตรการต่างๆ อาจจะต้องยังคงเดิมต่อไป การจะตอบได้ว่าถึงเมื่อใด เหล่านี้ต้องรอดูการประเมินผลเป็นวาระไป วันนี้ต้องดูผลสิ้นเดือนมกราคมไปก่อน ขอให้ไปฟังหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีปลีกย่อยเยอะอยู่เหมือนกัน ข้อสำคัญคือเราจะดูแลให้มากที่สุด แต่ต้องยอมรับในกฎกติกาบ้าง หลายอย่างต้องการให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ขอบคุณทุกคนในความร่วมมือ คาดหวังเพียงเท่านั้นเอง

 

0 ป.ป.ช.สอบโซลาร์เซลล์ “กอ.รมน.”

0 6 แห่งใช้การได้ที่เดียว-ใช้งบ 45 ล.

เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ต.ท.ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงข่าว ภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการติดตั้งโครงการโซลาร์เซลล์แก้ปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีทั้งหมด 8 แห่ง แต่เข้าตรวจสอบ 6 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย บ้านแม่ลิดป่าแก่ บ้านแม่สลี บ้านกิ่วลม บ้านแม่กะไน บ้านแม่จ๊าง และบ้านห้วยป่ากั้ง ซึ่งทั้ง 6 หมู่บ้าน สามารถใช้การได้ 1 หมู่บ้านเท่านั้น คือ บ้านกิ่วลม จุดอื่นๆ ที่ไม่สามารถใช้งานได้มีสภาพปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางจุดไม่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เริ่มแรก บางจุดสามารถใช้งานได้ในระยะแรก 1-2 เดือนเท่านั้น ปัญหาที่พบคือ มีการปล่อยให้แผงโซลาร์เซลล์ถูกทิ้งรกร้าง ไม่ได้รับการดูแล เครื่องสูบน้ำ เครื่องกรองน้ำไม่ทำงาน การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จุดที่พักน้ำ อยู่ไกลสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย เป็นพื้นที่ลาดชันสูง มีต้นไม้ใหญ่บดบังแสงแดดทำให้แผงโซลาร์เซลล์ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ จากป้ายที่ติดไว้ ระบุว่าเป็นของ กอ.รมน.ภาค 3 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วงเงินงบประมาณ 45,590,000 บาท ในการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แก้ปัญหาภัยแล้งพร้อมระบบกรองน้ำในพื้นที่ 20 หมู่บ้าน

มีสัญญาการก่อสร้าง 210 วันในปี 2561 แล้วเสร็จวันที่ 4 กันยายน 2561