สงครามวัคซีน! ‘ธนาธร’ ไลฟ์สดสะเทือน ‘บิ๊กตู่’ ลงดาบ ม.112 – พ.ร.บ.คอมพ์ ‘ก้าวไกล’ เตือนอย่าหัวร้อน-อย่าปิดปาก / การเมืองในประเทศ

ในประเทศ

สงครามวัคซีน!
‘ธนาธร’ ไลฟ์สดสะเทือน
‘บิ๊กตู่’ ลงดาบ ม.112 – พ.ร.บ.คอมพ์
‘ก้าวไกล’ เตือนอย่าหัวร้อน-อย่าปิดปาก

การใช้มาตรา 112 กับกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
แต่ที่เป็นอีกปรากฏการณ์ที่สำคัญคือกรณี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า เฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” ที่นำมาสู่การแจ้งความเอาผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากบุคคลของรัฐบาล
สำหรับเนื้อหาที่ ‘ธนาธร’ ได้กล่าวถึงคือ การจัดหาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า บริษัทเดียวที่ไทยฝากความหวังไว้คือแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งมีการจ้างบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย คือสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) โดยไม่มีการเจรจากับบริษัทอื่นเพิ่ม จนเมื่อ 3 มกราคมที่ผ่านมา มีการประกาศว่าได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มกับ ‘ซิโนแวค’ (Sinovac) จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากร 1.5% เท่านั้น
โดย ‘ธนาธร’ มองว่ารัฐบาลเอาปัญหาการฉีดวัคซีนมาเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างความนิยมทางการเมือง จนละเลยการหาหนทางที่เหมาะสมที่สุดให้กับประเทศ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า รัฐบาลพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการฝากอนาคตของชาติไว้กับบริษัทรายเดียวหรือไม่
‘ธนาธร’ ยังกล่าวอีกว่า หากย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์และโครงสร้างการบริหารจัดซื้อวัคซีนที่รัฐบาลไทยดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้วางการจัดหาวัคซีนสนับสนุน แบ่งเป็น 2 ทาง คือ
1) การซื้อจากต่างประเทศ
2) การผลิตเองในประเทศ
โดยในส่วนของการซื้อจากต่างประเทศ ตอนนี้เซ็นสัญญาไปแล้ว 2 บริษัท คือ แอสตร้าเซเนก้า 26 ล้านโดส และซิโนแวค 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม CP เข้าไปถือหุ้นอยู่ 15.03%
สำหรับกรณีที่สำคัญคือ ปริมาณการสั่งซื้อจากบริษัท ‘แอสตร้าเซเนก้า’ จำนวนมาก และมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า ‘ธนาธร’ มองว่า ในการเซ็นสัญญาขายวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย เงื่อนไขหนึ่งในสัญญาก็คือ การที่ ‘แอสตร้าเซเนก้า’ ทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing Organization – CMO) กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) โดยมีบริษัทปูนซิเมนต์ไทย SCG สนับสนุนการดำเนินงานเซ็นสัญญา
โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จะต้องจัดให้มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี โดย 174 ล้านโดสจะส่งไปขายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีก 26 ล้านโดสขายในประเทศไทย
ทั้งนี้ ‘ธนาธร’ ได้ตั้ง 3 คำถามว่า การพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนคนไทย เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่
เป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมือง มากกว่าการหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดสำหรับคนไทยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ‘ธนาธร’ ได้ทิ้งท้ายว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติข้อตกลงเช่นนี้ จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าวัคซีนมีการผลิตช้ากว่ากำหนดเวลา หรือมีปัญหาในการแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม หรือถ้าประชาชนเกิดอาการแพ้ หรือถ้ามีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์รับผิดชอบไหวหรือไม่

วันรุ่งขึ้น ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ออกมาตอบโต้ ‘ธนาธร’ ว่า คนพูดเรื่องนี้ รู้ไปหมดทุกเรื่อง แต่ไม่รู้จักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ประเทศไทยมาถึงวันนี้ได้ ใครเป็นผู้วางรากฐานสาธารณสุข ทำให้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก พร้อมขอให้ไปทำการบ้านก่อน แล้วค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์
ทั้งนี้ ‘อนุทิน’ ย้ำว่า เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นวัคซีนใหม่ ที่ต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องไม่เอาเรื่องการเมืองมาเป็นประเด็น ส่วนหลังจากนี้จะดำเนินการฟ้องร้องหรือไม่ ‘อนุทิน’ ระบุว่า ก็แล้วแต่ เพราะตนพูดในหลักการ ซึ่งเป็นความรู้สึกส่วนตัว ส่วนผู้ที่ออกมาวิจารณ์ แต่ไม่ทำอะไร เมื่อมือไม่พาย ก็อย่าเอาอะไรมาราน้ำ
ทำให้ ‘พรรณิการ์ วานิช’ แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาทวีตข้อความว่า การเปิดเผยเรื่อง ‘วัคซีนพระราชทาน’ ทำให้มีคนถามเราว่าคณะก้าวหน้าและนายธนาธรช่วยอะไรสังคมบ้างเรื่องโควิด มือไม่พายเอาเท้าราน้ำหรือ
“เราไม่ใช่รัฐบาล ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง แต่เราพยายามเท่าที่ทำได้ คือห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน (Modular ARI Clinic) ที่ได้บริจาคให้ 14 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ตอนนี้ยังใช้งานอยู่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ยะลา”

แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นมหากาพย์ต่อจากนี้ หลัง ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ส่งสัญญาณชัดๆ แรงๆ ออกมาตอบโต้ ‘ธนาธร’ ขู่บังคับใช้กฎหมาย
“เรื่องอะไรที่เป็นการบิดเบือน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แล้วนำมาแพร่ ไม่ว่าในสื่อหรือโซเชียลมีเดีย ผมให้ดำเนินคดีทุกเรื่อง ทุกรายการ ก็ขอให้ทุกคนระมัดระวังด้วย อย่าหาว่าผมเอากฎหมายไปขู่ แต่ต้องรักษาความเชื่อมั่นของรัฐบาลไปด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ส่วนความเคลื่อนไหวฝั่งพรรคก้าวไกล ก็ออกมาปกป้อง ‘ธนาธร’ โดยเริ่มที่ ‘ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ เพราะสังคมไม่ต้องการคนที่หัวร้อนกระฟัดกระเฟียด
โดยย้ำว่าประชาชนทุกคน ไม่ว่าตนเองหรือนายธนาธร มีสิทธิตั้งคำถามถึงงบประมาณในการจัดหาวัคซีนกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน สำคัญต่อชีวิตและเศรษฐกิจ
เมื่อประชาชนตั้งคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ก็เพียงแค่ตอบมาเท่านั้น แต่กลับเลือกที่จะหัวร้อน ไม่ตอบคำถาม

ต่อมา ‘บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ รมว.ดิจิทัลฯ ได้มอบหมาย ‘เนวินธุ์ ช่อชัยทิพย์’ ผู้ช่วย รมว.ดิจิทัลฯ ร่วมกับ ‘ทศพล เพ็งส้ม’ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ‘แรมโบ้-สุภรณ์ อัตถาวงศ์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด ‘ธนาธร’ ฐานความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 อนุ 1
ทั้งนี้ ‘ทศพล’ เปิดเผยว่า การออกมาพูดของ ‘ธนาธร’ พบความผิดถึง 11 ช่วงตอน ทำให้สังคมเข้าใจสถาบันไปในทางที่ผิด และทำให้เกิดความสับสน ประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายที่ไม่อาจยอมได้
รวมถึงสร้างความไม่มั่นใจในการทำงานของรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข เรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงต้องดำเนินการทางกฎหมายทันที
และหลังจากนี้จะติดตามตรวจสอบเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่โพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันเผยแพร่ทางออนไลน์ทุกคน

ด้าน ‘ต๋อม-ชัยธวัช ตุลาธน’ เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การแจ้งความครั้งนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เป็นการตอกย้ำการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมือง เราเห็นว่าการใช้กฎหมายในลักษณะนี้จะยิ่งส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ยิ่งส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม ‘ธนาธร’ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงในวันเดียวกันว่า ถ้าอยากจบเรื่องนี้ก็ต้องชี้แจงด้วยเอกสาร-หลักฐานให้กระจ่าง โดยตนขอให้เปิดเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. สัญญาจ้างผลิตระหว่าง ‘แอสตร้าเซเนก้า’ กับ ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ ว่าตกลงแล้วจะรับผลิตกี่โดส ราคาต้นทุนการผลิตของบริษัทเท่าไหร่ ราคาขายให้ ‘แอสตร้าเซเนก้า’ เท่าไหร่ มีรายละเอียดในสัญญาอย่างไรบ้าง
2. สัญญารับงบประมาณระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติกับ ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ ว่ามีรายละเอียดเงื่อนไขอย่างไร มีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ และเอาไปใช้ทำอะไร ตรงตามที่เคยแถลงไว้หรือไม่
3. บันทึกการประชุมของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการวางเงื่อนไข คุณสมบัติ และรายละเอียดของเอกชนที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการผลิตวัคซีน เพื่อให้ประชาชนแน่ใจว่าการเลือกสนับสนุน ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามหลักการ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ยิ่งเปิดเผยมากยิ่งโปร่งใส
ทั้งนี้ ‘ธนาธร’ ได้ทิ้งท้ายว่า เห็นด้วยทุกประการที่รัฐหรือเอกชนไทยจะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัคซีน แต่ตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกเอกชน การใช้ประเด็นเรื่องวัคซีนมาสร้างความนิยมทางการเมือง และวิธีการบริหารจัดการที่ไม่มีการกระจายความเสี่ยง ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนช้าและครอบคลุมประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
หากยึดตามไทม์ไลน์ของรัฐบาล กว่าเราจะกลับทำมาหากินได้ตามปกติอย่างน้อยปี 2565 ซึ่งประชาชนรอไม่ไหว
การแจ้งความเอาผิด มาตรา 112 กับ ‘ธนาธร’ ครั้งนี้ ถือเป็นแอ๊กชั่นจากฝั่งรัฐบาลที่ชัดเจน และสะท้อนว่า ‘เอาจริง’!!