ส.ว. / ทักษิณ และ “ฟินแลนด์” (ไม่เคยก้าวข้าม?)

การเมืองหน้า 8

ฟินแลนด์

การประชุมวุฒิสภา เมื่อ 20 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

ที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบให้นายรัชนันท์ ธนานันท์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด

โดยไม่เห็นชอบ 122 เสียง เห็นชอบเพียง 89 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง

ถือเป็นการไม่เห็นชอบรอบที่สอง

ทั้งนี้ เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการศาลปกครอง เคยเสนอชื่อนายรัชนันท์ ธนานันท์ มาแล้วครั้งหนึ่ง

แต่เสียงข้างมาก คือ 149 เสียงไม่เห็นชอบ เห็นชอบเพียง 36 เสียง และงดออกเสียง 33 เสียง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมตุลาการศาลปกครองได้ประชุมกรณีนี้

และยืนยันที่จะเสนอชื่อนายรัชนันท์ให้พิจารณาอีกครั้ง

แต่ก็ไม่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภาอีกครั้งดังกล่าว

เหตุที่วุฒิสภามีมติยืนยันไม่รับถึง 2 ครั้ง ทั้งที่ศาลปกครองก็ยืนยันเสนอ 2 ครั้งเช่นกันนั้น

สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า

อาจสืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด

พบว่า นายรัชนันท์ ธนานันท์ ขณะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 2559

เคยถ่ายรูปและไปทักทายต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

จึงเห็นว่ามีปัญหาเรื่องวุฒิภาวะ

ที่ไปถ่ายรูปคู่กับนายทักษิณที่เป็นผู้ต้องหาหนีคดี

และอาจมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง

ขัดกับการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด

จากกรณีข้างต้น

ถือเป็นครั้งที่ 2 อีกเช่นกัน ที่คำว่า “ฟินแลนด์” เข้ามาเชื่อมโยงกับกรณีนายทักษิณ ชินวัตร

ครั้งแรก ที่ถือว่าสั่นสะเทือนนายทักษิณ ชินวัตร อย่างมาก

ก็คือกรณี “ปฏิญญาฟินแลนด์”

นายคำนูณ สิทธิสมาน วุฒิสมาชิกในปัจจุบัน เคยเขียนบทความ “ปฏิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์ทักษิณ”

สรุปถึงเป้าหมาย 4-5 ประการที่ (อ้างว่า) นายทักษิณกับแกนนำก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ไปหารือกันที่ประเทศฟินแลนด์

1. ยุทธการมวลชน ต้องเข้าถึงระบบรากหญ้าให้ทั่วถึง

2. ระบบพรรคเดียวปกครองประเทศ

3. ระบบทุนนิยม ให้ประชาชนบริโภคมากๆ และการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ

4. สถาบันสูงสุด ให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

5. ปฏิรูประบบราชการ ปรับรื้อระบบราชการเดิมให้หมด ให้ขึ้นตรงกับหัวหน้ารัฐบาลเพียงคนเดียว

เป้าหมายที่อ้างนี้เอง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงนำไปเป็นหนึ่งในเหตุผลการโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” อย่างเข้มข้น

เวลาผ่านไปกว่าทศวรรษ

กรณีทักษิณ ยังเป็นสิ่งกีดขวางที่หลายส่วนไม่ก้าวข้าม

และยังใช้เป็นแนวต้านฝ่ายที่ถูกมองว่ามีจุดยืนข้างระบอบทักษิณอย่างไม่เสื่อมคลาย

สะท้อนถึงภาวะแตกเป็นเสี่ยงของสังคมไทยที่ยังไม่ผ่อนปรนลง

อันรวมถึงกรณี “ฟินแลนด์” ที่เพิ่งเกิดขึ้นในวุฒิสภา เมื่อ 20 มกราคม 2564 หมาดๆ นี้ด้วย