ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | อัญเจียแขฺมร์ |
เผยแพร่ |
ตอนได้หนังสือเล่มนั้นมาครอบครอง (ชั่วคราว) ฉัน (ในจินตนาการ) ประหนึ่งพยายามจะเข้าถึงนาง (ตัว) ละครแห่งวังหลวงกัมพูชา ได้แต่ลูบไล้ไปทีละหน้าอย่างบรรจง
อา…นี่หรือนาง “สารามณี” นางเอกในนิยายของเรื่องคนเดียวเท่านั้น
แต่ยังมีตัวละครอื่นๆ ซึ่งพวกเธออาจมีตัวตนจริงๆ ตัวเป็นๆ ที่อยู่ในประวัติศาสตร์เขมร มิใช่แต่ในนิยายประโลมโลกย์ที่เขียนโดย โรล็องด์ เมแยร์ (Roland Meyer, 1889) สักหน่อย
อย่างไรก็ตาม ก็นวนิยายของโรล็องด์นั่นแหละ ที่กวนต่อมอยากรู้ของฉัน
จนพัฒนาไปสู่สายสัมพันธ์ในการอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ
ซึ่งก็พบว่า ก่อนที่นวนิยายประโลมโลกย์เล่มนี้อุบัติขึ้นในปี พ.ศ.2462/1919 นั้น ยังมีบันทึกอีกชิ้นหนึ่งที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กมเลาะ/หนุ่มผู้นี้ลงมือประพันธ์อื้อฉาว : นาฏการนางละครแห่งวังหลวงที่ชื่อ “สารามณี”
ซึ่งบันทึกฉบับนั้นก็คือ “หนังสือจดหมายเหตุฉบับออกญาเวียง (จวนน์)” หรือ “ออกญาเวียง วรเวียงจัย อภิภพพิเพกสริงอุดมกรมพโห (จวนน์)” ผู้ทำการจดบันทึก “การเสด็จประพาสในพระบาทสีโสวัต ณ ประเทศฝรั่งเศส : แห่งปีมะเมีย และ 8 ทศวรรษความสัมพันธ์ตะวันตกกับราชอาณาจักรกัมโพช/Voyage du Roi Sisowath en France : en l”annee du Cheval, Huiti?me de la d?cade, correspondant a l”ann?e Occidentale 1906 Royaume du Cambodge(*)”
สอดคล้องกับความจริงที่ว่า เนื้อหาบางตอนของสารามณีนั้น มีฉากการเสด็จประพาสฝรั่งเศสวันที่ 10 มิถุนายน-20 กรกฎาคม พ.ศ.2449/1906 ในพระบาทสีโสวัต และมีคณะติดตามเกือบ 50 ชีวิต (หรือมากกว่านั้นหากการบันทึกครบถ้วน) ซึ่งประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ หม่อมมะเนียง มหาดเล็ก ข้าราชบริพารในพระองค์และในรัฐบาลอาณานิคม นักดนตรี หญิงรับใช้
และที่สำคัญคือ กลุ่มนางรำคณะละครส่วนพระองค์ (Ballet Khmer de Royale)
หนึ่งในนั้น นอกเหนือจากตัวละครอื่นๆ ซึ่งติดตามขบวนเสด็จประพาสแล้ว เป็นไปได้ว่า น่าจะมีเนียะ/นางในคนหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นตัวเอกในนิยายประโลมโลกย์ (แห่งอนาคต) ที่ชื่อ “สารามณี”
แลจดหมายเหตุฉบับนี้เช่นกัน ที่ทำให้พบว่า ประดานางละครวังหลวงกลุ่มนี้ ช่างบังเอิญมีชื่อพ้องกับตัวละครบางคนในสารามณีอีกด้วย
ซึ่งตามที่โรล็องด์แต่งไว้ สารามณีติดตามขบวนเสด็จไปยุโรป เพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองความรุ่งโรจน์แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของอาณาจักรสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งมีกลุ่มอาณานิคม โดยเฉพาะกัมพูชานั้น นอกจากภาพจำลองปราสาทนครวัดแล้ว ยังมีขบวนแห่ และการแสดงระบำละครโบราณทั้งมาร์เซยย์และเมืองหลวง
ตลอดจนการแสดงนาฏการละครรำต่อหน้าพระพักตร์และประธานาธิบดีเป็นเวลา 50 นาที ในวันที่ 1 กรกฎาคม ณ ทำเนียบอิลิเซ่
แต่ใครกันคือนางละครสารามณีที่อยู่ในหมู่นางละครทั้งหลายในปารีสครั้งนั้น?
ระหว่างเนียะหนูนำ หนึ่งในผู้แสดงเป็นเจ้าหญิงโสมมาลีในละครวิรุฬจักร และเป็น 1 ในตัวละครที่มีอิทธิพลต่อวังหลวงในฐานะนางสนมและนางรำคนสำคัญแห่งวังหลวง และเนียะแยม หญิงนางรำอีกคนหนึ่งซึ่งนามของเธอเหมือนชื่อวัยเด็กของสารามณี?
หรือเนียะแยมนั่น จะคือนางรำสารามณี?
โดยที่แปลกไปกว่านั้น คือทั้งเนียะแยมและเนียะเยือน-นางละครอีกคนหนึ่ง ซึ่งต่างมีรายชื่อขึ้นแสดง ณ อิลิเซ่ แต่กลับไม่ปรากฏรายละเอียดอื่นๆ
แต่กลับไม่พบชื่อนามคนทั้ง 2 ในลำดับต่อมา (น.210, Voyage en France du Roi Sisowath)
ตอนสารามณีไปฝรั่งเศสนั้น ยังเป็นต้นรัชกาลสีโสวัตซึ่งเพิ่งครองราชย์ได้ 2 ปี แต่เมื่อนับว่า เธอเพิ่งเข้าวังเป็นนางรำวังหลวงตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กหญิงวัยกะเม็งในปลายรัชกาลนโรดม (ราวพุทธศักราช 2445)
แล 2 ปีต่อมาพระบาทนโรดมก็เสด็จสวรรคต
ในภาคนิยาย สารามณีนางละครผู้ตามเสด็จไปฝรั่งเศส ถ้าอิงมาจากเรื่องจริง เธอก็น่าจะเป็นนางรำที่มีอายุน้อยมาก ขณะที่ตัวละครอย่างเนียะหนูนำ (วัย 26) 1 นางละครในนวนิยาย และยังเป็นชื่อเดียวกันกับผู้ติดตามในพระองค์คนสำคัญ รองจากหม่อมมะเฟือง (41) ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ตัวละครในนวนิยายสารามณีนี้ มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง
ไม่ว่าจะเป็นพระองค์เจ้าดวง มธุราและเจ้าฟ้าหญิงโสมภได (41)
ในภาคนิยายนั้น เนียะหนูนำดูจะเป็นสตรีที่ร้ายกาจและมีอำนาจในหมู่นางใน ในช่วงที่สารามณีกำลังจะเป็นดาวเด่น แต่ด้วยนิสัยไม่ยอมลงรอยให้ใคร ทำให้สารามณีไม่เคยยกย่องให้คุณหรือเนียะสนมแต่อย่างไร
แม้จะอยู่ในคณะของคุณพระเญียด (หรือคุณพระญาติ) ที่มักจะรังคัดรังแกเธอในบางครั้ง และแม้ว่าในหลวงซึ่งเจริญพระชนม์จะจำบ้างหรือลืมบ้าง แต่สารามณีซึ่งถูกถวายตัวตั้งแต่วัยกเม็ง เธอมักจะได้รับความเอ็นดูจากพระกรุณาบ่อยครั้ง
ทั้งในพิธีโกนจุก ไปจนถึงทรงแกล้งให้ขำกันเล่น เมื่อตรัสให้เด็กหญิงทูนถาดพระโอสถมวน (ยาสูบ) ไปกลับระหว่างห้องเตรียมยาฟิ่นกับโถงพระที่นั่ง ซึ่งอยู่ไกลออกไปมาก
ทรงเอ็นดูในความไม่รู้สาของสารามณี ที่ทำให้ทรงพระสรวล และนางในทั้งหมดของโถงพระโรงก็พากันหัวร่อต่อกระซิกเป็นที่เบิกบานพระทัย
เป็นเหตุให้เชื่อว่า หากสารามณีไปยุโรปจริง เธอก็น่าจะเป็นนางละครอายุน้อยคนหนึ่งในคณะ
แต่เด็กสาวนางระบำคนไหนล่ะ ที่เป็นแบบให้-โรแด็งศิลปินอาวุโสสเก็ตภาพ
ทว่า เมื่อย้อนรอยจดหมายเหตุออกญาจวนน์ ก็พลันพบว่า ณ ปีที่ออกญาจวนน์ตามเสด็จประพาสนั้น เขาเพิ่งมีอายุได้ 36 ปี และได้ชื่อว่าเป็นออกญาหนุ่มที่เชี่ยวชาญทั้งภาษาเขมรและฝรั่งเศส ก็น่าที่เขาจะเขียนบันทึกจดหมายเหตุฉบับนั้น แล้วเสร็จในปีเดียวกัน (2499)
แต่ โรล็องด์ เมแยร์ ต่างหากเล่า ซึ่งในปีนั้นเพิ่งจะอายุได้ 17 ปี อาศัยในปารีส และชวนให้เชื่อว่า เขาน่าจะเป็นหนึ่งในประชาชนทั่วไปที่ชมพิธีเฉลิมฉลองแสนยานุภาพแห่งศตวรรษที่ 19 ของฝรั่งเศสด้วยความสนใจ โดยเฉพาะการค้นพบอาณาจักรนครวัดที่สูญหาย ขบวนแห่งเจ้ากรุงกัมพูชาและนางระบำอัปสร จิตวิญญาณของโรล็องด์คงจะตกอยู่ในภวังค์ จนเกิดแรงปรารถนาที่จะเดินทางไปตั้งรกรากในกัมพูชา
โรล็องด์สมัครเป็นเจ้าหน้าที่อาณานิคมแห่งโพ้นทะเล และแตกฉานภาษาเขมรอย่างลึกซึ้ง อย่างมิต้องสงสัย
ในเวลาอันสั้น เขาสามารถอ่านจดหมายเหตุซึ่งเขียนด้วยลายมือ
ยิ่งเมื่อมีตำแหน่งเป็นนายทะเบียนพิพิธภัณฑ์กัมพูชาที่วัดพนมด้วยแล้ว เป็นไปได้ว่า เขาน่าจะทำงานไม่ต่างจากนายหอจดหมายเหตุคนหนึ่ง
แต่เมื่อเริ่มเขียนสารามณีนั้น ตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนียะหนูนำซึ่งน่าจะมีอายุมากขึ้นกว่า 10 ปี อีกนางรำตัวอื่นๆ ก็มีอายุมากกว่าโรล็องด์ทั้งสิ้น
ทว่า เมื่อวิเคราะห์เรื่องราวปลายรัชสมัยนโรดมซึ่งโรล็องด์จับมาผูกเรื่อง ก็พบว่า เขาน่าจะรู้จักนางละครกลุ่มนี้ ซึ่งเคยมีชีวิตรุ่งเรืองเฟื่องฟูครั้งในสมัยพระองค์มาแล้วทั้งสิ้น
โดยกล่าวว่า พระมหาอุปราช (สีโสวัต) ซึ่งเคยประทับอยู่วังหลังในอดีตนั้น ไม่มีคณะละครที่มีหน้ามีตาเป็นส่วนพระองค์ ส่วนพระองค์เจ้าหญิงสมภได (41) พระธิดาซึ่งถูกระบุว่า มีฐานะเป็นหัวหน้าคณะละครตามจดหมายเหตุฯ นั้น ความในสารามณีตอนหนึ่งกล่าวถึงตัวละครนี้ว่า
“ทรงตรัสฝรั่งเศสคล่อง จนเกือบจะมีอำนาจแทนพระบิดาเลยกระมัง” (สารามณี : ตอนพระราชวังจตุรมุข)
มากกว่าจะปะติดปะต่อมาจากจดหมายเหตุออกญาจวนน์ กมเลาะ หนุ่มโรล็องด์ เมแยร์ น่าจะอาศัยโครงเรื่องที่มาจากชีวิตจริงของนางละครแห่งวังหลวงบางคนมาแต่งเป็นนิยาย โดยนางละครเอกตัวนั้น นอกจากจะมีชีวิตใน 2 รัชกาลแล้ว เธอจะต้องมีประสบการณ์ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองยุโรป
แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังมีตอนหนึ่งซึ่งในนวนิยายมิได้กล่าวไว้ อีกจดหมายเหตุเสด็จประพาสฝรั่งเศสของออกญาจวนน์ ก็จงใจไม่พูดถึง โดยเฉพาะระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศ ได้มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวขุ่นเคืองพระทัย
นั่นก็คือ การที่คณะตามเสด็จในพระองค์ซึ่งเป็นสตรี และกว่านั้น คืออาจเป็นนางละครในพระองค์ถูกประกาศต่อหน้าพระพักตร์ ถึงสถานะใหม่
โดยกล่าวว่า นางคือคนในคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เรือเดินสมุทรอยู่ในน่านน้ำสากล
เรื่องแบบนี้ ยิ่งกว่าหลู่พระเกียรติและพระราชอำนาจในพระองค์ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นในสมัยพระบรมโกศนโรดม จนกลายเป็นข้อพิพาทส่วนพระองค์ (และกรณีอื่นๆ) ซึ่งพระองค์เจ้าฟ้ายุคนธอร์ โอรสองค์รัชทายาทผู้ปรารถนาจะปกป้องพระราชอำนาจในพระมหากษัตริย์ แต่กลับถูกแปลความหมายให้เป็นอื่น จนเกิดเหตุการณ์เพลี่ยงพล้ำ ต้องจำพรากจากแผ่นดิน
แลทิ้งปริศนาว่า ใครกันคือนางละครที่หายไปในบันทึกจดหมายเหตุออกญาจวนน์
(*) ฉบับเดียวกับ : Voyage en France du Roi Sisowath ที่ โอลิเวเยร์ เดอ เบอร์น็อง นำมาแปลฝรั่งเศส ปี ค.ศ.2006