มือที่โจวเอินไหล ยื่นมาให้อเมริกา… / กาแฟดำ – สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

มือที่โจวเอินไหล
ยื่นมาให้อเมริกา…

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนกลายเป็นความขัดแย้งอย่างเปิดเผยหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงเมื่อปี 1949
ความจริงก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ทูตสหรัฐประจำจีน John Leighton Stuart พบกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อเจรจาเรื่องวอชิงตันรับรองการก่อเกิดของจีนใหม่
แต่การเจรจาล้มเหลวไม่เป็นท่า
เพราะเหมาเจ๋อตุงประกาศเจตนารมณ์ที่จะยืนข้างเดียวกับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐออก “สมุดปกขาว” เพื่อแสดงจุดยืนว่าอเมริกาตั้งใจที่จะไม่เข้าไปพัวพันกับสงครามกลางเมืองของจีน “เพราะสหรัฐตระหนักว่าไม่ควรและไม่สามารถที่จะมีอิทธิพลเหนือผลของการสู้รบได้”
ความจริง รัฐบาลสหรัฐภายในประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน มีแนวโน้มที่จะทิ้งฝ่ายเจียงไคเช็กอยู่แล้ว
ที่ปรึกษารอบๆ ทรูแมนหลายคนหนุนให้ประธานาธิบดีตัดสินใจยอมให้ฝ่ายเหมาขึ้นไปยึดเกาะไต้หวันที่เจียงไคเช็กถอยร่นไปปักหลักอยู่
หากสถานการณ์เทไปข้างนั้น สหรัฐก็จะประกาศรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC)
แต่ประวัติศาสตร์ก็พลิกผันได้ตลอดเวลา
ท้ายที่สุด กลุ่มที่เชียร์เจียงไคเช็กในรัฐบาล และ “ล็อบบี้ไต้หวัน” อันหมายถึงทั้งนักการเมือง, สื่ออย่างเจ้าของ Time-Life อย่างเฮนรี ลุส และตัวแทนผลประโยชน์ฝ่ายเจียงก็สามารถน้าวโน้มให้ทำเนียบขาวขณะนั้นยืนเคียงข้างไต้หวัน

ภาพเล่าประวัติศาสตร์จีน-สหรัฐ ปี 1954 ที่เจนีวา นายกฯ โจวเอินไหลยื่นมือให้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ John Dulles แต่ถูกปฏิเสธ

นั่นคือจุดเปลี่ยนผันสำคัญระหว่างอเมริกากับจีนที่นำมาสู่ภาวะเผชิญหน้ากันวันนี้
เพราะในปีต่อมา (1950) ก็เกิดสงครามเกาหลี
พลันที่เกิดสงครามเกาหลี นายพลคนดัง Douglas MacArthur ก็นำกองกำลังทหารสหรัฐจากเกาหลีใต้ข้ามเส้นแบ่งที่ 38 ลุยไปทางทิศเหนือมุ่งสู่ชายแดนจีน
เป็นสาเหตุที่กดดันให้จีนต้องเข้ามาร่วมสงครามยืนเคียงข้างฝ่ายเกาหลีเหนือที่นำโดยคิมอิลซุงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหายร่วมรบอย่างจีนและสหภาพโซเวียต
นำไปสู่การปะทะกันระหว่างทหารสหรัฐกับจีนเป็นครั้งแรกหลังการแลกกระสุนกันในการลุกฮือปี 1900 ที่มีชื่อว่า The Boxer Uprising
(ปี 1900 เกิดกรณีกลุ่มนักเคลื่อนไหวจีนต่อต้านต่างชาติ ปลุกระดม “นักต่อสู้เพื่อความถูกต้อง” เดินขบวนและบุกเข้ายึดปักกิ่งตะโกนคำขวัญ “ปกป้องราชวงศ์ชิง, ขับไล่ต่างาติ” บุกเข้าทำลายสถานทูตและสำนักงานต่างชาติ ทหารนาวิกโยธินอเมริกันเข้าร่วมกับทหารจากชาติตะวันตกปักหลักสู้ ปะทะกับทหารจีนหลายครั้งจนนักประท้วง Boxers ยอมล่าถอย)
เมื่อหน่วยรบสหรัฐกับจีนปะทะกันในสงครามเกาหลี กระแสต่อต้านอเมริกันในจีนก็ระเบิดขึ้นทันที ทำให้คนอเมริกันในจีนส่วนใหญ่ถอนตัวออกนอกประเทศ
นั่นคือจุดที่ทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีทรูแมนเปลี่ยนจุดยืนเรื่องจีน หันมาส่งกองเรือที่ 7 เข้าสู่ช่องแคบไต้หวันเพื่อสกัดโอกาสที่จีนแผ่นดินใหญ่จะบุกโจมตีเกาะแห่งนั้น

ปี 1972 ที่ปักกิ่ง นายกฯ โจวคนเดิมยื่นมือให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้รับการตอบสนองอย่างอบอุ่น!

บรรยากาศการเมืองในอเมริกาเองก็เริ่มร้อนแรง เกิดการถกแถลงกันอย่างกว้างขวางว่าใครเป็นคน “ปล่อยให้จีนหลุดมือไป” จากอิทธิพลของสหรัฐ
เป็นยุค “ไล่ล่าแม่มด” ในอเมริกาเมื่อกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำให้มีการใส่ร้ายป้ายสีปัญญาชน, นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมือง
กล่าวหาว่าเป็น “สาย” ให้กับคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะแทรกซึมเพื่อทำลายความมั่นคงของสหรัฐ
เข้าสู่ยุค McCarthyism
เพราะสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน Joseph McCarthy รณรงค์สร้างความหวาดกลัวในหมู่คนอเมริกันว่าสหภาพโซเวียตและจีนได้ล้างสมองปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์ในอเมริกาเพื่อจะทำลายระบอบการปกครองของสหรัฐแล้ว
ปี 1951 เกือบจะเป็นปีแห่งการบุกเข้ายึดจีนของสหรัฐ เพราะนายพล MacArthur (สมญา “นายพลหัวเห็ด”) ขออนุญาตประธานาธิบดีเพื่อจะเข้าบุกทะลวงเข้าสู่ดินแดนจีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง
แต่ทรูแมนหวั่นว่าจะเกิดสงครามใหญ่ จึงสั่งเรียกตัวนายพล MacArthur กลับจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอเมริกันในเกาหลี
สงครามเกาหลีจึงเป็นจุดขีดเส้นแบ่งค่ายระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างเป็นทางการ

ปี1953 มีการลงนามในสัญญาพักรบที่เกาหลี แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการยุติของสงครามแต่อย่างใด
ไม่ทันใด…ปีต่อมาก็เกิด “วิกฤตช่องแคบไต้หวัน”
ทหารจีนแผ่นดินใหญ่ระดมพลตรงชายฝั่งตรงกันข้ามไต้หวัน ประกาศว่าจะบุกเกาะแห่งนั้นเพื่อขับไล่ทหารก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ก
สหรัฐออกมาตอบโต้เหมาเจ๋อตุงทันที
ขู่ว่าถ้าคอมมิวนิสต์จีนจากแผ่นดินใหญ่บุกไต้หวันได้เจอกับกองกำลังของสหรัฐแน่
เหมาเจ๋อตุงคงเห็นว่ายังไม่พร้อมจะเปิดศึกกับสหรัฐในขณะที่เพิ่งสถาปนา “จีนใหม่” ได้เพียง 5 ปี จึงสั่งทหารจีนปฏิบัติการ “ไอ้เสือถอย”
จากนั้นเป็นต้นมา วอชิงตันก็ยืนข้างไต้หวันมาตลอด มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือพัฒนาไต้หวันจากเกาะที่มีเศรษฐกิจค่อนข้างล้าสมัยกลายเป็นดินแดนแห่งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของเอเชียทีเดียว

ในปีเดียวกันนั้นมีการประชุมนานาชาติที่เจนีวาที่เรียกว่า The Geneva Conference เพื่อแก้ปัญหาสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีนระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนาม
ฉากประวัติศาสตร์โลกก็เกิดขึ้นที่นี่…ที่ตอกย้ำถึงความขัดแย้งหนักหน่วงระหว่างสหรัฐกับจีน
นายกฯ โจวเอินไหลของจีนเป็นหัวหน้าคณะจากปักกิ่ง พอเห็นหน้าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ John Foster Dulles ก็เดินเข้าไปหา ยื่นมือออกไปเพื่อขอทักทายตามประสา shake hands แบบตะวันตก
แต่ John Dulles ไม่ยอมจับมือด้วย
มิหนำซ้ำยังเมินหน้าเหมือนหนึ่งไม่รู้ว่าโจวเอินไหลเป็นใคร
สำหรับจีน นั่นคือการ “ตบหน้า” อย่างจัง
เรื่องของ “หน้า” เป็นประเด็นใหญ่สำหรับการทูตของจีน
เพียงแค่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐไม่ยอมจับมือนายกฯ จีนเท่านั้น ความบาดหมางที่มีอยู่เป็นทุนเดิมก็เสื่อมทรุดกลายเป็นความอาฆาตมาดร้ายทันที
แม้ว่าโจวเอินไหลจะเป็นนักการทูตที่มีท่าทีกิริยานิ่มนวล แต่ฉากที่เจนีวาวันนั้นเป็นการจารึกรอยร้าวที่สาหัสสำหรับจีนเป็นยิ่งนัก
แต่กระนั้น ทั้งสองประเทศก็ริเริ่มการประชุมระดับทูตเป็นครั้งคราว และย้ายจากเจนีวาไปวอร์ซอในปี 1958
แต่ก็ไม่ได้มีผลที่ทำให้ประสานความขัดข้องหมองใจที่ร้าวลึกได้แต่อย่างใด

ปี1955 สหรัฐออก “มติสนับสนุนไต้หวัน” ผ่านสภาคองเกรสอย่างเป็นทางการ เป็นการยืนยันพันธกิจของวอชิงตันในการปกป้องไม่ให้จีนแผ่นดินใหญ่รุกรานไต้หวัน
ปักกิ่งก็ยิ่งเห็นว่าแนวทางของสหรัฐคือการแยกข้างกันอย่างชัดเจน
แต่แล้วรอยร้าวหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตก็เริ่มจะปรากฏขึ้นในปี 1965
แม้ว่าเหมาจะเป็นคนนำพาจีนเข้าสู่ค่ายของสหภาพโซเวียตเพราะอุดมการณ์คอมมิวนิสม์ แต่ความสัมพันธ์ของสองประเทศก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก มีร่องรอยของความปริแยกทางความคิดเป็นระยะๆ
แต่ระดับนำก็พยายามจะปกปิดไม่ให้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา
จนเมื่อนายกฯ นิกิตา ครุสชอฟ ประกาศประณามอดีตผู้นำอย่างโยโซฟ สตาลินของตัวเองในคำปราศรัยในป้องประชุมสำหรับระดับนำของมอสโก
เหมาเจ๋อตุงรับรู้ท่าทีของครุสชอฟแล้วก็มิอาจอำพรางจุดยืนที่แปลกแยกได้
เหมาออกแถลงการณ์วิพากษ์ครุสชอฟอย่างเฉียบคม
จุดเริ่มต้นของการแยกทางระหว่างสองยักษ์คอมมิวนิสต์ก็เห็นได้ชัดขึ้นโดยไม่ต้องใช้กล้องขยายแต่อย่างใดเลย

บรรยายภาพ
สองภาพเล่าประวัติศาสตร์จีน-สหรัฐ ปี 1954 ที่เจนีวา นายกฯ โจวเอินไหลยื่นมือให้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ John Dulles แต่ถูกปฏิเสธ…ปี 1972 ที่ปักกิ่ง นายกฯ โจวคนเดิมยื่นมือให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้รับการตอบสนองอย่างอบอุ่น!