การเมือง ยุคใหม่ เพื่อไทย กับ การพัฒนา การเมือง ยุคดิจิตอล / กรองกระแส(ฉบับประจำวันที่ 22-28 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2110)

กรองกระแส

การเมือง ยุคใหม่
เพื่อไทย กับ การพัฒนา
การเมือง ยุคดิจิตอล

การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเพื่อไทยกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในทางการเมือง ไม่ว่าจะชอบ ไม่ว่าจะไม่ชอบพรรคเพื่อไทยก็ตาม
กรณีการแยกตัวของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อาจดูเป็นเรื่องใหญ่
ไม่เพียงเพราะคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกทั้งๆ ที่เคยเป็น “สมาชิกตลอดชีพ” หากแต่ยังมีนายโภคิน พลกุล นายวัฒนา เมืองสุข นายพงศกร อรรณนพพร ตามไปด้วย
ทั้งนายโภคิน พลกุล ยังฝาก “รอยแผล” เอาไว้กับพรรคเพื่อไทย
ในความเป็นจริง การแยกตัวของพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้นตั้งแต่กลุ่มของนายจาตุรนต์ ฉายแสง แยกไปจัดตั้งพรรคไทยรักษาชาติ กลุ่มของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แยกไปจัดตั้งพรรคประชาชาติ
ยิ่งกว่านั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังประกาศลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. “อิสระ”
หากเห็นว่ากรณีของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นเรื่องใหญ่ เราจะปฏิเสธความหมายในการแยกตัวของนายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อย่างไร
นี่ย่อมอนุวัติไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดเอาไว้

จากประชาชาติ
สู่ไทยรักษาชาติ

มองอย่างเปรียบเทียบ ไม่ว่าการแยกตัวของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ว่าการแยกตัวของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ไม่ว่าการแยกตัวของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
มิได้เป็นเรื่องความขัดแย้ง ความแตกแยกอย่างใหญ่หลวง
เพราะในที่สุดแล้ว ไม่ว่าแนวทางของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ว่าแนวทางของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ไม่ว่าแนวทางของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ก็ยังอยู่บนเส้นทางสายใหญ่ของ “ประชาธิปไตย”
อาจมีความพยายามจะใช้ปฏิบัติการ IO เพื่อแยกสลายและด้อยค่าจังหวะก้าวของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้เข้าไปใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แต่ในที่สุด ก็ยังมิได้ห่างไปจากเส้นทางสายใหญ่ของพรรคเพื่อไทย
ไม่ว่าเส้นทางที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เดิน ไม่ว่าเส้นทางที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เดิน ไม่ว่าเส้นทางที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง เดิน
ยังเป็นเส้นทางเดียวกับพรรคเพื่อไทย เส้นทาง “ประชาธิปไตย”

เส้นทางเพื่อไทย
เส้นทางประชาธิปไตย

กล่าวโดยวิถีดำเนินพรรคเพื่อไทยอาจแตกต่างไปจากพรรคอนาคตใหม่ แตกต่างไปจากพรรคก้าวไกล ในรายละเอียด แต่ 2 พรรคนี้ก็มิได้เป็นศัตรูต่อกันและกัน
เพราะยังเดินไปบนเส้นทาง “ประชาธิปไตย” อย่างเดียวกัน
อาจเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยมีรากฐานมาจากพรรคพลังประชาชน มีรากฐานมาจากพรรคไทยรักไทย ดังนั้น จึงยังรักษาทั้งแนวทางของพรรคไทยรักไทย แนวทางของพรรคพลังประชาชน
โดยเสริมเติมความใหม่ของพรรคเพื่อไทยเข้าไป
ขณะที่พรรคไทยรักไทยอยู่ในร่มเงารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 พรรคพลังประชาชนอยู่ในร่มเงาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่พรรคเพื่อไทยอยู่ในร่มเงาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
นี่ย่อมมิได้เป็น “รัฐธรรมนูญที่ DESIGN มาเพื่อพรรคเพื่อไทย”
มีความจำเป็นที่ด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทยจะยังคงรักษาและสืบทอดจุดดีของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทยจะต้องพัฒนาเติบใหญ่ไปบนเส้นทางใหม่
การพัฒนาเติบใหญ่ของพรรคเพื่อไทยนี้แหละสำคัญ

สังคม การเมืองไทย
การเมืองยุคดิจิตอล

นับแต่พรรคอนาคตใหม่ได้ก่อกำเนิดมาในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 จำเป็นต้องยอมรับต่อบทบาทและผลสะเทือนที่มีต่อการเมืองไทย
นี่เป็นการเมืองใหม่ เป็นการเมืองในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
เส้นทางที่พรรคอนาคตใหม่ประสบเป็นเส้นทางเดียวกันกับที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนประสบ เส้นทางที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประสบเป็นเส้นทางคล้ายกับที่นายทักษิณ ชินวัตร ประสบ
นั่นก็คือ ถูกบดขยี้และทำลายอย่างหนักหน่วง
พรรคไทยรักไทยถูกยุบ พรรคพลังประชาชนถูกยุบ แล้วก่อเกิดมาเป็นพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบแล้วก่อเกิดมาเป็นพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคก้าวไกล ไม่ว่าคณะก้าวหน้า ล้วนไม่สยบและยอมจำนน
เส้นทางของพรรคก้าวไกล เส้นทางของคณะก้าวหน้า คือเส้นทางที่แตกต่างไปจากของพรรคเพื่อไทย แต่ก็เป็นเส้นทางที่พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเรียนรู้และเก็บรับมาเป็นบทเรียน
เพราะนี่คือการเมืองใหม่ เป็นการเมืองในยุคแห่งดิจิตอล

การเมืองอะนาล็อก
กับการเมืองดิจิตอล

อย่างไรหรือคือการเมืองแห่งยุคอะนาล็อก คำตอบสัมผัสได้ผ่านกระบวนการของพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา หรือแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์
นี่คือการเมืองเก่า เป็นการเมืองยุคก่อนเกิดพรรคไทยรักไทย
การดำรงอยู่ของพรรคเพื่อไทยเมื่อประสานกับการดำรงอยู่ของพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ได้ทำให้ภาพของการเมืองใหม่เผยแสดงเด่นชัดขึ้น
ยิ่งเมื่อ “พลัง” ของ “คนรุ่นใหม่” ได้ปรากฏตัวในปี 2563 นี่ย่อมเป็นสิ่งใหม่
เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เพียงแต่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และพรรคการเมืองในปีกประชาธิปไตยจำเป็นต้องให้ความสนใจเท่านั้น
หากน่าจะเป็น “คุณูปการ” อันสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการแห่งพรรคเพื่อไทย
คำถามก็คือ พรรคเพื่อไทยจะพัฒนาก้าวต่อไปอย่างไรในท่ามกลางการต่อสู้อันเข้มข้นในทางการเมือง และในท่ามกลางการปรากฏขึ้นของปรากฏการณ์ใหม่มากมาย
คำตอบของคำถามนี้จะสัมผัสได้จากการปรับตัวเพื่อก้าวกระโดดใหญ่ของพรรคเพื่อไทย