มลพิษของผูกขาด /นายดาต้า

เมนูข้อมูล
นายดาต้า

มลพิษของผูกขาด

การวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของประเทศ เริ่มเน้นข้อมูลให้เห็นความเชื่อมต่อของการผูกขาดอำนาจกับการผูกขาดผลประโยชน์
กลุ่มผลประโยชน์ผูกขาดเลี้ยงดูผู้มีอำนาจจัดการรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองทั้งจากการเลือกตั้ง และจากการแต่งตั้ง รวมถึงข้าราชการให้ผูกขาดอำนาจไว้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ช่วยเหลือนักการเมืองในทุกระดับเพื่อสร้างฐานเสียง และหาคะแนนเพื่อชนะเลือกตั้งเข้ามาคุมอำนาจ
เมื่อยึดกุมการบริหารประเทศไว้ได้แล้ว ศูนย์กลางอำนาจจะอำนวยการผูกขาดให้เจริญรุ่งเรื่องยิ่งๆ ขึ้น ด้วยการให้สัมปทาน และปล่อยให้ขึ้นค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆ
เวียนอยู่อย่างนี้ นี่คือการกล่าวหาที่เป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

คาดว่าในการอภิปรายไม่ไว้ว่างใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในไม่นานนี้ เรื่องการเอื้อให้ผูกขาดผลประโยชน์ของชาติ เพื่อผูกขาดอำนาจการเมือง จะเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกขึ้นมาชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำในโอกาสทำมาหากินจะเกิดขึ้นในการเมืองการปกครองแบบนี้
ไม่เพียงผูกขาดโอกาสผลประโยชน์ แต่การเอื้อให้ทุนใหญ่กำหนดชะตากรรมของประเทศได้ จะถูกชี้ให้เห็นว่าสร้างปัญหลายอย่างที่สะเทือนต่อคุณภาพชีวิตประชาชน
ที่ชัดสุดคือ ฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นมลพิษทำลายสุขภาวะของประชาชนอย่างรุนแรง และมีข้อมูลยืนวันว่า “ควันรถยนต์เป็นสาเหตุสำคัญ”
การแก้ไขต้องเปลี่ยนการเดินทางและขนส่งเป็นพลังงานที่สะอาดกว่า อย่างเช่น “รถไฟฟ้า”
รัฐควรให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นขนส่งมวลชน หรือรถยนต์ส่วนบุคคล
การให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขึ้นค่าบริการ ทำให้ประชาชนเลือกที่จะซื้อรถส่วนตัวมาใช้เดินทาง ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งจากรถติด ก่อการเผาผลาญน้ำมันโดยไม่ได้ระยะทาง
เช่นเดียวกับไม่สนับสนุนให้โรงงานรถยนต์ผลิตรถที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานแทนน้ำมัน ย่อมส่งผลให้ลดฝุ่นพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนไม่ได้
ซึ่งที่สุดแล้วจะต้องมีคนแบบนี้ให้เห็นที่ไม่เดินในทางเลือกที่ดีกว่า เพราะอาศัยการมีอำนาจในวงจรผูกขาดผลประโยชน์ ดูแลนายทุนมากกว่าที่จะดูแลประเทศและประชาชน
ข้ออ้างหนึ่งที่ไม่ยังไม่สนับสนุนรถไฟฟ้าอย่างเต็มที่คือ “ประชาชนยังไม่พร้อม” ยังมีทัศนคติไม่ปรับตัวไปตามพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่เอาเข้าจริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่

ล่าสุด “นิด้าโพล” ร่วมกับเกรท วอลล์ มอเตอร์ สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้รถในไทย เกี่ยวกับความสนใจรถยนต์ไฟฟ้า ผลปรากฏว่า ร้อยละ 77.68 ให้ความสนใจ
โดยร้อยละ 28.97 เห็นว่าช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 26.88 เห็นว่ามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ร้อยละ 16.96 มองว่าช่วยประหยัดค่าบำรุงรักษาในระยะยาว
ประชาชนมีความพร้อม และเห็นประโยชน์ที่จะมีรถไฟฟ้า
แต่ระบบการเมืองที่ทำให้เกิดโครงสร้างอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ อนุญาตให้เกิดอย่างที่ประชาชนต้องการหรือไม่
อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลประโยชน์มหาศาล อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงไปหรือยัง
รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจะเป็นการเดินทางราคาถูกที่ให้บริการอย่างทั่วถึงและไม่เป็นภาระที่เกินความสามารถของประชาชนได้หรือไม่
ท่ามกลางมลภาวะที่อันตรายต่อสุขภาพหนักหน่วง
พัฒนาการของอุตสาหกรรมรถยนต์สะท้อนภาพที่ชัดเจนในภารกิจของโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่