คุยกับ ‘หมอเลี้ยบ’ : เสนอยุบศบค.-ต้องเริ่มถอนความกลัว เดินหน้าปลุกสติ วัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษ เลือกได้ก็จะไม่ฉีด

รายงานพิเศษ
พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

‘หมอเลี้ยบ’ ชี้ต้องเริ่มถอนความกลัว
เดินหน้าปลุกสติ
ชี้วัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษ เลือกได้ก็จะไม่ฉีด

“อยากให้มองว่าวัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษ ไม่ใช่ดาบหรืออาวุธที่ฟันแล้วจะปลอดภัยจากโควิดได้ อย่าไปคิดอย่างนั้น คือเราอยู่มาได้โดยไม่มีวัคซีนเกือบ 1 ปี เพราะว่าเราแต่ละคนมีวินัย มีการใส่หน้ากาก มีการล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตทำไม่ได้ ถ้าไปย่านไหนแออัด เราก็ดูแลตัวเอง ป้องกันตัวเอง มีวินัยใส่หน้ากาก ล้างมือตลอดเวลา ถ้าไม่บังคับ ผมก็เลือกที่จะไม่ฉีด” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี 1 ในผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE กล่าวถึงมุมมองต่อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในอนาคตอันใกล้

หมอเลี้ยบขยายความว่า จะมีหรือไม่มีวัคซีนไม่ได้หมายความว่าอนาคตของประเทศจะไปรอดหรือไม่รอด การมีวัคซีนมันก็เป็นตัวช่วยตัวหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องมีสติว่าการมีวัคซีนที่ค้นคว้าวิจัยมาในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 10 เดือน ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีวัคซีนตัวไหนในอดีตที่ใช้เวลาสั้น 10 เดือนในการพัฒนา

ดังนั้น ต้องคิดว่ามันเป็นการพัฒนาวัคซีนบนพื้นฐานที่มีวิกฤตโรคระบาด ประเทศที่ต้องการจริงๆ คือประเทศที่มีการระบาดหนักมาก เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล และในอีกหลายๆ พื้นที่ที่เขามีความรู้สึกว่ารับมือได้ลำบาก เลยต้องใช้วัคซีนเป็นตัวช่วย

ถามว่า ประเทศไทยถ้าไม่ใช้วัคซีนจะเป็นอะไรหรือไม่

หมอเลี้ยบบอกว่า ผมมองดูจากสถานการณ์ณปัจจุบัน ถ้ามีคนมาบอกให้ผมฉีดวัคซีน ผมจะเลือกที่จะไม่ฉีดเพราะผมมีความรู้สึกว่า ผมไม่แน่ใจว่าวัคซีนที่จะฉีด จะมีอาการอะไรบ้าง

ณ วันนี้วัคซีนเรามีอยู่ 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ใช้ messenger RNA ที่เป็นตัวสังเคราะห์ขึ้นมา เป็นเทคโนโลยีที่เมื่อก่อนนี้ใช้ในการวิจัยในการรักษามะเร็ง แต่ครั้งนี้ถูกประยุกต์มาเพื่อใช้เป็นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 อันนี้เป็นกลุ่มของไฟเซอร์และ modena 2 ตัวนี้ได้ผลดี 90% ขึ้นไป-95 เปอร์เซ็นต์ แต่เราไม่รู้ว่าผลแทรกซ้อนในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะนี่คือวัคซีนตัวแรกของโลกที่มาใช้ในการฉีดกับคน

ดังนั้น ที่มีข่าวว่ามีแพทย์ที่ฟลอริดาคนหนึ่งเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนได้ 2 สัปดาห์ มีพยาบาลที่โปรตุเกสเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนได้ 2 วันนี้ เคสเหล่านี้อาจจะเป็นหนึ่งในล้านหรือหนึ่งในสิบล้าน

แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ หรือผลข้างเคียงในระยะยาวไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

กลุ่มที่ 2 ถัดมา คือกลุ่มที่ใช้พาหะ หรือใช้ไวรัสที่ไม่อันตรายนำพาเอาตัว DNA เข้าไปเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา

กลุ่มนี้เป็นของ Oxford-AstraZenneca มีของรัสเซีย และมีของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่ฉีดแค่ครั้งเดียว (กลุ่มอื่นต้องฉีดถึง 2 ครั้ง) อันนี้ก็ได้ผลดี แต่ว่าเราก็ไม่เคยมีวัคซีนแบบนี้มาก่อน

และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มวัคซีนที่ใช้เชื้อตาย เช่น ของจีน เป็นวัคซีนที่เราใช้เทคโนโลยีแบบนี้มานานแล้วนับร้อยปีแล้ว เช่น ในวัคซีนโปลิโอ ในวัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

แต่ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาว่าได้ผล 50.4 เปอร์เซ็นต์ ก็คือได้ผลค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันราคาก็แพงกว่าเพราะว่าการใช้เชื้อ-เพาะเชื้อและทำให้ตาย มันใช้ต้นทุนสูงกว่าการใช้ในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมแบบ 2 กลุ่มแรก

ดังนั้น ถ้าถามว่า ผมเองต้องถูกบังคับให้เลือกฉีดอันใดอันหนึ่ง ผมจะเลือกฉีดวัคซีนที่ทำให้ผมรู้สึกคุ้นเคยมากที่สุด นั่นก็คือวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีวัคซีนที่กำลังพัฒนาจากเชื้อตายอีกจำนวนมาก หลายๆ บริษัท หลายประเทศ แต่ที่เป็นข่าวก็มีของจีน

แต่อย่างที่บอก ถ้ากรณีที่ผมไม่ถูกบังคับ ผมก็จะไม่ฉีดเลย

ถ้าถามว่า การมีหรือไม่มีวัคซีนเป็นคำตอบสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทยหรือไม่

นพ.สุรพงษ์มีคำตอบคือไม่ เศรษฐกิจไทยผมเชื่อว่าสามารถฟื้นฟูได้โดยที่ไม่ต้องรอวัคซีน แต่ต้องอาศัยทุกคนที่มีสติไม่กลัวแต่ก็ป้องกันตัวเอง สามารถใช้ชีวิตปกติได้

วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรอง คือต้อง 50% ขึ้นไป ซึ่งของจีนก็อยู่ในเส้นตายเฉียดมานิดเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะเดินเข้าไปในดงผู้ป่วยแล้วจะปลอดภัย ไม่เลย คุณต้องป้องกันตัวเองเหมือนเดิม เพราะคุณยังมีโอกาสยังติดได้

อย่างการทดลองตอนฉีด เป็นการทดลองแบบสุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งฉีดวัคซีนจริง อีกกลุ่มหนึ่งฉีดวัคซีนหลอกให้มีแต่น้ำ แล้วก็ดูว่า กลุ่มที่ใช้วัคซีนจริงติดเชื้อกี่คน ซึ่งก็มีคนติด

กลุ่มที่ใช้วัคซีนหลอกก็ติดมากกว่า สรุปว่าฉีดวัคซีนจริงติดน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้วัคซีนหลอก การได้ผลมันไม่ใช่ 100% ไม่ใช่ว่าทุกคนฉีดแล้วจะไม่เป็นอะไรเลย แต่ว่าเป็นแล้วอาจจะอาการรุนแรงน้อยกว่า

ดังนั้น แม้ได้ผลน้อยเราก็ยังต้องป้องกันตัวเราเองอยู่

สำคัญที่สุดในเชิงเศรษฐกิจ เราต้องมีนโยบายหรือมาตรการทางเศรษฐกิจที่สามารถฟื้นฟู SME ได้อย่างจริงจัง สามารถที่จะประคองให้เศรษฐกิจค่อยๆ กลับมาแข็งแรงได้

ไม่ใช่เป็นมาตรการแบบแจกเงินหว่านแหแบบทุกวันนี้ ซึ่งเดี๋ยวสักพักเงินก็หมด ไม่มีผลลัพธ์อะไรที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงๆ

หมอเลี้ยบชี้ว่า วันนี้เราจะต้องค่อยๆ ถอนความกลัวที่ฝังรากลึกเอาไว้ออก เช่น การพยายามสื่อสารที่จะมานั่งพูดทุกวันว่าประเทศนั้นประเทศนี้กำลังแย่ มีผู้ป่วยพุ่งหลายหมื่นคน ทั้งโลกมี 9 ล้านกว่าคนแล้ว

ถามว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการดำรงชีวิตหรือไม่

คำตอบคือไม่เลย ถามว่าพูดทำไม?

มันไม่ควรพูด สิ่งที่ควรจะต้องพูดนั่นคือการจัดการในประเทศของเราว่ามีการดำเนินการอย่างไร สมุทรสาครเป็นอย่างไร จังหวัดอื่นเป็นยังไง เราจะเริ่มเปิดพื้นที่ไหนบ้าง จุดไหนครบ 14 วันไม่มีระบาดเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องไปพูดเลยว่าอเมริกาเป็นยังไง บราซิลเขาเป็นยังไง มันไม่มีประโยชน์ มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าพอไปฟังข้อมูลจากต่างประเทศมากๆ ก็เลยยิ่งกลัวหนักเข้าไปใหญ่ การจะถอนความกลัวมันเกิดขึ้นได้ยาก

ถึงวันนี้ก็ยืนยันมาตลอดว่าไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่จำเป็นต้องมี ศบค.แล้ว แต่ใช้ความเป็นมืออาชีพ คณะกรรมการโรคติดต่อระดับชาติ-ระดับจังหวัด แล้วทำตรงนั้นให้เป็นมืออาชีพ ผมคิดว่าถ้าเราจัดการโดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขการป้องกันโรคระบาดมันจะทำให้การตัดสินใจแต่ละครั้งที่ไม่มีพื้นฐานทางการเมืองและความมั่นคงมาปะปน โดยใช้กลไกแบบนี้ทำได้อยู่แล้ว

ทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อก็สามารถห้ามคนได้ สามารถตรวจสอบยานพาหนะต่างๆ ได้ ไม่จำเป็นจะต้องใช้ความมั่นคง

คือมันเดินผิดทางมาตั้งแต่แรกแล้วก็ไม่ยอมถอนออก

เป็นปัญหาว่าใช้ความรู้สึกอำนาจนิยมในการบังคับสั่งให้คนนั้นคนนี้ทำอย่างนี้โดยขาดการทำความเข้าใจ

หรือการจะบอกว่าถ้าไม่ติดตั้ง App หมอชนะ จะติดคุกนะ มันเกิดจากพื้นฐานของความรู้สึกว่ามีอำนาจ แล้วต้องการใช้อำนาจ มันต้องเลิกความคิดแบบนี้

นพ.สุรพงษ์แนะว่า การสื่อสารในแต่ละวัน จะต้องมีเป้าหมายว่ายุทธศาสตร์ของเราตอนนี้คืออะไรในการทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรค มีสติไม่กลัวแต่ไม่ประมาท

เรามาดูในประเทศว่าเรามีความเสี่ยงอะไรแล้วจะป้องกันอย่างไร ไม่ใช่จะพูดทุกวันว่าให้ประชาชนต้องกลัวโดยเอาข้อมูลโลกมาพูดตลอด

การบอกว่าประเทศไทยดี ประเทศอื่นแย่ เครื่องมือเหล่านี้แหละที่จะกลับมาทำร้ายประเทศเราเอง ทำให้การถอนความกลัวนี้มันทำได้ยากขึ้นทุกวัน

อย่างศูนย์การค้า ถามว่ามีคนกล้าไปหรือไม่ เพราะคนรู้สึกกลัวไปแล้ว ด้วยความที่พวกคุณปลูกฝังความกลัวเอาไว้

ถ้าเรายังเข้าร้านสะดวกซื้อบางแห่งได้ ศูนย์การค้าก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่อยากไปเพราะการปลูกฝังความกลัวมันเกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น การจัดการที่มีความเฉพาะทาง ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะมา อย่าเอาการเมืองเข้ามามีส่วนกำหนดอนาคต

ในอดีตตั้งแต่โรค sars โรคไข้หวัดนกเราไม่เคยต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเลย ทำไมคราวนี้มันต้องใช้แล้วใช้ยาวนานจนถึงวันนี้เป็นปี ทั้งที่ช่วงหนึ่งไม่ได้มีการระบาดในประเทศแล้วก็ยังใช้อยู่ต่อเนื่อง

ควรต้องเปิดโอกาสใช้ผู้เชี่ยวชาญเขาเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่อาศัยอำนาจหน้าที่นายกฯ หรือใครที่ไม่ได้รู้เรื่องจริงมาเป็นคนชี้เป็นชี้ตายว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้

ทุกวันนี้เรายังสาละวนกับการทราบแล้วเปลี่ยน เช้าแถลงเย็นเปลี่ยน มันเป็นปัญหาเพราะ ศบค.ที่ครอบอยู่ ทำให้การตัดสินใจไปอยู่ที่ข้างบน และคนที่ตัดสินใจก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้รู้หรือเข้าใจเรื่องนี้มาก แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ถูกใส่เข้ามา ไปทางซ้ายทีขวาที

หมอเลี้ยบชี้ว่า บทสรุปของจุดเริ่มต้นคือยกเลิก ศบค.ก่อนแล้วคืนอำนาจกลับไปที่คณะกรรมการโรคติดต่อ มีผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาค่อยๆ ปลุกสติให้เกิดขึ้นในใจของคนไทยว่าทุกอย่างมันมีเหตุผลอย่างไรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรไม่ใช่เดินต่อไปภายใต้ความกลัว

คนที่กลัวมากๆ คือคนที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เรียกร้องจะให้ปิดเมืองตลอด ให้ล็อกดาวน์ทั้งหมด

คนเหล่านี้ไม่ได้เดือดร้อนเท่าไหร่เพราะถึงปิดเมือง ฉันก็ยังมีเงินใช้อยู่ ฉันก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้

แต่คนกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยกว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ลำบากมาก

ส่วนคนที่ไม่สะทกสะท้านต่อปัญหาของการปิดเมือง คิดแค่ว่าฉันต้องปลอดภัย แต่คนอื่นจะเป็นยังไง ไม่ใช่เป็นธุระของฉัน มันไม่ใช่

ชมคลิป