เกมสังหาร แกม เล็ย : เกมจุดไฟในนาคร

ขอกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ด๊อกเตอร์แกม เล็ย มิได้แต่ทำหน้าที่นักวิชาการอิสระ ที่กล้าวิพากษ์สังคมและการเมืองกัมพูชาเท่านั้น

แต่เขายังเป็นนักวิจัยคนสำคัญ ที่ทำงานวิจัยใกล้ชิดกับประชาชนทั้งในชนบทและเมือง ซึ่งน่าตื่นตะลึงว่าผลงานของเขามีทั้งแบบข้อมูลเชิงประจักษ์พื้นฐาน และแบบเจาะลึกวิเคราะห์ เพื่อนำไปออกแบบการพัฒนาเชิงโครงสร้างต่อสังคมได้อีกด้วย

นั่นคือ ราวปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง ข่าวการเตรียมการจดทะเบียนพรรคการเมือง ของ ดร.แกม เล็ย ซึ่งให้สัมภาษณ์วิทยุ RVOC (Voice of Community of Cambodia # www.clec.org.kh)

แนวคิดดังกล่าว มาจากที่ แกม เล็ย เห็นถึงความจำเป็นที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนคนวรรณะล่าง ซึ่งก็คือชาวชนบท มักจะถูกตัวแทนพรรคการเมืองกัมพูชาทอดทิ้งในทันทีเมื่อชนะการเลือกตั้ง

นั่นก็เพราะว่า ส.ส. เหล่านั้นมิได้เป็นตัวแทนคนในชุมชน หรืออาจจะเคยเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบ้าง แต่ก็ถูกครอบงำโดยนโยบายของพรรคจากส่วนกลาง อย่างแทบจะทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่พรรคที่อ้างว่าถือกำเนิดจากกลุ่มรากหญ้าเช่นพรรคชาติเขมร (1994), พรรคสิทธิมนุษยชน (2003) ซึ่งทั้ง 2 พรรคอ้างสิทธิ์เป็นตัวแทนกรรมกรแรงงาน และชนชั้นรากหญ้า

ทว่า กลับล้มหายตายจากและไม่เคยประสบความสำเร็จในการเป็นตัวแทนภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง

แต่พรรคการเมืองที่ แกม เล็ย ออกแบบนั้น มีการพัฒนารากเหง้าจากองค์กรเอกชนด้านพัฒนาชนบท ซึ่งจดทะเบียนตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ในนามองค์กรนอกรัฐบาลหรือเอ็นจีโอ

นัยชื่อ “พรรคชุมชนเขมรเพื่อชาวเขมร” นี้ ดูจะมีที่มาจากการที่ ดร.แกม เล็ย เคยมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นชนบท และเห็นปัญหาเรื้อรังกว่าสิบปีที่คนเหล่านี้เผชิญกับการถูกหน่วยงานของรัฐทอดทิ้งและขาดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่จะนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน

“นี่ไม่ใช่ความเพ้อฝัน” แกม เล็ย ยืนยัน ถึงออกแบบจัดตั้งองค์กรพรรคการเมืองท้องถิ่นดังกล่าวอย่างเรียบง่ายและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ

ดังที่เขาเคยทดลอง “ทดสอบประสบการณ์” ร่วมกับสมาชิกชุมชนบางแห่ง เช่นในขตกำปงจาม กำปงทม กำปงสะปือ และอื่นๆ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ที่มีความพร้อมที่ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวถึง 50 ชุมชน

โดย แกม เล็ย วางแผนว่า เบื้องต้นเขาจะทดลองคัดเลือก 27 ชุมชนนำร่องตัวอย่าง ก่อนจะคัดให้เหลือเพียง 10 ชุมชน ซึ่งผ่านกระบวบการแบบทดสอบกลุ่มผู้นำ

เพื่อนำแนวทางนโยบายไปขยายและพัฒนาต่อชุมชนอื่น จนเพียงพอจำนวนสมาชิก เพื่อยื่นจดทะเบียนพรรคตามกฎหมาย

เมื่อถูกถามว่า เขาจะหาเงินที่ไหนมาจัดตั้งพรรคการเมือง?

แกม เล็ย ให้คำอธิบายถึงหลักการ ซึ่งไม่ต่างจากสหกรณ์หมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยสมาคมกสิกร คอยคัดกรองสมาชิกที่ประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นไม่ติดค้างหนี้สิน มีความเป็นผู้นำ และแนวคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำกสิกรรมแบบโบราณมาเป็นสมัยใหม่

ซึ่งเวลานี้ ในชนบทหลายแห่งของกัมพูชาก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่ทำให้เกิดตัวแทนชุมชนที่กล้าหาญ และมีทักษะในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ อย่างน่าสนใจ

แกม เล็ย กล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องให้หมู่บ้านพึ่งพาตัวเองเป็นด่านแรก และอันที่จริงระบอบนี้ก็เคยมีอยู่ในสมัยเขมรแดง ทว่าลัทธิทำลายบุคคลและวรรณะนั่นเองที่ทำให้เกิดการกวาดล้างกันไปมา

จนในที่สุด ก็ทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความอ่อนแอและมีรอยแผลระหว่างเมืองกับชนบทจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

“ปัญหาคือ เราต้องก้าวข้ามความกลัวให้ได้ ถ้าเราทำได้สักครั้ง มันก็จะผ่านไปเอง ผมเคยร่วมวิพากษ์สังคม 5 ปีที่ผ่านมา เคยทำงานในภาคชนบทมา 10 ปี มีแต่เรื่องหวาดกลัวมาตลอด บางครั้งผมพูดอะไรไป พวกที่ทำงานด้านการพัฒนาก็คอยปราม เพราะกลัวว่าจะเป็นภัย แต่หากว่าเราทำ (หรือพูด) ให้เป็นปกติ มันก็จะเป็นเรื่องปกติ เป็นกิจวัตรธรรมดา”

คือมุมมองของ แกม เล็ย ที่เห็นว่าการให้การศึกษา และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน คือทั้งนโยบายการเมือง คือความสำคัญสูงสุดในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชน

“เรามีโรครุมเร้าที่เรื้อรังที่ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาตัวเอง เช่นโรคใช้ความรุนแรงทำลายล้างกัน โรคไม่ยอมรับความคิดชนชั้นล่าง การจะทำให้สถาบันใดสถาบันหนึ่งเข้มแข็งได้ ต้องยอมรับความคิดเห็นจากกลุ่มคนหลายฝ่าย ไม่ใช่เป็นเนียะทมแล้วถูกหมด ส่วนคนรากหญ้าคนเล็กคนน้อยไม่มีความสำคัญ ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย”

นั่นคือคำตอบว่า ทำไม ดร.แกม เล็ย จึงหนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในภาคชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และชุดวิธีคิดแบบนั้นเอง ที่ทำให้นักวิจัยท่านนี้ พยายามนำผลวิจัยของตนมาวิเคราะห์ จนกลายเป็นคู่มือเชิงประจักษ์ฉบับการวางอนาคตประชาชน

น่าเสียดายที่เขามาจบชีวิตลงโดยที่ยังไม่ทันจะนำไปทดลอง ทั้งนี้ อาจจะเป็นไปได้ ที่โครงการนี้อาจมีส่วนคร่าชีวิตของเขา

เนื่องจากมีโอกาสที่กลุ่มผู้มีอำนาจเก่า ซึ่งเสื่อมความนิยมมากอยู่แล้ว และยิ่งจะมากไปอีก หากแนวคิดการก่อตั้งพรรครากหญ้าของ แกม เล็ย เกิดประสบความสำเร็จ

การสูญเสีย ดร.แกม เล็ย เท่ากับสูญเสียทรัพยากรบุคคลระดับปัญญาชนครั้งใหญ่ของกัมพูชา ตอนที่ประธานสหภาพแรงงานกัมพูชาและผู้ใกล้ชิด สัม รังสี คือ เจีย วิเจีย ถูกปลิดชีพหน้าตู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ ในปี ค.ศ.2002

ทั้งที่ได้รับการเตือนล่วงหน้าจากคนของพรรคซีพีพีที่แนะนำให้เขาหนีออกนอกประเทศ

แต่ แกม เล็ย กลับเปรยกับสื่อสำนักหนึ่งว่า เมื่อรักที่จะตีแผ่ความจริงต่อสังคมก็ต้องยอมรับชะตากรรม

“สำหรับเราที่อยู่กลางเสือสิงห์ จิ้งจอกและงูมีพิษ ก็ต้องทำใจว่า เหมือนกับทำวีซ่า 3 ประเภท 1.คือไป(คุก)ไปรซอ 2.ไปโรงพยาบาล 3.คือไปนอกประเทศ”

แต่ แกม เล็ย ไม่ทันฉุกคิดว่า เขาอาจไม่มีสิทธิ์ แม้แต่จะเป็นพลเมืองประเทศนี้

หรือแม้แต่จะยินดีต่อลูกน้อยในครรภ์ภรรยา ในวันที่เขาลืมตาดูโลก

ไม่แปลกเลยว่า ทำไมทันทีที่ข่าวการเสียชีวิตของ แกม เล็ย ถูกเผยแพร่ออกไป จึงมีชุมชนมากมายทั่วประเทศกัมพูชาพากันทำพิธีไว้อาลัย

โดยเฉพาะการเคลื่อนศพจากจุดเกิดเหตุซึ่งมีความยาวหลายกิโลเมตรในวันแรกนั้น มีฝูงชนนับหมื่นร่วมแสดงความโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของชายผู้นี้

ทั้งชนกลุ่มน้อยหลายหมู่บ้านซึ่งพร้อมใจทำพิธีส่งดวงวิญญาณ ตัวแทนนักการทูตและชนครบทุกวรรณะ ท้องถิ่นและจังหวัด และชายหญิงจำนวนไม่น้อยที่โกนผมเพื่อแสดงความอาลัยต่อ แกม เล็ย นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์กว่า 500 รูปในพิธีสวดพระอภิธรรม

นอกจากจะบ่งบอกถึงอิทธิพลที่มีต่อชาวเขมรทั้งเมืองและในชนบทแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความป็อบปูล่าร์ของ แกม เล็ย ที่ไม่เฉพาะในวงการสื่อเท่านั้น ในองค์กรพุทธศาสนา นักพัฒนาสังคม เอ็นจีโอ ต่างใกล้ชิด แกม เล็ย

เฉพาะงานวิจัยนั้น แกม เล็ย ดูจะจับประเด็นครอบคลุมไปเกือบทุกสาขา ตั้งแต่การบุกรุกที่ดินทำกินของนายทุน, การสุขาภิบาล ทรัพยากรแร่ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม-การเมือง และหัวข้อการอพยพผิดกฎหมายของชาวเวียดนามหรือชาวอันเตาประเวศ

ควบคู่ไปกับการวิพากษ์สังคม โดยพื้นฐานอดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้านการวิจัย ซึ่ง แกม เล็ย สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เจ้าหน้าที่สำนักยูเอ็นดีพี, กาชาดสากล และนักวิจัยอิสระในบริษัทเอกชน

“แม้ว่าผม บางครั้งอาจจะเผลอไผลใส่ความรู้สึกลงไปบ้าง แต่ไม่ว่าสิ่งใดที่ผมพูดหรือวิจารณ์ ทั้งหมดคือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปพิสูจน์ได้”

พร้อมกับแสดงความเห็นว่า ประเทศนี้ยังมีนักวิจัยน้อยเหลือเกิน

ซึ่งก็น้อยจนรวยริน เมื่อเขาจากไปในลักษณะเยี่ยงนี้

ใจสลายสำหรับใครก็ตามได้ยินชื่อฆาตกรสังหาร ดร.แกม เล็ย มีนามว่า “จวบ สำหลับ”

มีความหมายตามนามสกุล “จวบ” แปลว่า เจอ/พบ/ประสบ ส่วนชื่อตน “สลับ” หรือ “สำหลับ” นั้น แปลว่า ฆ่า/สังหาร

เช่นเดียวกับขณะที่ถูกนำตัวไปให้การต่อศาล ฆาตกรยืนยันว่าชื่อของตนคือ “พบ-ฆ่า” ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น

แต่แล้วในโลกโซเชียลที่ทำให้เรารู้จัก “พบ-ฆ่า” ว่าเป็นคนเดียวกับ “เอือด อ้าง” ชื่อเดียวที่ภรรยา-มารดาและเพื่อนบ้านต่างรู้จัก และเป็นคนเดียวกันกับ เอือด อ้าง คนที่สมัครเป็นทหารตั้งแต่อายุสิบเจ็ด

และยังเป็นคนเดียวกับภาพที่ปรากฏในโลกโซเชียล ซึ่งพบว่านาย “พบ-ฆ่า” ผู้นี้ เป็นคนเดียวกับชายที่ยืนประกบหลังสมเด็จฮุน เซน ประหนึ่งองครักษ์พิทักษ์นายเมื่อหลายปี

แลทันที “พบ-ฆ่า” ลงมือปลิดชีวิต แกม เล็ย ในวันที่ 10 กรกฎาคม

พลัน เกมทวงถามความยุติธรรมต่อครอบครัว ดร.แกม เล็ย ก็ดังระงมจากทั่วสารทิศ และเป็นเสียงกรีดร้องที่ทรงพลังกว่าความตายทุกชีวิตในเดือนกรกฎาคมตั้งแต่การสังหารหมู่ กวาดล้างและฆาตกรรมกรณีรัฐประหาร (7 กรกฎาคม 1997) และ พิสิต พิลิกา (9 กรกฎาคม 1999) หรือครั้งใดมารวมกัน

หรือมิฉะนั้น ก็จนกว่าจอมบงการตัวจริงจะประสบชะตากรรม

อภิญญา ตะวันออก