พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

คอลัมน์พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ภายหลังจากที่ตอบรับว่าจะเขียนคอลัมน์ลงมติชนสุดสัปดาห์ สิ่งที่คิดหนักคือ จะเขียนแง่มุมไหนดีเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจและมีวัตถุดิบมากพอที่จะเขียนได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั่งคิดนอนคิดอยู่นาน สิ่งที่ผุดขึ้นในสมองก็คือ สำนวนหนึ่งที่ผมชอบใช้เวลาสอนหนังสือ นั่นก็คือ “อ่านระหว่างบรรทัด” ซึ่งแปลมาจากสำนวนภาษาอังกฤษ “read between the lines”

นัยยะของสำนวนนี้คือการอ่านเพื่อค้นหาความหมายที่แฝงอยู่ภายใต้คำพูด ข้อความ หรือการกระทำของผู้คนที่หากเราอ่านอย่างผิวเผินแล้วจะดูเสมือนว่ามีความหมายไปทางหนึ่ง แต่แท้จริงกลับมีความหมายไปในอีกทางหนึ่ง

สำนวนนี้สามารถนำมาใช้มองปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดรายรอบตัวเราได้ด้วย เพราะภายใต้สังคมที่นับวันยิ่งซับซ้อนซ่อนกลและการแสดงออกของมนุษย์ที่นับวันยิ่งยากแท้หยั่งถึงนั้น สิ่งที่เราได้ยิน ได้เห็น ได้อ่าน และได้สัมผัส อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ตัวมันเองเผยให้เราเห็นก็เป็นได้ ดังนั้น หากเราต้องการเข้าใจความสลับซับซ้อนนี้ การฝึกอ่านระหว่างบรรทัดคือวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้มองเห็นความจริงอีกด้านหรือความหมายอีกแบบที่ซ่อนอยู่ได้

ตลอดอาชีพอาจารย์สถาปัตยกรรม ผมมักใช้สำนวนนี้ในการอธิบายมุมมองที่ผมใช้ในการตีความงานสถาปัตยกรรม ผมเชื่อว่าภายใต้ประโยชน์ใช้สอยที่ปรากฎ รูปทรงเปลือกนอกอาคาร ตลอดจนคำอธิบายที่พรั่งพรูออกจากปากสถาปนิกที่ชี้ชวนให้เราเข้าใจหน้าที่และความหมายของสถาปัตยกรรมไปในทิศทางหนึ่งนั้น แท้จริงแล้วตัวมันอาจมีหน้าที่และความหมายแฝงไปในอีกทิศทางหนึ่งทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งหากเราไม่ตระหนักถึงมิติด้านนี้มากพอก็อาจถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัวจากความหมายแฝงเหล่านี้ได้

อาคารและสิ่งปลูกสร้างรอบตัวมนุษย์สามารถส่งอิทธิพลหรือเข้ามาครอบงำมนุษย์ได้หรือหรือไม่ และถ้ามีอยู่จริงระดับของมันมีมากน้อยแค่ไหน คำถามเหล่านี้ยังคงถกเถียงกันไม่จบแม้จนปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนตัวมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่ามีอยู่จริง และในระดับที่สำคัญมากอย่างไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด ทั้งในระดับที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันเล็กๆ ไปจนถึงระดับวงกว้างของสังคม

ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจร่วมกันก่อนนะครับ ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าสถาปัตยกรรมมีพลังมากจนสามารถครอบงำมนุษย์อย่างเบ็ดเสร็จ สถาปัตยกรรมไม่ใช้พื้นที่พิเศษที่มีพลังอำนาจมากมายขนาดนั้น แต่สิ่งที่ต้องการจะบอกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสถาปัตยกรรมมิได้เป็นไปในทิศทางเดียว อันเป็นทิศทางที่มนุษย์มีอำนาจเหนืองานสถาปัตยกรรมที่ตัวเองสร้างโดยสมบูรณ์ แต่มันเป็นความสัมพันธ์แบบไปกลับสองทิศทางที่ส่งผลซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา

แน่นอน มนุษย์เป็นผู้สร้างสถาปัตยกรรม แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ตระหนักคือ เมื่อตัวมันถูกสร้างขึ้นและถูกใช้งานจริง เมื่อมนุษย์มองเห็น ใช้สอยพื้นที่ภายใน หรือแม้แต่แค่เดินผ่านเป็นเวลานาน สุดท้ายปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันดังกล่าวจะกลายเป็นความคุ้นชินที่ย้อนกลับมากำหนดพฤติกรรมมนุษย์ และหากความคุ้นชินนั้นเกิดขึ้นในวงกว้างตัวมันก็ยกระดับเป็นสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม กลายเป็นมาตรฐาน เป็นกฎเกณฑ์ เป็นความเชื่อ จนกระทั่งเป็นอุดมการณ์

กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ในหลายกรณีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่นอกเหนือการควบคุมหรือกำหนดโดยมนุษย์ที่เป็นผู้สร้างงานเสียด้วย ถ้าจะให้สรุปอย่างง่ายๆ คงต้องขอยืมประโยคคลาสสิคของ Winston Churchill ที่กล่าวไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2487 ที่ว่า “We shape our buildings; thereafter they shape us.”

ผมอยากเล่าตัวอย่างเล็กๆ อันหนึ่งที่สะท้อนประเด็นนี้ได้ดี

หลายคนคงรู้จัก “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” บริเวณหัวมุมสนามหลวง เชิงสะพานผ่านพิภพลีลานะครับ สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ที่แท้จริงมีชื่อว่า “อุทกทาน” ที่แปลว่า “การให้ทานด้วยน้ำ” ถูกสร้างขึ้น พ.ศ. 2460 โดยมีที่มาจาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่ต้องการสร้างอุทกทานแห่งนี้เพื่อเป็นแหล่งจ่ายน้ำดื่มที่สะอาดแก่ราษฎร

แนวคิดนี้เชื่อมโยงไม่มากก็น้อยกับการสร้างน้ำพุหรือท่อน้ำสาธารณะให้แก่ประชาชนที่ปรากฎตามเมืองเก่าต่างๆ ในยุโรป ดังนั้น ในด้านหนึ่ง อุทกทานจึงเป็นสิ่งก่อสร้างตามแบบความศิวิไลซ์จากยุโรปที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสยามในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจคือ อุทกทานได้รับการออกแบบในส่วนปลายท่อที่ใช้ปล่อยน้ำสะอาดออกมาด้วยรูปประติมากรรม “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” ซึ่งเป็นการออกแบบที่ดีมากเพราะเลือกใช้รูปประติมากรรมที่มีความหมายย้อนไปเชื่อมเรื่องเล่าจากอดีตกับการใช้งานสมัยใหม่ได้อย่างน่าชื่นชม

แต่สิ่งที่ผู้ออกแบบคงไม่ทันคิดก็คือ คนไทยส่วนมากไม่คุ้นและไม่อาจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับประติมากรรมรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมได้ในฐานะวัตถุทางโลก (อุทกทาน) และจึงทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเข้ามากราบไหว้แทน จนประติมากรรมนี้กลายเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ (ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม หรือในอีกชื่อต่อมาคือ เทวาลัยพระศรีวสุนธรา) ที่ย้อนกลับมากำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ที่จะเข้าไปใช้สอยในสถานที่นี้ในแบบที่ผู้สร้างตอนแรกไม่ได้ตั้งใจไว้

แม้คนจะรู้ความเป็นมาเพราะที่หน้าศาลฯ มีป้ายระบุประวัติเอาไว้ แต่ด้วยการปฏิบัติบูชาของผู้คนที่ต่อเนื่องยาวนาน จากความคุ้นชนจนเป็นวัฒนธรรมได้ทำให้ประติมากรรมชิ้นนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “aura” (ตามแนวคิดของ Walter Benjamin) ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะมองและปฏิบัติต่อประติมากรรมในความหมายของ “ส่วนปลายท่อที่ใช้ปล่อยน้ำสะอาด” ได้อีกต่อไป ที่น่าสังเกตคือ มีคนเป็นจำนวนมากที่เดินผ่านสถานที่แห่งนี้ ที่แม้ว่าจะมิใช่ผู้ศรัทธาในพระศรีวสุนธรา แต่ก็ยกมือไหว้โดยอัตโนมัติแบบไม่ต้องคิด พฤติกรรมเหล่านี้คือด้านที่มนุษย์เราถูกสถาปัตยกรรมย้อนกลับมากำหนดควบคุมนั่นเอง

ตัวอย่างข้างต้น ในทัศนะผม คือหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสถาปัตยกรรมในแบบไปกลับสองทิศทางที่ต่างก็กำหนดความหมายให้แก่กันและกัน ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เผยตัวให้เราเห็นอย่างตรงไปตรงมา แต่คือสิ่งที่แทรกแฝงอยู่ระหว่างบรรทัดของพื้นที่และการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เราปฏิบัติมันไปโดยคิดว่ามันเป็นสัจธรรมหรือเป็นธรรมชาติที่เป็นมาแบบนี้ตั้งแต่แรกโดยไม่ตระหนักว่าหลายอย่างเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยสิ่งปลูกสร้างที่แวดล้อมรอบตัวเราอยู่

ที่กล่าวมาคือสิ่งที่ผมได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าจะเป็นทิศทางอย่างกว้างๆ ที่จะใช้ในการเขียนคอลัมน์นี้ และกระบวนการที่จะเข้าไปอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับงานสถาปัตยกรรมในแบบที่ได้ยกตัวอย่างมานั้น ย่อมไม่มีแนวทางใดที่มีพลังมากไปกว่าการฝึกอ่านสถาปัตยกรรมระหว่างบรรทัดเพื่อค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเลือกใช้ชื่อคอลัมน์ “พื้นที่ระหว่างบรรทัด”

ผมเลือกใช้คำว่า “พื้นที่” แทนคำว่า “สถาปัตยกรรม” ด้วยความตั้งใจ แม้ว่าสองคำนี้จะไม่ได้มีความหมายที่เท่ากัน แต่ด้วยความคิดที่อยากให้คอลัมน์นี้สื่อสารกับคนทั่วไป จึงเลี่ยงใช้คำว่า “สถาปัตยกรรม” ที่อาจฟังดูเป็นเรื่องเฉพาะทางมากเกินไป นอกจากนี้คำว่า “พื้นที่” ยังเปิดทางให้ผมสามารถเขียนเรื่องราวที่กว้างไปกว่าแค่ตัวงานสถาปัตยกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตรอกซอกซอย ถนน ไปจนถึงผังเมือง ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสนใจอยู่

สุดท้ายนี้ ผมอยากขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่า ข้อเขียนชุดนี้เกิดขึ้นรายสัปดาห์ที่มีเวลาจำกัดในการคิดวิเคราะห์ ดังนั้นสิ่งที่อธิบายจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องมีช่องว่างอยู่มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า

ข้อเขียนชุดนี้น่าจะช่วยทำให้ผู้อ่านมองพื้นที่และงานสถาปัตยกรรมต่างๆ รอบตัวเราด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นได้จริง โดยส่วนตัวก็ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่น่าพึงพอใจมากแล้ว