จีนอพยพใหม่ในไทย (16) เมื่อแรกที่ปลายทาง (ต่อ) /วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (16)

เมื่อแรกที่ปลายทาง (ต่อ)

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่ไม่เคยเข้ามายังไทยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับไทยแล้วเห็นว่าน่าสนใจแล้วจึงตัดสินใจเข้ามายังไทย
ผู้อพยพกลุ่มนี้จึงเข้ามาโดยมีเป้าหมายที่แน่นอนว่าจะดำรงชีวิตอยู่ในไทย แต่จะดำรงอยู่อย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่ศักยภาพของแต่ละคน
เช่น มาหางานทำ มาทำการค้าหรือการลงทุน ในกรณีหลังนี้ผู้อพยพย่อมเตรียมตัวมาอย่างดีตั้งแต่ธุรกิจที่จะทำ พื้นที่ (จังหวัด) กฎระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติ ผู้อพยพกลุ่มนี้จึงนอกจากจะเป็นนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการโดยอาชีพแล้ว
การเลือกไทยเป็นปลายทางจึงมาจากการที่เห็นว่าไทยเป็นโอกาสของตน
ประเด็นต่อไปจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือข้อมูลเกี่ยวกับไทยที่จูงใจให้ชาวจีนเหล่านี้เข้ามาใช้ชีวิตในไทย?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ในเบื้องต้นพึงกล่าวได้ว่า ชาวจีนได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทยในด้านต่างๆ ไม่ต่างกับคนชาติอื่นๆ หากจะมีสิ่งใดที่ต่างไปจากคนชาติอื่นบ้างแล้ว สิ่งนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ไทยมีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่มาหลายร้อยปี อันเป็นปรากฏการณ์ที่มิได้มีในทุกประเทศ
การที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอยู่ในไทยนี้มีผลในเรื่องหนึ่งคือ มีงานเขียนเกี่ยวกับไทยที่ถูกบอกเล่าเป็นภาษาจีนอยู่มากมายแล้วถูกส่งออกไปยังจีน และทำให้ชาวจีนที่ได้อ่านรู้จักไทยตามสมควร
แต่กระนั้น งานเหล่านี้มักให้ภาพรวมมากกว่าที่จะเจาะเข้าสู่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งอันเป็นแก่นเฉพาะ และชาวไทยโดยทั่วไปก็มิอาจทราบได้ว่า ชาวจีนรู้จักไทยในแง่มุมใด
งานศึกษานี้เห็นว่า เรื่องราวที่ค่อนข้างเฉพาะของไทยที่ถูกบอกเล่าไปทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญเรื่องหนึ่งคือ การปฏิบัติตนของคนไทยในเหตุการณ์สึนามิ ค.ศ.2004* เรื่องราวนี้เป็นที่รับรู้ของชาวจีนที่ประเทศจีนด้วยเช่นกัน และมีการอภิปรายผ่านทางสื่อสังคม (social media) ในจีนอย่างกว้างขวาง
โดยประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากก็คือ ความเป็นไปได้หรือการมีอยู่จริงของน้ำใจของคนไทย
ซึ่งชาวจีนในเวลานั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อว่าจะมีเรื่องเช่นนี้อยู่ในสังคมโลก เพราะหากตนกำลังประสบชะตากรรมที่แสนจะทุกข์ยากในขณะนั้นจริงแล้ว คงไม่มีแก่ใจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ใครได้อีก
แต่คนไทยกลับทำเช่นที่ว่าได้ เรื่องเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและไม่น่าเป็นไปได้ในทัศนะของชาวจีน
กรณีนี้ทำให้ชาวจีนในเวลานั้นรู้จักไทยในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต่างไปจากเดิม และเนื่องจากเป็นแง่มุมในเชิงบวก
แง่มุมนี้จึงไม่ต่างกับข้อมูลใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในการรับรู้ของชาวจีน

ควรกล่าวด้วยว่า การที่ชาวจีน (ในเวลานั้น) มีทัศนคติเช่นนั้นมิใช่เพราะชาวจีนมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง แต่เป็นผลมาจากนโยบายต่างๆ นับแต่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองเรื่อยมา
โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีการทำลายค่านิยมเก่าๆ (ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไปแล้วเมื่อก่อนหน้านี้) และเชิดชูกึ่งบังคับให้ตระหนักในค่านิยมของลัทธิสังคมนิยมหรือลัทธิเหมา โดยค่านิยมเก่าที่ถูกทำลายนั้น ส่วนหนึ่งคือค่านิยมทางจริยธรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับการแสดงน้ำใจที่ชาวจีนเองก็มีอยู่แต่เดิม
จากเหตุนี้ เมื่อชาวจีนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำใจของชาวไทยจากเหตุการณ์สึนามิ ชาวจีนจึงรู้สึกประหลาดใจและไม่เชื่อถึงความเป็นไปได้ของเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีความสำคัญต่อชาวจีนอย่างมากเมื่อเข้ามาอยู่ในไทยแล้ว ซึ่งงานศึกษานี้จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า
ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทย สังคมไทย หรือชาวไทยดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อมูลโดยภาพรวม ยังมีข้อมูลย่อยที่มีรายละเอียดอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น อาหารไทย ผลไม้ไทย โอกาสในการเข้าถึงแหล่งงานหรือการค้าการลงทุน หรือภูมิอากาศ ที่ชาวจีนส่วนหนึ่งมีความชื่นชอบหรือเห็นว่ามีความเหมาะสมกับตน
ข้อมูลย่อยเหล่านี้จึงเป็นข้อมูลรองที่ทำให้ชาวจีนอพยพเห็นว่า หากมาอยู่ในไทยแล้วสิ่งเหล่านี้จะไม่มีปัญหากับตนหรือไม่ก็มีน้อยและอยู่ในระดับที่ยังรับได้

สถานภาพ

ประเด็นสถานภาพในที่นี้หมายถึง เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในไทยแล้วมีสถานภาพที่อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ความหมายนี้มิอาจเข้าใจได้โดยง่ายแบบไม่ขาวก็ดำ เพราะในความเป็นจริงแล้วกลับมีรายละเอียดพอสมควร ความหมายที่ว่าจึงเป็นความหมายโดยกว้าง
เหตุดังนั้น การกล่าวถึงสถานภาพของชาวจีนอพยพที่ง่ายที่สุดในเบื้องต้นก็คือ สถานภาพที่ถูกกฎหมาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีอยู่สองทาง
ทางหนึ่ง อยู่โดยมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หรือวีซ่าทำงาน (Work Visa) ในทางนี้ถือเป็นวิธีที่นานาประเทศถือปฏิบัติกันเป็นปกติ
อีกทางหนึ่ง อยู่โดยมีสัญชาติไทย ในทางนี้มีน้อยมากและเป็นไปได้ยากกว่าทางแรก
และจะเป็นได้ก็ด้วยการผ่านขั้นตอนและกฎระเบียบการได้รับสัญชาติของทางการไทยอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นแล้วขั้นตอนและกฎระเบียบการได้รับสัญชาติจึงมีความสำคัญมาก
จากการศึกษาพบว่า ชาวจีนที่มีสถานภาพถูกกฎหมายในทางแรกจะมีมากกว่าทางที่สอง แต่โดยมากจะเป็นชาวจีนที่เข้ามายังไทยหลังทศวรรษ 2000 เรื่อยมา
ในขณะที่ทางที่สองซึ่งมีอยู่น้อยมากนั้นมักจะมีกับชาวจีนที่เข้ามาในปลายทศวรรษ 1970 เรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1990
นอกจากนี้ ก็ยังพบด้วยว่า ชาวจีนบางกลุ่มบางคนที่มีสถานภาพที่ถูกกฎหมายในทางแรกนั้น มีความพยายามที่จะให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยในทางที่สองอยู่ด้วย โดยเฉพาะชาวจีนที่แต่งงานกับชาวไทย และปักหลักอาศัยอยู่ในไทยจนมีลูกสืบสกุล
ชาวจีนในกรณีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย และมักเป็นกลุ่มที่เข้ามานับแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา กรณีที่หญิงจีนแต่งกับชายไทยมีเป็นส่วนน้อย

สําหรับชาวจีนที่อยู่ในไทยโดยมีสถานภาพผิดกฎหมายนั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างพิสดาร ทั้งนี้เพราะการมีสถานภาพเช่นนั้นผลักดันหรือกดดันให้ต้องหาวิธีต่างๆ เพื่อเอาตัวรอด
โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาหลังจีนเปิดประเทศหลัง ค.ศ.1978 ไม่นานนั้น ส่วนใหญ่จะเข้ามาในรูปของนักท่องเที่ยวแล้วไม่กลับไปจีนอีก และเมื่อเข้ามาแล้วจะไปอยู่ที่ใดต่อไปพบว่า โดยส่วนใหญ่จะมีบริษัทท่องเที่ยวจัดการส่งไปยังแหล่งพักพิงชั่วคราวที่มีเจ้าของเป็นชาวจีน
จากนั้นจึงค่อยกระจายชาวจีนเหล่านี้ไปยังแหล่งงานต่างๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวจีนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันนี้ แต่มิได้ผ่านวิธีดังกล่าวข้างต้น หากแต่เข้ามาด้วยวิธีวิบาก นั่นคือ เดินทางมาจากพื้นที่ต้นทางในจีนด้วยรถโดยสารสาธารณะพื้นฐาน พอมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา หรือจีน-ลาวแล้วก็จะเดินเท้าอย่างหลบซ่อนเข้ามายังไทย
ที่ว่าหลบซ่อนนี้หมายถึง การเดินเท้าผ่านป่าเขาเพื่อให้ปลอดจากสายตาของเจ้าหน้าที่ (ดังได้กล่าวไปแล้วในประเด็นวิธีอพยพ)
พ้นไปจากชาวจีนสองกลุ่มนี้แล้วก็จะเป็นกลุ่มที่มีญาติสนิทมิตรสหายในไทย กรณีนี้มีอยู่จำนวนหนึ่งและถือเป็นกลุ่มที่มีข้อได้เปรียบกว่าสองกรณีแรกในแง่ของความปลอดภัย
ส่วนชาวจีนที่เข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยวแล้วมีสถานภาพที่ผิดกฎหมายอยู่ในไทยนั้น ยังคงเข้ามาด้วยวิธีนี้ไปจนถึงทศวรรษ 2000 ซึ่งจนถึงเวลานั้นชาวจีนที่เข้ามาในทศวรรษ 1980 ก็ได้สร้างเครือข่ายของตนขึ้นมาเพื่อรองรับคนที่เข้ามาในชั้นหลังเอาไว้แล้ว

หากพิจารณาจากช่วงเวลาที่ชาวจีนกลุ่มดังกล่าวเข้ามายังไทยแล้วแสดงว่า ทุกวันนี้ชาวจีนกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่ในไทยประมาณ 20-40 ปี ช่วงเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ทำให้มิอาจทราบจำนวนที่แท้จริงของชาวจีนกลุ่มนี้ได้
แต่จากการให้ข้อมูลของชาวจีนบางคนในกลุ่มนี้ทำให้แยกอธิบายได้ว่า ชาวจีนที่เข้ามาหลังเปิดประเทศใหม่ๆ จนถึงทศวรรษ 1990 จะมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างไปจากชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา
ชาวจีนกลุ่มนี้จึงมีวัยวุฒิค่อนข้างสูง และมีบุตรหลานอยู่จำนวนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาในไทยและมีสัญชาติไทย หลายคนในกลุ่มนี้สามารถพูดภาษาไทยได้ในระดับพอใช้จนถึงระดับดี
แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ได้สัญชาติไทย

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

*เรื่องราวนี้ถูกบอกเล่าในลักษณะที่แตกต่างกันไปและสามารถค้นหาย้อนหลังได้จากเว็บไซต์ทั่วไป ในที่นี้จะไม่ลงไปในรายละเอียด เพราะจะทำให้รู้สึกตอกย้ำภาพเชิงบวกของสังคมไทยมากจนเกินงามและดูเขื่อง แต่ที่หยิบยกตัวอย่างนี้ขึ้นมากล่าวถึงเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และมีความเกี่ยวพันกับการรับรู้เรื่องไทยของชาวจีนที่ประเทศจีน