เพ็ญสุภา สุขคตะ : ‘พระเจ้าตอกสาน’ รฦกวัดแห่งแรกของพระเจ้าพิมพิสาร สู่ความสมัครสมานงานจุลกฐิน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘พระเจ้าตอกสาน’
รฦกวัดแห่งแรกของพระเจ้าพิมพิสาร
สู่ความสมัครสมานงานจุลกฐิน

วัดจำนวนหนึ่งในล้านนา และแน่นอนว่าหลายแห่งในรัฐฉาน สหภาพเมียนมา มีการสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุพิเศษซึ่งไม่ค่อยพบในภูมิภาคอื่น

นั่นคือการนำไม้ไผ่ที่จักเป็นเส้นมาถักสานอย่างประณีตจนเป็นองค์พระปฏิมา

โดยสานพระวรกายทีละส่วนจากนั้นนำมาประกอบกัน แล้วทารักสีดำ บางแห่งปิดทองคำเปลวทับ มีบ้างบางแห่งที่ทาแค่น้ำยาเคลือบใส

ดิฉันเชื่อว่าผู้พบเห็นย่อมเกิดคำถามอยู่หลายข้อ อาทิ ทำไมต้องใช้ “ไม้ไผ่” มาถักสาน?

สถานที่ที่สร้างพระพุทธปฏิมาแห่งนั้นๆ ขาดแคลนวัสดุประเภทอื่นเช่น หิน โลหะ ไม้เนื้อแข็ง หรือเช่นไร?

ชาติพันธุ์ใดเป็นผู้เริ่มต้นคิดสร้าง?

มีคติปรัชญา นัยยะความหมายอันใดแฝงเร้นเบื้องหลังไม้ไผ่หรือไม่?

ฤๅแค่เห็นเป็นของแปลก?

ทั้งนี้ มิพักต้องถามถึงกรรมวิธีการสร้างว่ายากเพียงไร?

ไม้ไผ่ที่ใช้นั้นเป็นไผ่ชนิดใด?

ตัดมาจากไหน?

และความคงทนจะสู้วัสดุอื่นๆ ได้ละหรือ?

ในล้านนาพบที่ไหนบ้าง

อันที่จริง การทำพระพุทธรูปที่สานด้วยไม้ไผ่ ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวล้านนาโดยตรง หากแต่เป็นความชำนิชำนาญเฉพาะพิเศษของชาวไทใหญ่ในพม่าที่ส่งอิทธิพลมาให้ชาวล้านนา

ดังนั้น วัดที่พบ “พระเจ้าตอกสาน” ทั้งหมดในภาคเหนือ จึงไม่มีชิ้นไหนเลยที่เป็นผลงานของช่างล้านนา ล้วนแล้วแต่เป็นการสั่งทำนำเข้าหรือเรียนรู้จากสล่าชาวไทใหญ่ทั้งสิ้น

วัดเด่นๆ ที่มีพระเจ้าตอกสานเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ได้แก่ วัดจอมสวรรค์ จ.แพร่ วัดพระธาตุจอมก้อย จ.ลำปาง วัดหิรัญญาวาส จ.เชียงราย และวัดจองกลาง จ.แม่ฮ่องสอน

– องค์แรก เดิมพระเจ้าตอกสานวัดจอมสวรรค์ อำเภอเมืองแพร่ เคยประดิษฐานในฐานะพระประธานบนอาคารที่เรียกว่า “จองว์” (ศาสนสถานที่ใช้สอยร่วมกันระหว่างวิหาร อุโบสถ กุฏิ และศาลาการเปรียญ แบบ 4 อิน 1) ต่อมาได้ย้ายไปเก็บรักษาในกุฏิของเจ้าอาวาส แล้วอัญเชิญพระประธานองค์ใหม่ที่เป็นปางขอฝนมาประดิษฐานแทน

พระเจ้าตอกสานองค์นี้สร้างประมาณ พ.ศ.2440 โดยชาวไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานป่าไม้ภายใต้บังคับของชาวอังกฤษ นำโดยหัวหน้าหรือ headman ที่ชื่อ “จองตะก่านันต่า” เป็นทายกจัดสร้าง จึงมีรูปแบบเป็นพุทธศิลป์ไทใหญ่ กล่าวคือ ครองจีวรเป็นริ้วพลีทมีชายสังฆาฏิพาดซ้อนปลายย้วยหลายชั้น พระนลาฏ (หน้าผาก) ของพระพุทธรูปคาดแผ่นกระบังหน้าประดับเพชรพลอย

– องค์ที่สอง พระเจ้าตอกสานวัดพระธาตุจอมก้อย อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ประดิษฐานในวิหารเปื๋อย (ศาลาโถง) ทำเป็นปางไสยาสน์ เผยผิวรักสีดำไม่ปิดทองคำเปลว พระบรรจง ปุญฺญกาโม เจ้าอาวาสของวัดเล่าว่า

“เป็นการจำลองมาจากพระเจ้าตอกสานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ถ้ำผาแรมในพม่าจากการที่อาตมาได้ธุดงค์ไปพบ ซึ่งชาวพม่าเรียกพระไม้ไผ่ขัดสานว่า “พระเจ้าอินทร์สาน” ตามความเชื่อที่ว่า พระอินทร์ได้มาช่วยสานส่วนของพระพักตร์ที่ยากที่สุดให้สำเร็จ”

พระเจ้าตอกสานที่เมืองปานใช้ไม้ไผ่ประเภทที่เรียกว่า “ไม้ไร่มุง” มีลักษณะพิเศษคือเหนียว ทนทาน คล้ายหวาย แตกกิ่งก้านสาขาเลื้อยขึ้นมุงไม้ใหญ่ ขึ้นในหุบเขาหนาวเย็น ทางวัดต้องหาไม้ไร่มุงประเภทนี้มาจากสองแห่ง แห่งแรกจากเมืองงาว เขตอนุรักษ์ป่าบ้านกล้วย และอีกแห่งได้มาจากเขตป่าแม่แจ่ม (แม่แจ๋ม) ใกล้อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน รอยต่อลำปาง-เชียงใหม่

พระเจ้าตอกสานไสยาสน์ยาว 12.2 เมตร สร้างระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 25 มีนาคม 2547 ใช้เวลาสานเพียง 1 เดือน 22 วัน โดยกลุ่มสล่าในล้านนาต้องเดินทางไปศึกษาวิธีการทำตอกสานจากสล่าไทใหญ่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา

– องค์ที่สาม พระเจ้าตอกสานวัดหิรัญญาวาส อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทำพุทธศิลป์แบบพระสิงห์ล้านนา หน้าตักกว้าง 9.9 ศอก สูง 19 ศอก ใช้เวลาสาน 84 วัน ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 21 ตุลาคม 2552

ทางวัดให้ข้อมูลว่า ใช้ไม้ไผ่ประเภทไม้มุงที่ตัดมาจากป่าลึกบนดอยสูงเมืองโกลในรัฐฉาน โดยต้องขอแรงชาวปะหล่องที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนดอยช่วยกันชักลากไม้ไผ่จำนวน 39,000 ท่อนลงมาสู่ที่ราบอย่างทุลักทุเล ผู้ควบคุมการสานพระพุทธรูปเป็นชาวไทใหญ่ชื่อสล่าบุญ

– องค์ที่สี่ พระเจ้าตอกสาน ณ จองว์หลังกลาง (ศาลาการเปรียญหลังที่ 2) วัดจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน (ในอดีตเคยแยกเป็นเอกเทศอีกวัดหนึ่งชื่อวัดจองกลาง) หน้าตักกว้าง 2.5 เมตร สร้างโดยชาวไทใหญ่ เสร็จในปีพุทธชยันตี 2555

โดยใช้เวลาสานไม่ถึงสองเดือนเช่นกัน

ในพม่าพบมากที่รัฐฉาน

พระเจ้าตอกสานหรือพระเจ้าอินทร์สาน ภาษาพม่าเรียกว่า Hnee Paya หรือ Nee Buddha หมายถึง “พระพุทธรูปสานด้วยไม้ไผ่”

จากการศึกษาเรื่องพระพุทธรูปสกุลช่างต่างๆ ในพม่า ไม่ปรากฏว่ามีความนิยมในการสร้าง “พระเจ้าตอกสาน” ในศิลปะพยู่ (รัฐศรีเกษตร) ศิลปะอารกัน (รัฐยะไข่) ศิลปะมอญ (หงสาวดี สะเทิม) ศิลปะพุกาม และศิลปะมัณฑะเลย์แต่อย่างใดเลย

แหล่งที่พบมากที่สุดคือรัฐฉาน กระจายทั่วทั้งตอนใต้ของรัฐที่อยู่ใกล้เมืองย่างกุ้ง หงสาวดี และรัฐฉานตอนบนทั้งโซนตะวันตกแถบตองยี อินเล และโซนตะวันออกแถบเชียงตุง

ดังนั้น สามารถสรุปได้หรือไม่ว่า ชาติพันธุ์ที่นิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้ไผ่ขัดสานคือชาวไทใหญ่ เนื่องจากชนกลุ่มนี้เป็นประชากรหลักของรัฐฉาน จากนั้นส่งอิทธิพลให้แก่ชาวธนุ (Tanu) และคะฉิ่นด้วยบางส่วน

พระเจ้าตอกสานองค์ที่เก่าสุดพบที่หมู่บ้าน Monghnon อยู่ห่างจากเมือง Mongkhat 7 ไมล์ ทางรัฐฉานโซนตะวันออก มีอายุเก่าแก่ถึง 700 ปีเศษ คือร่วมสมัยกับราชวงศ์มังรายตอนต้น มีจารึกระบุชื่อผู้สร้างเป็นภาษาไทใหญ่ที่ถูกถอดเป็นภาษาอังกฤษว่า Khuwalonphaw Maha Guru Nanda ในจารึกนี้เรียกพระพุทธปฏิมาว่า “พระศักยอินทร์สาน”

นอกจากนี้ ในรัฐฉานยังมีพระเจ้าตอกสานรุ่นเก่าอายุกว่า 500 ปีอีกหลายองค์ อาทิ ที่หมู่บ้าน Pinmagon เมือง Kalaw วัดอินทร์สาน เมืองเชียงตุง เป็นต้น

กุศโลบายแห่งการใช้ไม้ไผ่

Dr. Than Tun นักประวัติศาสตร์คนสำคัญชาวพม่า ได้เสนอความเห็นเรื่องการใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นพระพุทธรูปของชาวไทใหญ่ไว้ในบทความชื่อ “Hnee Paya of Shan State” ว่า น่าจะเกิดจากเหตุผล 2 ประการประกอบกันดังนี้

ประการแรก ไม้ไผ่เป็นสัญลักษณ์ของวัดในพระพุทธศาสนาแห่งแรก โดยพระเจ้าพิมพิสารได้สร้างวัดเวฬุวนารามถวายเป็นพุทธบูชา เสนาสนะในวัดนี้ใช้ไม้ไผ่สร้างทุกหลัง ไม่ว่าอาคารธรรมสภา วิหาร คันธกุฎี ฯลฯ

โดยที่ Dr. Than Tun ทราบดีว่า กรณีของพระพุทธรูปนั้นยังไม่ได้มีการสร้างอย่างแน่นอนในยุคพุทธกาล เพราะพระพุทธรูปรุ่นแรกสุดตรงกับสมัยคันธาระราว พ.ศ.600

แต่การที่ชาวไทใหญ่เลือก “ไม้ไผ่” มาสานทอเป็นพระพุทธรูป ทั้งๆ ที่รัฐฉานอุดมไปด้วยอัญมณี หิน รัตนชาติ ทองเหลือง ทองแดง ทองคำ ฯลฯ สามารถเลือกวัสดุอื่นมาสร้างได้นั้น เป็นเพราะพวกเขาต้องการรำลึกถึงวัสดุที่ใช้ในการสร้างวัดแห่งแรกของพระเจ้าพิมพิสารนั่นเอง

ประการที่สอง เป็นเหตุผลที่สอดรับกับข้อแรก Dr. Than Tun กล่าวว่า ธรรมชาติของไม้ไผ่ชนิดที่นำมาทอสานเป็นพระพุทธรูปคือไม้มุงนี้ จะมีความหยุ่น อ่อน สามารถตัดและดัดรูปทรงได้ดีในช่วงต้นปีระหว่างมกราคม-กุมภาพันธ์ การตัดไม้ช่วงนี้จะไม่มีมอดมากินไม้ไผ่

ดังนั้น เมื่อตัดเสร็จก็พร้อมสานภายใน 1-2 เดือน ระยะเวลาแห่งการเฉลิมฉลองพระพุทธรูปก็จะอยู่ในช่วงเทศกาลมาฆบูชาพอดี

อันวันมาฆปุณมีนี้ เป็นวันที่พระสงฆ์ 1,250 รูปมารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวนาราม ดังนั้น ตามคติดั้งเดิมแล้วชาวไทใหญ่จะอัญเชิญพระเจ้าตอกสาน มาแห่รอบหมู่บ้านในช่วงวันมาฆบูชาของทุกปีอีกด้วย

ปัจจุบันนี้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในการบูชาพระเจ้าตอกสานของรัฐฉานจากเดิมเคยให้ความสำคัญต่อวันมาฆบูชา แต่ทุกวันนี้กลายมาเป็นเน้นที่วันออกพรรษา

สมัครสมานงานจุลกฐิน

ปี2556 ดิฉันได้ร่วมเดินทางไปรัฐฉาน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ “เชียงใหม่-เชียงตุง Twin City” ในยุคผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ธาณินทร์ สุภาแสน มีโอกาสได้เรียนถามเรื่องความเป็นมาของพระเจ้าอินทร์สานจากเจ้าอาวาสวัดอินทร์สาน ที่เชียงตุง อย่างเป็นกิจจะลักษณะ พระคุณเจ้าได้เมตตาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่า

“จากเดิมพระเจ้าตอกสานสร้างเพื่อรำลึกถึงวัดเวฬุวนารามก็จริง แต่ต่อมาคติทางพุทธศาสนาได้มีการเลื่อนไหลไปตามกาลเวลา วัดหลายแห่งไม่ได้ทำพิธีเฉลิมฉลองพระเจ้าตอกสานในช่วงวันมาฆบูชาอีกต่อไปแล้ว หากแต่จัดงานในเทศกาลกฐินช่วงออกพรรษาแทน

ในขณะที่ฝ่ายหญิงช่วยกันถักทอผ้าจุลกฐินจีวรหรือผ้าอเนกประสงค์อื่นๆ เช่น ผ้าห่มพระธาตุ ผ้ามุงบน (ผ้ามุงพระเจ้า/ผ้าพิดาน) ซึ่งต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะและสามัคคีช่วยกันทอทั้งวันทั้งคืนให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้

ฝ่ายชายก็มีแนวความคิดที่จะนั่งสานพระพุทธรูปด้วยไม้ไผ่เฉกเดียวกัน เพราะการช่วยกันสานนั้นต้องใช้สมาธิสูงมาก หากเผลอขาดสตินิดเดียวไม้ไผ่ที่สานก็บิดเบี้ยว การระดมพระหนุ่มเณรน้อยหรืออุบาสกมาช่วยกันสานไม้ไผ่นั้นถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการให้คนในชุมชนสมานสมัครรู้รักสามัคคี
แน่นอนว่าพระเจ้าตอกสานตามแนวคิดนี้คงทำได้แค่องค์ขนาดย่อม ไม่ใหญ่โตนัก เพราะต้องสร้างให้เสร็จในวันรุ่งขึ้นทันถวายงานจุลกฐิน”

ฟังคำอธิบายของท่านครูบาหลวงวัดอินทร์สานแล้ว ชวนให้นึกถึงเหตุผลที่พระครูหิรัญอาวาสวัตร เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาวาส ตัดสินใจสร้างพระเจ้าตอกสานที่แม่สายว่า

“ช่วงปี 2550-2551 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนเกิดสงครามสีเสื้อ คนในชุมชนแตกความสามัคคีกัน อาตมาจึงมีกุศโลบายให้ชาวบ้านสมานฉันท์ด้วยการเชิญชวนให้มาช่วยกันสานไม้ไผ่สร้าง ‘พระสิงห์สานชนะมาร’ สานไปสานมา กินด้วยกันนอนด้วยกันก็เลิกทะเลาะกันไปเอง”