สิ่งแวดล้อม : ถึงเวลาคิดใหม่ ‘เรื่องกิน’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ถึงเวลาคิดใหม่ ‘เรื่องกิน’

บันทึกไว้ตรงนี้ว่า ปี 2563 เป็นปีที่ร้อนที่สุดทำลายสถิติเท่ากับปี 2559 ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิพื้นที่ผิวโลกอยู่ที่ 1.25 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่ปีที่แล้วชาวโลกลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลลง 7 เปอร์เซ็นต์เพราะล็อกดาวน์ปิดเมือง ผู้คนหยุดเดินทางหันมาสู้กับสงครามไวรัสโควิด-19

สถิติดังกล่าวบอกเราว่า แม้ชาวโลกจะปล่อยก๊าซพิษลดลง แต่ภาวะโลกร้อนยังคงเพิ่มระดับการคุกคามมนุษยชาติมากขึ้น

“สตีเว่น ชู” อดีตรัฐมนตรีพลังงาน สหรัฐ นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบล เคยพูดไว้หลายปีแล้วว่า ก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศโลกสะสมอยู่นานนับพันปี

ปรากฏการณ์โลกร้อนที่เห็นกันวันนี้ เกิดจากการสะสมของก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อ 50 ปีแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกพุ่งโลด โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผู้คนบริโภคกันอย่างไม่ยั้งมือ

เปรียบเหมือนการสูบบุหรี่เมื่อวัยหนุ่ม แล้วอีก 30 หรือ 50 ปีต่อมาก็พบว่าป่วยเป็นมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง

ประเมินว่า ปีนี้ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกจะสูงกว่า 417 ส่วนต่อล้านส่วน หรือพีพีเอ็ม (parts per million-ppm)

เทียบกับยุคต้นๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 278 พีพีเอ็ม

เท่ากับว่าปีนี้ชั้นบรรยากาศโลกมีก๊าซพิษเข้มข้นมากกว่า 50%

ตัวเลขนี้เป็นการย้ำเตือนว่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือทางออกที่ดีที่สุด มิฉะนั้นแล้วการเพิ่มระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกจะส่งผลให้ชาวโลกเจอกับมหันตภัยทั้งพายุ ไฟป่า ภัยแล้ง คลื่นความร้อน น้ำท่วมรุนแรงกว่าที่เห็นและเป็นมา

นอกจากมีการรณรงค์ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกทั้งภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมแล้ว นักสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มยังหันมารณรงค์ให้ “เลิกกินเนื้อสัตว์” เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ผลักดันให้เกิดการรุกป่า ทำลายระบบนิเวศน์ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาปราบศัตรูพืชและปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก

การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อให้สัตว์มีเนื้อสมบูรณ์ ไร้โรค จะทำให้เชื้อโรคมีภูมิต้านทาน เกิดการผ่าเหล่าและนำไปสู่การแพร่ระบาด

ป่าถูกโค่นจนราบเรียบ เร่งให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์เร็วขึ้น สัตว์ป่าใกล้ชิดกับชุมชนเมืองมากขึ้น เชื้อโรคแพร่จากสัตว์สู่คนได้เร็วขึ้น

จํานวนประชากรโลกและเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น เป็นปัจจัยสำคัญทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ขยายตัวตาม

เมื่อปี 2503 ประชากรโลกมีราวๆ 3 พันล้านคน กินเนื้อสัตว์ประมาณ 70 ล้านตัน หรือเฉลี่ยกินเนื้อสัตว์ 23 กิโลกรัมต่อคน

ปี 2561 ประชากรโลกพุ่งถึง 7,600 ล้านคน มากกว่าปี 2503 กว่าเท่าตัว ปริมาณการกินเนื้อสัตว์มากขึ้น 7 เท่าตัว ตกราวๆ 350 ล้านตัน หรือเฉลี่ยกินเนื้อสัตว์ปีละ 46 กิโลกรัม/คน

เมื่อคนต้องการเนื้อสัตว์มากขึ้น แน่นอนว่า ในภาคการผลิตก็ต้องการพื้นที่เพาะปลูกพืชใหญ่ขึ้น เพิ่มปริมาณการเลี้ยงสัตว์ให้มากขึ้นเพียงพอต่อความต้องการ

พื้นที่เพาะปลูกทั่วโลกนั้นปลูกพืช เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเพื่อป้อนให้ฟาร์มปศุสัตว์มากถึง 71%

การปลูกพืชในเชิงพาณิชย์เร่งให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณสูงขึ้น ยิ่งสภาพภูมิอากาศแปรปรวน อากาศร้อนแล้งมีตั๊กแตน ตัวด้วง หนอนเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งใช้ยาฆ่าแมลง รวมถึงยาฆ่าหญ้า ฆ่าวัชพืชและปุ๋ยในปริมาณมากกว่าเดิม

ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าใช้มากเท่าใดก็ทำลายสิ่งแวดล้อมมากเท่านั้น ทั้งฆ่าสัตว์ที่อยู่ในวงจรธรรมชาติ ระบบนิเวศน์แปรปรวน ดินเปรี้ยว น้ำเน่าเสีย

กระบวนการผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 30 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลก ในจำนวนนี้กว่าครึ่งมาจากการผลิตเนื้อสัตว์

การเลี้ยงวัวเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด บราซิลเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวเป็นอันดับหนึ่งของโลก

เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าอะเมซอนครั้งใหญ่ปี 2562 สาเหตุหนึ่งของไฟป่ามาจากการบุกรุกโค่นป่าแผ้วถางพื้นที่เพื่อทำฟาร์มปศุสัตว์ เพราะการเลี้ยงวัวใช้พื้นที่มากกว่าการเลี้ยงหมูถึง 15 เท่า

ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เดวิดศึกษาการเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่พบว่าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 ของภาคการเกษตร

วัวแต่ละตัวจะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็น 1 ในก๊าซเรือนกระจกราวๆ 100 กิโลกรัมต่อปี
ก๊าซมีเทนสลายตัวเร็วกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 20 เท่า แต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ชั้นบรรยากาศโลกแปรปรวน

บรรดาวัวและสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ เช่น ม้า ในสหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่ชั้นบรรยากาศราว 4 เปอร์เซ็นต์

อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 14.5 เปอร์เซ็นต์

ลองนึกภาพอีก 30 ปีข้างหน้า ถ้าจำนวนประชากรโลกขยายตัวเป็น 10,000 ล้านคน และมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว อุตสาหกรรมปศุสัตว์จะขยายตัวมโหฬารแค่ไหน?

นักสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่า เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การบุกรุกป่านำผืนดินมาใช้เป็นพื้นที่เกษตรก็ขยายตัวเพิ่มเป็นเงาตามตัว ยิ่งทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลายมากขึ้น สัตว์ป่าพืชพันธุ์หดหายและสูญพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การเรียกร้องให้ชาวโลกกินเนื้อสัตว์น้อยลงหรือเลิกกินไปเลย จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการทรมาน และการฆ่าสัตว์

เชื่อว่าหลายๆ คนได้ดูคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านทางโซเชียลแสดงกระบวนการชำแหละเนื้อสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ที่เป็นไปอย่างโหดเหี้ยม

บรรดาสัตว์เหมือนรู้ว่าตัวเองจะต้องโดนฆ่าโดนหั่นเชือด จึงพยายามหนีเอาตัวรอด บางตัวเสี่ยงตายกระโดดหนีออกจากกรงขังบนรถบรรทุก

บางตัวดิ้นหนีให้พ้นจากปลายมีดอันคมกริบของนักชำแหละเนื้อ

การละเลิกลดเนื้อสัตว์ถือเป็นการให้ทาน ช่วยชีวิตสัตว์และช่วยโลกให้น่าอยู่

ปีใหม่นี้น่าจะถึงเวลาคิดใหม่เรื่องกินแล้วละครับ

เลือกกินแบบไหนที่ดีต่อสุขภาพและช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมให้สดสวย