ประชาชนเชื่อว่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไร ?

คือประชาชนที่เรียบร้อย

ความวิตกกังวลแพร่กระจายไปทั่ว หลังโควิด-19 แพร่ระบาดอีกครั้ง ด้วยแนวโน้มที่ชัดเจนว่าน่าจะรุนแรงมากกว่าครั้งที่ผ่านมา

ยิ่งความเป็นจริงในการบริหารจัดการปรากฏออกมาให้เห็นในทางยุ่งยากมากกว่า ยิ่งทำให้วิตกจริตนั้นเพิ่มมากขึ้น

ครั้งก่อนความหวาดระวังมีเฉพาะความกลัวติดเชื้อ เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการเข้มข้นตามการชี้คำของคณะแพทย์ กระทั่งควบคุมสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี อีกทั้งรัฐบาลได้เยียวยาความเดือดร้อนด้วยโครงการสารพัด ทำให้อย่างน้อยความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไปพอประคับประคองชีวิตให้ผ่านวิกฤตไปได้

แม้ต้องแลกกับประเทศต้องกู้เงินมหาศาลมาใช้เพื่อฝ่าวิกฤตก็ตาม ก็ยังถือว่าผ่านไปได้

ทว่าครั้งนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ความหละหลวมของกลไกรัฐที่การ์ดตกไม่รักษามาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด

ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโควิด-19 ระบาดรุนแรงที่ประเทศเมียนมา ซึ่งปกติต้องเข้มงวดการเข้า-ออกชายแดนอย่างสูงยิ่ง แต่กลับกลายเป็นว่า ทั้งคนไทยที่เดินทางออกไปบ่อนการพนันชายแดนและแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามารับจ้างในประเทศไทยกลับไม่มีการทำตามระเบียบสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สูงมาก ว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว รับสินบนจากการหลับหูหลับตาไม่ทำตามมาตรการ มีไม่น้อยที่โยงไปถึงความสามารถของรัฐบาลในการบริหารประเทศว่ามีน้อยเกินไป ไม่มีวิชั่นที่จะรับมือวิกฤต

ยังไม่มีเสียงปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะสิ้นหวังแค่ไหน ดูเหมือนว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีปฏิกิริยาอะไรนัก

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และโควิด-19 ในปี 2564” โดยเทียบกับปี 2563

ในเรื่องสถานการณ์การเมือง ร้อยละ 41.63 เห็นว่าจะวุ่นวายเหมือนเดิม ร้อยละ 35.30 เห็นว่าจะวุ่นวายมากขึ้น ร้อยละ 15.46 เห็นว่าจะวุ่นวายน้อยลง ร้อยละ 4.22 เห็นว่าจะไม่วุ่นวายเลย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 52.19 เชื่อว่าจะแย่ลง ร้อยละ 32.13 เชื่อว่าจะเหมือนเดิม ร้อยละ 14.63 เชื่อว่าจะดีขึ้น

ขณะที่เรื่องการระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 48.11 เชื่อว่าจะรุนแรงขึ้น ร้อยละ 28.81 เชื่อว่าจะน้อยลง ร้อยละ 22.10 เชื่อว่าจะเหมือนเดิม

สรุปความเห็นต่อความเป็นไปของประเทศ ผลโพลออกไปในทางที่คนส่วนใหญ่มองเห็นความยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งหากจะตีความว่าเป็นความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลคงไม่ผิด

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูถึงคำถามที่ทำให้เกิดผลสะเทือนต่อรัฐบาล ความเห็นกลับไปในทางเชื่อว่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไร

ในเรื่องม็อบคณะราษฎร ร้อยละ 43.21 เห็นว่าจะเหมือนเดิม ร้อยละ 22.78 เห็นว่าจะอ่อนแรงลง ร้อยละ 13.80 เห็นว่าจะยุติ ร้อยละ 11.24 เห็นว่าจะยกระดับขึ้น

ในคำถามที่ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นอย่างไร ร้อยละ 54.15 ตอบว่าจะอยู่ยาวตลอดปี ร้อยละ 13.12 เชื่อว่าจะปรับ ครม. ร้อยละ 8.5 เชื่อว่าจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 7.62 เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลาออก ร้อยละ 3.02 เชื่อว่าจะเกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 2.26 เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะโดนคดีความจนหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 1.73 เชื่อว่าจะโดนรัฐประหาร และร้อยละ 15.01 ไม่สนใจตอบคำถาม

แม้ว่าความวิตกกังวลจะท่วมท้นว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นกับชีวิตประชาชนและประเทศชาติ

และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขรมขึ้นเรื่อยๆ ว่าวิกฤตเหล่านี้เกิดจากรัฐบาลชุดนี้ไม่บริหารประเทศให้ข้าราชการอยู่กับร่องกับรอยของการทำหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้แสวงประโยชน์ส่วนตัวสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้ประเทศ

แต่ทุกคนกลับเชื่อว่ารัฐบาลเช่นนี้จะยังอยู่บริหารประเทศต่อไป