วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (8) /อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21608
อนุช อาภาภิรม

วิกฤตินิเวศ
เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (8)

ขบวนการสิ่งแวดล้อมช่วงกลางน้ำ

ขบวนการสิ่งแวดล้อมของโลก อาจแบ่งเป็นสามช่วงคือ ช่วงต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
โดยแต่ละช่วงปัญหา สิ่งแวดล้อมมีความหนักหน่วงรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงต้นน้ำที่อยู่ในสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปจำกัดวงในบางประเด็น และมีลักษณะเป็นแบบท้องถิ่นหรืออย่างสูงในระดับชาติ
เมื่อถึงขบวนการสิ่งแวดล้อมช่วงกลางน้ำที่ตรงกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเก่ายังไม่ได้แก้ไขให้ลุล่วง ปัญหาใหม่ก็ถาโถมมา ได้แก่ การจับปลาและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป ขยะพลาสติก อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบัติเหตุในโรงงานที่ก่อความสะเทือนใจทั่วโลก การรั่วไหลของน้ำมันขนาดใหญ่
รวมความว่ามนุษย์ได้เข้าสู่สมัยแอนโทรโปซีน ที่การกระทำของมนุษย์มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้
นอกจากนี้ ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต่อเนื่องหลายครั้ง เกิดภาวะทั้งเงินเฟ้อและการว่างงานสูง การชะงักงันทางเศรษฐกิจ ก่อความปั่นป่วนบนเวทีโลก บางจักรวรรดิได้แก่สหภาพโซเวียตล่มสลาย การเร่งแก้ปัญหา ยิ่งเร่งอัตราการเปลี่ยนแปลง วิกฤติขยายตัวทางระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติสู่ระดับโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นระเบียบวาระโลก ที่ประเทศทั้งหลายต้องร่วมมือกันเพื่อการแก้ไขที่สำคัญโดยอาศัยหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติเป็นแกน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นระหว่างปี 1970-2000 หรืออาจเป็นตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ก็ได้
เป็นการสมมุติแบ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีความต่อเนื่องกันให้ออกเป็นช่วงๆ เพื่อให้เห็นภาพชัด และอธิบายความเป็นไปได้ละเอียดหรือคาดหมายได้ดีขึ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม มีลักษณะเด่น 2 ประการ ได้แก่
ก) การเพิ่มความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรวมทั้งการสร้างข่ายไฟฟ้า (Power Grid) การใช้พลังน้ำและพลังนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งบางแห่งเน้นในเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานทั้งสองเป็นพลังงานทดแทนหลักในการผลิตไฟฟ้า นอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
ข) การแปรเป็นแบบดิจิตอล (Digitization) หรือการปฏิวัติเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร (บางทีเรียกย่อว่าการปฏิวัติดิจิตอล) มีการพัฒนาวงจรรวมหรือแผ่นชิพให้มีขนาดเล็กลงทุกที นำมาใช้เป็นไมโครโปรเซสเซอร์ ทำหน้าที่เป็นหน่วยประมวลผลกลางในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทั่วไป โดยมีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสำคัญได้แก่อินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีชั้นสูงอื่นได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ แสงเลเซอร์ วัสดุศาสตร์ เป็นต้น
จะได้กล่าวถึงลักษณะเด่นของทั้งสองประการเป็นลำดับไป ดังนี้

ก)
ด้านความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของพลังงานไฟฟ้า สหรัฐเป็นประเทศนำหน้าในด้านนี้ มีนักประดิษฐ์อย่างเช่น โทมัส เอดิสัน ผู้พัฒนาหลอดไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น และนิโคลา เทสลา ผู้มีวิสัยทัศน์คิดค้นการใช้กระแสไฟสลับ ซามูเอล มอส ผู้พัฒนาระบบโทรเลข อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ผู้พัฒนาและก่อตั้งบริษัทโทรศัพท์ บริษัทไฟฟ้าใหญ่ อย่างเช่น เวสติงเฮาส์ และจีอี บริษัทผู้นำการพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วงต้นมีไอบีเอ็ม เป็นต้น
สหรัฐเข้าสู่ยุคไฟฟ้าในทศวรรษ 1890 เมื่อมีการประดับไฟในงานแสดงสินค้าโลกที่ชิคาโกในปี 1893 และการเดินสายไฟยาว 20 ไมล์ เพื่อนำไฟฟ้าสลับจากน้ำตกไนแองการาไปยังเมืองบัฟฟาโล เมืองใหญ่ทางด้านตะวันตกของรัฐนิวยอร์กในปี 1896
จากนั้นมีบริษัทไฟฟ้าจำนวนมากเปิดให้บริการไฟฟ้าแก่บ้านเรือนทั่วประเทศ ทำให้การใช้ไฟฟ้าของสหรัฐขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เมื่อถึงทศวรรษ 1920 ครัวเรือนในเมืองกว่าครึ่งมีไฟฟ้าใช้ และจำนวนมากมีเครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตสมัยใหม่
แต่ครัวเรือนในชนบทเพียงร้อยละ 10 มีไฟฟ้าใช้ จึงได้มีการเร่งการแปรเป็นไฟฟ้าในชนบทของสหรัฐในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งช่วยได้มาก เมื่อถึงปี 1959 จำนวนครัวเรือนในชนบทที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เหลือเพียงร้อยละ 5
กิจการไฟฟ้าในสหรัฐยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่รวมเป็นเหมือนเครื่องจักรเดียว มีความพยายามต่อเนื่องที่จะสร้างสิ่งนี้ แต่มีอุปสรรคจากค่าใช้จ่าย ปัญหาทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ไปจนถึงปัญหาทางเทคโนโลยี
จนถึงระหว่างปี 1967-1975 จึงสามารถเร่งสร้างข่ายไฟฟ้าได้สำเร็จ เป็นระบบเชื่อมต่อระหว่างโรงไฟฟ้า สายไฟแรงสูง สถานีย่อย และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอื่น
ทำให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ทั่วประเทศอเมริกา เป็นกระดูกสันหลังของพลังงานไฟฟ้า

ข)
การแปรเป็นแบบดิจิตอล พลังงานไฟฟ้าเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติดิจิตอล ซึ่งเป็นแกนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ตัวอย่างการปฏิวัติดิจิตอล เช่น ในปี 1965 กอร์ดอน มัวร์ ได้เสนอ “กฎของมัวร์” ว่าทรานซิสเตอร์ที่บรรจุในแผ่นชิพเพิ่มขึ้นแบบเป็นเท่าตัวในช่วงเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ทศวรรษ 1960
มีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลไปใช้ในวงการประกันชีวิต สายการบิน และห้องสมุดขนาดใหญ่
ทศวรรษ 1970 มีการวางตลาดนาฬิกาดิจิตอล กล้องถ่ายภาพดิจิตอล ตู้เอทีเอ็ม การบริหารธนาคารแบบดิจิตอล
ทศวรรษ 1980 มีการเสนอทฤษฎีการบริหารข้อมูล มีการใช้ข้อมูลในการบริหารอย่างกว้างขวาง ทศวรรษ 1990 การใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ทำให้ค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรม การเก็บและกระจายข้อมูลราคาลดลงมาก การผลิตแผ่นซีดีเชิงพาณิชย์ การแปรคลื่นความถี่เป็นดิจิตอล การพัฒนาโทรศัพท์มือถือสู่รุ่น 2 จี ภาพถ่ายดิจิตอลเริ่มเข้ามาแทนที่ภาพถ่ายแบบธรรมดา
ความก้าวหน้าทางกิจการพลังงานและไฟฟ้า และการปฏิวัติดิจิตอล ส่งผลต่อการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกของสหรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความรุนแรงของวิกฤตินิเวศ
ดังนี้

1)สหรัฐอุดมสมบูรณ์ด้วยถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่มหาอำนาจตะวันตกอื่นอย่างเช่นอังกฤษ อุดมด้วยถ่านหิน แต่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติน้อย เปรียบเหมือนจรวดท่อนเดียว พุ่งขึ้นไม่สูงเหมือนจรวดสองท่อน

2) พลังงานไฟฟ้ามีความได้เปรียบที่สำคัญจากการที่ใช้เชื้อเพลิงได้หลายแหล่ง น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่เด่นหลายประการ นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในการขนส่ง การผลิตพลังงานไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเคมี การผลิตปุ๋ย และพลาสติก แต่พลังงานไฟฟ้านั้นผลิตได้จากหลายแหล่ง นอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว ยังสามารถผลิตได้จากพลังน้ำ และพลังงานนิวเคลียร์ และเชื้อเพลิงชีวมวล
พลังงานไฟฟ้านั้นใช้ได้ดีในโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นตัวเร่งการบริโภคยกระดับมาตรฐานการครองชีพ การเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนและทุกกิจกรรม ถ้าขาดพลังงานไฟฟ้า ทฤษฎีและเทคโนโลยีทั้งหมดที่สร้างข่ายไฟฟ้าสำหรับผู้คน อารยธรรมมนุษย์ก็ไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่

3) สหรัฐมีความได้เปรียบที่มีพลังงานน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้ามาก มีการสร้างเขื่อนใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เช่น เขื่อนฮูเวอร์
อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนพลังน้ำได้ขึ้นสู่ขีดสูงสุดทศวรรษ 1960 ช่วงทศวรรษ 1970 การสร้างเขื่อนใหญ่มีไม่มาก หลังจากนั้นสหรัฐเริ่มเข้าสู่ยุคการทุบทิ้งเขื่อน
เขื่อนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและเก่าชรา ต้องการการบำรุงรักษามาก จำนวนหนึ่งไม่ได้มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้นภายหลัง เช่น เส้นทางอพยพของปลา บางส่วนไม่ปลอดภัย
นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านเขื่อนและอนุรักษ์ลำน้ำเพื่อคืนชีวิตให้แก่แม่น้ำ ขบวนการนี้ได้ขยายตัวไปทั่วโลก
ในด้านพลังงานนิวเคลียร์ สหรัฐรุดหน้าไปจนสร้างและใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นประเทศแรก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐได้นำหน้าในการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้า
แต่อุบัติเหตุนิวเคลียร์เกาะทรีไมล์ ปี 1979 ที่สหรัฐทำลายความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ลดจำนวนลงในทศวรรษ 1980 และ 1990
หายนภัยนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลในสหภาพโซเวียตปี 1986 ที่ส่งสารกัมมันตรังสีมากกว่าระเบิดปรมาณูที่ใช้ที่เมืองฮิโรชิมาถึงสี่ร้อยเท่า ได้ฟุ้งไปถึงหลายประเทศในยุโรป เช่น สวีเดน ออสเตรีย ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมไฟฟ้านิวเคลียร์ชะลอตัวมากในสหรัฐ
การโฆษณาว่าไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะมีราคาถูกจนไม่มีการวัด การใช้เป็นอันไม่เป็นจริง

4) สหรัฐได้เปรียบทั้งพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า น้ำมันช่วยในการขนส่ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ที่สำคัญคืออุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นเสาหลักเสาหนึ่งทางอุตสาหกรรม ที่กระตุ้นการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงานไฟฟ้าช่วยทำให้บ้านสว่างไสวและน่าอยู่ มีเครื่องไฟฟ้าอำนวยความสะดวก ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หมู่บ้านชานเมืองเติบโตเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจอีกเสาหนึ่ง
สหรัฐได้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างเต็มที่ ทำให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกในเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปี แต่มันเป็นเหมือนการจุดเทียนทั้งสองปลาย ทรัพยากรธรรมชาติของสหรัฐได้เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับในทวีปยุโรปนับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงสองร้อยปีเศษมานี้ แม้ว่าจะอาศัยดินแดนและทรัพยากรจากดินแดนอาณานิคมมาช่วยขยายตลาดและการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วก็ตาม
การครองความเป็นใหญ่ในโลกของสหรัฐ-ตะวันตก จึงไม่ได้ดำรงอยู่นาน เมื่อถึงทศวรรษ 1970 มีเหตุการณ์หลายอย่างที่แสดงความเสื่อมถอยเชิงโครงสร้างของสหรัฐ เบื้องต้นได้แก่ การใช้พลังงานต่อหัวของสหรัฐได้เพิ่มสูง โดยตลอดระหว่างปี 1949 ถึง 1973 หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นน้อยหรือลดลงตั้งแต่ทศวรรษ 1980
(ดูบทความของ Rick Diamond และคณะ ชื่อ Changing trends : A brief history of the US household consumption of energy. water, food. beverages and tobacco ใน homes.lbl.gov 2003) ประชากรในประเทศพัฒนาแล้วก็เป็นทำนองเดียวกัน คืออยู่ในลักษณะลดถอย
ตรงกันข้ามในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ อัตราการใช้พลังงานและไฟฟ้าต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น จากการศึกษารวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2016-2917 พบว่าทั่วโลกมีเขื่อนพลังไฟฟ้ากำลังวางแผนหรือกำลังก่อสร้างราว 3,500 เขื่อน ส่วนใหญ่อยู่ที่เอเชียตะวันออก อเมริกาใต้ เอเชียใต้และเอเชียกลาง
ประเทศที่มีการสร้างเขื่อนมากได้แก่ จีน อินเดีย บราซิล และตุรกี
จีนนั้นเป็นประเทศที่มีพลังน้ำสูงมาก มีนโยบายอนุรักษ์ขุนเขาและน้ำสีเขียว เพื่อแปรเป็นขุนเขาแห่งทองและเงินตามความต้องการ ได้ทิ้งห่างสหรัฐในการสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในกระแสการสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้า ได้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและกรณีพิพาทการสร้างเขื่อนขึ้นทั่วไป

5) จีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในรอบ 40 ปี สามารถขจัดความยากจนของประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองของโลก ความเติบโตที่น่าอัศจรรย์นี้ เกิดจากเหตุปัจจัยพื้นฐานสองประการ
ด้านหนึ่งจากการมีประชากรที่เป็นหนึ่งเดียว มีความขยันและเฉลียวฉลาด
อีกด้านหนึ่งเกิดจากการมีแร่ธาตุพลังงาน อุดมสมบูรณ์ ทั้งถ่านหิน น้ำมัน พลังน้ำ รวมทั้งแร่ยูเรเนียม ซึ่งทางการจีนกล่าวว่าจีนมีสำรองแร่ยูเรเนียมอยู่ถึง 2 ล้านตัน ซึ่งพอเพียงที่จะสนองเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในประเทศที่กำลังขยายตัวได้ อินเดียที่ไม่โชคดีเช่นนั้น ยังคงตกอยู่ในความยากจนที่ต้องการใช้เวลานานกว่าในการแก้ไข
การที่จีนประสบความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากการปฏิบัติจุดเทียนสองปลาย คล้ายกับสหรัฐ และต้องประสบความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้จีนต้องเร่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมของตนต่อไป เข้าสู่กระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อจะให้สามารถบริโภคพลังงานต่อหัวได้ใกล้เคียงกับชาวอเมริกันยิ่งขึ้น
ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงขบวนการสิ่งแวดล้อมช่วงปลายน้ำ