ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มกราคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มุมมุสลิม |
เผยแพร่ |
มุมมุสลิม
จรัญ มะลูลีม
แนวคิดของอิกบาล
ว่าด้วยพระเจ้า ศาสดา และมนุษย์ในอิสลาม (2)
จากหนังสือ การฟื้นฟูแนวความคิดทางศาสนาในอิสลาม (Reconstruction of Religious thought in Islam) และบทกวีอันกินใจของเขา อิกบาลได้ตีความแนวความคิดและค่านิยมของอิสลามเสียใหม่ตามความคิดร่วมสมัย
เขารู้ว่าความเข้าใจที่มีต่อท่านศาสดาอันหนักแน่นของคนเราย่อมเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของความเข้าใจ ซึ่งเจริญขึ้นพร้อมกับความเจริญเติบโตในความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของมนุษย์
แต่เขาก็ถือด้วยว่าความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้าใจทางความรู้สึกนั้นย่อมไม่สามารถเปิดเผยธรรมชาติ และชะตากรรมของมนุษย์และความจริงสูงสุดได้
คุณลักษณะของพระเจ้า ลักษณะของความเป็นศาสดาหรือวิวรณ์ (วะฮีย์) นั้นอยู่นอกเหนือขอบเขตแห่งเหตุผลของมนุษย์ อาจรู้ได้จากวะฮีย์ หรือญาณวิสัยเชิงจิตวิญญาณ ซึ่งพระเจ้าทรงประทานมาให้แก่คนไม่กี่คนเท่านั้น
ดังนั้น อิสลามจึงไม่พยายามที่จะพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของพระเจ้า ความเป็นอมตะ ฯลฯ แต่ทำตาม Kant ในการปฏิเสธ อำนาจขู่เข็ญอันสมมุติว่ามีข้อพิสูจน์เก่าๆ เรื่องพระเจ้า
เขาเน้นถึงความรักและญาณวิสัยมากกว่าเหตุผลในฐานะที่เป็นหนทางนำไปสู่พระเจ้า
ในขณะเดียวกันอิกบาลก็ได้สร้างความหมายอันหนักแน่นของแนวความคิดพื้นฐานด้านศาสนาเพื่อรวมมันเข้ากับโครงสร้างความเข้าใจของวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย
อิกบาลปฏิเสธแนวความคิดเรื่องคุณลักษณะและการกระทำของพระเจ้าที่เหมือนกับมนุษย์อย่างเช่น การสร้างสรรค์ การนำทาง การลงโทษ ฯลฯ
ดังนั้น ความเป็นจริงสูงสุดสำหรับอิกบาลมิใช่วัตถุหรือแม้แต่วัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ แต่เป็นผู้ทรงสร้างศูนย์กลางแห่งเจตนารมณ์เพื่อแสดงถึงอำนาจในการสร้างสรรค์และบารมีของพระองค์ มนุษย์เป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่สูงสุดที่สุด
มนุษย์ในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าบนแผ่นดิน สามารถระงับและนำทางสิ่งถูกสร้างทุกอย่างโดยอาศัยการใช้กฎธรรมชาติซึ่งพระเจ้าทรงเจตนาไว้ กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ของจำเป็นทางเหตุผล แต่เป็นสิ่งทั่วไปที่ได้มาจากการสังเกตไม่ใช่จากเหตุผล ตามความคิดของอิกบาล วิธีที่เหมาะสมในการรู้จักตัวเองนั้นมิใช่การเดาเอาตามแบบอภิปรัชญา แต่คือการเอาชนะธรรมชาติ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และการพิชิตหรือจัดวินัยตัวตนของมนุษย์ โดยการทำตามอัล-กุรอานและแบบอย่างของท่านศาสดา
ในทรรศนะของอิกบาล การเอาชนะตัวตนมิได้หมายความถึงการกดขี่ความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ แต่หมายถึงทำให้มันเจริญงอกงามโดยการปลูกฝังคุณลักษณะของพระเจ้าลงไป เช่น อำนาจ สติปัญญา ความรัก ความเมตตา ฯลฯ ตัวตนที่พัฒนาแล้วก็จะควบคุมและฝึกวินัยอำนาจฝ่ายต่ำของมัน
อิกบาลถือว่าอิสลามมิใช่เป็นเพียงความเชื่อทางอภิปรัชญาและพิธีการเท่านั้น แต่เป็นประมวลความประพฤติที่สมบูรณ์
อิกบาลถือว่าตั้งแต่เริ่มแรกมาอิสลามนั้นเป็นทุกส่วนที่ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งเรียกร้องความจงรักภักดีทั้งหมดจากมุสลิม
ดังนั้น ศาสดาและเคาะลีฟะฮ์ (กาหลิป) ผู้ศรัทธาจึงเป็นทั้งประมุขฝ่ายโลกย์และฝ่ายจิตวิญญาณของชุมชนมุสลิม ไม่มีความแตกต่างระหว่างฝ่ายจิตวิญญาณกับฝ่ายโลกย์ (secular)
อย่างไรก็ตาม กฎหมายและนโยบายของอิสลามมิได้มุ่งที่จะอยู่คงที่ จะต้องถูกปรับปรุงใหม่ภายในกรอบของอัล-กุรอานและแนวทางของท่านศาสดาเพื่อให้ทันกับการสร้างสรรค์ค่านิยมของมนุษย์ที่ไม่รู้จักยุติ
อัล-กุรอานเพียงแต่ให้ทางนำพื้นฐานแก่มุสลิมและรบเร้าให้ชาวมุสลิมปฏิบัติตามเหตุผลของเขาภายในเขตจำกัดเหล่านั้น
ซุนนะฮ์หรือจริยวัตรต่างๆ ของท่านศาสดาก็มีความสำคัญมากเหมือนกันแต่ไม่เท่าอัล-กุรอาน นี่เป็นเพราะรายงานของมนุษย์เกี่ยวกับท่านศาสดาอาจผิดพลาดได้ไม่เหมือนความแท้จริงของอัล-กุรอาน
ดูเหมือนอิกบาลจะไม่ทราบว่าจนถึงศตวรรษที่ 18 ไม่เพียงแต่ศาสนาอิสลามเท่านั้นที่นำไปสู่ชีวิตมากกว่าจะเป็นเพียงพิธีการชุดหนึ่งเท่านั้น แต่ศาสนาอื่นๆ ก็เป็นเช่นนั้นด้วย เป็นความจริงที่ว่าในคริสต์ศาสนารัฐกับคริสต์ศาสนา สันตะปาปาและจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์และซีซาร์ ส่วนในศาสนาอิสลามเคาะลีฟะฮ์เป็นทั้งประมุขฝ่ายจิตวิญญาณและประมุขฝ่ายโลกย์ในเวลาเดียวกัน
ความเจริญงอกงามอยู่เรื่อยๆ ของธรรมชาติวิทยาย่อมนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีเพื่อความพอใจของมนุษย์ ในทำนองเดียวกันสิ่งใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีก็นำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น โรงงานที่ผลิตสินค้าทีละมากๆ ธนาคาร บริษัท ประกันภัย ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไปรูปแบบทางสังคม หรือปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านี้ก็กลายเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันเป็นระบบ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติในสมัยต้นๆ
กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ปรากฏการณ์ทางสังคมก็เข้ามาอยู่ใต้วิธีการเชิงวิทยาศาสตร์ ตอนแรกก็คือพฤติกรรมด้านเศรษฐกิจของมนุษย์ ต่อมาก็เป็นพฤติกรรมด้านสังคม ศีลธรรมและศาสนาของเขา
ทั้งหมดนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอิทธิพลทางวุฒิปัญญาจากประมุขฝ่ายศาสนาไปสู่ปัญญาชนในมหาวิทยาลัย และชุมชนอุตสาหกรรมและธุรกิจผู้สนใจในการรับเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์และทางโลกย์มาใช้แทนวิธีการทางศาสนาของสมัยกลาง
นี่อาจเรียกว่าเป็นการปฏิวัติทางโลกย์ของยุโรปตะวันตก ซึ่งส่วนหนึ่งเหลื่อมล้ำและอีกส่วนหนึ่งตามหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษมา
การปฏิวัติทางโลกย์มิได้ขับคริสต์ศาสนาออกไปแต่ได้เปลี่ยนรูปในฐานะที่มันเป็นหลักเกณฑ์อันสมบูรณ์ของพฤติกรรมให้เป็นความเข้าใจสมัยใหม่ในศาสนา
หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือการแลเห็นศาสนาเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างมนุษย์กับผู้สร้างสรรค์เขามากกว่าจะเป็นทางนำทั้งหมดสำหรับแวดวงทุกอย่างของชีวิตมนุษย์
ในเรื่องลัทธิชาตินิยม อิสลามมิได้ขัดกับลัทธิสากลนิยมหรือลัทธิมนุษยนิยมเพราะทั้งสองอย่างนั้นส่งเสริมกันและกัน
ลัทธิชาตินิยมมิได้ขัดกับศาสนาด้วยและมิได้หมายถึงการปฏิเสธความจงรักภักดีและความสนใจในเรื่องของท้องถิ่น
ลัทธิชาตินิยมมิได้หมายถึงต้องเข้าข้างประเทศของฉัน สโมสรของฉัน อาชีพของฉัน ทีมของฉัน ฯลฯ ไม่ว่าถูกหรือผิด
เราจะต้องกลับมาสู่หลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช่ศาสนา ชาติหรือท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม อาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ระหว่างลัทธิชาตินิยมกับความยุติธรรมในกรณีของสงคราม แต่ความขัดแย้งนี้จะเป็นไปได้เช่นกัน เมื่อคู่พิพาทแบ่งออกเป็นชุมชนทางศาสนามากกว่าเป็นรัฐชาติ
อย่างไรก็ตาม ไม่อาจถือได้ว่ารัฐชาติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นสถาบันที่เปลี่ยนรูปไม่ได้และเป็นที่เคารพสักการะ
ในอดีตก็มีหัวเมืองเล็กมารวมกันเข้าเป็นรัฐชาติ ในอนาคตรัฐชาติที่ปกครองตัวเองอาจขยายใหญ่ขึ้นเป็นสหพันธ์เหมือนอย่างตลาดร่วมของหลายชาติและบรรษัท ความผูกพันทางศาสนาจะช่วยให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเป็นไปอย่างสะดวกเนื่องจากศาสนาร่วมกันจะสร้างพันธะอันมีพลังอำนาจขึ้นระหว่างปัจเจกชนหรือชาติต่างๆ
แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในอุดมคติและผลประโยชน์ทางด้านการเมือง-เศรษฐกิจด้วยกันด้วย
ญะมาลุดดีน อัฟฆอนี (ค.ศ.1839-1937) นักคิดคนสำคัญของโลกมุสลิมมุ่งมั่นที่จะให้มีเอกภาพทางการเมืองของประเทศมุสลิมทั้งหลาย
อิกบาลก็มีอุดมคติเช่นเดียวกัน แต่เขาค่อยๆ หันความคิดไปยังสหพันธรัฐมุสลิมที่ทำงานสอดคล้องใกล้ชิดกัน แต่รักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้
แต่นี่จะเป็นผลไม่ได้ถ้าหากว่าขาดอุดมคติด้านการผนึกกำลังของอิสลาม (Pan-Islamism) ที่ต้องเป็นทางโลกย์