คุยกับทูต : เฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา – ชีวิตชาวสวิสในไทยยุคโควิด และการให้ต่อกัน (2)

การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่แค่วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขของโลกเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์

พจนานุกรมภาษาอังกฤษเมอร์เรียม-เว็บส์เตอร์ (Merriam-Webster”s Collegiate Dictionary) และพจนานุกรมคอลลินส์ (Collins English Dictionary) ได้คัดเลือกให้ “การระบาดใหญ่” (pandemic) และ “ล็อกดาวน์” (lockdown) เป็นคำศัพท์แห่งปี 2020

เพราะเป็นปีที่โลกตกอยู่ภายใต้เงาการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ซึ่งสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ยกให้วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขนี้ เป็นความท้าทายครั้งใหญ่หลวงที่สุดที่เราต้องเผชิญ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

ทูตสวิสเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์และการควบคุมการแพร่ระบาดของสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ในกรุงเทพฯ ว่า

“สําหรับสถานทูตของเรา เรามีเป้าหมายสองประการ ประการแรก คือการที่จะแน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของเรามีความปลอดภัย โดยการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) สลับกับที่ทำงาน เราจำเป็นต้องแบ่งเจ้าหน้าที่ของเราเป็นสองทีม เพราะงานบางอย่างเป็นงานที่เราไม่สามารถทำได้จากที่บ้าน เช่น การออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ หรือการจัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อส่งคนกลับบ้าน (repatriation flight) การทำงานเป็นสองทีมช่วยทำให้เราดำเนินกิจการของสถานทูตได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด”

“ตั้งแต่ที่มีการระบาดของโควิดในระลอกแรก เราก็มีการวัดอุณหภูมิสำหรับทุกคนที่เข้าในมาสถานทูต การจัดหาพนักงานทำความสะอาดเพิ่มเติม เพื่อมาช่วยทำความสะอาด และฆ่าเชื้อบนพื้นผิวสัมผัสของเคาน์เตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ อย่างละเอียดลออในทุกครั้งที่มีผู้มาใช้บริการ เราส่งเสริมการตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) โดยเชิญเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เข้ามาให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ของเราในมาตรการที่จำเป็น”

“เรายังได้ลงนามข้อตกลงกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่นี่ เพื่อให้แน่ใจว่า ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากเรามีปัญหา โรงพยาบาลจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ในระยะเวลาอันสั้น”

“นอกจากนี้แล้ว ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนของปีที่แล้ว การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกันเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเรามีพนักงานบางคนพักอาศัยอยู่ในสถานทูต ซึ่งบางคนก็มีสัตว์เลี้ยง หรือสินค้าปศุสัตว์ ดังนั้น เราจึงต้องแจ้งให้พวกเขาทราบว่า ไม่ได้…ต้องขอโทษนะ คราวนี้เป็นวิกฤตทางโรคระบาด เราไม่สามารถให้บุคลากรของเราอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ต่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง และขอไม่ให้ไปตลาดที่มีสินค้าปศุสัตว์”

“การที่เราลงรายละเอียดนั้นช่วยให้เราสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“สําหรับเป้าหมายประการที่สอง คือการให้ความช่วยเหลือชุมชนชาวสวิสที่อยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เรามีชาวสวิสเป็นหลักหมื่นที่มาเยือนประเทศไทย นอกจากนั้นแล้ว แผนกกงสุลของเราก็ยังดูแลชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า ลาว กัมพูชาและมาเลเซียด้วย เมื่อมีการล็อกดาวน์ในประเทศเหล่านี้ ชาวสวิสหลายคนก็ตกค้างไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ทำให้จู่ๆ พวกเราก็มีภารกิจช่วยเหลือเกิดขึ้นมากมาย”

“ดังนั้น เราจึงแบ่งเจ้าหน้าที่ของเราเป็นสองทีม โดยมีรองหัวหน้าคณะทูต และหัวหน้ากงสุลนำปฏิบัติการช่วยเหลือส่งชาวสวิสกลับประเทศโดยประจำอยู่ที่สนามบิน ส่วนตัวดิฉันนั้นไปไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่อยากไป เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นที่สนามบิน จะไม่มีใครนำภารกิจที่สถานทูต ถ้าเราทุกคนทำงานที่เดียวกันมันจะมีความเสี่ยง หมายถึงเราอาจจะต้องเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลพร้อมๆ กัน บริหารจัดการต่อ บางทีเราอาจจะต้องเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลพร้อมๆ กัน” ท่านทูตชี้แจง

“ด้วยเป้าหมายที่ได้กล่าวมา คือการช่วยเหลือชุมชนชาวสวิสให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น ในช่วงที่วิกฤติโควิดอยู่ในจุดที่ร้ายแรงที่สุด พวกเราจึงทำงานกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามหรือสี่สัปดาห์ รวมทั้งในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเราทำงานตั้งแต่หกโมง จนกระทั่งงานเสร็จสิ้น ซึ่งอาจหมายถึงเวลาเกือบเที่ยงคืน”

“ในช่วงแรก ภารกิจหลักคือการนำกลุ่มคนที่ติดค้างอยู่ในประเทศไทย โดยสารไปกับเที่ยวบินพาณิชย์ในขณะที่สนามบินยังเปิดอยู่ หลังจากนั้นเราจัดหาเที่ยวบินพิเศษเพื่อส่งกลับ (repatriation flights) จำนวน 5 เที่ยวบิน”

“เมื่อภารกิจนี้เสร็จสิ้น เราก็เริ่มกลับมาดูแลกลุ่มคนสวิสที่ตัดสินใจจะอยู่ต่อในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากด้วยเหตุผลที่เฉพาะเจาะจงอย่างมากที่ทำให้อยากอยู่ในไทยต่อ ชาวสวิสบางคนสูญเสียงานจากภาวะวิกฤตจากโควิด แต่โชคดีที่เราสามารถจัดสรรทุนจำนวนเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบได้ ชาวสวิสบางคนก็ประสบกับปัญหาเรื่องการเดินทาง เช่น บางคนอาศัยอยู่ในจังหวัด ก. แต่จำเป็นต้องรีบเดินทางไปจังหวัด ข. เป็นต้น”

ท่านทูตพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสขณะที่เล่าถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา

                                          การประชุมเสมือนจริง (Virtual Meeting) ช่วงโควิด

“ปัจจุบัน มีชาวสวิสจำนวน 10,000 คนที่ได้ลงทะเบียนกับสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากสำหรับประเทศเล็กอย่างสวิตเซอร์แลนด์ที่มีประชากรทั้งหมด 8.7 ล้านคน นับเป็นชุมชนชาวสวิสที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งไม่มีที่ไหนในเอเชียที่มีชาวสวิสอาศัยอยู่มากไปกว่าประเทศไทย สำหรับเรา นี่จึงถือว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ทีเดียว”

ด้านการท่องเที่ยว นับตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวสวิสที่เดินทางมาไทยมีอัตราการเติบโตในเกณฑ์ที่ดีมาโดยตลอด ยกเว้นในปี 1997 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสวิสเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มักใช้เวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยระยะยาว และนำรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ

“ก่อนหน้าที่จะเกิด Covid-19 เรามีนักท่องเที่ยวชาวสวิสประมาณ 200,000 คนที่มาเยือนประเทศไทยในแต่ละปี และมีคนไทยไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์จำนวนหลักแสนขึ้นไปทุกปี”

“ดังนั้น สิ่งที่ดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา คือ เป็นความสัมพันธ์ที่มีทั้ง “การให้” และ “การรับ” โดยไม่มีใครเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบแต่เพียงฝ่ายเดียว”

ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น กล่าวว่า ในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวชาวสวิสเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 209,057 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากปี 2016 (130,375 คน) มากเป็นอันดับ 7 ในกลุ่มประเทศยุโรป

โดยประเทศไทยได้รับความนิยมในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยวชาวสวิส รองจากสหรัฐอเมริกา

ในปีเดียวกัน มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวสมาพันธรัฐสวิส จำนวน 108,303 คน

ส่วนชุมชนไทยในสมาพันธรัฐสวิส มีคนไทยประมาณ 36,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีไทยที่สมรสกับชาวสวิส เป็นแม่บ้าน หรือเปิดร้านอาหารไทย มีวัดไทยในสมาพันธรัฐสวิส 5 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีสมาคมไทย 17 สมาคม มูลนิธิ 1 แห่ง (มูลนิธิสมเด็จย่าเพื่อวัดศรีนครินทรวราราม) ร้านอาหารไทย 400 ร้าน และร้านสปาไทย 200 ร้าน โดยประมาณ

“สําหรับประเทศไทย เราเคยไปเที่ยวหลายๆ ที่รวมทั้งหัวหินในช่วงแรกก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปลอดภัยมากในการเดินทางภายในประเทศ และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดิฉันกับสามีเดินทางไปยังภาคเหนือ เราชอบเชียงใหม่ สามเหลี่ยมทองคำ และปายมากๆ เราชอบการเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และดิฉันได้เดินทางไปทำงานที่ชายแดนใต้ที่จังหวัดปัตตานีด้วย ดิฉันตั้งใจว่าจะเดินทางไปเยือนทุกๆ ภาคของประเทศไทยระหว่างที่ดิฉันปฏิบัติภารกิจที่นี่ นอกจากนี้ ดิฉันได้มีโอกาสไปดูงานที่ชลบุรีหลายครั้ง และยังได้ไปเยี่ยม EEC ด้วย เพราะที่นั่นมีความสนใจที่จะดึงดูดการลงทุนจากชาวสวิส”

“สามีของดิฉันมาจากเมืองลิมา (Lima) เมืองหลวงของประเทศเปรู ซึ่งลิมาก็ถือว่าเป็นเมืองใหญ่คล้ายๆ กับกรุงเทพฯ ถ้าเวลาที่การจราจรหนาแน่นมากในกรุงเทพฯ ดิฉันก็จะเลือกใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสแทน แน่นอนว่า การมีจราจรติดขัดไม่ใช่เรื่องดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ดิฉันลำบากมากนัก แต่กลับเป็นเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศที่นี่ ซึ่งมักร้อนและชื้น สร้างความท้าทายสำหรับดิฉันเล็กน้อยในบางครั้ง”

“แม้เคยอยู่ที่แอฟริกาใต้มาก่อน แต่ดิฉันปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่นั่นได้ง่ายกว่า ส่วนที่กรุงเทพฯ นั้น มักร้อนชื้นอยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้ยากต่อการออกท่องเที่ยวในเมืองหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ดังนั้น กล่าวได้ว่าสภาพภูมิอากาศถือว่าเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด และเกือบจะเป็นความท้าทายเดียวสำหรับดิฉัน อาจจะยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับดิฉัน แต่ก็ต้องบอกว่า หลังจากอยู่ที่นี่มาแล้วเกินหนึ่งปี ก็สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น”

      การบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือช่วงโควิด ที่เกาะสมุย

“นอกเหนือจากงานในหน้าที่แล้ว ดิฉันเป็นสมาชิกของกลุ่มเอกอัครราชทูตสตรีประจำประเทศไทย (Lady Ambassadors of Thailand) ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 12-14 คน โดยรวมแล้ว กลุ่มทูตสตรีทำงานกันอย่างหนักมาก เราจึงไม่ได้มีการพบปะกันเป็นประจำ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวาระโอกาส”

“ยกตัวอย่างกิจกรรมของเราเมื่อไม่นานมานี้ เราได้มีการเดินทางไปทัศนศึกษาที่เชียงใหม่ มีโปรแกรมอย่างเป็นทางการเป็นเวลาสองวัน เราได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ได้ไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โรงงานทำร่ม และพิพิธภัณฑ์ นับว่ากลุ่มทูตสตรีได้ไปพบเห็นอะไรที่น่าสนใจมากมาย”

“กลุ่มทูตสตรีพยายามที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งปีที่ผ่านมา ท่านทูตหญิงจากอินเดียได้เชิญพวกเราไปที่สำนักงานของเธอ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโยคะ และพวกเราก็ได้ฝึกโยคะด้วย”

“ในตอนนี้ เรากำลังหารือกันถึงโครงการที่จะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนไทย กลุ่มเอกอัครราชทูตสตรีนั้น ถือเป็นกลุ่มที่สนับสนุน การเชื่อมต่อ การให้ความช่วยเหลือ การให้คำแนะนำ ซึ่งกันและกันอีกด้วย”