สงคราม “สามนิ้วกับสี่เสา”! เสรีนิยม vs จารีตนิยม-2564

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สงคราม “สามนิ้วกับสี่เสา”! เสรีนิยม vs จารีตนิยม-2564

“คนบางคนห่อหุ้มตัวเขาไว้ด้วยความเชื่อของตนเอง และเขาทำเช่นนี้เพื่อไม่ให้คุณสามารถปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระได้ แม้กระทั่งความจริงก็ไม่อาจปลดปล่อยให้เขาเป็นอิสระได้เลย”

Michael Specter

“ไม่มีใครน่ากลัวมากเท่ากับคนที่เชื่อว่า เขาเป็นผู้ถือ “ความจริง” [ของสังคม]”

Tom Lehrer

การก้าวสู่โลกสมัยใหม่ของยุคปัจจุบันได้นำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่สำคัญประการหนึ่งในหลายประเทศคือ การกำเนิดของชุดความคิดที่มีลักษณะเป็น “ลัทธิจารีตนิยม” (Fundamentalism)

และขณะเดียวกันความคิดเช่นนี้มีลักษณะของ “ความสุดโต่ง” ในตัวเอง ดังเช่นเรื่อง “จารีตนิยมทางศาสนา” จึงถูกถือว่าประเด็นสำคัญทางด้านความมั่นคง เพราะมักจะเป็นพวก “หัวรุนแรงทางศาสนา” ด้วย

แต่ในอีกด้านของชุดความคิดเช่นนี้ มีความหมายถึงความเป็น “จารีตนิยมทางการเมือง” ที่เป็นการยึดมั่นอย่างตายตัวอยู่กับความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งมักจะมีความเกี่ยวโยงทางศาสนา และบุคคลเช่นนี้มักมีลักษณะของการเป็นพวก “ลัทธิคัมภีร์” (dogmatic) ที่มีนัยโดยตรงถึงการตีความเอกสารทางความเชื่ออย่างเข้มงวดและตายตัว จนไม่เปิดรับความเห็นต่างที่เป็นอื่น

ทั้งมองว่าชุดความคิดที่แตกต่างนั้นเป็นสิ่งผิด และยังเชื่ออีกว่าตนเองคือผู้ที่ยึดกุม “ความจริง” ของสังคม

ดังนั้น ในสภาวะที่โลกมีความผันผวนทางการเมือง คนส่วนหนึ่งจึงมักถือเอาความคิดแบบ “จารีตนิยม” เป็นธงนำในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง เช่น ความพยายามในหมู่พวกจารีตนิยมทางศาสนา ที่ต้องการฟื้นศาสนาให้มีความบริสุทธิ์ในแบบดั้งเดิม หรืออาจเป็นความพยายามที่ต้องการดำรงสถาบันทางการเมืองแบบดั้งเดิมของสังคม ด้วยความเชื่อว่าสถาบันเช่นนี้จะเป็นพลังในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จนสามารถดำรง “สถานะเดิม” ไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนใดๆ ทั้งสิ้น

และเชื่อว่าพลังเดิมจะทำให้สังคมเกิดความเข้มแข็งได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าสภาวะแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด

โลกของลัทธิจารีตนิยม

การต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าชุดความคิดทางการเมืองที่กำลังก่อตัวขึ้นมีความเป็น “จารีตนิยมทางการเมือง” มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตจากการปลุกระดมหรือเกิดจากจิตสำนึกแบบเดิมที่เป็นผลของการผลิตซ้ำทางความคิด และมีความเชื่อพื้นฐานอย่างสำคัญที่ยึดโยงอยู่กับการดำรงอยู่ของสถาบันทางการเมืองแบบดั้งเดิมของไทย

ซึ่งน่าสนใจในปัจจุบันว่า กระแสความคิดดังกล่าวกำลังถูกผลักดันให้เป็นพลังที่เข้มแข็งเพื่อการปกป้องชุดความคิดและการให้คุณค่าแบบเดิม

ชุดความคิดเช่นนี้เป็นเสมือนการพาประเทศเดินย้อนยุคกลับสู่โลกในอดีต อีกทั้งมีการประกอบสร้างให้เกิดความเชื่อว่า ยุคที่ย้อนถอยหลังไปเป็นดัง “ยุคทอง” ของสังคม เราจึงควรจะถวิลหายุคเช่นนั้น ทั้งต้องทำให้ปัจจุบันเป็นเช่นยุคดังกล่าว

สำนักคิดนี้จึงอยู่ด้วยการหวนคิดและโหยหาโลกแห่งอดีต

การประกอบสร้างทางความคิดเพื่อให้เกิดความเชื่อและความศรัทธาในแบบจารีตนิยมนั้น เป็นเรื่องไม่ยากนักในสังคมไทย เพราะสังคมมีพื้นฐานของความเป็นอนุรักษนิยมสูงในตัวเองอยู่แล้ว

ในขณะเดียวกันกลไกรัฐทั้งทหารและพลเรือนที่อยู่ภายใต้อำนาจของชนชั้นนำก็พร้อมที่จะแบกรับภารกิจการ “ถอยหลังทางประวัติศาสตร์”

ในอีกด้านก็คือ การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็น “กระแสความศรัทธา” ด้วยกลไกของสื่อสารมวลชนในระดับต่างๆ ก็พร้อมจะเข้าร่วมการผลัดดันทางความคิดในทิศทางเช่นนี้

นอกจากนี้ ในอีกส่วนก็มีมวลชนรองรับการกระจายตัวของชุดความคิดดังกล่าว เพราะสถานะทางความคิดของมวลชนเองส่วนหนึ่งก็ยึดติดอยู่กับ “ลัทธิจารีตนิยม” โดยไม่จำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้กระบวนการหล่อหลอมทางความคิดในเวลาปัจจุบัน หากพวกเขาถูกหล่อหลอมมาอย่างยาวนานในความเติบโตของชีวิตแต่ละคน จนพวกเขาไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ในทางการเมือง

ทั้งเชื่อว่าความเป็นจารีตนิยมเท่านั้นที่จะต้องเป็นทิศทางหลักของสังคมไทยในอนาคต

อีกทั้งผลที่เกิดในทางกลับกันคือ ใครที่มีความเห็นแย้ง หรือมีความคิดต่างจะเป็น “ภัยคุกคาม” ไปโดยปริยาย

และภาวะเช่นนี้ทำให้ “สงครามความคิด” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ภาวะนี้นำไปสู่ “สงครามบนถนน” ที่เป็นการต่อสู้ด้วยความรุนแรง

ฉะนั้น คงไม่แปลกนักที่อาจจะเปรียบเทียบว่า ความคิดของลัทธิจารีตนิยมตั้งอยู่บนรากฐานของ “ความศรัทธา” ที่อาจปรากฏในรูปของความเชื่อในแบบที่ “ไม่อนุญาต” ให้โต้แย้ง

ว่าที่จริงแล้วชุดความคิดในลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงอย่างมากกับความศรัทธาในบริบททางศาสนา

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อกล่าวถึงลัทธิจารีตนิยมในเบื้องต้นนั้น เรามักจะคิดถึงจารีตนิยมทางศาสนาเป็นสำคัญ

และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ทุกศาสนา จะมีกลุ่มจารีตนิยมอยู่ด้วยเสมอ

กลุ่มเหล่านี้มีโอกาสโน้มเอียงไปเป็น “พวกหัวรุนแรง” (radical) ได้ง่ายกว่ากลุ่มที่เป็น “พวกสายกลาง” (moderate)

ในทางความมั่นคงแล้ว กลุ่มจารีตนิยมหัวรุนแรงสามารถผันตัวเองไปสู่การเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ได้ไม่ยากนัก

หรือในบางกรณี คนเหล่านี้พร้อมจะทำหน้าที่ในการเป็น “นักล่า” ในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นที่เกิดในบางประเทศ หรือโดยนัยก็คือ การปลุกระดมจะทำให้กลุ่มจารีตนิยมพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างได้เสมอ

ว่าที่จริงแล้วลักษณะเช่นนี้ในทางการเมืองก็ไม่แตกต่างกันกับทางศาสนา ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่อาจนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมืองได้ด้วย เพราะสำหรับ “ผู้ศรัทธา” เมื่อถูกปลุกขึ้นมาแล้ว พวกเขาพร้อมที่จะเข้าร่วมขบวนการ และจัดการกับผู้เห็นต่างที่เป็นภัยคุกคามได้เสมอ

ฉะนั้น ในการต่อสู้ที่เกิดขึ้น พวกเขาจึงเชื่อว่ากำลังทำ “ภารกิจอันมีเกียรติ” ให้กงล้อประวัติศาสตร์หมุนถอยกลับหลัง เพื่อพาสังคมย้อนคืนไปสู่ “ยุคทอง” ในอดีต

หรือเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาความรุ่งโรจน์ในอดีตกลับมาสร้างสังคมในปัจจุบัน

บ้านสี่เสาของอำนาจนิยมไทย

สําหรับฝ่ายต่อต้านกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้น มีรากฐานทางความคิดที่เป็นอนุรักษนิยม

ดังนั้น สงครามความคิดที่เกิดมาอย่างยาวนานในสังคมการเมือง โดยเฉพาะนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง “เสรีนิยม vs อนุรักษนิยม” อันเป็นสงครามความคิดที่ไม่มีจุดจบในตัวเอง และดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

แต่ปีกอนุรักษนิยมไทยไม่ได้มีความเข้มแข็งในตัวเองมากนัก แม้ปีกนี้จะสามารถหยุดยั้งการขยายตัวของการเมืองแบบเสรีนิยมได้ในบางช่วงเวลา

แต่การหยุดยั้งนี้ไม่ได้เกิดจากชัยชนะด้วยการใช้กระบวนการทางรัฐสภา หากเป็นการชนะที่อาศัยพลังของ “ลัทธิเสนานิยม” (Militarism) ในการโค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่ปรารถนาด้วยการรัฐประหาร

ภาวะเช่นนี้ทำให้ลัทธิเสนานิยมเป็นดัง “กลไกพิฆาต” ของลัทธิอนุรักษนิยมไทย

เงื่อนไขเช่นนี้ส่งผลให้การแยกทหารออกจากการเมืองไทยตามหลักการของประเทศประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

และปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมเองก็ไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น ทั้งต้องการคงอำนาจในการควบคุมกองทัพไว้ทั้งในทางอุดมการณ์และความเชื่อ ตลอดรวมถึงอำนาจในการควบคุมทหารในทางการเมือง

ดังนั้น บทบาทการแทรกแซงทางการเมืองของทหารจึงถูกประกอบสร้างและผลิตซ้ำทางความคิดว่า รัฐประหารเป็นเรื่องปกติของสังคมการเมืองไทย และสังคมไทยไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย

แต่พลวัตความเปลี่ยนแปลงของโลกและของสังคมไทยที่มีมากขึ้น ทำให้ชุดความคิดและสถาบันทางการเมืองแบบดั้งเดิมถูกท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

การท้าทายเช่นนี้ในด้านหนึ่งทำให้เกิดการปลุกพลังของลัทธิจารีตนิยมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางความคิด

และในอีกด้านก็เพิ่มพลังด้วยการสนธิกำลังของลัทธิจารีตนิยมเข้ากับลัทธิอนุรักษนิยม

และเสริมพลังให้เข้มแข็งขึ้นด้วยลัทธิเสนานิยม จนเป็นข้อสังเกตว่า รากฐานของระบอบอำนาจนิยมไทยตั้งอยู่บนพลังของสามลัทธินี้

อีกทั้งเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้นกับการต่อสู้กับกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์ จำเป็นต้องดึงเอาพลังของกลุ่มทุน ซึ่งปัจจุบันมีลักษณะเป็นทุนใหญ่และทุนผูกขาดของสังคมไทยเข้ามาร่วม

ปรากฏการณ์ที่เป็นพลังของปีกขวาจัดไทยจึงเป็นดัง “บ้านสี่เสา” ซึ่งอาจสร้างเป็นสมการแห่งอำนาจได้ว่า ระบอบอำนาจนิยมไทย = จารีตนิยม + อนุรักษนิยม + เสนานิยม + ทุนนิยม…

บ้านของปีกขวาจัดไทยดำรงอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนของเสาสี่ต้นนี้

การขับเคลื่อนการต่อสู้ทางความคิดของปีกขวาไทยในภาวะปัจจุบัน จึงอาศัยการสร้างกระแสจารีตนิยม ซึ่งปรากฏชัดจากการกำเนิดของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในปี 2548 และการเมืองของปีกขวาหลังจากรัฐประหาร 2549 ล้วนเดินไปในทิศทางดังกล่าวอย่างชัดเจน

หากพิจารณาถึงการเมืองในปัจจุบัน จะพบว่าความเป็นจารีตนิยมได้กลายเป็นกระแสหลักของฝ่ายขวาไทย…

ยิ่งขวาจัดเท่าใด ก็ยิ่งจารีตนิยมมากเท่านั้น

ผลสืบเนื่องในปี 2563 คือ การ “ปะทะทางความคิด” อย่างเข้มข้นกับกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่ขยายตัวอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในอีกมุมหนึ่งของสงครามความคิดที่ปฏิเสธไม่ได้คือ คนรุ่นใหม่เติบโตมากับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เป็นเสรีนิยม

หรืออย่างน้อยคงต้องยอมรับว่า พวกเขาเติบโตหลังจากการสิ้นสุดของกระแสอนุรักษนิยมในยุคสงครามเย็นแล้ว อีกทั้งพวกเขาเติบโตมากับโลกของสังคมออนไลน์ที่ท่วมท้นไปด้วยความเป็นเสรีนิยมของชีวิต

จนเกิดเป็น “สงครามระหว่างเจน” ตามมาด้วย

ภูมิทัศน์ใหม่

สภาวะที่เกิดขึ้นจึงอาจกล่าวได้ว่า 2564 จะเป็น “ปีของสงครามความคิด”

เพราะปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกและวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยไม่ตอบรับกับกระแสจารีตนิยมที่ถูกสร้างขึ้น

ขณะเดียวกันแรงต้านจากคนรุ่นใหม่เช่นนี้ได้กลายเป็น “สงครามการเมือง” ระหว่างพลังอำนาจเก่าที่อยู่ใน “บ้านสี่เสา” กับพลังอำนาจใหม่ที่ส่วนสำคัญอยู่ในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย และชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์

การต่อสู้ของกระแสคนรุ่นใหม่จะประสบชัยชนะในปี 2564 หรือไม่ เป็นสิ่งที่ไม่อาจตอบได้

แต่การลุกขึ้นมาของคนรุ่นใหม่เพื่อท้าทายกับพลังอำนาจเก่า ได้กลายเป็น “ภูมิทัศน์ใหม่” ของการเมืองไทยอย่างชัดเจน

ผลเช่นนี้ทำให้การต่อสู้ทางความคิดระหว่าง “เสรีนิยม vs อนุรักษนิยม-จารีตนิยม” จะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย

จนต้องเปรียบปีใหม่นี้เป็น ปีแห่งการต่อสู้ระหว่าง “สามนิ้ว vs สี่เสา”!