ทำไมภัยแล้ง-น้ำท่วม ในไทยถึงแก้ไม่ได้สักที ? ส่อง “วิสัยทัศน์ 2564″เลขา สนทช. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

“วิสัยทัศน์ 2564” แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม สำเร็จหรือไม่ ? เลขาฯ “สทนช.” มีคำตอบ

พูดถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นชื่อนัก เพราะเพิ่งตั้งมาเมื่อปี 2560 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เป็นเลขาธิการ

แม้จะเป็นหน่วยงานใหม่ แต่ขอบข่ายงานกว้างขวางเกี่ยวเนื่องกับหลายภาคส่วน “มติชนสุดสัปดาห์” มีโอกาสสนทนากับเลขาฯ สทนช. หลากหลายประเด็น

: 3 ปีที่ผ่านมามีผลงานอะไรบ้าง

ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีข้อกำหนดไว้ว่า ต้องทำแผนหลัก แผนป้องกันและบรรเทาเรื่องขาดแคลนน้ำและอุทกภัยในแต่ละลุ่มน้ำด้วย

ที่สำคัญคือ การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดขอบเขตลุ่มน้ำ เรื่องการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ เรื่องการเลือกตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ รวมถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำ นำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติชุดใหม่ สิ่งที่ดำเนินการเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อย่างแรกคือ การปรับรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สทนช. ได้แต่งตั้งกองอำนวยการแห่งชาติ อุดช่องโหว่กฎหมายที่อาจพอมีอยู่บ้าง ขั้นตอนหลักๆ ก็บูรณาการจัดการไป แต่ขั้นตอนก่อนก้าวสู่ภาวะวิกฤตต้องมีการจัดทำเรื่องของบูรณาการและลงพื้นที่ และอาจจะมีการวิเคราะห์ชี้เป้า กำหนดเป้าหมายให้ได้

พร้อมปรับแผนของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ภัยต่างๆ ไม่เกิด หรือให้เกิดน้อยที่สุดก่อนจะใช้มาตรา 24 ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานใน พ.ร.บ.นี้ หากเกิดภาวะวิกฤตหรือใกล้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งตอนนี้รองนายกฯ ประวิตรทำหน้าที่นี้อยู่

จะเห็นได้ว่ามีการปรับรูปแบบแบบนี้ขึ้นมาเพื่อบูรณาการน้ำให้เป็นระบบ เช่น น้ำที่กำลังท่วมอยู่ในภาคใต้ ได้มีการวิเคราะห์กลั่นกรองร่วมกับทุกหน่วยงาน แล้วลงมติว่าบางเวลาจะอั้นน้ำไว้ หรือหยุดการระบายน้ำ เพื่อให้ จ.ปัตตานีปลอดภัยจากน้ำท่วม

ส่วนเรื่องการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งจะเป็นแบบไหนบ้าง จะอุปโภคบริโภคได้ขนาดไหน แล้วจะทำเกษตรได้ขนาดไหน ก็ออกเป็นมาตรการ เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ส่วนที่สองที่เป็นรูปธรรมคือ การจัดทำแผนงานและโครงการ จริงๆ แล้วงบประมาณในปัจจุบันมาจาก 3 แหล่งคือ งบฯ ที่ได้มาจากการบูรณาการ งบฯ ภาคหรือว่าท้องถิ่น อีกงบฯ หนึ่งคืองบฯ ฟังก์ชั่น เป็นงบฯ จากหน่วยงาน ประเด็นคือการบูรณาการน้ำคิดเป็น 60% ของงบประมาณทั้งหมด อีก 40% มาจากหลายๆ ส่วนที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการในการพิจารณา เพียงแต่รับทราบ แต่ได้เสนอ สทนช. และได้เสนอ ครม.เพื่อออกเป็นกรอบในการขอตั้งงบประมาณเรื่องน้ำของทุกหน่วยงาน

รวมถึงหน่วยงานทางราชการ หน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือกระทั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะลงไปในจังหวัดต่างๆ ก็ต้องให้ผ่านอนุกรรมการน้ำจังหวัด ทุกแห่งรวม 76 จังหวัด ซึ่งแต่งตั้งไปแล้ว ตอนนี้เริ่มประชุมคณะอนุกรรมการจังหวัดแล้ว และกำลังจะเข้าสู่ประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำ ก่อนเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ประเด็นที่สามคือเรื่ององค์กร มีการออก พ.ร.บ. ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรองที่จะแต่งตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อออกมาแล้วจะมีการเลือกตั้ง มั่นใจว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นการเพิ่มเส้นทาง เพิ่มโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสเสนอโครงการหรือความคิดดีๆ เข้ามา

ขณะเดียวกันก็พยายามปิดกั้นเรื่องของการเสนอแผนงานที่ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ และนายกรัฐมนตรีกรุณามอบหมายให้ทาง สทนช.พิจารณาการขอใช้งบฯ กลาง ซึ่งเป็นงบฯ พิเศษที่ตั้งไว้ในแต่ละปีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาวะ

อย่างปีนี้มีภาวะโควิดด้วย และมีภาวะภัยแล้งด้วย นายกรัฐมนตรีนำเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ งบประมาณ 28,000 กว่าล้านบาท

: บ้านเรามีหน่วยงานบริหารจัดการน้ำเยอะ แก้ปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนได้หรือไม่

ยังไม่ลงตัวทีเดียว เพราะความเข้าใจเรื่องระเบียบ ขั้นตอน ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะ สทนช.ไม่ได้ทำงานฝ่ายเดียว ทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณ ทำงานร่วมกับมหาดไทย และร่วมกับทุกหน่วยงาน ดังนั้น จะเห็นว่าได้เสนอระเบียบหรือขั้นตอนในการปฏิบัติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติเหมือนกัน รูปแบบการนำเสนอโครงการก็พยายามนำเสนอรูปแบบเดียวกัน มีการพิจารณาขั้นตอนการนำเสนอเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมกันในทีมของคณะอนุกรรมการ มีการกลั่นกรองเพื่อลดความซ้ำซ้อน เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่นำเสนอเกิดประโยชน์ที่แท้จริง

รวมถึงแก้ไขในเชิงพื้นที่มากขึ้น เช่นในพื้นที่หนึ่งมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ ทุกหน่วยงานมีอะไรบ้างก็นำมาระดมความคิดกัน ถ้าเกิดว่าในปีแรกทำอะไร ปีที่สองทำอะไรก็มาทำพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ว่าหน่วยงานนี้ทำปีนี้ หน่วยงานอีกหน่วยทำปีหน้า ปรากฏว่าไม่แมตชิ่งกัน และการตั้งงบประมาณจะทำเป็นแพ็กเกจทำเป็นกรอบไว้ เช่น ปีนี้ตั้งเครื่องสูบน้ำ ปีหน้าตั้งท่อ

: นายกรัฐมนตรีสั่งอะไรเป็นพิเศษบ้าง

นายกฯ ให้ความใส่ใจมากๆ เรื่องความรอบคอบว่างานต่างๆ ต้องไม่ซ้ำซ้อนและต้องทำได้จริงๆ และงานใหญ่ๆ ที่ลงทุนสูงๆ ก็ให้ไปดูก่อนว่างานแบบนี้มีองค์ประกอบใดที่สามารถขับเคลื่อนไปก่อนได้บ้าง เพราะงบประมาณที่ขอเป็นพันๆ ล้านเกิดยาก ต้องทำโครงการเล็กเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง แต่อยู่ในแพ็กเกจก็สามารถเดินหน้าไปได้ แล้วแผนงานต้องเตรียมพร้อมไว้ ก่อนน้ำท่วมต้องทำอะไรบ้างออกเป็นมาตรการ และให้หน่วยงานต่างๆ ไปเตรียมความพร้อมก่อนภัยเกิด ตอนนี้ทำได้แค่เพียงแก้ไขเฉพาะหน้าก่อนฤดูกาล ในอนาคตต้องทำก่อนล่วงหน้า 1-5 ปี

: ปัญหาหลักๆ อยู่ตรงไหน

ในแต่ละหน่วยงานมีบทบาทหน้าที่ในฟังก์ชั่นของตัวเอง เช่น กรมชลประทาน สำนักงานเพื่อการเกษตร ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีหน่วยงานที่ดูแลแบบนี้อยู่ แต่ว่าบางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำผิวดินเสมอไป แต่จะไปใช้น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล เป็นหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะเห็นได้ว่าน้ำผิวดินส่วนหนึ่ง กรมชลประทานอาจจะไปได้ แต่อีกส่วนหนึ่งกรมชลประทานอาจจะไปไม่ได้

ฉะนั้น ระบบต่างๆ จำเป็นต้องแยกแยะให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปทำ อย่างบางพื้นที่น้ำผิวดินมีน้อยมาก ต้องนำกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วก็ต้องปรับพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีราคา เพื่อให้คุ้มทุนกับการใช้น้ำบาดาล

ระบบประปาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง อย่างกรมประปาเองกฎหมายออกมาว่า หากว่าประปาบ่อตื้น หรือน้ำบนดินเป็นของท้องถิ่น แต่ถ้าเป็นน้ำหายากเป็นของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตอนนี้ก็ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลออกหลักเกณฑ์ ออกมาตรฐาน กำหนดว่าพื้นที่ไหนบ้างที่ต้องทำธนาคารน้ำใต้ดินได้ บริเวณไหนบ้างที่จะขุดเจาะบ่อบาดาล

: ในปี 2564 มีแผนอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

มีเยอะ โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมาย ที่จำเป็นต้องบูรณาร่วมกัน ไม่ใช่ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บังคับให้หน่วยราชการและท้องถิ่นเสนอแผนงานเข้าไปแก้ไขได้ เช่น เรื่องหนองน้ำต่างๆ ที่รองนายกฯ พล.อ.ประวิตรอยากหาพื้นที่ที่เป็นหนองน้ำผืนใหญ่

เบื้องต้นคือ หนองน้ำธรรมชาติที่ขาดการฟื้นฟูขาดการพัฒนา ซึ่งมีเยอะมาก

อันที่สองคือแหล่งน้ำสำรอง ปัจจุบันประปาจะสูบน้ำจากน้ำธรรมชาติอาจไม่พอเพราะบางฤดูไม่มีน้ำ ต้องสูบน้ำมาเก็บไว้

อันที่สาม โครงการพระราชดำริที่เหลือประมาณ 150 กว่าโครงการ ที่ทำไม่ได้เพราะติดขั้นตอน ติดระเบียบราชการ เวลานี้ก็มีการปรับปรุงระบบการตรวจสอบว่าติดอยู่ในส่วนไหน

ซึ่งรองนายกฯ ประวิตรอยากให้โครงการพระราชดำริทุกโครงการเริ่มขับเคลื่อนภายในปี 2564 ให้ได้ คาดว่าในอนาคตพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีมานานต้องจบให้ได้โดยเร็ว ต้องมีข้อสรุปว่าจะสร้างได้หรือไม่ได้

: มีตัวอย่างโครงการพระราชดำริที่ไหนบ้างที่ยังไม่ได้ทำ

อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำ หลักๆ แถวๆ สกลนคร ที่มีพระราชดำริมาแล้ว และก็มีอีกหลายแห่งที่เป็นโครงการพระราชดำริ รวมถึงเรื่องอ่างเก็บน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยที่นครศรีธรรมราชด้วย และพระราชดำริอื่นๆ เช่น พระราชดำริที่ต้องหาแหล่งเก็บน้ำ สร้างเครือข่ายน้ำ อาจจะเป็นบ่อพวงหรืออ่างพวง ซึ่งโครงการเหล่านี้ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนมาแล้ว ติดนิดหน่อยเรื่องระเบียบราชการ

: มองว่า สทนช.ทำงานประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

คิดว่าไม่ได้ตามเป้ามากนัก ได้สัก 50-60%

ต้องขอบคุณทางรัฐบาลด้วยที่ให้การสนับสนุน และขอบคุณหน่วยราชการต่างๆ ด้วยที่มาช่วยกัน ผมคิดว่าประโยชน์ของประเทศชาติสำคัญ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจและขึ้นอยู่กับความสุจริตด้วย เพราะบางครั้งบางหน่วยอาจจะต้องสนองต่อประชาชน แต่อาจลืมคิดข้อกฎหมายไป บางแห่งอาจจะคิดว่าทำได้ แต่ความจริงแล้วติดเรื่องระเบียบต่างๆ ก็ต้องบอกกันไป คิดว่าโอกาสความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการทำงานของแต่ละหน่วยงานด้วย

: ผู้คนต่างคาดหวังว่า สทนช.จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมได้

เบื้องต้นได้วางแผนให้เป็นระบบ แต่ว่าการขับเคลื่อนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับประชาชนด้วย ขณะที่การวางแผนงานโครงการต่างๆ มีผู้เกี่ยวข้องเยอะมาก แต่บางโครงการจะทำได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่อาจจะกระทบด้วย เช่น การจ่ายค่าชดเชย และผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมด้วย

: ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้มีวิธีการแก้ปัญหาระยะยาวไหม

มีวิธีแก้ปัญหาระยะยาวไว้แล้ว ในเมืองเองมีการทำบายพาส เป็นวิธีการหนึ่งที่ดูตัวอย่างได้จาก อ.เมืองตรัง อ.เมืองพัทลุง ที่มีการแก้ปัญหาไปแล้ว นครศรีธรรมราชก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่คิดว่าการผันระบายเข้าไปอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง วีธีการคือต้องบายพาสออกไป แต่ต้องศึกษาว่าจะระบายออกอย่างไร กระทบใครบ้าง

ต้องมาคุยกัน