5 ที่สุด ในกระทรวงคมนาคม 2563 “ฮุบรวบ-เน้นพรรค-โปรเจ็กต์อืด”

ผ่านพ้นปี 2563 ปีแห่งวิกฤตการณ์โควิดลามโลกไปอย่างทุลักทุเล ส่วนหนึ่งก็มาจากอาฟเตอร์ช็อกของมาตรการคุมโรคที่เขย่าเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยเหมือนไฟลามทุ่ง

และหากโฟกัสเฉพาะประเทศไทย นอกจากปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองที่ไล่มาตั้งแต่การฟอร์มทีมรัฐบาลล่าช้าจนทำให้งบประมาณปี 2563 เบิกจ่ายล่าช้าถึง 4 เดือน

เข้าสู่กลางปีก็เกิดความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐที่ทำให้ทีมเศรษฐกิจผลัดเปลี่ยนจาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และสี่กุมาร” เป็น “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”

พอค่อนมาปลายปีก็เกิดเหตุการณ์ที่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่างลงยาวนานถึง 1 เดือนเต็ม หลัง “ปรีดี ดาวฉาย” ลูกหม้อแบงก์กสิกรไทยทนแรงเสียดทานทางการเมืองไม่ไหวลาออกจากตำแหน่ง โดยส่งไม้ต่อให้ขวัญใจคนคมนาคมคนเดิม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” คัมแบ๊กเก้าอี้รัฐมนตรีรอบ 2

อย่างไรก็ตาม แม้คลื่นลมเศรษฐกิจ การเมือง และโรคระบาดพัดกระหน่ำประเทศไทยสะเทือนจนหลายคนหลุดจากเก้าอี้อำนาจ

แต่กล่าวกับกระทรวงคมนาคมภายใต้สังกัด “คมนาคมยูไนเต็ด” กลับฝ่ามรสุมกอดเก้าอี้กันได้เหนียวแน่น อยู่กันครบหน้า 3 หนุ่ม 3 มุมเช่นเดิม ทั้ง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ-อธิรัฐ รัตนเศรษฐ-ถาวร เสนเนียม”

แถมตลอดปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่หลายครั้งเป็นที่พูดถึงตามหน้าสื่อ

จึงขอย้อนรวบรวม 5 ปรากฏการณ์สำคัญในแวดวงกระทรวงคมนาคมตลอดปี 2563 มาทบทวน เพื่อมองอนาคตในปี 2564 ต่อไป

1.รถไฟฟ้าสารพัดสีเปิดรัวๆ – ปะทะ “คีรี” ปมสายสีส้ม

เปิดกันด้วยความปลื้มปีติ เมื่อพระบาทสมเด็พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ซึ่งถือเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่สร้างและเปิดให้บริการครบลูปทั้งช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ

และได้ทรงทดลองเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟฟ้าจากสถานีสนามไชยสู่สถานีหลักสอง เขตบางแค ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 นาที

ดูเหมือนว่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเป็นผลงานเด่นชัดที่สุดในรอบปีด้วย เพราะนอกจากสายสีน้ำเงินแล้ว รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้กำกับและรับสัมปทานก็ทยอยเปิดครบเส้นทางด้านเหนือจากวัดพระศรีมหาธาตุ ยาวถึงคูคตได้เป็นผลสำเร็จ

และสามารถเปิดรถไฟฟ้าสายสีทอง หรือในชื่อลำลองว่า “รถไฟฟ้าไอคอนสยาม” ระยะทาง 1.8 ก.ม. ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน ได้เป็นผลสำเร็จเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถไฟฟ้าต้องไม่ลืมว่า มี 2 โครงการที่เป็นปัญหาโรมรันพันตูและทำท่าจะไม่จบง่าย ได้แก่ โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท และสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นเรื่องงัดข้อกับผู้ให้กำเนิดรถไฟฟ้าเมืองไทยอย่าง “บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” ของ “คีรี กาญจนพาสน์” เพราะปมนี้เกิดจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจ้าของโครงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูลหลังปิดขายซองทีโออาร์ โดยนำซองเทคนิคมาผนวกรวมกับซองการเงิน ซึ่งไม่เคยมีโครงการไหนใช้หลักเกณฑ์นี้มาก่อน เพราะปกติแล้วงานประมูลโปรเจ็กต์มักจะตัดสินที่การเสนอผลตอบแทนให้รัฐเป็นสำคัญ ซึ่งจะอยู่ในซองการเงินเป็นหลัก ใครเสนอสูงกว่าชนะไป

เมื่อมีการเปลี่ยนเกณฑ์ บีทีเอสจึงเดินหน้าชนค้านสุด ยื่นศาลปกครองพิจารณา และมีกระแสข่าวว่ายื่นทูลเกล้าฯ ฎีกาด้วย

2.”ศักดิ์สยาม” รวบอำนาจบริหารสมบูรณ์

ถือเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนลั่นไปทั่วกระทรวงหูกวาง กับการออกคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 429/2563 เรื่อง มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ซึ่งมีใจความสำคัญคือ หลังจาก บมจ.การบินไทย, บจ.ไทยสมายล์แอร์เวย์ และ บจ.ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคมแล้ว ต้องมีการปรับอำนาจบริหารราชการใหม่

โดยยังให้นายอธิรัฐ ในฐานะราชรถ 2 ดูแลหน่วยงานทางน้ำคือ กรมเจ้าท่า (จท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตามเดิม

ส่วนนายถาวร ราชรถ 3 ก็ให้ดูหน่วยงานทางอากาศ ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.), สถาบันการบินพลเรือน, บจ.โรงแรมทำอากาศยานสุวรรณภูมิ และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ตามเดิม

แต่ในคำสั่งดังกล่าวมีระบุข้อความกำกับเพิ่มว่า “ให้มีอำนาจในการกำกับดูแล และปฏิบัติราชการแทนโดยทั่วไป ยกเว้นการบริหารงานบุคคล การอนุมัติงบประมาณ การอนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาตใดๆ ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรี” และคำสั่งนี้ยังให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการสามารถสั่งการได้โดยตรงถึงหน่วยงานต่างๆ หากเห็นว่าเป็นเรื่องในระดับนโยบายที่มีความสำคัญต่อรัฐบาลหรือผลประโยชน์ของประเทศชาติได้ รวมถึงหากรัฐมนตรีช่วยไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อำนาจในการกำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการทันที เรียกว่าคุมกันเบ็ดเสร็จ

โดยนายศักดิ์สยามได้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด และยังทำงานกันตามปกติ คำสั่งดังกล่าวออกมาเพราะการบินไทยและรัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่งไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงแล้ว จึงต้องมีการปรับการทำงานใหม่เท่านั้น

และยืนยันว่าคำสั่งที่ออกมานั้น ไม่ใช่แค่กระทรวงคมนาคมเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินการในทุกกระทรวงที่ได้เขียนคำสั่งในแบบเดียวกัน

3.ไอเดียกระฉูด อัพสปีด 120 / คิกออฟยาง

ต้องยอมรับว่าในปี 2563 “ศักดิ์สยาม” ถือเป็นรัฐมนตรีที่มีไอเดียในการออกนโยบายซึ่งทำให้เป็นที่พูดถึงในสังคมมากมาย ไอเดียเด่นๆ ที่ว่ามี 2 ไอเดียสำคัญที่กลายเป็นนโยบายผลักดันถึงฝั่ง

เรื่องแรก การปรับอัตราความเร็วสูงสุดบนถนน 4 เลนขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเลนขวาสุดห้ามขับช้ากว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนฝ่าฟันทุกอุปสรรค ดันร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะ พ.ศ. … ผ่าน ครม.ได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 โดยอยู่ระหว่างการตรวจร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะได้ใช้จริงในปี 2564 นี้ นำร่องบนทางหลวงสายเอเชียช่วงบางปะอิน-อ่างทองก่อน

อีก 1 ผลงานภาคภูมิใจ คือการผลักดันโครงการติดตั้งแบริเออร์หุ้มด้วยแผ่นยางพารา และหลักนำทางที่ผลิตจากยางพารา มีกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นแม่งาน โดยคิกออฟไปแล้ว 28 จังหวัด ซึ่งนโยบายนี้มีผลทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น โดยราคาที่ตกต่ำกลับมายืนระดับ 60 บาท/กิโลกรัมได้เป็นผลสำเร็จ

และกระจายรายได้สู่มือเกษตรกรถึง 30,000 ล้านบาท

4.เข็นไม่ออก “แผนฟื้นฟู ขสมก.”

ลากไปรออีกปี สำหรับแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ยังไม่คลอดออกมาสักที

และต้องยอมรับว่าในปี 2563 ก็เจอกับอุปสรรคหลายขนาน

ทั้งกรณีที่ “ปรีดี ดาวฉาย” รมว.คลังชิงลาออกช่วงเดือนกันยายน 2563 ทำให้เรื่องนี้ค้างเติ่งอยู่ที่กระทรวงการคลังอยู่นาน หรือการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กังขาในหลายประเด็น อาทิ การดำเนินการตามแผนที่จะทำให้ ขสมก.มีผลประกอบการกลับมาเป็นบวกภายใน 7 ปี ทำได้จริงหรือไม่? เพราะต้องไม่ลืมว่า ขสมก.มีหนี้ที่ค้างพอกกว่า 1.27 แสนล้านบาทรออยู่ด้วย

หรือแผนลงทุนต่างๆ ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟู เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการจัดหารถเมล์ จากเดิมเป็นซื้อและเช่าผสมกัน 2,511 คัน ทั้งประเภทที่ใช้เป็น NGV และ EV ก็เปลี่ยนใหม่เป็นเช่าทั้งหมด และรถต้องเป็น EV เท่านั้น และการกำหนดค่าโดยสาร 30 บาทขึ้นได้ทุกสาย/คน/วัน จะเวิร์กจริงหรือไม่

ซึ่งยังไม่รวมกับการแยกแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ให้เหลือ 162 เส้นทางอีก เพราะเดิมบรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูด้วย แต่เนื่องจากเรื่องเส้นทางรถเมล์ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ามาก จึงมีบางหน่วยงานเสนอว่าควรแยกออกมา เพื่อพิจารณาให้ละเอียดดีกว่า

5.ไฮสปีดเทรน 63 “ไทย-จีน” แฮปปี้ – 3 สนามบินลุ้นเหนื่อย

ปิดท้ายกันที่ความเคลื่อนไหวของโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 สายทางที่กำลังดำเนินงานในปัจจุบัน ได้แก่

1. รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 ก.ม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ปีนี้งานโยธาช่วง 3.5 ก.ม.แรก “กลางดง-ปางอโศก” ก่อสร้างเสร็จแล้ว เหลืองานก่อสร้าง 13 สัญญา ประมูลแล้ว 12 สัญญา ลงนามในสัญญาจ้างแล้ว 5 สัญญา รอลงนามอีก 6 สัญญา และอีก 1 สัญญาอยู่ระหว่างออกแบบ เพราะโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนงานระบบของโครงการ วงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท ก็มีการลงนามร่วมรัฐวิสาหกิจของจีนแล้ว และจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2564

คาดว่ารถไฟความเร็วสูงสายอีสานจะได้ใช้กันในปี 2570

และ 2. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 ก.ม. โปรเจ็กต์เรือธงของอีอีซี มี บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน (ซีพี) เป็นคู่สัญญา ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ซีพี มีเดดไลน์กำหนดส่งมอบภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้

นอกจากนั้น ยังมีข่าวการย้ายตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้าอีก จึงยิ่งทำให้การก่อสร้างยังไม่ชัวร์ว่าจะเริ่มได้ภายในปี 2564 นี้หรือไม่ แต่กำหนดเปิดให้บริการยืดออกไปเป็นปี 2569 แล้ว

เหล่านี้คือเหตุการณ์สำคัญของกระทรวงคมนาคม กระทรวงลงทุนเกรดเอตลอดกาล