วิกฤต 2564 : ระเบิดเวลาลูกใหญ่! / สุรชาติ บำรุงสุข (ฉบับประจำวันที่ 22-28 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2110)

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ บำรุงสุข

วิกฤต 2564
: ระเบิดเวลาลูกใหญ่!

“นายทหารหลายๆ นายมักจะมีความเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ประเทศของเขาไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย พวกเขามีความรู้สึกว่าสถาบันทางการเมืองที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยไม่มีในประเทศของตน… [ดังนั้น] พวกเขาจึงเชื่อว่า รูปแบบของรัฐบาลอำนาจนิยมที่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ”
Dennis Blair
Military Engagement (2013)

หากพิจารณาการเมืองไทยในปี 2564 ซึ่งน่าจะเป็นอีกช่วงเวลาของความท้าทายที่สำคัญสำหรับรัฐบาล
จนอาจเปรียบเทียบได้ว่า การขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ในปีที่ผ่านมาเป็นดัง “การตั้งนาฬิกา” ของระเบิดเวลา ที่คาดเดาไม่ได้ว่า ระเบิดลูกนี้จะระเบิดในปี 2564 หรือไม่?
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สังคมไทยก็เสมือนกับการนั่งอยู่บนระเบิดเวลา และสิ่งที่น่ากังวลก็คือ ระเบิดเวลานี้อาจจะมีหลายลูกที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเวลา
ได้แก่

1)
วิกฤตโรคระบาด
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 มีความสำคัญอย่างมาก เพราะ “การระบาดระลอกสอง” เป็นประเด็นที่สร้างความกังวลทั้งต่อรัฐและสังคม
ในด้านหนึ่ง การระบาดในระดับระหว่างประเทศยังมีความรุนแรงอย่างมากในโลกตะวันตก
และในอีกด้าน การระบาดในระดับภูมิภาคยังไม่สามารถควบคุมได้จริง ไม่ว่าจะเป็นในเมียนมา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น
สภาวะเช่นนี้ทำให้การควบคุมการระบาดของไทยยังมีความเปราะบางอยู่มาก
และ “กรณีสมุทรสาคร” ทำให้ปัญหาระลอกสองเป็นประเด็นที่จะต้องเฝ้าดู และถ้าเกิดขึ้นในขอบเขตขนาดใหญ่แล้ว อาจกลายเป็น “มหาวิกฤต” ชุดใหญ่ได้ไม่ยากนัก
โดยเฉพาะคำถามในระดับชีวิตของประชาชนก็คือ เราจะได้วัคซีนเมื่อใด และ “สังคมไทยยุคหลังโควิด” จะเริ่มขึ้นจริงเมื่อใด
คำถามนี้จะเป็น “ประเด็นสนทนาแห่งปี”

2)
วิกฤตเศรษฐกิจ
ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปี 2564 จะยังอยู่ในภาวะถดถอยต่อไป ผลจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลอย่างชัดเจนต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก จนเกิดความกังวลว่า การระบาดครั้งนี้จะทำให้เกิดการตีกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization)
ดังจะเห็นได้ว่าผลจากการระบาดทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในยุคโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางติดต่อ การท่องเที่ยวระหว่างประเทศตกอยู่ในภาวะชะงักงัน
ผลเช่นนี้ไม่เพียงทำให้ธุรกิจการบินประสบปัญหาอย่างมาก แต่ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นฐานหลักของเศรษฐกิจไทยอย่างมากด้วย จนทำให้เกิดการหดตัวลงของรายได้ของประเทศจากอุตสาหกรรมนี้
ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจภาคการผลิตเองก็ถูกกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลก อันส่งผลให้การส่งออกของไทยลดต่ำลงเช่นกัน
สภาวะเช่นนี้ทำให้เศรษฐกิจมหภาคของไทยในปี 2564 จะยังไม่สดใส
การถดถอยเช่นนี้ทำให้คำถามที่มักจะยกมาเป็นคำเปรียบเปรยไม่มีความหมายอีกต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยจะ “เผาจริง” หรือไม่ในปีใหม่
หรือว่าที่จริงระยะเวลาของการ “เผาจริง” ในเศรษฐกิจมหภาคของไทยนั้น เป็นการเผาที่ยาวนาน
กล่าวคือ การถดถอยของเศรษฐกิจไทยอาจจะเป็นดังตัว “แอล” (L) ที่หางของตัวอักษรนี้ลากยาวออกไปมากกว่าที่คิด
ฉะนั้น วิกฤตเศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19 ในปี 2564 น่าจะยังเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ต่อไป

3)
วิกฤตคนตกงาน
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการโดยตรง อันนำไปสู่ภาวะตกงานของแรงงานเป็นจำนวนมาก
การเลิกการจ้างงานแทบจะเป็นเหตุการณ์ปกติของทุกประเทศที่เผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งนี้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่แต่เพียงมีผลต่อปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น หากยังกลายเป็นปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ของสังคมอีกด้วย
และประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่จะเผชิญกับปัญหาดังกล่าว
ความน่ากังวลยังเกิดจากภาวะการว่างงานที่เกิดนั้น เกิดอย่างรวดเร็ว และมองไม่เห็นอนาคตจากหลายธุรกิจว่าพวกเขาจะได้รับการว่าจ้างกลับสู่การทำงานอีกครั้งเมื่อใด
อันทำให้การตกงานในครั้งนี้ อาจกลายเป็นการ “ตกงานถาวร” กับชีวิตของผู้คนในหลายครอบครัว
และในบางประเทศมีความกังวลสืบเนื่องว่า ปัญหาการตกงานของคนเป็นจำนวนมาก จะกลายเป็นปัญหาการเมืองในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และทั้งอาจนำไปสู่ภาวะของ “ความไม่สงบทางสังคม” (social unrest) เช่น การประท้วง เพื่อเรียกร้องสวัสดิการจากรัฐ เป็นต้น

4)
วิกฤตความยากจน
ผลที่เกิดจากการระบาดอย่างกะทันหันของโควิด-19 จากช่วงต้นปี 2563 ทำให้เกิดภาวะชะลอตัวในทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้ธุรกิจและการประกอบการในทางเศรษฐกิจต้องปิดตัวเองลง
ผลที่ตามมาในด้านหนึ่งคือ การตกงานของคนงานในภาคการผลิตและภาคบริการ และในอีกด้านเป็นปัญหาความมั่นคงของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ คือการขยายตัวของจำนวนคนยากจนเป็นจำนวนมากและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา
ตัวแบบเช่นนี้เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเกิดกับประเทศไทยเองด้วย
ผลที่เกิดตามมาในบริบทของชุดความคิดทางการเมืองก็คือ การขยายตัวของแนวคิดแบบสังคมนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ในหลายประเทศ
ปรากฏการณ์ของเบอร์นี แซนเดอร์ ในการเมืองสหรัฐ คือตัวอย่าง หรืออาจคาดการณ์ได้ว่าผลของความยากจนที่เกิดขึ้นจะทำให้เรื่อง “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) จะเป็นข้อเรียกร้องสำคัญทางการเมืองในปี 2564
หรือมีนัยว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่คนในระดับกลางและล่างมากขึ้น
อันอาจนำไปสู่การชุมนุมประท้วงทางการเมืองในอนาคต

5)
วิกฤตการเมือง
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลน่าจะยังคงเกิดขึ้นในปี 2564 และปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง
แม้ในปลายปี 2563 รัฐบาลอาจจะมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากปัญหาเอกภาพของ “ม็อบนักศึกษา” ได้กลายเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนการชุมนุม ตลอดรวมถึงท่าทีในแบบ “ซ้ายจัด” ของผู้นำการชุมนุมบางส่วน ทำให้การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีอาการแผ่วลงไป
แต่ก็มิได้มีนัยว่าการชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษาจบลงแล้ว หากแต่ประเด็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นยังดำรงอยู่
ขณะเดียวกันก็มีความพยายามแก้วิกฤตการปะทะของกระแสคนรุ่นใหม่ด้วยการตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” ซึ่งกระบวนการนี้จะเป็นอีกโจทย์ของการเมืองไทยในปี 2564 ว่าจะขับเคลื่อนและประสบความสำเร็จในการถอดชนวนความขัดแย้งในสังคมได้เพียงใด
ทั้งภาครัฐอาจต้องตระหนักว่า ในปีใหม่นี้ อาจไม่ใช่จะมีแต่การประท้วงของ “คนเรียน” (ม็อบนักเรียน-นักศึกษา)
เพราะจากข้อ 3 การชุมนุมในอนาคตอาจเกิดจาก “ม็อบคนงาน” หรือจากข้อ 4 จะเกิดจาก “ม็อบปากท้อง” หรือ “ม็อบคนจน”
และน่าสนใจว่า การชุมนุมในปี 2564 จะนำไปสู่ “ม็อบสามประสาน” หรือไม่ คือ คนเรียน-คนงาน-คนหิว

6)
วิกฤตทหาร
บทบาททางการเมืองของกองทัพในปี 2564 จะยังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะผลสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 2557 ทำให้กองทัพยังมีบทบาททางการเมือง
แม้การเลือกตั้งจะเกิดในต้นปี 2562 แต่รัฐบาลที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเปลี่ยนจาก “ระบอบทหาร” เป็น “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) ที่ผู้นำทหารสามารถสืบต่ออำนาจด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม และลดความกดดันจากเวทีสากล
ระบอบพันทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยความสนับสนุนจากผู้นำกองทัพ
ดังนั้น บทบาททหารในการเมืองไทยจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญ
และท้าทายต่อผู้นำทหารปัจจุบันต่อการกำหนดและจัดวางบทบาทของกองทัพในปีใหม่

7)
วิกฤตความเชื่อ
สังคมไทยในปี 2564 จะยังคงเผชิญกับ “สงครามความคิด” ที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อและ/หรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน
และในความแตกต่างนี้ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน แต่ได้ส่งผลให้เกิด “ขั้วทางการเมือง” (political polarization) อย่างรุนแรงในปัจจุบัน จนไม่มีความชัดเจนว่าปัญหานี้จะคลี่คลายไปอย่างไรในปี 2564
และอาจคาดได้ว่า การต่อสู้ทางความคิด/ความเชื่อในทางการเมือง จะทำให้ปีใหม่เป็นสงครามระหว่าง “เสรีนิยม vs จารีตนิยม” ที่เข้มข้นมากขึ้น และในอีกด้านก็สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นระหว่างรุ่นของคนในสังคม หรือ “สงครามระหว่างเจเนอเรชั่น” ที่เห็นโลกของสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตแบบต่างมุมมอง จนกลายเป็นความเห็นต่างทางการเมืองอีกครั้งหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2519
ผลที่ตามมาในอีกด้านคือ “สงครามไซเบอร์” ระหว่างกลุ่มความคิดที่เห็นต่าง
ดังนั้น ในปี 2564 “สนามรบไซเบอร์” จะมีความเข้มข้นในการต่อสู้ทางความคิดอย่างแน่นอน

8)
วิกฤตรัฐธรรมนูญ
ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดในปี 2563 จะส่งผลให้มีแรงผลักดันให้เกิดการแก้ไขมากขึ้นในปีใหม่
ความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการคงความได้เปรียบทางการเมืองด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายค้านเป็นรองในทุกด้าน กลายเป็นปัญหาในตัวเองอย่างมาก
และสังคมมีความรู้สึกว่าการออกแบบดังกล่าวไม่เพียงเอื้อให้เกิดการสืบทอดอำนาจเท่านั้น
แต่ยังเป็นการสร้างอำนาจในการควบคุมสังคมการเมืองผ่านตัวรัฐธรรมนูญ
และมีองค์กรอิสระที่ช่วยให้คดีทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลได้รับการ “ชำระล้าง” ให้เป็นความถูกต้องเสมอ
การเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีมากขึ้นในปี 2564 อย่างแน่นอน และประเด็นการแก้ไขนี้อาจขยายตัวเป็นวิกฤตได้ไม่ยาก เพราะจากมุมมองของฝ่ายรัฐบาลแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการทำลายความได้เปรียบของรัฐบาลโดยตรง
ดังนั้น หากจะมีความพยายามที่จะ “ยื้อยุด” การแก้ไขดังกล่าว ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่การกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญขยายตัวมากขึ้นในปีใหม่

9)
วิกฤตต่างประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกอาจกลับคืนมาอีกครั้งหลังการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
พร้อมกับแรงกดดันจากโลกตะวันตกต่อปัญหาสิทธิเสรีภาพและการชุมนุมในไทยจะมีมากขึ้นในปี 2564
กระแสสากลเช่นนี้จะท้าทายรัฐบาลไทยอย่างมาก

10)
วิกฤตอากาศ
ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศเป็นประเด็นที่ผู้นำแบบอำนาจนิยมมักไม่สนใจ
แต่ผลที่เกิดไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5
ปัญหาไฟป่า
ปัญหาความแห้งแล้ง
ปัญหาความผันผวนของอากาศ
ล้วนเป็นสัญญาณต่อเนื่องให้ผู้นำไทยต้องใส่ใจกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้นในปีหน้า

11)
วิกฤตอาหาร
การมาของโรคระบาด ที่ประสานเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของอากาศ จะส่งผลโดยตรงต่อการผลิตอาหารของสังคม
ปัญหานี้ด้านหนึ่งเป็นเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร”
และในอีกด้านเป็นส่วนที่ต่อเนื่องกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ที่ความขาดแคลนอาหาร
จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความยากจนในสังคม

12)
วิกฤตการบริหาร
สุดท้ายแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นรวมศูนย์อยู่กับขีดความสามารถของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ประกอบกับการอยู่ในอำนาจของผู้นำที่เข้าสู่ปีที่ 8 นับจากรัฐประหาร 2557 จึงอาจทำให้ถูกท้าทายมากขึ้น
ความสำเร็จในการบริหารงานของรัฐบาลจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่ความล้มเหลวก็อาจกลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ต่อผู้นำในปี 2564…
2564 จะเป็นอีกปีที่สำคัญที่ชี้ขาดต่ออนาคตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา!