สมชัย ศรีสุทธิยากร | พินิจรายงานผลการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ตามระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ.2563 วาระ 2.2 เป็นเรื่องการรับทราบผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำปีงบประมาณ 2561 (1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561) ซึ่งจัดพิมพ์ในระบบสี่สีเป็นรูปเล่มสวยงาม ความยาว 157 หน้า นำส่งให้แก่รัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

รายงานดังกล่าวออกหลังจากสิ้นสุดปีงบประมาณ 2561 ถึงสองปีเศษ

ด้านหนึ่ง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานในรูปแบบราชการมีความล่าช้า แทนที่จะใช้เวลาเพียงหกเดือนหรือสูงสุดไม่ควรเกินหนึ่งปีที่จะสรุปรายงาน แต่กลับใช้เวลามากกว่าที่ควรจะเป็น

การให้ความเห็นของสภาอาจไม่ทันการณ์หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากอ่านในรายละเอียดอาจพบสิ่งที่สมควรทำ หรือรับปากว่าจะทำ แต่จนแล้วจนรอด สองปีกว่าแล้วยังไม่มีการดำเนินการ ก็จะเป็นฟ้องให้เห็นปัญหาการทำงานขององค์กรดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

รายงานฉบับนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย

ยุทธศาสตร์ไม่คืบแถมบางเรื่องถูกยกเลิก

ยุทธศาสตร์ 5 ด้านที่ระบุในรายงาน ประกอบด้วย

1) การจัดการเลือกตั้งที่สะดวกและคุ้มค่าต่อประชาชน

2) การจัดการเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับ

3) การจัดการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วม

4) การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมืองและองค์กรทางการเมือง

และ 5) การพัฒนาองค์การสู่ความเป็นมืออาชีพ

เมื่อพิจารณาในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ระบุถือว่าเป็นการเดินที่ถูกทาง เพราะทั้งห้าประการข้างต้นน่าจะเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม

แต่เมื่อลงในระดับโครงการกลับพบว่า การตีโจทย์ต่างๆ ของ กกต.นั้น ยังไกลจากสิ่งที่เป็นเป้าประสงค์ในยุทธศาสตร์

กล่าวคือ ไม่สามารถเชื่อมต่อสิ่งที่เป็นโครงการที่ทำว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายในแต่ละด้านได้อย่างไร

โดยเป็นการรวบรวมงานประจำ และงานที่ได้รับมอบหมายมารายงานแบบปีต่อปี

ขาดความต่อเนื่องและการบูรณาการที่นำสู่ความสำเร็จในภาพรวม

สะดวกใคร คุ้มค่าใคร

สิ่งที่ระบุในรายงาน กล่าวถึงความสำเร็จในการทำโปรแกรมรับสมัครเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ต การทำฐานข้อมูลการสมัครรับเลือกตั้ง การวิจัยและพัฒนาเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบชนิดทัชสกรีน การอบรมกรรมการประจำหน่วยมืออาชีพ การทำแอพพลิเคชั่น “ฉลาดเลือก” การจัดทำระบบตอบโต้สนทนาอัตโนมัติ (Chat bot) เพื่อตอบปัญหาเบื้องต้นให้แก่ประชาชน เป็นต้น

ล่วงมาถึงปัจจุบัน ผ่านไปสองปีเศษ เราเห็นเพียงแอพพลิเคชั่นฉลาดเลือกที่เคยใช้ในการออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 กลับมาใช้ในการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับตัวผู้สมัครนายก และสมาชิกสภา อบจ. และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของผู้สมัครให้ประชาชน “ฉลาดเลือก” แต่อย่างใด

อีกหลายเรื่องหายไปในกลีบเมฆ อาทิ การรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ฐานข้อมูลการสมัครรับเลือกตั้ง การพัฒนาเครื่องลงคะแนนแบบทัชสกรีน ระบบตอบโต้สนทนาอัตโนมัติ ซึ่งผ่านไปสองปีเศษยังไม่มีผลผลิตใดๆ ออกมาให้เห็น

นอกจากนี้ การตีโจทย์ในด้านความสะดวกและคุ้มค่า ยังไม่ปรากฏให้เห็นว่า การเลือกตั้งที่ กกต.จัดในปัจจุบัน จะเป็นการอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

การเลือกตั้งล่วงหน้าที่หายไปในการเลือกตั้งท้องถิ่น

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ควรพัฒนาเป็นระบบการเลือกทางอินเตอร์เน็ต (I-Vote) ซึ่งพัฒนาระบบไว้เรียบร้อยใน กกต.ชุดที่แล้ว มิได้ถูกนำมาใช้ การให้ประชาชนที่ติดภารกิจในวันเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิล่วงหน้าในเขตของตนก็ถูกยกเลิกไป เหลือเพียงแก่การอำนวยความสะดวกแก้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ติดภารกิจในวันเลือกตั้งเท่านั้น

การมีตำแหน่งผู้ตรวจการการเลือกตั้งแทนการมีคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ เฉลี่ยถึงเกือบสองแสนบาทต่อคนต่อเดือนแม้จะเพียงในช่วงสองหรือสามเดือนของการเลือกตั้ง แลกกับรายงานที่ระบุทุกวันว่าเหตุการณ์ปกติ

รวมถึงการมีโครงการที่ริเริ่มแล้วแต่ไม่ทำต่อเนื่อง คือ การใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า

การเลือกตั้งที่ (ไม่) เป็นที่ยอมรับ

ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับ มีรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสืบสวนสอบสวน โดยให้ความสำคัญต่อการจัดหลักสูตรสืบสวนและสอบสวนระดับต้น ระดับกลาง และสำหรับผู้บริหาร เพื่อเพิ่มสมรรถนะของพนักงานให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้วยความเชื่อว่า บุคลากรที่มีความสามารถย่อมช่วยในการสืบสวน ไต่สวน คดีการเลือกตั้งต่างๆ เพื่อไปสู่การพิจารณาของ กกต.ในขั้นท้ายก่อนจะตัดสินให้ใบเหลือง ใบส้ม หรือใบแดง นำไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตได้

แต่ถึงปัจจุบัน การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 และการเลือกตั้งซ่อมอีกหลายครั้ง กกต.สามารถออกใบเหลืองและใบส้มได้เพียงอย่างละหนึ่งใบ และเป็นคดีการถวายเงินพระ 2,000 บาท ใส่ซองช่วยงานศพ 1,000 บาท แต่ไม่สามารถจับกุมคดีซื้อเสียงได้แม้แต่รายเดียว

ทั้งๆ ที่ประชาชนรับรู้เรื่องการซื้อเสียง การวางตัวไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่ มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง จนมีคำกล่าวว่า ทุกคนรู้ยกเว้น กกต.ไม่รู้

นอกจากนั้น ผลการนับคะแนนที่ล่าช้า ตัวเลขการรวมคะแนนที่ไม่ตรงกัน บัตรเลือกตั้งในต่างประเทศที่ไม่สามารถส่งกลับมานับได้ทันเวลา การคำนวณสูตรปัดเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไม่เป็นที่ยอมรับ กลายเป็นคำตอบได้ดีว่า ประชาชนรับได้กับความสามารถในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.เพียงไร

การจัดการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วม

โดยเนื้อแท้ของยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วม ควรเป็นยุทธศาสตร์ที่ กกต.ทำได้ดีและทำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน อีกทั้งงานส่งเสริมก็เป็น “งานเย็น” ที่ทำได้ไม่ยาก ไม่เสี่ยงอันตรายเป็น “งานร้อน” เหมือนงานสืบสวน ไต่สวน

เนื้อหาส่วนใหญ่จึงเป็นการอบรม เสวนา รณรงค์ส่งเสริมประชาธิปไตย จัดตั้งหมู่บ้านไม่ขายเสียง จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งให้พรรคการเมืองและผู้สมัครได้รับทราบ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิด บางแห่งถึงขนาดจัดพิธีสาบานตนว่าจะไม่ซื้อเสียง

มีโครงการอบรมอาสาสมัครองค์กรเอกชนมืออาชีพ ซึ่งช่วยเป็นหูเป็นตาให้แก่ กกต.ในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง โดยให้มีอาสาสมัครที่พร้อมทั้งงานทั้งในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง และการสังเกตการณ์การลงคะแนนและการนับคะแนนในวันเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรมอีกด้วย

แต่น่าแปลก คือ โครงการดังกล่าวกลับไม่มีการต่อยอด การเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาที่จัดโดย กกต.ชุดปัจจุบัน ไม่มีการส่งเสริมให้มีอาสาสมัครองค์กรเอกชนเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เลือกตั้งซ่อม หรือการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งที่ผ่านมาก็ตาม

อบรม เสียเงิน แต่เวลาทำจริงไม่มี ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด

รายงานรูปเล่มสี่สีสวยงามของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่รายงานต่อรัฐสภา จึงเป็นรายงานที่สวยแต่รูปแต่ประกอบด้วยเครื่องคำถามนานัปการถึงผลการทำงานขององค์กรอิสระ ซึ่งควรจะมีคำตอบให้สังคม