วัคซีนแอนตี้โควิด : อาวุธใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ (2) / เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

วัคซีนแอนตี้โควิด
: อาวุธใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ (2)

ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2019 เป็นต้นมา ประเทศ/กลุ่มประเทศร่ำรวยหรือรายได้ปานกลางบางแห่งและโครงการ COVAX ก็เริ่มทยอยสั่งจองซื้อวัคซีนแอนตี้โควิด-19 ล่วงหน้าจากบริษัทผู้ค้นคว้าพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก
ถึงวันที่ 17 ธันวาคมศกก่อน ยอดสั่งจองซื้อวัคซีนแอนตี้โควิดล่วงหน้าโดยจำแนกตามแหล่งผู้ซื้อเชื่อมโยงกับแหล่งประเทศ/บริษัทผู้ค้นคว้าพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนดังแสดงในแผนที่ เป็นดังนี้คือ (ตาราง 1)

วัคซีนแอนตี้โควิดของอเมริกากับยุโรปครองตลาดหลักในคำสั่งจองซื้อล่วงหน้าของบรรดา 20 ประเทศ/กลุ่มประเทศผู้ซื้อวัคซีนรายใหญ่ในโลก (Le Monde, 21 ธันวาคม 2020)

ส่วนประเทศ/บริษัทผู้ค้นคว้าพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนแอนตี้โควิดรายใหญ่ 8 แหล่ง ยอดคำสั่งซื้อที่ได้คือ (ตาราง 2)


อนึ่ง สหภาพยุโรปได้กระจายคำสั่งจองซื้อวัคซีนแอนตี้โควิดล่วงหน้าของตนไปยังห้องทดลองของอเมริกากับยุโรปรวม 6 แห่ง โดยการสั่งจองซื้อล่วงหน้าทำนองนี้นานาประเทศทำกันโดยยังไม่รู้ผลการทดสอบเชิงคลินิกในแฟ้มผลงานของวัคซีน 5-6 แหล่งนั้นอย่างชัดเจนถึงที่สุด
กรณีจีน ข้อมูลที่คลุมเครือทำให้ไม่อาจหยั่งรู้ยอดรวมคำสั่งจองซื้อวัคซีนแอนตี้โควิดล่วงหน้าจากแหล่งผู้ผลิตในจีนได้
ยิ่งกว่านั้น เกณฑ์วิธีทดสอบวัคซีนทางคลินิกของจีนและรัสเซียก็ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะด้วย นี่เป็นเหตุที่ทำให้ประชาคมนานาชาติแสดงความสนใจวัคซีนที่ผลิตในจีนและรัสเซียน้อยกว่าที่ผลิตในแหล่งอื่น

กล่าวเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านหลักๆ ของไทย สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่เปิดฉากโครงการฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดให้แก่ประชาชนเมื่อ 30 ธันวาคมศกก่อน โดยฉีดให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์โรคติดเชื้อแห่งชาติ 40 คน
ขณะที่อินโดนีเซียกลับเป็นประเทศแรกที่ได้รับการขนส่งวัคซีนแอนตี้โควิดเข้าประเทศก่อนใครในเอเชียอาคเนย์จากบริษัท Sinovac Biotech จำกัดของจีนจำนวน 3 ล้านโดสตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมศกก่อน แต่ยังคงรอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดสอบวัคซีนตัวนี้จากผู้ผลิตก่อนพิจารณาอนุมัติให้ใช้ในอินโดนีเซียได้
จากข้อมูลเท่าที่ประมวลได้จากรายงานข่าวของสำนักข่าว Bloomberg และนิตยสาร Nikkei Asia ปรากฏว่า 5 ประเทศเพื่อนบ้านของไทยดำเนินการติดต่อจัดหาและสั่งจองซื้อวัคซีนแอนตี้โควิดไปแล้วดังนี้ :
(https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-31/southeast-asia-covid-19-vaccine-tracker-who-will-get-what-when; https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Asia-in-2021-through-a-screen-darkly)

อินโดนีเซีย

มุ่งฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดให้ประชากร 181.5 ล้านคนโดยถือผู้อยู่ในวัย 18-59 ปีเป็นกรณีเร่งด่วน
ดำเนินการ : พึ่งทั้งวัคซีนตะวันตกและจีน สั่งวัคซีน 125.5 ล้านโดสจาก Sinovac, 50 ล้านโดสจาก AstraZeneca และอีก 50 ล้านโดสจาก Novavax ขณะเดียวกันก็ให้บริษัท Merah Putih ของอินโดนีเซียเองพัฒนาขึ้นมา 57.6 ล้านโดส
– ติดต่อหาวัคซีนอีก 54 ล้านโดสจากโครงการ GAVI (ส่วนหนึ่งของ COVAX) พร้อมทั้งเจรจาขอซื้อวัคซีน 50 ล้านโดสจาก Pfizer และขอยืมอุปกรณ์เก็บวัคซีนแช่แข็งด้วย
– วางแผนฉีดวัคซีนให้ประชากร 16 ล้านคน/เดือน โดยมองว่าอุปสรรคถ่วงช้าสำคัญได้แก่ การผลิตวัคซีนไม่ทันท่วงที แทนที่จะเป็นปัญหาโลจิสติกส์ในการขนส่งวัคซีนข้ามทะเลไปยังหมู่เกาะนับพันๆ ของตน
บริษัทที่ทำสัญญา : Sinovac Life Sicences/BioFarma (ทางการประกาศฉีดวัคซีนฟรีให้ประชากรทั้งหมด 270 ล้านคน)
กำหนดการ : กุมภาพันธ์ 2021 เริ่มฉีดวัคซีน

ฟิลิปปินส์

ต้องการวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างน้อย 50 ล้านโดสในปีนี้ (2021) เพื่อปลูกเชื้อให้ประชากรราวหนึ่งในสี่ คาดว่าวัคซีนส่วนใหญ่จะตกถึงฟิลิปปินส์ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า กลุ่มที่ถูกจัดให้รับวัคซีนเร่งด่วนได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานการแพทย์ด่านหน้าและคนงานในอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่ง รวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเสี่ยง
ดำเนินการ : เล็งที่จะใช้เงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อวัคซีนโดยหาเงินทุนจากบรรดาองค์การพหุภาคี ธนาคารของรัฐ บริษัทและแหล่งเงินทุนทวิภาคีต่างๆ
– ทางการฟิลิปปินส์คาดว่าจะลงนามในข้อตกลงซื้อวัคซีนจาก Pfizer-BioNtech ได้ในเดือนมกราคมศกนี้และยังกำลังทำข้อตกลงกับ Moderna เพื่อซื้อวัคซีนล็อตแรก 20 ล้านโดส กล่าวโดยรวม ทางการฟิลิปปินส์ตั้งเป้าจะหาวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80 ล้านโดสจากบริษัทยาอย่าง AstraZeneca, Novavax, Johnson & Johnson
– รัฐบาลกำลังขอให้ศูนย์กามาเลยาเพื่อวิทยาการระบาดและจุลชีววิทยาแห่งชาติของรัสเซียซึ่งเสนอจะจัดหาวัคซีนให้ฟิลิปปินส์ 25 ล้านโดสช่วยส่งผลการทดสอบวัคซีนทางคลินิกรอบที่สามมาให้พิจารณา ส่วนการเจรจากับ Sinovac ยังดำเนินต่อไป
บริษัทที่ทำสัญญา : AstraZeneca/มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (บริษัทจัดหาวัคซีนมาให้ได้เพียง 2.6 ล้านโดส โดยแบ่งกันคนละครึ่งระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนฟิลิปปินส์)
กำหนดการ : พฤษภาคม 2021 วัคซีนล็อตแรกจะส่งมาถึง

มาเลเซีย

กําลังใช้เงิน 504 ล้านดอลลาร์ซื้อวัคซีนให้พอรองรับประชาชน 26.5 ล้านคนหรือราว 80% ของประชากรทั้งประเทศ
ดำเนินการ : มาเลเซียมีนัดหมายจะได้รับวัคซีน AstraZeneca 6.4 ล้านโดสผ่านโครงการ COVAX และอีก 6.4 ล้านโดสรับซื้อโดยตรงจากบริษัท AstraZeneca ซึ่งพอสำหรับปลูกเชื้อให้ประชากร 20% ของประเทศ วัคซีนล็อตแรกคาดว่าจะส่งมาถึงในไตรมาสที่สองของปีนี้
– รัฐบาลมาเลเซียกำลังเจรจาขั้นสุดท้ายกับบริษัท Sinovac ของจีนเพื่อซื้อวัคซีน 14 ล้านโดส, กับบริษัท CanSino Biologics ของจีนเพื่อซื้อวัคซีน 3.5 ล้านโดส, และกับรัสเซียเพื่อซื้อวัคซีน Sputnik V จำนวน 6.4 ล้านโดส ข้อตกลงเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับบริษัทท้องถิ่นต่างๆ ของมาเลเซียเองซึ่งมีสมรรถภาพที่จะผลิตแบบเติมเสร็จ (fill-finish manufacturing) ให้แก่วัคซีนเหล่านี้
– มาเลเซียยังกำลังเจรจาจัดหาวัคซีนกับบริษัท Moderna และ Johnson & Johnson ด้วย
– มาเลเซียลงนามข้อตกลงกับจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2020 เพื่อให้ได้สิทธิในการเข้าถึงเป็นลำดับแรกซึ่งวัคซีนแอนตี้โควิดที่จีนพัฒนาขึ้น
– มาเลเซียได้ร่วมทำการทดสอบวัคซีนแอนตี้โควิดทางคลินิกเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคมศกก่อนตามส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลมาเลเซียกับรัฐบาลจีน การทดสอบทางคลินิกดังกล่าวเป็นการทดสอบขั้นสามกับวัคซีนที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบันชีววิทยาการแพทย์แห่งสถาบันบัณฑิตแพทยศาสตร์จีน
บริษัทที่ทำสัญญา : Pfizer (รัฐบาลมาเลเซียจะได้รับวัคซีนแอนตี้โควิดรวม 12.8 ล้านโดสตามข้อตกลงที่ลงนามกับ Pfizer-BioNtech SE เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 โดย Pfizer จะจัดส่งวัคซีนให้ 1 ล้านโดสในไตรมาสแรกของปีนี้, 1.7 ล้านโดสในไตรมาสสอง, 5.8 ล้านโดสในไตรมาสสาม และ 4.3 ล้านโดสในไตรมาสสุดท้าย ข้อตกลงดังกล่าวจะพอรองรับประชากรมาเลเซีย 6.4 ล้านคน ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าวัคซีนของ Pfizer ต้องผ่านความเห็นชอบของหน่วยงานกำกับดูแลวัคซีนของสหรัฐอเมริกาและมาเลเซียเอง มาเลเซียยังต่อรองกับ Pfizer ให้ตนมีสิทธิเลือกที่จะซื้อวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อครอบคลุมประชากรให้ได้อีก 20% ของประเทศด้วย
กำหนดการ : ไตรมาสแรกปี 2021 วัคซีนล็อตแรกจะส่งมาถึง

สิงคโปร์

รัฐบาลกันเงินไว้ราว 754 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าวัคซีนและได้ติดต่อหาซื้อวัคซีนจากบริษัทอย่าง Arcturus Therapeutics Holdings Inc., Moderna, Pfizer และ Sinovac รัฐบาลประเมินว่าน่าจะหาวัคซีนพอรองรับประชากรราว 5.5 ล้านคนของตนได้ในไตรมาสที่สามของปีนี้
ดำเนินการ : ผู้ให้บริการด่านหน้าทางการแพทย์และอื่นๆ คนชราและกลุ่มล่อแหลมจะได้รับวัคซีนก่อนเพื่อน
– ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศ ทว่าทั้งนี้ให้รับฉีดวัคซีนโดยสมัครใจ
– ฉีดวัคซีนฟรีแก่ชาวสิงคโปร์และผู้พำนักอาศัยระยะยาวทั้งหมด
บริษัทที่ทำสัญญา : Pfizer/BioNtech, Moderna, Sinovac Life Sciences, Duke-NUS Medical School/Arcturus Therapeutics
กำหนดการ : ธันวาคม 2020 วัคซีนล็อตแรกส่งมาถึงแล้ว, คาดว่าจะมีวัคซีนพอรองรับประชากรราวกรกฎาคม-กันยายนศกนี้
น่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากรทั้งหมดได้ในธันวาคมศกนี้

เวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามกำลังพัฒนาวัคซีนแอนตี้โควิดขึ้นเองและจะทำงานร่วมกับบริษัทจัดหาวัคซีนทั้งหลายเมื่อวัคซีนพร้อมใช้ได้แล้ว
ดำเนินการ : รัฐบาลเวียดนามตกลงซื้อวัคซีน 30 ล้านโดสจาก AstraZeneca ซึ่งพอเพียงรองรับประชากร 15 ล้านคนและกำลังเจรจาจัดหาวัคซีนกับ Pfizer และบริษัทผลิตยาในอเมริกา อังกฤษ จีนและรัสเซีย นอกจากนี้ เวียดนามยังมีสิทธิ์ซื้อวัคซีนผ่านโครงการ COVAX เพื่อรองรับประชากรอีก 16% หรือ 15.6 ล้านคนจากประชากรทั้งสิ้น 98 ล้านคน
– 17 ธันวาคม 2020 เวียดนามเริ่มทดสอบทางคลินิกขั้นแรกกับวัคซีนแอนตี้โควิดของตนชื่อ Nanocovax ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท Nonogen Pharmaceutical Biotechnology และคาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนออกใช้ได้ในปี 2022 หากวัคซีนผ่านการทดสอบทางคลินิกได้สำเร็จ
– บริษัทผู้ผลิตวัคซีนอีกสองแห่งของเวียดนามจะเริ่มทดสอบวัคซีนแอนตี้โควิดทางคลินิกกับคนในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมศกนี้
บริษัทที่ทำสัญญา: AstraZeneca/มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
กำหนดการ : ทางการเวียดนามยังไม่ได้รับรองมาตรฐานวัคซีนแอนตี้โควิดจากแหล่งใดๆ และจะเริ่มผลิตวัคซีนของเวียดนามเองหากผ่านการทดสอบทางคลินิกในปี 2022
(ต่อสัปดาห์หน้า)