สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูของไทย (4) : ‘พระเวท’ /คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูของไทย (4)
: ‘พระเวท’

พราหมณ์พัทลุงท่านหนึ่งคุยกับผมว่า “พราหมณ์กรุงเทพฯ เวลาไปทำพิธีให้ชาวบ้านท่านไม่ใช้ ‘เวท’ เหมือนทางบ้านเรา” ซึ่งท่านหมายถึงเวลาทำพิธี พราหมณ์กรุงเทพฯ มักใช้บทบวงสรวงหรือคำประกาศต่างๆ ที่เขียนเป็นภาษาไทยที่มีบาลีปนอยู่บ้าง ไม่ได้ใช้บทสวดที่ใช้กันในเทวสถาน
ซึ่งบทสวดเหล่านี้พราหมณ์สยามท่านเรียกว่า “เวท” ครับ
พราหมณ์พัทลุงท่านนี้มักส่งมนต์ต่างๆ ที่ใช้กันให้ผมดูเพื่อจะช่วยกันพิจารณาว่า บทไหนเทียบเคียงได้กับมนต์สันสกฤตในอินเดีย
แม้จะกล่าวแบบนั้น ที่จริงทั้งพราหมณ์กรุงเทพฯ และพราหมณ์พัทลุงก็มีที่คล้ายกัน แม้จะมีอะไรต่างกันบ้างในทางประเพณีบ้าง แต่เท่าที่ผมรู้ มนต์ที่ตกทอดกันมาก็เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่
เช่น พราหมณ์กรุงเทพฯ มีเวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาส พราหมณ์พัทลุงก็มี เป็นต้น

ผมเคยเขียนไปบ้างแล้วว่า พราหมณ์สยามเวลาทำพิธีท่านใช้มนต์ที่หลากหลาย มีทั้งภาษาไทย ภาษาทมิฬ (ที่ออกเสียงอย่างไทย) บาลีและสันสกฤต
ด้วยความเก่าแก่ยาวนานและกลายเป็น “ไทยๆ” เสียแล้ว หลายมนต์ที่ใช้กันจึงมิทราบความหมายและที่มาที่ไป
ดังนั้น ในสมัยรัชกาลที่หก ซึ่งมีความสนพระทัยด้านภารตวิทยาหรือความรู้เกี่ยวกับอินเดียเป็นพิเศษ จึงทรงจ้างให้พราหมณ์ชื่อกุปปุสวามี อารยะ เป็นผู้ตรวจสอบชำระมนต์พิธีของพราหมณ์สยาม
ผมคิดว่า ท่านเองก็ทรงอยากเข้าพระทัยสิ่งที่พราหมณ์สยามสวดท่อง
การชำระตรวจสอบครั้งนั้นสำเร็จลุล่วงด้วยดี ทว่าเมื่อมีชำระใหม่อีกครั้งก็พบว่าท่านกุปปุสวามีมีความเข้าใจที่ผิดมากในหลายส่วน เพราะท่านคิดว่ามนต์ส่วนใหญ่ของพราหมณ์สยามเป็นสันสกฤตทั้งหมด โดยที่จริงมีภาษาทมิฬปนอยู่มาก
การชำระตรวจสอบใหม่จึงได้มีการว่าจ้างท่านพราหมณ์ปัญจนทีศวร สุพรหมัณยะ ศาสตรี (ป.ส.ศาสตรี) ซึ่งเป็นชาวอินเดียใต้ มีความรอบรู้ทั้งสันสกฤตและทมิฬ ตรวจชำระใหม่แล้วเสร็จ ตีพิมพ์ออกมาในชื่อ “รายงานการสำรวจตำราพระราชพิธีพราหมณ์สยาม” ในปี พ.ศ.2474

ท่านพบว่ามนต์ในพระราชพิธีของไทยนั้น สามารถแยกเป็นสองภาษาคือส่วนที่เป็นภาษาทมิฬ และส่วนที่เป็นสันสกฤต
จำเพาะส่วนที่เป็นสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของฮินดู บทสวดของพราหมณ์สยามส่วนมากมักมาจากบทประพันธ์ประเภท “สฺโตตฺรมฺ” หรือบทสรรเสริญเทพเจ้าที่อยู่ในรูปของฉันท์ชนิดต่างๆ เช่น อรฺธนารีศฺวรสฺโตตฺร (บทสรรเสริญ พระอรธนารีศวร คือพระศิวะในรูปร่ายกายครึ่งกับชายา), ศิวปญฺจากฺษรสฺโตตฺรมฺ (บทสรรเสริญอักษรทั้งห้าของพระศิวะ คือ นมะศิวายะ) ฯลฯ
บทประพันธ์ชนิดนี้ โดยมากคณาจารย์ในนิกายต่างๆ ประพันธ์ขึ้น หรือมีที่มาจากคัมภีร์ปุราณะเป็นหลัก จะใช้สวดท่องในพิธีกรรมหรือใช้ท่องนอกเหนือเวลาพิธีกรรมก็ได้ ทั้งยังไม่ได้มีข้อกำหนดในเรื่องทำนอง ในปัจจุบันจึงมีการนำไปประกอบดนตรีต่างๆ เพื่อความไพเราะยิ่งขึ้น
มนต์สันสกฤตในพิธีของพราหมณ์สยามส่วนมากเป็นมนต์ประเภทนี้ จะมีจากคัมภีร์อื่นๆ ก็เล็กน้อย ที่เรียกชื่อไม่ตรงกับเนื้อหาก็มี และที่สำคัญคือแทบไม่มีมนต์จาก “พระเวท” ตามขนบฮินดูเลย

ต้องย้อนทวนนิดครับว่า สำหรับชาวฮินดูแล้ว สามารถแบ่งมนต์ออกเป็นสองแบบ คือมนต์ที่ใช้สันสกฤตกับมนต์ภาษาพื้นบ้านต่างๆ
มนต์ที่เป็นสันสกฤตก็ยังแบ่งตามประเภทและศักดิ์กว้างๆ ได้อีกสามแบบ แบบแรกคือมนต์จากคัมภีร์พระเวท (ไวทิกมนต์) ซึ่งมีที่มาจากพระเวททั้งสี่ ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวทและอาถรวเวท แบบที่สองคือมนต์จากคัมภีร์ปุราณะ (เปาราณิกมนต์) ซึ่งอาจรวมถึงที่มีคณาจารย์แต่งเสริมเข้าไปด้วยก็ได้ และมนต์ในระบบอาคมหรือตันตระ (ตันตริกะ) ซึ่งมักมีลักษณะพิเศษคือมีมนต์ที่เน้นเสียงและสอนเป็นการลับ
มนต์จากพระเวทนับถือกันว่ามีศักดิ์สูงสุด เพราะพระเป็นเจ้าถ่ายทอดลงมาโดยตรงให้ฤษีได้ฟัง (ศรุติ) ผู้จะเรียนได้มีแต่ “ทวิชา” หรือคนในสามวรรณะแรก ปัจจุบันก็มักมีแต่พราหมณ์ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักเรียนกันอยู่
มนต์ในพระเวทนั้นมีระบบบังคับการออกเสียงสวดท่อง เรียกว่า “สวระ” ไม่สามารถสวดทำนองตามใจชอบได้ ต้องสวดตามที่สืบๆ กันมาเท่านั้น ทั้งยังกำหนดวิธีและระเบียบการใช้ที่ชัดเจน
นอกจากพระเวทในส่วนการสวดท่องที่เรียกว่า “สัมหิตา” ยังมีส่วนที่เป็นแนวคิดทางปรัชญาลึกซึ้งเรียกว่า อุปนิษัทด้วย ซึ่งเป็นรากฐานปรัชญาของฮินดู
เวลาพราหมณ์ทำพิธีจะเลือกใช้มนต์ประเภทไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรียนมาอย่างไร บางทีก็ผสมกันเช่นใช้ทั้งมนต์ในพระเวทประกอบกับมนต์ปุราณะ แต่นิยมนับถือว่าพราหมณ์ที่รู้เวทเป็นบุคคลพิเศษ เพราะพระเวทศักดิ์ศรีสูงกว่ามนต์อื่น จึงมักนิยมเชิญพราหมณ์ที่รู้พระเวทเพื่อประกอบพิธีมากกว่า
ผมสนใจว่า เหตุใดพราหมณ์สยามและคงในอุษาคเนย์ด้วย จึงไม่เหลือพระเวทมาปรากฏในมนต์พิธีเลย แต่กลับเรียกบทสวดสันสกฤตในพิธีของตนว่า “เวท” แทน
นอกจากนี้ ในคัมภีร์เฉลิมไตรภพซึ่งอ้างว่าเป็นคัมภีร์โหราศาสตร์ตามคติพราหมณ์บ้านเรา กล่าวถึงการสร้างโลกว่ามี “พระเวทย์” และ “พระธรรม” สองอย่างนี้เข้ารวมกันจึงบังเกิดเป็นพระอิศวร
กระนั้นความหมายของ “พระเวทย์” ในเฉลิมไตรภพก็มิได้บ่งชัดว่าหมายถึงอะไรกันแน่

ทั้งนี้ ผมไม่ได้คิดนะครับว่าพราหมณ์สยามหรือบรรพบุรุษของท่านไม่มีความรู้ในพระเวท ที่จริงที่การเขียน “สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย” เป็นตอนๆ นี้ ก็เพียงเพื่อจะสำรวจว่า มีสิ่งใดที่หายไปหรือแตกต่างจากพราหมณ์-ฮินดูของอินเดียในภาพรวมเท่านั้นเองครับ เพราะเข้าใจว่า ศาสนาจากต่างแดนเมื่อเข้ามาในดินแดนอื่นก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมวัฒนธรรมนั้น
“เวท” สำหรับพราหมณ์สยามจึงมิได้หมายถึง “พระเวท” (veda) ซึ่งเป็นหมวดคัมภีร์เฉพาะตามแบบอินเดีย
ทว่าหมายถึงมนต์ที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสันสกฤตหรือทมิฬก็ตาม เช่น เวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาส
คนไทยทั่วไปก็ใช้คำว่า “เวท” หรือ “เวทย์” ในความหมายเดียวกัน คือหมายถึงคำที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะอย่างฮินดู
กระนั้นธรรมเนียมการเรียน “เวท” แบบพราหมณ์สยามนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงการเรียนพระเวทแบบอินเดียอยู่บ้าง คือสืบทอดกันในครอบครัว และต้องใช้การท่องจำแบบมุขปาฐะทั้งเนื้อหาและทำนอง ซึ่งพราหมณ์นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองส่วน
การไม่มีอยู่ของพระเวท ทำให้พิธีกรรมต่างๆ ของพราหมณ์ไทยมีลักษณะบางอย่างเฉพาะ คือตัวรูปแบบยังคงมีความคล้ายคลึงกับอินเดียแต่ไม่มีมนต์ในพระเวทกำกับ และการไม่มีเวทก็ทำให้ความคิดที่มีในอุปนิษัทไม่ปรากฏ
ผมคิดว่า พราหมณ์สยามนั้นมารู้จักพระเวทอย่างอินเดียเมื่อได้ติดต่อกับเทวสถานและชุมชนคนฮินดูแล้ว คือไม่กี่สิบปีมานี้ (เอาเข้าจริงผมคิดว่า แม้ในอินเดียเอง การรื้อฟื้นการเรียนพระเวทในสถาบันการศึกษาก็เป็นสิ่งใหม่เหมือนกัน) ดังจะเห็นได้ว่า มีพระเวทอย่างฮินดูพิมพ์ด้วยอักษรเทวนาครีเล่มเขื่องประดิษฐานอยู่ในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์
เข้าใจว่ามีมาในสมัยพระราชครูวามเทพมุนี บิดาของท่านพระมหาราชครูฯ คนปัจจุบัน และเล่มเดียวกันนี้ยังประดิษฐานอยู่ในเทพมณเฑียรสมาคมฮินดูสมาชด้วย

ท้ายนี้ ผมคิดว่าการที่บรรพบุรุษพราหมณ์สยามที่มาจากอินเดีย ไม่นำเอาพระเวทมาใช้ในพระราชพิธีของเรา ก็อาจมีเหตุผลส่วนหนึ่งจาก “ความรังเกียจ” คนพื้นเมืองก็เป็นได้
กล่าวคือ อาจเห็นว่าคนพื้นเมืองไม่ได้มีศักด์ศรีเท่าคนใน “ภารตวรรษ” หรือคนอินเดียด้วยกัน เป็นพวกป่าพวกเถื่อน จึงเลี่ยงที่จะเอาพระเวทที่ตนนับถือมากมาใช้ในพิธีกรรมของคนพื้นเมือง
สุดท้ายพระเวทก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำในที่สุด
ท่านใดมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ หรือมีหลักฐานที่น่าสนใจวานบอกด้วย
จักขอบพระคุณอย่างสูง