ธงทอง จันทรางศุ | สวมวิญญาณ ‘รมต.ศึกษา’

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

สวมวิญญาณ “รมต.ศึกษา”

ช่วงเวลานี้ถ้าวันไหนไม่ได้ยินคำว่า “โควิด” นั่นน่าจะหมายความว่าเราปลีกวิเวกอยู่คนเดียวโดยไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารอะไรทั้งสิ้น

เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่คำนี้จะไม่โผล่เข้ามาสู่ชีวิตของเราในช่องทางใดก็ช่องทางหนึ่ง

จะอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือพูดคุยกับญาติมิตรเพื่อนฝูง ดูจะไม่พ้นไปจากเรื่องนี้ได้

นอกจากการพูดกันถึงข้อเท็จจริงว่าแต่ละวันมีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลงอย่างไร เมื่อไหร่การฉีดวัคซีนรอบแรกจะเกิดขึ้นในบ้านเรา ใครจะฉีดก่อนฉีดหลังหรืออะไรทำนองนี้แล้ว

ประเด็นหนึ่งที่เป็นหัวข้อสนทนาบ่อยครั้งคือเรื่องของการปรับตัวเข้ากับโรคระบาดในขณะนี้

ผมเป็นคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษา จะให้ไปพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจมหภาคมหึมาอะไรขนาดนั้นย่อมเกินสติปัญญา เรามาคุยกันเรื่องใกล้ตัว (ผม) ดีกว่าครับ

เรื่องแรกที่อยากจะปรารภขึ้นมาคือการปรับตัวของหลักสูตรและวิธีการวัดผล

จําได้ว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อ-แม่ของผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม การเรียนการสอบขลุกขลักไปหมดทั้งประเทศ สุดท้ายกระทรวงศึกษาธิการยุคนั้นประกาศว่านักเรียนทุกคนได้เลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสอบต้องประเมินอะไรทั้งนั้น

นักเรียนรุ่นนั้นจึงมีชื่อเรียกขานว่า “รุ่นโตโจ” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นชื่อของนายพลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการชักจูงประเทศไทยเข้าไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

นายพลโตโจนี่แกได้บุญมากทีเดียวครับ

เกริ่นมาเสียอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าอยากให้มีนักเรียนรุ่นโควิดนะครับ ส่วนจะให้หมายความว่าอะไรเดี๋ยวค่อยว่ากัน

ช่วงเวลานี้หลานสาว ผู้เป็นลูกน้องชายของผม กำลังเรียนอยู่ในชั้นปีที่สี่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง (ซึ่งอันที่จริงมหาวิทยาลัยทุกแห่งก็มีชื่อเสียงทั้งนั้นแหละ เพราะถ้าไม่มีชื่อเสียงแล้วจะเรียกชื่อกันอย่างไรได้ถูกเนอะ อิอิ)

ตามหลักสูตรนักศึกษาจะต้องไปฝึกงานในชุมชนแออัด เพื่อเรียนรู้ปัญหาและแนวทางในการทำงานกับชุมชนเหล่านั้น

แต่ด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ใครต่อใครย่อมเห็นชัดเจนว่าการไปพบปะพูดคุย จับเข่าคุยกันแบบเช้าถึงเย็นถึงเช่นนั้น อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงโรคภัยได้หลายอย่าง

หลังจากปรึกษากับครูบาอาจารย์แล้ว ผมทราบว่าคณะซึ่งเป็นเจ้าของวิชาได้กำหนดวิธีฝึกงานขึ้นใหม่ให้เหมาะสม

โดยให้นักศึกษาใช้วิธีโทรศัพท์พูดคุยสอบถามข้อมูลกับพี่น้องประชาชนในชุมชนเหล่านั้น

ถ้าจำเป็นต้องไปดูให้เห็นกับตา ก็ถ่ายรูปส่งให้แก่กันหรือคุยโทรศัพท์แบบเห็นหน้ากันก็ย่อมทำได้

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว นักศึกษาจะประชุมหารือกันก็ใช้ระบบการประชุมออนไลน์

พอถึงเวลาต้องนำเสนองานหรือพูดคุยถกเถียงหารือกันกับครูบาอาจารย์ ก็ไม่ต้องเดินทางไปมหาวิทยาลัย ทุกอย่างทำออนไลน์หมด

ถูกแล้วครับว่า การฝึกงานหรือการเรียนรู้แบบนี้ย่อมไม่ได้ผล 100% เสมือนกันกับการเข้าไปเดินท่อมๆ อยู่ในพื้นที่จริง ตามหลักสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ

แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ ได้ผลสักร้อยละ 80 ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลยไม่ใช่หรือ

ในสถานศึกษาอีกแห่งหนึ่ง เป็นสถาบันที่เรียนในทางอาชีวะ ตามหลักสูตรต้องมีการไปฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรม มาถึงยามนี้การไปฝึกงานแบบที่ว่านั้นดูมีข้อขัดข้องไปเสียทุกอย่าง

คำถามที่พูดคุยกันคือ สถานศึกษาแห่งนั้นจะสั่งการให้นักศึกษาถอนรายวิชานั้นออกทิ้งไป เพื่อจะได้ไปเรียนใหม่ในปีหน้าเมื่อโรคร้ายค่อยสร่างซาไปแล้วได้หรือไม่

ความหมายระหว่างบรรทัดที่ผมกังวลคือ คำถามนั้นจะแปลผลว่า นักศึกษาจะต้องจบการศึกษาช้าไปหนึ่งภาคเรียนหรือหนึ่งปีการศึกษาใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็เรื่องใหญ่นะครับ

สำหรับผู้บริหารสถานศึกษาหรือครูบาอาจารย์ทั้งหลายซึ่งมีเงินเดือนกินอยู่เป็นประจำรายเดือน นึกไม่ค่อยออกหรอกครับว่า การที่นักศึกษาหนึ่งคนเรียนจบช้าไปสี่เดือนหรือหนึ่งปี จะเกิดภาระอะไรขึ้นบ้างกับตัวเขาเองและครอบครัวของเขา

ครูบาอาจารย์ก็เป็นห่วงเรื่องมาตรฐานการศึกษาอยู่นั่นแล้ว จนบางครั้งลืมห่วงเรื่องอื่นไป

ผมไม่มีคำตอบสำหรับโจทย์ข้อข้างต้นนี้หรอกว่าสถานศึกษาแห่งนั้นควรตัดสินใจอย่างไร แต่ผมว่าถ้าเราคิดให้ละเอียดรอบคอบแล้ว ทางเลือกทางออกยังมีอีกเยอะครับ อย่าคิดตอบโจทย์เพียงแค่ชั้นเดียว เอาความง่ายความสะดวกของคนตัดสินใจเข้าว่า ปัญหาท้าทายอย่างนี้มีไว้ให้เราลับสมองไม่ใช่ให้เรายอมจำนน

หลายท่านทราบดีอยู่แล้วว่าแม้จนถึงวันนี้ผมก็ยังสอนหนังสือในฐานะเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ในคณะนิติศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ต้นปีก่อน

เมื่อโรคภัยมาเคาะประตูอยู่ที่หน้าบ้านของเรา ผมก็เปลี่ยนมาสอนออนไลน์แล้ว ดูเหมือนจะเคยเล่าไว้ในที่นี้แล้วด้วยซ้ำไปว่าเป็นความตื่นเต้นของตัวเองมากมาย แต่ก็อึดอัดฮึดฮัดอยู่เหมือนกันที่ไม่สามารถจะเห็นแววตาของนักเรียนได้ว่า เขาเข้าใจเรื่องที่ผมพูดไปมากน้อยเพียงใด

แต่ก็นั่นแหละครับ จะให้ได้ทุกอย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนอย่างแต่ก่อนย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทุกคนต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ

ผมนึกอยู่ในใจว่า อันที่จริงการเรียนในสถานศึกษาหรือในมหาวิทยาลัยใดก็แล้วแต่ นอกจากความรู้ที่ได้ในชั้นเรียนแล้ว “การเรียนรู้” ที่เกิดขึ้นยังมีอีกมาก ตั้งแต่การค้นคว้าการทดลองที่ต้องอาศัยห้องสมุดห้องทดลอง การพูดคุยถกแถลงกันในระหว่างนักศึกษาด้วยกันเองทั้งในรุ่นเดียวกันหรือต่างรุ่น บรรยากาศการเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ที่มีความเห็นแตกต่างกันและเหมือนกันเป็นธรรมดา การทำกิจกรรมร่วมกันซึ่งหัดให้เราทำงานร่วมกันกับคนอื่น และอีกสารพัดกิจการที่จะขานชื่อได้อีกมากมาย

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งขาดหายไปหมดจากระบบการเรียนออนไลน์

น่าเสียดายมากครับและผมก็ไม่มีสติปัญญาที่จะคิดอ่านคนเดียวได้ทะลุปรุโปร่งพอที่จะบอกได้ว่าเราควรทำอย่างไรกับการเรียนการสอนในเวลานี้

ในคณะนิติศาสตร์ (ของผม) เมื่อนิสิตมาใช้ห้องสมุดไม่ได้ ทางคณะก็ต้องจัดระบบการยืมหนังสือออนไลน์ คือให้นิสิตเข้ามาสำรวจดูชื่อหนังสือในบัญชีแล้วแจ้งความจำนงว่าอยากจะยืมเล่มนั้นเล่มนี้ ทางคณะก็จัดส่งหนังสือไปให้ทางไปรษณีย์ มีกำหนดเวลาเท่านั้นเท่านี้วัน นิสิตก็ส่งคืนกลับมา

ระบบนี้ก็พอแก้ขัดกันไปได้ แต่ไม่อิ่มเอมเหมือนกับการเข้าไปเดินเลือกหนังสือตามชั้นในห้องสมุดหรอก จริงไหมครับ

ระบบต่างๆ ที่นำเข้ามาทดแทนการเรียนการสอนและบรรยากาศของการศึกษาแบบเต็มรูปที่มีอยู่ในภาวะปกติ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและต้องทบทวน ประเมินผลกันอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน

เราเคยอ่านพบจากข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ แล้วว่า สำหรับนักเรียนชั้นประถมหรือชั้นมัธยมที่ต้องเรียนออนไลน์ ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์เอย สัญญาณสื่อสารเอย หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้น ความพร้อมที่มีไม่เหมือนกันสำหรับครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะไม่เท่าเทียมกัน เรื่อยไปจนถึงความรู้ความเข้าใจของครูอาจารย์

ต่างครูต่างวิชาต่างสั่งการบ้านกันตามใจชอบ

เรียกว่าคุณพ่อคุณแม่ทำการบ้านไม่ทันกันเลยทีเดียว ฮา!

ทั้งหมดที่พูดมายืดยาวนี้ เพียงอยากจะขอร้องว่า ในภาวะการที่เราต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนขณะนี้ ขอความกรุณาผู้เกี่ยวข้อง ช่วยกันคิดให้ลึกซึ้งว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการปฏิบัติเวลานี้ ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไปก็ล้วนแต่นำไปสู่ปัญหาอื่นทั้งสิ้น และถ้าจะให้ดีก็ช่วยฟังความเห็นของผู้ที่จะได้รับผลกระทบประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนนั้นแหล่ะคนสำคัญเลย

การศึกษามิได้มีความหมายแค่เพียงสอบได้คะแนนผ่านเท่านั้น แต่ผมนึกว่า หมายถึงการพัฒนามนุษย์คนหนึ่งให้มีศักยภาพที่จะอยู่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างดีที่สุดเท่าที่ระบบการศึกษาของเราจะเอื้อเฟื้อให้เขาได้

วันนี้เขียนหนังสือเหมือนกับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างนั้นแหละ

เผลอตัวไป ขออภัยคร้าบ