2503 สงครามลับ สงครามลาว | ทุ่งไหหิน : พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ
พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

2503 สงครามลับ
สงครามลาว (12)

ทุ่งไหหิน

ปลายปี 2503/1960 สถานการณ์ในราชอาณาจักรลาวกำลังยุ่งยากจากการปฏิวัติของ ร.อ.กองแล วังเปานำคนของเขาหลบหนีกำลังฝ่ายซ้ายและเวียดนามเหนือมายังพื้นที่ชายขอบ “ทุ่งไหหิน” ซึ่งจะกลายเป็นสมรภูมิรบที่เขาจะสร้างตำนานร่วมกับสหายจากสหรัฐและไทย
ทุ่งไหหิน (Plaine des Jarres หรือ Plain of Jars) เป็นที่ราบในแขวงเชียงขวาง มีถนนสาย 7 ที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นเชื่อมต่อถนนสาย 13 ที่ภูขุนมุ่งไปยังเวียดนาม
ถนนสาย 7 นี้ตัดผ่านภูมิประเทศของทุ่งไหหินซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งก้นกระทะ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเกือบ 20 กิโลเมตร มีเนินสูงๆ ต่ำๆ อยู่ทั่วไป ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง
ทางทิศตะวันตกได้แก่ ภูแท่น ภูเซอ
ทางทิศตะวันออกได้แก่ ภูเก็ง-ช่องภูมิประเทศที่เป็นที่ราบจนไปถึงภูเทิง
ทางเหนือเป็นช่องภูมิประเทศระหว่างภูแท่นและภูเก็ง
ทางใต้คือภูห่วง ซึ่ง “ภู” เหล่านี้จะเป็นจุดสู้รบเพื่อแย่งชิงกันเข้ายึดครองระหว่างกองกำลังของฝ่ายซ้ายและขวาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีของสงครามกลางเมืองครั้งนี้
พื้นที่ส่วนใหญ่ของทุ่งไหหินโล่งเตียนสุดลูกหูลูกตา มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่เพียงไม่กี่ต้น บริเวณเชิงเขาทางด้านตะวันออกและใต้ของทุ่งไหหิน มีไหหินโบราณขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากมหาศาลจำนวนหลายร้อยใบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
อันเป็นที่มาของชื่อ “ทุ่งไหหิน” ดังกล่าว
ในอดีตบริเวณกลางทุ่งไหหินนี้เคยเป็นที่ตั้งเมืองเชียงขวาง แต่ภายหลังได้ย้ายออกไปตั้งในที่ตั้งใหม่
สำหรับถนนสาย 7 ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่นี้ เริ่มต้นจากสามแยกภูคูน คดเคี้ยวไปตามเขาบนที่ราบสูงตรันนินห์ เส้นทางแคบมาก รถวิ่งสวนกันแทบไม่ได้
ตัดผ่านเมืองสุย-ภูกูด-ทุ่งไหหิน-บ้านลาดบัว-หนองเป็ด-บ้านนาน-หนองเฮท-เมืองเสน-เวียดนามเหนือ
ส่วนถนนสาย 13 เริ่มต้นจากหลวงพระบาง ผ่านภูคูน ลงไปยังกรุงเวียงจันทน์ เลียบแม่น้ำโขงลงไปถึงจำปาศักดิ์-แก่งหลี่ผี-พนมเปญ-ไซ่ง่อน ถนนสายนี้มีอีกชื่อว่า “ถนนสายอาณานิคม”
ทุ่งไหหินมีสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแม้ว่าจะมีความกว้างไม่ถึง 20 กิโลเมตร แต่เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือของลาว
ทุ่งไหหินถูกรายล้อมทั่วทุกทิศด้วยภูเขาหินปูนที่แทงยอดสลับซับซ้อนสูงชันท่ามกลางผืนป่าเขียวขจีที่ห้อมล้อมอยู่บริเวณเชิงเขา ด้วยลักษณะบังคับของภูมิประเทศ เส้นทางถนนที่มีอยู่ไม่กี่สายในภาคเหนือของลาวจึงต้องมาบรรจบกันบริเวณใกล้ๆ ตัวทุ่งไหหิน
ทำให้ทุ่งไหหินเป็นจุดยุทธศาสตร์และศูนย์กลางการรวมพลยอดนิยมของกองกำลังทุกฝ่ายในลาวมาโดยตลอด

ความสำคัญของทุ่งไหหิน

กล่าวอย่างรวบรัด สาระสูงสุดของสงครามในลาวก็คือการแย่งชิงกันเข้าครอบครองพื้นที่ทุ่งไหหิน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ
สำหรับฝ่ายเวียดนามเหนือ หากฝ่ายตรงข้ามเข้ายึดทุ่งไหหินได้ ก็จะคุกคามโดยตรงต่อเส้นทางโฮจิมินห์อันเป็นเส้นเลือดหลักของการส่งกำลังบำรุงที่สำคัญที่สุดในการปลดปล่อยเวียดนามใต้
สำหรับฝ่ายราชอาณาจักรลาวคือ หากฝ่ายตรงข้ามเข้ายึดทุ่งไหหินได้ ก็จะคุกคามโดยตรงต่อนครหลวงเวียงจันทน์

“หัวหน้านล” พบวังเปา

ต้นมกราคม 2504/1961 พ.ต.วังเปาแห่งกองทัพบกแห่งราชอาณาจักรลาวได้พบกับ “ชาวไทยผู้ใช้ชื่อรหัส “นล” หรือนามจริง “พ.ต.ท.ประเนตร ฤทธิ์ฤๅชัย” ผู้บังคับค่ายตำรวจพลร่มนเรศวร หัวหิน แห่งราชอาณาจักรไทย ที่บ้านท่าเวียง ชายขอบทุ่งไหหิน
หนังสือ “อาจองธำรงศักดิ์ น้อมใจภักดิ์พระจักริน” ซึ่งกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้งตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวรปีที่ 60 ได้บันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรเริ่มเข้าปฏิบัติการลับในราชอาณาจักรลาวดังนี้
“ในระหว่างปลายปี พ.ศ.2503 ถึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2504 หลังจากที่รัฐบาลไทยและสหรัฐได้ตกลงใจที่จะป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์ที่กำลังจะขยายเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น พ.ต.อ.เจมส์ วิลเลียม แลร์ และตำรวจพลร่มโดย พ.ต.ท.ประเนตร ฤทธิ์ฤๅชัย ผู้บังคับค่ายนเรศวร (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ผบ.ประเนตร) ท่านเป็นหัวหน้าได้ไปพบ พ.ต.วังเปาเป็นครั้งแรกที่บ้านท่าเวียง บริเวณทางใต้ของทุ่งไหหิน ประเทศลาว พร้อมเสนอให้การช่วยเหลือวังเปาในการต่อสู้กับฝ่ายลาวคอมมิวนิสต์”
“ซึ่งวังเปาได้มีการตกลงใจที่จะรับการช่วยเหลือจากสหรัฐเรื่องอาวุธและการฝึกให้ทหารม้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของวังเปา ฝ่ายสหรัฐหรือซีไอเอจะเป็นผู้สนับสนุนเรื่องอาวุธและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

จุดเริ่มของความสัมพันธ์ลับ

หนังสือ “ผลาญชาติ” ของโรเจอร์ วอร์เนอร์ โดยไผท สิทธิสุนทร แปล มีรายละเอียดจากคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.เจมส์ วิลเลียม แลร์ “บิลล์ แลร์” ดังนี้
“จากช้อปเปอร์ บนเนินเขาด้านล่าง แลร์มองเห็นผู้ชายตัวเล็กๆ อยู่ในชุดกางเกงสีดำยาวแค่ครึ่งแข้ง เขาจึงบอกให้นักบินนำช้อปเปอร์ลงจอด เมื่อเครื่องลงจอดแล้วก็วิ่งตรงไปยังชาวนาม้งที่มีท่าทางตื่นตกใจคนนั้นและถามว่าวังเปาอยู่แถวๆ นี้หรือเปล่า ม้งคนนั้นพยักหน้าตอบว่าคงอยู่สักแห่งแถวๆ นี้
นักบินตะโกนแข่งกับเสียงเครื่องยนต์ว่าจะรีบนำเครื่องขึ้นด้วยกลัวจะค่ำมืดเสียก่อน แลร์จึงหันไปถามประเนตรว่าเต็มใจจะอยู่ค้างคืนที่นี่กับพวกพารูไหม
ผู้บัญชาการหน่วยพารูตอบกลับมาว่าแน่นอนที่สุด
เขาเชื่อว่าการได้พบวังเปาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และรู้ว่าจอร์เจนเซน (หัวหน้าซีไอเอที่เวียงจันทน์) ไม่ต้องการให้แลร์อยู่ค้างแรม เพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื่องชาวต่างชาติในลาว ไม่เช่นนั้นแลร์ก็จะคงจะอยู่กับพวกเขาที่นี่ด้วยอย่างแน่นอน”
เมื่อได้รับสัญญาณจากประเนตร พารูที่เหลือทั้ง 5 ก็โดดลงจากช้อปเปอร์ด้วยทีท่าระแวดระวังกับภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคย
วันต่อมาแลร์ซึ่งอยู่ที่บ้านพักของพวกพารูในเวียงจันทน์ได้รับข้อความเข้ารหัสทางวิทยุจากประเนตรว่า “พบวังเปาแล้ว” และในข้อความดังกล่าวต่อไป “เขาคือคนที่เรากำลังมองหา รีบกลับมา คุณจะได้พบกับเขาด้วยตัวเอง”
วันรุ่งขึ้นแลร์เดินทางกลับทุ่งไหหิน…
“ระหว่างเดินทางกลับไปยังเขตภูเขาและคิดทบทวนถึงข้อความจากประเนตร ‘วังเปาคือคนที่เรากำลังมองหา’ จนลืมสนใจกับการเดินทางและไม่ได้สังเกตหมู่กระท่อมหลังคาสังกะสีที่ปลูกติดกันเป็นกระจุกของหมู่บ้านท่าเวียงเบื้องล่าง คนของวังเปาที่บางส่วนอยู่ในชุดทหารลาวลุ่มและบางส่วนคือพวกม้งในชุดสีดำประจำเผ่าได้เคลื่อนกำลังถอยหนีข้าศึกมาหลายวันแล้วโดยอาศัยหลบนอนในป่าหรือไม่ก็อาศัยตามบ้านญาติๆ ของพวกเขา ถึงแม้จะล่าถอยแต่ก็เป็นการล่าถอยอย่างมีระเบียบภายใต้การนำของชายตาชั้นเดียวร่างเตี้ยแต่ดูกระฉับกระเฉง”
“แลร์สังเกตและรู้ในทันทีว่าคนคนนี้คือวังเปาโดยมีประเนตรที่ยืนอยู่ข้างๆ พยักหน้าเป็นเชิงยืนยัน”