E-DUANG : บทบาท เด่น ทักษิณ ชินวัตร กระตุก ต่อมอิจฉา การเมือง

เหตุใดจึงเริ่มมีการปล่อยข่าวและสร้างกระแสเพื่อโจมตี นายทักษิณ ชินวัตร อย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง

ทุกอย่างมาจากมูลเชื้อเดียว คือ ความหวาดกลัว

หวาดกลัวต่อการสำแดงท่าทีและความคิดทางการเมืองออกมา นับแต่เดือนธันวาคม 2563 อาจเป็นเรื่องการเลือกตั้งนายกอบจ.และเน้นจำเพาะไปยังจังหวัดเชียงใหม่

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร ประสานเข้ากับของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผลสะเทือนที่เป็นจริงในทางการเมือง

ยิ่งกว่านั้น ในห้วงส่งท้ายปีเก่า 2563 ต้อนรับปีใหม่ 2564 นาย ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องใหญ่ในทางการเมือง เริ่มจาก กรณีการแพร่ระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด

ที่สำคัญก็คือ การแตะไปยังการเคลื่อนไหวของ”เยาวชนปลด แอก”เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ยกระดับเป็น”คณะราษฎร 2563”

จากจุดนี้แหละที่ก่อความหวั่นไหวอย่างละเอียดอ่อนยิ่ง

 

เด่นชัดยิ่งว่า นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงโคจรอยู่โดยรอบการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยอย่างเหนียวแน่นมั่นคงไม่แปรเปลี่ยน

การเปลี่ยนภายในพรรคเพื่อไทยระลอกล่าสุดสะท้อนอิทธิพลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเด่นชัด

แน่นอน แม้จะมองเห็นเงาร่างของบางคนอันแนบแน่นอยู่กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เมื่อเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะปฏิเสธ บทบาทของ นายทักษิณ ชินวัตร ไปได้อย่างไร

ยิ่งกว่านั้น แนวโน้มนี้มิได้เป็นเพียงการรักษาฐานที่มั่นเดิม คือ พรรคเพื่อไทยอันเป็นอวตารแห่งพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย หากแต่ยังยื่นมือไปยัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ยิ่งกว่านั้น ยังเชื่อมไปยังการเคลื่อนไหวอันคึกคักยิ่งของเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่

ประการหลังนี้ต่างหากที่สร้างความหวาดผวาเป็นอย่างสูง

 

ต้องยอมรับว่า ยิ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบความล้มเหลวในการบริหารและตกอยู่ในภาวะทรุดเสื่อมเท่าใด สังคมยิ่งถวิลหา นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น

หากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 มาจาก”ต่อมอิจฉา”

รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งเด่นชัดในความอิจฉาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายทักษิณ ชินวัตร มิใช่หรือ

ยิ่งอิจฉา ยิ่งโกรธแค้น ยิ่งคนคิดถึง ยิ่งหวาดกลัว