สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘พุทธ’ ปราบ ‘ผี’ ไม่สำเร็จราบคาบ

พระสงฆ์ชุดแรกๆ ปะทะคนพื้นเมืองสุวรรณภูมินับถือศาสนาผี มากกว่า 1,000 ปีมาแล้ว ครองจีวรห่มคลุมถือบาตร (คล้ายบิณฑบาต) พบหลักฐานเป็นประติมากรรมดินเผา เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ภาพถ่ายและลายเส้นจำลองจากหนังสือสุวัณณภูมิ ของธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510)

‘พุทธ’ ปราบ ‘ผี’
ไม่สำเร็จราบคาบ

ศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์แผ่ถึงอุษาคเนย์อย่างไม่ราบรื่น ซึ่งมีเหตุจากอุษาคเนย์มีศาสนาผีเป็นรากฐานแข็งแรงก่อนแล้วหลายพันปี เมื่อศาสนาใหม่จากอินเดียเข้ามาย่อมมีสถานการณ์ปะทะต่อต้าน

ดังพบหลักฐานเป็นเค้ามูลหลายอย่างล้วนต่างจากที่ปลูกฝังมานานว่าการเข้ามาของศาสนาพุทธเป็นไปอย่างราบรื่นร่มเย็นเป็นสันติธรรม

พุทธปะทะผี

ก่อนรับศาสนาจากอินเดีย คนในอุษาคเนย์และในไทยนับถือศาสนาผี มีการแสดงความนอบน้อมต่อผีบรรพชนโดยยกมือข้างใดข้างหนึ่งทำท่าเหมือนป้องหู (มักพบต่อมาเป็นประเพณีเมื่อเริ่มการละเล่นขับลำ)

หลังรับศาสนาจากอินเดีย หัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองได้เลือกสรรส่วนที่ไม่ขัดกับผีของพุทธและพราหมณ์-ฮินดู ห่อหุ้มคลุมศาสนาผีให้ดูดีมีระดับ โดยรักษาหลักการของศาสนาผีไว้เหนียวแน่น แต่เคลือบภายนอกด้วยพุทธและพราหมณ์-ฮินดู โดยรับประเพณีกราบไหว้จากอินเดียมาในคราวนี้ด้วย
พุทธปะทะผี ศาสนาพุทธใช้ความรุนแรงคุกคามและปราบปรามศาสนาผีของคนพื้นเมือง ดังพบในหลักฐานจากวรรณกรรมบางเรื่อง ได้แก่ คัมภีร์มหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา), อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม จ.นครพนม) เป็นต้น

แต่ไม่สำเร็จราบคาบ ดังนั้น คนพื้นเมืองยังเลื่อมใสศาสนาผี แม้ในวัดทั่วประเทศตราบจนปัจจุบันก็มี “ศาลผี” ได้แก่ ศาลเจ้าที่ (หรือศาลตา-ยาย), ศาลเจ้าพ่อ, ศาลเจ้าแม่ ฯลฯ จนในที่สุดก็ลดความแตกต่างแล้วรวมกันเป็นรัฐขนาดใหญ่ กระทั่งขยายเป็น “อาณาจักร”

การผสมกลมกลืนเข้าด้วยกันระหว่างศาสนาพื้นเมืองกับศาสนาจากอินเดีย ย่อมกลายเป็นอีกศาสนาหนึ่งที่ต่างจากต้นตอดั้งเดิม (ไม่มากก็น้อย) จึงควรสมมุติชื่อเรียกใหม่อย่างรวมๆ ว่าศาสนาอุษาคเนย์ตามสภาพแวดล้อมจริง

ศาสนาอุษาคเนย์ คือ ศาสนาผีปนศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรียกอย่างง่ายๆ ว่า “ผี-พุทธ-พราหมณ์” ทั้งนี้ เนื่องจากชนชั้นนำซึ่งเป็นคนพื้นเมืองได้เลือกสรรรับศาสนาจากอินเดียทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เฉพาะที่มีประโยชน์ทางการเมืองการปกครองของตนโดยไม่เสีย “หลักการ” ดั้งเดิมในศาสนาผี แล้วใช้พุทธกับพราหมณ์-ฮินดูห่อหุ้มคลุมศาสนาผีให้ดูดีมีระดับเพื่อใช้งานการเมืองการปกครองอย่างแข็งแรงตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000
(ทำนองเดียวกันในไทยทุกวันนี้อาจเรียก “ศาสนาไทย”)

ศาสนาผีในสุวรรณภูมิมีพิธีกรรมคนใส่หน้ากากคลุมหัวรูปสามเหลี่ยม ราว 2,500 ปีมาแล้ว จากภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี (ภาพคัดลอกของกรมศิลปากร)

คำบอกเล่าจากวรรณกรรม

เมื่อศาสนาพุทธไปถึงสุวรรณภูมิ ต้องปะทะศาสนาผีดั้งเดิมถึงขั้นมีการปราบปรามรุนแรง มีบอกในวรรณกรรม ดังนี้

คัมภีร์มหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา) บอกว่าพระเถระ (สองรูป) จากอินเดียปราบปรามผีเสื้อน้ำ พระเถระเป็นตัวแทนของศาสนาพุทธจากอินเดีย ผีเสื้อน้ำเป็นตัวแทนของศาสนาผีพื้นเมือง ซึ่งเป็นที่นับถือของคน “ไม่ไทย” หลายเผ่าพันธุ์

เนื้อความโดยสรุปจากคัมภีร์มหาวงศ์ มีว่าผีเสื้อน้ำอาละวาดกินทารกทั่วสุวรรณภูมิ
พระโสณะกับพระอุตตระเมื่อออกจากอินเดียถึงสุวรรณภูมิเพื่อเผยแผ่ศาสนาพุทธแก่คนพื้นเมือง แต่ชาวสุวรรณภูมิคิดว่าพระเถระทั้งสองเป็นพวกเดียวกับผีเสื้อน้ำจับกินทารก จึงร่วมกันจับอาวุธขับไล่เข่นฆ่า

ขณะนั้นผีเสื้อน้ำออกอาละวาด พระเถระทั้งสองได้แสดงอภินิหารปราบผีเสื้อน้ำและบริวารแตกหนีไปหมดไม่กลับมาอีก นับแต่นั้นชาวสุวรรณภูมิเลื่อมใสในคำสอนทางพุทธศาสนาจากพระเถระทั้งสอง

อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) บอกว่าพระศาสดาทรมานนาคที่อาละวาดอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงต่อเนื่องถึงเทือกเขาภูพาน พระศาสดาเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธจากอินเดีย นาคเป็นตัวแทนของศาสนาผีพื้นเมือง ซึ่งเป็นที่นับถือของคน “ไม่ไทย” หลายเผ่าพันธุ์

ผีตาโขนใส่หน้ากากสืบเนื่องจากคนใส่หน้ากากบนภาพเขียนที่ผาแต้ม อุบลราชธานี ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ภาพจากหนังสือ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 8 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 2808)