หลังเลนส์ในดงลึก : ‘วิถี’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - อาชีพชะนี คือการปลูกต้นไม้ นำพาเมล็ดผลไม้ไปแพร่กระจาย นี่คือวิถีของมัน

‘วิถี’

ว่าตามจริง ผมจำไม่ได้แน่ชัดนักหรอกว่า อยู่ในสายงานอันเป็นอาชีพที่ทำอยู่นี้มานานเท่าไหร่แล้ว

รู้เพียงว่า มันเป็นเวลาที่นานมาก และอีกความรู้สึกหนึ่งที่รู้คือมันคล้ายไม่ได้เป็นงาน ไม่ได้เป็นอาชีพ

แต่มันเป็นวิถีของชีวิต

เช่นเดียวกับเหล่าสัตว์ป่า อาชีพของพวก มัน คือวิถีชีวิต

การกินอาหาร เป็นแค่ผลได้จากการทำงานหลัก คือการควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชของสัตว์ผู้ล่า และควบคุมปริมาณพืชโดยเหล่าสัตว์กินพืช

กับอาชีพนี้ มีหลายสิ่งที่มากับงานที่ทำ

เช่น เขี้ยวเล็บของสัตว์ผู้ล่า รวมถึงทักษะในการทำงานของพวกมัน ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของเหล่า “สัตว์ร้าย” อันตราย

คนทำงานในป่า “ผลพลอยได้” จากการทำงานของพวกเขาไม่มากนัก

มีหลายสิ่งมากับงานที่ทำ ต้องพบเจอความยากลำบาก เหนื่อยยาก ค่าแรงไม่มาก ต้องอยู่ในป่าราวกับไร้หนทางไป

คนที่ผมพบปะ ได้มีโอกาสทำงาน ใช้ชีวิตเคียงข้างกัน สิ่งที่ผมเห็นคือ นี่ไม่ใช่แค่งานดูแลปกป้องชีวิตสัตว์ป่า และแหล่งอาศัย

แต่มันคือวิถีชีวิตของพวกเขา

ในบ้านของสัตว์ป่า ฤดูกาลมีเพียงสองฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง

คนทำงานในป่า ก็อยู่กับสองฤดูนี้

เราต้องหาทางรับมือกับความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น เมื่ออยู่ในช่วงฤดูฝน

ที่เลี่ยงไม่พ้นเลยคือ เส้นทางที่ยากในการสัญจรมากขึ้น ไม่เฉพาะการเดินทางด้วยรถ เส้นทางด่านที่สัตว์ป่าอย่างกระทิงใช้เดินไปล่วงหน้า ก็ไม่ใช่การเดินอันง่ายดาย

เพราะมันจะเป็นหลุมลึก น้ำหนักกระทิงแต่ละตัวไม่น้อยกว่า 700-800 กิโลกรัม

เดินย่ำไปตามด่าน พลาดตกหลุมรอยตีนกระทิง ข้อเท้าพลิกได้

พักแรมในป่า ไม่ยุ่งยากเรื่องหาน้ำ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่สัตว์ป่าจะลงมาใช้ แต่มีโอกาสสูงมากที่จะพบเจอกับลำห้วยซึ่งสายน้ำเชี่ยวกราก ข้ามไปอีกฝั่งไม่ได้ หรือยาก

ไม่ต้องพูดถึงในป่าดิบ ที่มีทากชูตัวสลอน

ในแคมป์ก็จะมีเพื่อนๆ สัตว์เลื้อยคลาน ตะขาบ แมงป่อง รวมทั้งงูมาเยือน

ฟืนเปียกก่อไฟในสายฝนไม่ใช่ปัญหา ผูกเปลท่ามกลางสายฝน มีห่วงดักน้ำฝน เชือกหัวเปล กางฟลายชีทตึงๆ กันความเปียกชื้นได้

มีจีพีเอส มีแผนที่ ประกอบกับความชำนาญในพื้นที่ เดินไปถึงจุดหมายต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ

นี่ไม่ใช่งานอันสะดวกสบายนัก แต่ก็ไม่ใช่ความลำบากยากเข็ญ

มันเป็นสิ่งที่มากับงาน

คนทำงานในป่าที่ผมพบเจอ มีไม่น้อยเพิ่งเข้ามาทำงาน แต่ก็มีหลายคนทำงานในป่ามากว่า 20 ปี

ศุภกิจ ชายวัย 40 ปลายๆ ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าทิคองที่ผมต้องแวะพักเสมอ เขาคุยสนุก มีเรื่องขำๆ เยอะ

“เรื่องลำบากๆ ก็มีนะครับ” ค่ำหนึ่งตอนนั่งคุยกันในโรงครัว เขาพูด

“ตอนนั้นมีลูกสองคนแล้ว คนโตอายุแค่สองขวบ คนเล็กไม่กี่เดือน พอดีต้องกลับหน่วย ก็เดินทางแบบทุกครั้ง คือ ใช้มอเตอร์ไซค์ ลูกคนโตนั่งหน้า คนเล็กแม่เขาอุ้ม ฝนตกหนักมาก ทางก็อย่างที่เห็นนี่แหละ ช่วงนั้นผมอยู่หน่วยแม่กะสะ ต้องข้ามห้วยดงวี่ ไปถึงดงวี่น่ะ สองทุ่มแล้ว ตอนนั้นไม่ได้มีที่พักจุดสกัดแบบตอนนี้ ปรากฏน้ำขึ้นสูงมาก ข้ามไม่ได้ จะกลับมานอนหน่วยซ่งไท้ ก็ไกลเกิน ตัดสินใจพักนอน ขึงฟลายชีท ไม่ได้เตรียมอาหารไป ไฟแช็กจะก่อไฟยังไม่มี เราน่ะทนหนาวได้ แต่สงสารลูกมาก หิวด้วย จนสายๆ น้ำถึงลดพอข้ามได้ วันนั้นไปถึงหน่วยเกือบบ่ายสอง” เขาเล่ายาว

“นั่นแหละความลำบากที่สุดของผม” ถึงตอนนี้ นี่เป็นเรื่องที่เขาเล่าให้ใครๆ ฟังอย่างสนุก

“ผมก็มีเรื่องลำบากครับ” ชูชัยนั่งอยู่แถวนั้น อยากเล่าบ้าง

เขาเคยเล่าประวัติความเป็นมาให้ผมฟัง ว่าเขาเกิดที่เมืองคุณหมิง ประเทศจีน เพราะพ่อเป็น “สหาย” ระดับจัดตั้ง อายุ 6 ขวบเดินทางกลับเมืองไทย ใช้ชีวิตวัยรุ่นที่หมู่บ้านจะแก โตเป็นหนุ่มไปใช้ชีวิตในเรือประมงหลายลำ ไปเป็นคนเลี้ยงม้าแข่ง ก่อนกลับมาทำงานในป่า

“วันที่ไปทำทางกันปีที่แล้วไงครับ” เขาเริ่ม ผมจำได้ วันนั้นเขาหายไปทั้งคืน

“ว่าจะเคลียร์ต้นไม้ที่ล้มไปเรื่อยๆ นึกว่าคนอื่นๆ จะตามมา เดินไปตั้งไกล พอย้อนกลับมาไม่มีใครอยู่แล้ว”

วันนั้นรถแทร็กเตอร์ที่ใช้ทำทางเสีย เราจึงย้อนกลับหน่วยก่อน

“เอ็งก็เป็นแบบนี้ ไปไหนมาไหนไม่บอกใคร ได้บทเรียนไหมล่ะ” บุญชัย ลูกพี่ชูชัยว่า ชูชัยยิ้มแห้งๆ

“ผมเดินไปมืดๆ ไฟฉายไม่มี เห็นหิ่งห้อย แสงเต็มไปหมด มองไกลๆ นึกว่าแคมป์ เรารีบเดินไปเจอแต่หิ่งห้อย” เขาหัวเราะก่อนเล่าต่อ

“ตัดสินใจหยุด เอาใบกล้วยมาปูนอน อีกใบเอาห่มกันหนาว นอนไปกลัวไป สวดมนต์ตลอด” เขาเล่าและหัวเราะขำตัวเอง

และเรื่องความลำบากของเขา ก็เป็นเรื่องขำของเรา

ช่วงนั้น ชูชัยทำหน้าที่เป็นลูกมือบุญชัยช่างใหญ่ เสียงเพลงประเภทปลุกใจ พร้อมเสียงเมาธ์ออร์แกนจากการเป่าของชูชัยดังขึ้น ในความเงียบ มันฟังไพเราะ

“มันมั่วหรือเปล่าน่ะ ภาษาจีนเราก็ไม่รู้” ลูกพี่บุญชัยให้ความเห็น

ต้นฤดูแล้ง อุณหภูมิลดต่ำ ก่อนจะสูงขึ้น และความแห้งแล้งมาเยือนในช่วงปลายๆ ก่อนการเดินทางมาถึงของฤดูฝน

เมื่อฝนกลับมาเยือน คนในป่าเตรียมรับมือกับความยุ่งยากที่เพิ่มขึ้น

กระทิงกระจายไปทั่ว หลังมารวมตัวกันในทุ่งหญ้าระบัด

หน่อไม้ในป่าไผ่เริ่มแทงหน่อ กระเจียวชูช่อดอกแทรกขึ้นมาจากเถ้าดำๆ

แหล่งอาหารของเหล่าสัตว์ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ งานหนักของพวกมันเริ่มต้นเช่นกัน

กับชีวิตที่ทำงานอยู่ในป่า มีหลายสิ่งหลายอย่างมาพร้อมกับงานที่ทำ

การทำงานของชีวิตในป่า ไม่ใช่เพียงอาชีพ

แต่มันคือ “วิถี” ของชีวิต