ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | อัญเจียแขฺมร์ |
เผยแพร่ |
ยังจำได้เมื่อหลายปีก่อนโน้น ตอนที่หนังสือพิมพ์ เดอะ บางกอกโพสต์ เปิดเซ็กชั่นใหม่ชื่อ “ดิ อินโดไชน่า” ตอนนั้น ฉันคิดว่ามันน่าตื่นตาตื่นใจนักสำหรับการกลับไปหากัมพูชาโดยผ่านงานของอดีตคอลัมนิสต์ นักคิด นักข่าวหลังยุคเขมรแดง
และเซ็กชั่น “ดิอินโดไชน่า” นี่แหละที่มีส่วนสำคัญผลักดันให้ฉันไปกัมพูชา เพื่อที่จะพบว่า มีบางอย่างของความเป็น “นักข่าว” ในประเทศนี้ที่น่าจดจำ โดยเฉพาะในหมู่คนท้องถิ่น
หนึ่งในนั้น คือคนที่ฉันเรียกตามคนไทยว่า “ไอ้ตัวเล็ก” นอกจากจะพูดไทยได้และมีอัธยาศัยดี ไอ้ตัวเล็กนี้ยังทำงานเต็มเวลาในร้านอาหารอีกด้วย
พอเก็บโต๊ะเก้าอี้เข้าร้านเรียบร้อย เขาก็ล้มตัวลงนอนตรงใต้โต๊ะนั่นเอง ครั้นพอเช้าอีกวัน หมอก็สวมเสื้อเชิ้ตแบบเดียวกับตัวเดิม เดินดุ่มเลียบถนนท้ายวังไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์
“แก คึมสง” คนที่เราเห็นหน้าเขาทุกวันที่ร้านอาหาร หากแต่น้อยคนมากที่จะทราบว่าเขาเป็นนักข่าวให้ เดอะ แคมโบเดียเดลี่
ซึ่งดูเหมือนเขาเองนั้น ไม่ค่อยแสดงออกในอาชีพเนี้ยะกาแสด/นักหนังสือพิมพ์ของตนสักเท่าใด เว้นแต่ความกระตือรือร้นในอาชีพบริกร
กระทั่งวันหนึ่ง ฉันก็พบไบไลน์ชื่อเขาในหนังสือพิมพ์ และรำพึงว่า โห ไอ้ตัวเล็ก – “แก คึมสง” ทำไมแกถึงเป็นคนเก็บงำตัวเองได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย อย่างไรก็อย่างนั้น
ไม่ใช่แต่คึมสงหรอกนะ คนอื่นๆ ในเดอะโพสต์ที่ฉันรู้จัก พวกเขาต่างมีกรอบขันธ์/พิกัดในแบบหนึ่ง
นั่นแหละ ชีวิตที่เหมือนจะพลัดหลงไปบนทางเดินของตัวเอง เหมือนฉันที่อยากจะเริ่มต้นที่เดอะโพสต์สักแห่ง แต่ก็กลับหาตัวเองไม่เจอ มารู้ตัวอีกที ก็ไปมีชีวิตเป็นหัวหน้าแดนเซอร์
ส่วน แก คึมสง คนที่อยากจะมีชีวิตอยู่แต่ในบาร์ตลอดชีพ และไม่คิดจะไปอาชีพอื่น กลับกลายมาเป็นนักหนังสือพิมพ์!
ให้ตายเถอะ!
มันมีเหตุมาจากบาร์เดอะเบสต์ แขกขาประจำคนหนึ่งซึ่งมาดื่มทุกสัปดาห์ชื่อว่า เจมส์ เค็นเตอร์ คึมสงเล่าว่า หมอมีตำแหน่งเป็นถึงบรรณาธิการเดอะ แคมโบเดียเดลี่ และเจมส์นี่เอง ที่ตื๊อชวนเขาไปทำข่าวให้เดลี่ แต่เขาไม่รู้จริงๆ ว่ามันคืออาชีพอะไร? แม้จะชอบเช่าหนังสือพิมพ์มาอ่านวันละ 500 เรียล (ราว 5 บาท)
แต่เขาก็ยังนึกไม่ออกอยู่ดีว่า มันคืออาชีพอะไรฟระ?
และผิดวิสัยอเมริกันชนที่ เจมส์ เค็นเตอร์ มาชวนคึมสงถึง 3-4 ครั้ง
แต่ แก คึมสง ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทำงานแบบนั้นได้อย่างไร เรียนหนังสือก็ไม่จบบาตุ๊บ ทำงานเป็นบ๋อยบริกรเดินโต๊ะ แถมตอนนั้นยังติดสาวบาร์คนหนึ่ง เลยไม่อยากจะไปทำงานที่อื่น
แต่วิกฤตรัฐประหารที่ทำให้บาร์เดอะเบสต์มีอันต้องปิดกิจการ ทำให้เขาต้องทำงานอยู่ในร้านอาหารไทยที่กำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน
เมื่อมองไม่เห็นทางออก แก คึมสง จึงยอมไปพบ เจมส์ เค็นเตอร์ เขาได้งานนั้นทันที แต่ก็ยังไม่ยอมเลิกเป็นบ๋อย
“วันแรก เขาส่งปากกากับสมุดโน้ตมาหนึ่งเล่ม ผมก็โห…นึกว่าจะเห็นแบบในทีวี มีคนถือกล้องถือไมค์ บรรยากาศแบบนั้น แต่เขาให้ทำแค่นี้ คือไปตามรัฐมนตรีคนหนึ่ง และสั่งว่า ถ้าเขาพูดอะไรก็จดมาให้หมด”
“ผมก็จดมาหมดเลยตั้ง 4-5 หน้า พอมาถึง เขาก็ส่ายหน้า บอกว่า โอ มันโขดมาก (ใช้ไม่ได้) ผมฟังไม่เข้าใจ นึกว่าให้ไปหยิบโค้กมาหน่อย (หัวเราะ) พอวันต่อมาถึงได้เห็นว่าเขาลงไม่กี่บรรทัด แล้วใต้หัวเรื่องนั่นแหละมีชื่อผมแปะอยู่ตัวเล็กมาก “แก คึมสง”
“โห ผมงี้ บรรยายไม่ถูก”
มันเหมือนกับยาวิเศษที่ชุบชีวิตของเรามาจนทุกวันนี้
ฉันเองก็เคยเห็นไบไลน์ชื่อของเขาในหน้าหนังสือพิมพ์นั่น และโดยที่ฉันมีโอกาสเห็นคนในแวดวงนี้มาบ้าง แต่ แก คึมสง ทำให้ฉันรู้สึกว่า มันก็เป็นอาชีพแสนธรรมดาที่ก็น่าภาคภูมิใจ แต่ก็ใช่จะมากไปกว่างานบริกรในร้านอาหารเล็กๆ ที่เขาพักพิงชายคาในห้วงเวลานั้น
ต่างกับฉัน ที่เอาแต่คิดเรื่องสถานะของตน จนอาชีพบันเทิงแดนเซอร์ของฉันมีอันอับปางและไปไม่รอด และบางครั้งฉันก็อดจะอาลัยเสียมิได้
เมื่อนึกว่าครั้งหนึ่ง ฉันเคยอยากเป็นพวก “เดอะโพสต์” ซึ่งเคยมีทั้งงานเขียนและภาพ ตีพิมพ์เดอะแคมโบเดียฯ เดอะพนมเปญโพสต์ในฉบับภาษาประกิต และกัมปูเจียทไงนิฉบับภาษาเขมร
และความรู้สึกแบบนั้นเองที่ท่วมท้นในจิตใจ มันทำให้ฉันแวะเวียนไปสำนักงานที่นั่นเท่าที่จะมีโอกาส และเสียใจว่า ทำไมฉันจึงทิ้งโอกาสนั้นไป?
จนบัดนี้ ความรู้สึกกึ่งสุขกึ่งเศร้าต่อสหายบางคนในแวดวง “เดอะโพสต์” ที่บ้างต้องเผชิญกับความเจ็บปวด การสูญเสีย พลัดพราก และบางคนก็ล้มหายตายจาก
ทั้ง นายแปน สมิธิ และเพื่อน บ.ก.นิตยสารประเจียไปร การจากไปของพวกเขาคือความทรงจำเก่าๆ ของฉัน
เว้นแต่คนเดียวเท่านั้น ที่ไม่เหมือนใครคือ แก คึมสง
นั่นเอง คล้อยปี พ.ศ.2550 ไปไม่นาน ข่าวไอ้ตัวเล็ก-แก คึมสง บัดนี้ เขาได้รับถึงในฐานะ “บรรณาธิการ” เดอะพนมเปญโพสต์ฉบับเขมรรายวันที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ปัญญาชนที่คนเขมรต้องอ่าน
“(เดอะ) พนมเปญโพสต์ก็เหมือนกับอาหารเช้า กลางวัน เย็น ที่คนเขมรอยากกิน” ตอนหนึ่ง แก คึมสง ให้สัมภาษณ์พิธีกร-DAP News/สำนักข่าวต้นมะขามซึ่งก่อตั้งโดย ฮุน มะนา บุตรสาวคนโตของ สมเด็จฮุน เซน (https://youtu.be/kzLiGpCxO5A)
และนิสัยบริกรของ แก คึมสง ที่เปรียบเทียบอะไรก็ไม่พ้นโต๊ะอาหาร
มันยังเป็นคุณสมบัติพิเศษของ แก คึมสง คนที่มองชีวิตด้วยสายตาแบบคนที่หาเช้ากินค่ำ คนที่เติบโตอย่างไร้รากขาดสถานพักพิงที่น่าจดจำ อันแตกต่างไปจากพวกชนชั้นกลาง ที่เต็มไปด้วยข้อเรียกร้อง คำตัดพ้อต่อว่าและให้ราคาชีวิตของตนมากกว่าข้อพิสูจน์ของเนื้องาน
คึมสงดูจะมองชีวิตอย่างเดียงสา ไร้เป้าหมาย และปราศจากความปรารถนาในความสำเร็จ เล่าว่า ตอนที่ถูกส่งตัวไปทำข่าว เอียง ซารี นั้น แก คึมสง ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เอียง ซารี เป็นใคร? มีความสำคัญอย่างไร? โดยเฉพาะในช่วงที่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของระบอบ พล พต ผู้นี้กำลังบรรลุข้อตกลงทางการเมืองกับ ฮุน เซน
แต่ความไม่รู้นั่นเองที่ทำให้ แก คึมสง ถูกส่งตัวไปไพลินร่วมกับนักข่าวฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นไม่มีนักข่าวเขมรคนไหนอยากจะเดินทางไปไพลิน
ตอนนั้นเอง ที่ แก คึมสง เริ่มจดจำเรื่องราวของตน การเสียชีวิตของพ่อแม่ที่พระตะบองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่เกิดจากระบอบเขมรแดง
อันที่จริง เขาควรจะรับรู้เรื่องราวแบบนี้มาก่อนบ้างมั้ย? ฉันสงสัย
แต่การไม่มีต้นทุนทางอาชีพของหมอนั่น กลับทำให้เขาซึมซับเนื้อหาความเป็นไปในสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ต่างประเทศและจิปาถะ อย่างปราศจากความลุ่มหลงเพ้อฝัน
อย่างที่บอก ถ้าคุณเป็นคนเขมร ไม่วันใดก็วันหนึ่ง คุณก็ต้องรู้เรื่องเขมรแดงอยู่ดี
แต่การไม่รู้นี่สิ อืมห์ มันช่างเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
เหมือนที่ แก คึมสง ถูกส่งไปติดตามรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่หลายคน โดยที่เขาเองก็ไม่เคยรู้ประวัติมากมายกับคนเหล่านั้น ซึ่งก็แปลกที่แต่ละท่าน ล้วนแต่เคยเป็นเขมรแดง
ตั้งแต่ รมต.ฮอ นัมฮง-ว่าการต่างประเทศ และ รมต.การคลังและเศรษฐกิจหลายวาระอย่าง เกียต ชน
ถ่อมตนนักว่าไม่ใช่ผู้รู้เศรษฐศาสตร์ แต่ก็นั่นล่ะ อดีตบริกรที่เรียนหนังสือไม่จบ ม.6 คนนี้แหละ ที่ถอดรหัสศัพท์เทคนิคของรัฐมนตรี เกียต ชน ซึ่งนิยมพูดแต่ฝรั่งเศสและใช้คำเขมรยากๆ มานักต่อนัก เช่นคำว่า “หรุณกรรรม”
แก คึมสง บอกว่า มันเป็นหน้าที่ของเขาที่จะสื่อสารกับคนอ่าน ถึงจะไม่ได้เป็นวิทูทางเศรษฐศาสตร์ แต่ความเข้าใจวิถีชาวบ้าน จึงจำเป็นที่เขาจะถอดความคำเขมรวรรณะสูงๆ พวกนั้น ที่สมัยหนึ่งพวกเขมรแดงถือเป็นของแสลงต้องกำจัด
หนหนึ่ง แก คึมสง ทำตัวเองให้เป็นที่จดจำ
“ตอนนั้นผมรู้สึกดีใจอย่างมากที่อดีตผู้ว่ากรุงพนมเปญ เอกอุดมเก็บ ชุติมา อนุญาตให้ผมสัมภาษณ์ (ทางโทรศัพท์) ผมถามท่านว่า แล้วกิจการงานของท่านอย่างแรกเลยคืออะไร?
ผู้ว่ากรุงพนมเปญ ตอบ แก คึมสง ว่า “อย่างแรกคือทำสวน คราวใดที่ทำความสะอาดสวนเราอาจเจอขี้หมา ถ้าไม่อยากให้มีขี้หมา ก็ต้องเอาหมา/ฉแกออกจากสวน”
“อ้าว แล้วเราจะเอาหมาไปไว้ที่ไหนดีครับเอกอุดม?” แก คึมสงสงสัย
“ก็ที่ต่างประเทศเขามีกินเนื้อฉแกกับเหล้าแดงกัน” ท่านเก็บ ชุติมา ตอบ
“แต่ที่บ้านเราน่ะ น่าจะลองเอามาทำกับแกล้มกันบ้างก็คงจะอร่อยดี”
เท่านั้นแหละ วันรุ่งขึ้น พาดหัวข่าวตัวเป้ง
“ผู้ว่าเก็บ ชุติมา : กินเนื้อหมาอร่อยดี”
ขายเกลี้ยงหมดทุกแผง และดังข้ามคืนไปถึงกรุงปักกิ่งที่ซึ่งพระกรุณาสมเด็จนโรดม สีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์ทรงประทับและโปรดมีพระลิขิต หยอกเอินอย่างเอ็นดูต่อสมาชิกคนสำคัญของพรรครัฐบาล
แต่นิสัยจอมแฉของ แก คึมสง ก็ยังแก้ไม่หาย ยิ่งเมื่อย้ายไปบริหาร (เดอะ) พนมเปญโพตส์
หมอก็ยิ่งออกลาย