เศรษฐกิจ การเมือง แรงสะเทือนไวรัสโควิด-19 ล้ำลึกและกว้างขวาง / กรองกระแส (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

กรองกระแส

เศรษฐกิจ การเมือง
แรงสะเทือนไวรัสโควิด-19
ล้ำลึกและกว้างขวาง

การแพร่ระบาดเข้ามาของไวรัสโควิด-19 ทั้ง 2 รอบ ไม่ว่ารอบที่ 1 ในห้วงเดือนมกราคม 2563 ไม่ว่ารอบที่ 2 ในเดือนมกราคม 2564 ส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูงต่อทุกปริมณฑล
เขย่าสถานะภายในกลไกแห่งอำนาจรัฐอย่างรุนแรง ลึกซึ้งและกว้างขวาง
โดยเฉพาะเมื่อเป็นอำนาจรัฐในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันมีรากฐานมาจากกระบวนการรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
แรงกระแทกจากพลานุภาพในการเข้ามาของไวรัสโควิด-19 กระทบเข้าแก่นกลางแห่งอำนาจในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
สัมผัสได้จากสภาพที่เรียกได้ว่า “โกลาหล”
เป็นความโกลาหลในเชิงบริหารจัดการเนื่องแต่ปลายหอกแห่งไวรัสโควิด-19 ได้ทะลวงลงไปในความเสื่อมทรุด อ่อนแอแห่ง “รัฐราชการ” รวมศูนย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ลักษณะโกลาหลนี้เองคือสัญญาณถึงความไม่แน่นอนของรัฐบาล

มกราคม 2563
มกราคม 2564

เพราะว่าการเข้ามาของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 1 เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2563 อยู่ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอบที่ 2 เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2564 ก็อยู่ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำคุยโวโอ้อวดในรอบที่ 1 จึงถูกฟ้องจากความเป็นจริงในรอบที่ 2
เพราะว่าทุกอย่างล้วนอยู่ในฝีมือและความสามารถของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นของรัฐบาล “อื่น”
ทั้งเป็นการบริหารจัดการภายใต้ “อำนาจพิเศษ”
เป็นอำนาจพิเศษภายใต้การประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนับแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา
ตรงนั้นเองคือรากฐานแห่งการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ
ความหวาดผวาต่อคำว่า “ล็อกดาวน์” แม้ว่าสถานการณ์ที่สมุทรสาคร แม้ว่าสถานการณ์ที่ระยอง ชลบุรี จันทบุรี จะเลวร้าย ก็ไม่กล้าใช้คำว่า “ล็อกดาวน์”
เป็นความหวาดผวาจากสถานการณ์เนื่องแต่เดือนมีนาคม 2563

บทเรียนตลาดกุ้ง
บทเรียนบ่อนระยอง

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโดยมีตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร เป็นแหล่งแพร่กระจายออกไป สายตาก็ทอดมองไปยัง “แรงงานข้ามชาติ” จำนวนเรือนแสน
คำถามก็คือ แรงงานพวกนี้ที่อยู่นอกระบบมาได้อย่างไร
เมื่อคนติดเชื้อไวรัสโควิดที่เคยติดต่อกับตลาดกลางกุ้งมีส่วนอย่างสำคัญในการกระจายขยายตัวออกไปยังหลายจังหวัดโดยรอบ สถานการณ์ที่ระยองอ่อนไหวอย่างยิ่งเพราะแพร่กระจายในบ่อน
คำถามก็คือ การเกิดขึ้นของบ่อนการพนันในระยองมีรากฐานเป็นมาอย่างไร
ไม่ว่าคำถามไปยังแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าคำถามไปยังอุบัติการณ์แห่งบ่อนการพนัน ล้วนสัมพันธ์กับวงจรแห่งส่วยอันมีข้าราชการหลายหน่วยเข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญ
ทั้งข้าราชการพลเรือน ทั้งข้าราชการด้านความมั่นคง
เป็นคำถามไปยังกระทรวงกลาโหม เป็นคำถามไปยังกระทรวงมหาดไทย เป็นคำถามไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคำถามไปยังกระทรวงการคลัง
ทุกปลายหอกล้วนตรงไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รวมศูนย์แยกกระจาย
รัฐราชการรวมศูนย์

รัฐราชการรวมศูนย์มีจุดเริ่มต้นมาจากการปฏิรูประบบราชการจากที่ประกอบด้วย เวียง วัง คลัง นา มาเป็นกระทรวงทบวงกรม ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2436
เป็นรากฐานให้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ แม้ว่าจะมีสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 แต่คณะราษฎรก็ยังสืบทอดโครงสร้างของระบบราชการอันเป็น “รัฐราชการรวมศูนย์” นี้มา
โดยเป็นการรวมศูนย์มาอยู่ “ส่วนกลาง” บริหารจาก กทม.ไปยัง “ส่วนภูมิภาค”
สภาพโกลาหลอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใต้แนวทาง “ทราบแล้วเปลี่ยน” ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดก็มีมูลเชื้อมาจากโครงสร้างนี้
เงาสะท้อนจาก #พิมรี่พาย จึงเด่นชัดเป็นอย่างยิ่ง
ตราบใดที่โครงสร้างของรัฐราชการรวมศูนย์ยังเป็นเช่นนี้ความโกลาหลในท่ามกลางการบริหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยิ่งเผยแสดงมากยิ่งขึ้น
ดำรงอยู่เสมือนเปลือยล่อนจ้อน ณ เบื้องหน้าประชาชน

ผลสะเทือนไวรัส
กระแทก กระทบ

สถานการณ์นับแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา เป็นสถานการณ์อันเป็นการแพร่ระบาดแห่งไวรัสโควิด-19 และนับวันจะยิ่งทะลุทะลวงลงไปภายในโครงสร้างแห่งอำนาจรัฐ
แรงสะเทือนสำคัญ คือ แรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่
เมื่อทุกอย่างอยู่ในมือของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่สันทัดในการบริหารจัดการ ภาพของรัฐบาลจึงยิ่งเด่นชัดในความอ่อนด้อย
ก่อให้เกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจในทางการเมือง
ปรากฏการณ์ของ “เยาวชนปลดแอก” ที่เริ่มจากเดือนกรกฎาคม กระทั่งยกระดับเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคม คือตัวอย่างหนึ่งที่จะมีส่วนอย่างสำคัญในปี 2564
เมื่อเศรษฐกิจ การเมืองมีปัญหา ผลตามมาคือแรงกระแทกอันจะกลายเป็นวิกฤตใหญ่