ทำไม ขุนช้าง ถึงชอบติดสินบน ? ตั้งแต่หนุ่มยันแก่ แถมใช้ นางวันทอง ลองไปหาเส้นสาย “คนในวัง”

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี/ญาดา อารัมภีร

ตัวช่วย

 

วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์หลายเรื่อง ตัวละครใช้สินจ้างและสินบนเป็น ‘ตัวช่วยพิเศษ’ ที่มีทั้ง ‘ผู้เต็มใจให้’ และ ‘ผู้เต็มใจรับ’ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ตัวช่วยนี้มีประสิทธิภาพเสมอ

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” คนมีเงินถุงเงินถังเช่นขุนช้าง ติดขัดอะไรก็ใช้วิธีติดสินบนอำนวยความสะดวกตั้งแต่หนุ่มยันแก่ ตอนแตกเนื้อหนุ่มก็ไปซุ่มดูนางพิมพิลาไลยอาบน้ำ

 

“เดชะขุนช้างสร้างกุศล                พอจะคิดติดสินบนใครเข้าได้

เก้าชั่งสิบชั่งช่างเป็นไร                นีดเน้นเข้าไปคงได้การ”

 

เงินจำนวน 9-10 ชั่งสมัยนั้นเทียบกับค่าเงินสมัยนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 6 หลัก

แม้อายุมากขึ้น ความคิดของขุนช้างก็ไม่พัฒนาไปตามวัย เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ตอนที่ขุนช้างดำน้ำพิสูจน์คดีแล้วแพ้พระไวย (ลูกเลี้ยง) จึงถูก

‘ส่งเข้าคุกประทุกทั้งขื่อคา พระพันวษากริ้วกราดคาดโทษตาย’

 

เมื่อนางวันทองไปเยี่ยมขุนช้างที่ถูกจองจำในคุก ขุนช้างดีใจจนเนื้อเต้น

 

“โถมกอดคอภรรยาแล้วว่าวาน

แม่คุณทูนหัวจงรีบไป                   เอาเงินติดท่านข้างในให้ว่าขาน

เพ็ดทูลผ่อนปรนช่วยบนบาน         ขอประทานโทษตนให้พ้นภัย”

 

ขุนช้างไหว้วานเมียให้ไปเสาะหาคนในวัง ติดสินบนให้ช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษ นางเห็นด้วยกับ ‘วิธีการ’ มิใช่ ‘ตัวบุคคล’

 

“วันทองว่าหาใครไม่ได้ดอก          หนามยอกเอาหนามบ่งคงจะได้”

 

นั่นคือเปลี่ยนตัวคนทูลเป็นคู่กรณีเสียเลย ดังที่นางแนะว่า “จะอ้อนวอนพ่อไวยดูสักที” นางวันทองพยายามอ้อนวอนพระไวยลูกชาย พูดไปก็ร้องไห้ไป

 

“พ่อคุณจงการุญกับมารดา             ช่วยทูลขอชีวาขุนช้างไว้

พระองค์ทรงพระกรุณา                คงหาขัดอัธยาพ่อพลายไม่”

 

นางยกเหตุผลสารพันมาเกลี้ยกล่อมหว่านล้อมพระไวยให้ใจอ่อน ไม่อาฆาตจองเวร ยอมช่วยเหลือขุนช้างโดยทิ้งท้ายว่า ถ้าพระไวยตกลง “เหมือนทูนหัวแทนคุณของมารดา” พระไวยไม่อาจปฏิเสธคำขอร้องของแม่ด้วยรู้อยู่แก่ใจว่า

 

“ถึงขุนช้างชั่วช้าเหมือนหมาหมู    เขาก็รู้อยู่ทั่วว่าผัวแม่

จะนิ่งเสียทีเดียวไม่เหลียวแล         ก็ตั้งแต่คนเขาจะนินทา”

 

เมื่อพระไวยรับปากว่า

 

“ลูกจะไปเพ็ดทูลขยับขยาย

ถ้าท่านโปรดก็จะปลอดไม่วอดวาย             ถึงเวรตายแล้วก็จนพ้นกำลัง”

 

ถึงตอนนี้นางวันทองก็ทำตามวิธีการของขุนช้าง ใช้เงินเป็นใบเบิกทาง

 

“เออพ่อคุณการุญให้จงได้            แม่จะให้ค่าทูลสักสองชั่ง

แม้นพ่อช่วยเห็นไม่ม้วยไปจริงจัง   คงประทังคลายโทษเพราะโปรดปราน”

 

พอแม่บอกว่าจะให้เงินสองชั่งเป็นค่ากราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ พระไวยก็โกรธจัด ต่อว่าแม่ทันที ‘คิดว่าลูกยากจนหรือ จึงมาติดสินบนเช่นนี้’

 

“ชะน้อยฤๅมารดาช่างว่าได้           นึกว่าไก่แล้วจะล่อด้วยข้าวสาร

เห็นว่าลูกนี้จนอ้างบนบาน            เหตุว่าท่านเศรษฐีมีเงินทอง

เพราะได้เงินสองชั่งจึงตั้งบ้าน       ปลูกเรือนฝากระดานขึ้นห้าห้อง

เลี้ยงเมียเลี้ยงข้ามาเป็นกอง           เพราะเงินทองสินบนของมารดา”

 

นางวันทองรีบขอโทษขอโพยลูกชายเป็นพัลวัน

 

“อย่าถือเลยแม่นี้เหมือนคนบ้า

ใจไม่อยู่กับตัวชั่วช้า                     พูดออกมาไม่ทันคิดแม่ผิดครัน”

 

หลังจากพระไวยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ขุนช้าง สมเด็จพระพันวษาก็ทรงพระกรุณาให้เป็นไปตามนั้น

ดังที่รับสั่งว่า “จะยกให้ไม่ประหารผลาญชีวี ทั้งนี้เพราะกูเอ็นดูมึง” ทั้งยังทรงทิ้งท้ายว่า “มึงจะแทนคุณแม่จึงยกให้”

เมื่อขุนช้างพ้นโทษประหารได้ออกจากคุก ขุนช้างก็อวยชัยให้พรพร้อมกับมอบ ‘ของตอบแทน’ แก่ลูกเลี้ยงด้วยความเต็มใจ

 

“พระไวยน้อมคำนับรับพรพลาง    ขุนช้างเอาเงินทองออกกองให้

ยี่สิบชั่งหวังจะแทนคุณพระไวย     พ่อเอาซื้อข้าวใหม่ไว้เลี้ยงกัน

พระไวยสั่งว่าอย่าเอาไว้                เดี๋ยวนี้มีใช้อยู่ดอกทั่น

เอาเงินให้อย่างนี้ไม่ดีครัน เหมือนหนึ่งฉันเอาสินบนกับมารดา”

 

พระไวยขอรับแต่ ‘พร’ ไม่ยอมรับ ‘เงิน’ โดยให้เหตุผลว่า ถ้าให้เงินก็เหมือนลูกเอาสินบนจากแม่

นางวันทองรู้ซึ้งถึงนิสัยใจคอลูกชาย จึงรีบกอบเงินเก็บใส่กระทายส่งให้บ่าวของตนรับไป

 

ทํานองเดียวกับบทละครนอก เรื่อง “คาวี” การให้และรับสินบนมีให้เห็นเช่นกัน รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงหมอเสน่ห์ที่โอ้อวดสรรพคุณของตนเองให้เสนาท้าวสันนุราชฟังว่า

 

“วันนี้เขาเอาของมาไหว้ครู            หัวหมูบายศรีอยู่นี่แน

พอเลี้ยงท้องสองมื้อไม่ขัดสน        ได้นั่งกินสินบนมาจนแก่

เมื่อเย็นวานท่านผู้หญิงที่แพ          ให้ผ้าแพรปังสีสี่ห้าพับ”

 

เรื่องของ ‘สินบน’ นอกจาก ‘เงินทอง ของกิน ของใช้’ ยังรวมถึง ‘คน’ ‘ตำแหน่งหน้าที่’ และ ‘อาชีพ’ ที่ช่วยให้มีฐานะมั่งคั่ง ดังที่ท้าวสันนุราชตรัสแก่ตาเฒ่าหมอเสน่ห์ว่าถ้าทำเสน่ห์สำเร็จ นางจันท์สุดายอมตกลงปลงใจกับพระองค์ สินบนที่จะได้รับมีนับไม่ถ้วน

 

“ถ้าทำได้สมหวังดังว่า                  เสื้อผ้าสารพัดไม่ขัดสน

จะให้เมียรูปงามสักสามคน           เป็นสินบนหมอเฒ่าเจ้าตำรา

ประทานทั้งเงินตราห้าสิบชั่ง         แล้วจะตั้งเป็นขุนนางข้างกรมท่า

ฤๅรักทำโรงเหล้าเตาสุรา               ตามแต่ตัวขรัวตาจะชอบใจ”

 

วรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” และ “คาวี” สะท้อนให้เห็นว่า ‘สินบน’ มีอยู่จริงในสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ แม้ตัวละครบางตัวจะไม่ยอมรับสินบน ก็ยังมีตัวละครอีกหลายตัวที่เห็นว่าการให้และการรับสินบนเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่ใครๆ เขาก็ทำกัน

จริงๆ แล้ว ‘ธรรมดา’ แน่หรือ?